ทบทวนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มองหาความเป็นไปได้ใหม่ทางการเรียนรู้ กับ อดิศร จันทรสุข
โดย : กองบรรณาธิการ The101.world

ทบทวนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มองหาความเป็นไปได้ใหม่ทางการเรียนรู้ กับ อดิศร จันทรสุข

“การศึกษาของไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา มีการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งในสี่ของงบประมาณแผ่นดิน แต่อย่างไรก็ตาม การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งในระดับนานาชาติและระดับชาติกลับบ่งชี้ว่าคุณภาพการศึกษาของไทยกำลังตกต่ำลงโดยลำดับ เนื่องจากระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การประเมินสถานการณ์บนหลักการและเหตุผล และยังไม่สามารถจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการเผชิญต่อความท้าทายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งเห็นความสำคัญต่อการดำรงชีวิตเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม”

นี่คือปัญหาทางการศึกษาไทยต้องเผชิญและเป็นเหตุผลสำคัญของการก่อตั้งคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (Lsed) ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมี ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข เป็นคณบดีคนปัจจุบัน สปริตของสถาบันแห่งนี้ตั้งแต่ถือกำเนิดในปี 2557 คือการมองความเป็นไปได้ใหม่ให้กับการศึกษาไทย โดยอดิศรและ Lsed ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพของ ‘ระบบ’ การศึกษา ซึ่งหมายความว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ย่อมเป็นโจทย์ที่ต้องขบคิดในฐานะนักวิชาการด้านการศึกษาเช่นกัน

เมื่อแนวคิดเดิมๆ เช่นการหว่านเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ แต่จำเป็นต้องสร้างระเบียบวิธีในการคิด และสร้างผลสัมฤทธิทางการศึกษาแบบใหม่ วันโอวัน จึงชวน ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข มาร่วมย้อนมองนิยามความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เราเคยคิดว่าเข้าใจ และหนทางใหม่ๆ ในการปรับปรุงระบบ นโยบายการเรียนรู้ ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเยาวชนนับจากนี้

หมายเหตุ: เก็บความบางส่วนและเรียบเรียงจากรายการ 101 Policy Forum #24: ความเหลื่อมรู้ในความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เผยแพร่ในวันที่ 31 มีนาคม 2568

หากพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จังหวะแรก อาจารย์คิดถึงอะไร

ผมมองว่าประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และอาจจะหมายถึงในแง่ที่เด็กคนหนึ่งสามารถเข้าไปเรียนในระบบการศึกษาได้หรือไม่ด้วย ซึ่งการเข้าไปเรียนในระบบการศึกษา ยังรวมถึงโอกาสที่เขาจะสามารถพัฒนาตัวเองได้เต็มศักยภาพ โดยอยู่ในพื้นที่ที่เขาสามารถเติบโตและเรียนรู้ด้วย

เมื่อเราพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่วนใหญ่มักจะมองไปที่เรื่องเด็กด้อยโอกาส ซึ่งไม่ได้ผิด แต่สำหรับผมมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีนัยมากกว่าการเอาเงินไปให้เด็กแล้วจบแค่นั้น มันเป็นการพูดถึงโครงสร้างของระบบการศึกษาทั้งประเทศ รวมทั้งโครงสร้างทางวัฒนธรรมและสิ่งอื่นๆ ที่เป็นปัจจัยแวดล้อม ที่สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อเราพูดถึงเรื่องประเด็นเหล่านี้ เราอาจจะไม่ได้มองแค่การเข้าไปนั่งเรียนแล้วจบ


จากการทำงานร่วมกับกลุ่มคนที่หลากหลายในเรื่องเกี่ยวกับการศึกษา อาจารย์มองเห็นประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง

การกลับมาทบทวนว่า ‘ขณะนี้เรารู้อะไรแล้วบ้าง’ นั้นน่าสนใจ เนื่องจากเราเดินทางมาถึงจุดที่เรารู้แล้วล่ะว่า ‘เรายังไม่รู้อะไรอีกเยอะ’ และเราต้องทำงานเพิ่มเติมอีกมาก เพราะวิธีการเอาเงินไปให้อย่างเดียวนั้นใช้ไม่ได้ผลแล้ว หรือวิธีการที่เราเคยคิดว่าถ้าเด็กได้รับการศึกษาแบบเดียวกันหมดจะประสบความสำเร็จ ก็ไม่เวิร์กอีกต่อไป เรารับรู้แล้วว่าเด็กนักเรียนมีความแตกต่างหลากหลาย และมีปัจจัยหรือมิติที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาหลากหลายด้านมากกว่าแค่สถานะทางเศรษฐกิจ ทั้งการที่ผู้ปกครองจะมีเวลาให้กับลูก สุขภาวะ และสุขภาพทางใจ ซึ่งอย่างหลังก็เป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับคนรุ่นใหม่ หรือมิติทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็มีงานที่ศึกษาเรื่องของเยาวชนในพื้นที่ภัยพิบัติ แสดงให้เห็นว่ามันทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้

เมื่อมีปัจจัยหลากหลายมากกว่าที่เราคิด การออกแบบวิธีแก้ไขโจทย์เรื่องของความเหลื่อมล้ำ เราอาจจะต้องถอยหลังออกมามองในหลากหลายแง่มุม หรือต้องการผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้านมามองเรื่องนี้ร่วมกัน อย่างคณะที่ผมทำงานอยู่ เราจะทำงานกับกลุ่มชายขอบหรือประชากรกลุ่มเฉพาะบางอย่าง เช่น กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ กลุ่มเด็กที่มีความพิการ กลุ่มเด็กที่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กที่เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ติดตัวมากับพวกเขา สิ่งเหล่านี้มีผลนัยสำคัญต่อการเข้าถึงการศึกษามากๆ เราอย่ามองแค่ว่าต้องเอาเด็กกลับเข้าสู่ระบบอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่เด็กอยู่ในระบบการศึกษาแบบปัจจุบัน มีอะไรขัดขวางการเข้าถึงโอกาสที่จะได้รับการศึกษาอย่างเต็มที่บ้าง บางครั้งก็เป็นเรื่องของวัฒนธรรมในโรงเรียน หรือกระบวนการที่ครูผู้สอนไม่เข้าใจความหลากหลาย ตลอดจนความต้องการของเด็ก

เราคิดว่าครูเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กค่อนข้างเยอะ หลายครั้งเราพบว่าเวลาครูเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีการอยู่ร่วมกับเด็ก เยาวชนหลายคนที่เคยตัดสินใจเดินออกไปจากระบบเพราะว่าครูไม่เข้าใจเขา โรงเรียนไม่เข้าใจเขา เขาเลือกเดินกลับมา เพราะตัวครูเปลี่ยนวิธีคิด ตรงนี้เราอาจจะต้องช่วยกันมองระบบในหลากหลายแง่มุมว่ามันมีอะไรบ้างที่เราต้องเปลี่ยนและทำไปพร้อมๆ กัน


อาจารย์กล่าวว่ามีความเชื่อเก่าๆ บางอย่างที่ไม่เวิร์กอีกต่อไป เช่น การหว่านเงินลงไปในระบบเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือการให้เด็กอยู่ในการศึกษาแบบเดียวกันแล้วจะดีเอง นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอะไรอีกที่อาจารย์มองว่า ‘ไม่เวิร์ก’

ถ้าคำสั่งนโยบายการศึกษามาจากส่วนกลางที่พยายามทำทุกสิ่งทุกอย่าง โดยขาดความเข้าใจมิติหรือบริบทที่เด็กและเยาวชนเติบโตขึ้นมา ไม่สนใจความแตกต่างหลากหลายหรือข้อท้าทายในแต่ละพื้นที่ที่เด็กแต่ละคนต้องเผชิญ รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ผมพูดถึงไปแล้วว่ามีหลากหลายมาก ผมว่าตรงนี้ไม่เวิร์ก

นอกจากนั้น ผมคิดว่าความพยายามสร้างพื้นที่นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นเป้าหมายที่ดีมาก เพราะเราพยายามสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาให้เกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมา การออกแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษากลับถูกตั้งคำถามเช่นกันว่าตกลงแล้วมันเป็นไปเพื่ออะไร ออกแบบมาแล้วเอาไปใช้ต่อได้ไหม หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เดียวกันนี้ เรากล้าตั้งคำถามกับระบบหรือแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมหรือเปล่า เพราะบางทีการให้โอกาสในการสร้างนวัตกรรม กลับกลายเป็นการวิ่งเข้าสู่วิธีคิดแบบเดิม คือการเอาระบบเป็นตัวตั้ง ผมคิดว่าอันนี้เป็นความท้าทายต่อวิธีคิดของคนทำงานภาคการศึกษา ว่าสุดท้ายเราอาจวิ่งกลับมาสู่ที่ที่เราคุ้นชิน และเราไม่สามารถก้าวข้ามมายาคติหรือวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องการจัดการการศึกษาแบบเดิมๆ ได้

เรามักพูดถึงเรื่องการจัดการองค์ความรู้ใหม่ และการสำรวจความเป็นไปได้ในการศึกษาใหม่ๆ แต่มีนโยบายอะไรไหมที่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรเลิกทำ

ผมคิดว่ากฎหมายที่บังคับว่ารัฐต้องจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชนทุกคนยังเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอยู่ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เรามีลูกหลานของแรงงานข้ามชาติหรือผู้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศของเรา ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นระบบและเอื้อให้เขาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศของเราอย่างมีคุณภาพจริงๆ ก็จะกลายเป็นการผลักเขากลับไปหรือออกไปสู่ประเทศของเขา ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องการเมือง ทั้งที่จริงแล้วผมคิดว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนเหล่านี้ เมื่อพวกเขาเรียนในประเทศของเรา ก็อาจจะมีโอกาสก้าวขึ้นมาเป็นแรงงานของประเทศต่อไป ในระดับชั้นไหนก็แล้วแต่นะครับ แต่อย่างน้อยๆ ประเทศเราตอนนี้ ประชากรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

ในอนาคตเราอาจมีปัญหาแรงงานขาดแคลนรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขาดแคลนคนที่จะมาประกอบอาชีพต่างๆ ที่ทำให้สังคมเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าเรากำลังมองว่านี่เอาเงินภาษีไปสนับสนุนเด็กคนอื่น (จากชาติอื่น) ผมคิดว่าเราอาจต้องมองภาพกว้างมากขึ้น นอกจากนั้น การที่เด็กทุกๆคนจะสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ ผมคิดว่าเราต้องการจินตนาการใหม่ จินตนาการที่ไร้ขอบเขต เด็กอาจจะเดินเข้าเดินออกในระบบหรือนอกระบบได้ เขาสามารถนำประสบการณ์ต่างๆ มาเป็นเครดิตหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่สามารถเอามาใช้หางานต่อไปในอนาคต

ส่วนหนึ่งที่ยังไม่มี และคิดว่าต้องมี คือเรื่องการเตรียมความพร้อมของคนรุ่นใหม่ที่ต้องเติบโตขึ้นมาในสังคม เราชอบพูดคำว่า soft skill แต่ผมไม่อยากให้มองแค่ soft skill เพราะคำว่า life skill ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราเป็นนักวิชาการอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พบว่าคนรุ่นใหม่มีความเปราะบางมาก แล้วเราต้องไม่โทษด้วยนะว่าทำไมเขาเติบโตมาแบบนี้ สภาพแวดล้อมมันทำให้เขามีสุขภาวะในลักษณะแบบนั้น เรามักพูดแค่ว่าจะเตรียมคนแล้วป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างไร แต่ทุกวันนี้ผมคิดว่าตลาดแรงงานมันหมุนเร็วมาก เราไม่มีทางจะตามทัน ส่วนของ hard skill หรือความรู้เท่าทันโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เด็กเขาไปตามหากันเองได้ แต่ว่าเขาไม่สามารถพัฒนา soft skill หรือ life skill เองได้ โดยเฉพาะเด็กที่เขาเผชิญกับความเหลื่อมล้ำ

เพราะฉะนั้น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับการเรียนรู้ในพื้นที่ต่างๆ ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญบทบาทของการศึกษาในแง่นี้ เพราะมันเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และจะกลายเป็นวิกฤตต่อไปในอนาคตด้วย


เวลาพูดถึงเรื่องปรับเปลี่ยนการศึกษาไปเป็นรูปแบบใหม่ เช่น จากการสอนเน้นเนื้อหา (content-based) สู่ฐานสมรรถนะ (Competency-based) ก็ต้องมีนโยบายที่เกี่ยวเนื่องกับคณะครุศาสตร์ในมหาวิทยาลัย อาจารย์เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงหรือปัญหาที่เกิดขึ้นบ้างไหม

ผมไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากนะครับ แต่เท่าที่ได้ยิน คาดว่าจะ implement (นำนโยบายมาใช้) เร็วๆ นี้ แต่ทุกคนก็ตั้งคำถามอยู่เช่นกัน เพราะการทำงานของฝ่ายนโยบายที่ผ่านมายังขาดวิธีคิดในเชิง implement สิ่งต่างๆ ว่าใครจะนำไปใช้ตรงไหนได้บ้าง เนื่องจากมีขั้นและลำดับของมัน จากนโยบายระดับชาติ สู่ระดับที่ต้องนำไปย่อยและทำให้กลายเป็นหลักสูตรจริงในชั้นเรียนต่างๆ สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยกระบวนการในการทำความเข้าใจ เช่น เราจะพัฒนาครูอย่างไร ในการเปลี่ยนวิธีการสอนจาก content-based สู่ competency-based

ที่ผ่านมา เรามีนโยบายอย่าง ‘ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้’ ไม่มีการบ้านให้เด็กที่เราหยิบยืมมาจากต่างประเทศ ซึ่งพบว่าใช้งานจริงไม่ได้ผล เราก็บอกว่า อ้อ เห็นไหม ไม่ได้ผล จริงๆ ไม่ใช่ว่านโยบายนั้นไม่ดี แต่เราหยิบมาแล้วไม่เคยตั้งคำถามหรือทำความเข้าใจกับมันก่อน ผมคิดว่านี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกนโยบายที่ขาดการทำงาน หรือมีส่วนร่วมจากทุกๆ ฝ่าย ขาดความเข้าใจร่วมกัน เป็นการสั่งการแบบ top-down


เรามีงานศึกษาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามามากมาย ภาคนโยบายเคยหยิบไปใช้บ้างไหม หรือมีนโยบายไหนบ้าง ที่ผลักดันกันไปแล้วได้รับการตอบสนองดี

อาจจะไม่ถึงขั้นนโยบายนะครับ แต่เป็นโครงการก่อการครูที่ทำกันมา 10 กว่าปี ได้รับการตอบรับจากภาครัฐและเอกชนทำเป็นโครงการร่วมพัฒนาและภาคีเครือข่าย สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนที่ตัวครู ครูเป็นปัจจัยสำคัญมากในการต่อยอดให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็ก โดยเฉพาะทักษะการเรียนรู้ รักที่จะใฝ่รู้ สามารถปรับเปลี่ยนหรือพร้อมตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ และสามารถเรียนรู้ได้เอง

ตัวผมเองเป็นครู ในฐานะคนที่ต้องใกล้ชิดกับผู้เรียน ความสัมพันธ์เฉพาะการสอนอย่างเดียวนั้นไม่พอ เด็กเองมาพร้อมกับเรื่องราวต่างๆ รอบตัวเขา ทั้งปัญหาสุขภาวะ ปัญหายาเสพติด ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ารอบโรงเรียน เราก็ไม่รู้จะจัดการอย่างไร หรือว่าปัญหาอื่นๆ เช่น การบูลลี ครูก็ต้องทำหน้าที่มากกว่าแค่การสอนเนื้อหาสาระหรือทักษะที่อยู่ในชั้นเรียนเท่านั้น การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เรียนเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายมาก สถาบันที่ผลิตครูต้องเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงแนวทางที่ตัวเองทำอยู่ว่ามันเวิร์กหรือเปล่า เรากำลังผลิตครูรุ่นใหม่ออกไปทำงานกับเด็กที่มีความแตกต่างอย่างมากกับครูในรุ่นเรา เรารู้โจทย์นี้แล้ว แต่ดูเหมือนว่าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย เรายังคงใช้วิธีเดิมๆ เหมือนที่เราสอนเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว

ผมคิดว่าตรงนี้เป็นโจทย์สำคัญและเราต้องตั้งคำถามว่าอะไรทำให้คนคนหนึ่งเข้าสู่วิชาชีพครู ถ้าเราไปลองดูสถิติตัวเลข จะพบว่าหลายๆ คนมาเป็นครูเพราะเรื่องสวัสดิการให้พ่อและแม่ คำถามคือเขาจะมีใจรักในการพัฒนาตัวเองหรือเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ถ้าเรายังไม่สามารถเอาข้อมูล ทั้งจากงานวิจัย และการเก็บข้อมูลต่างๆ มาพิจารณาร่วมกัน ทุกฝ่ายมานั่งคุยร่วมกัน ถ้ายังทำงานแบบแยกส่วนต่างๆ ออกจากกัน คงไม่สามารถแก้ปัญหาคอขวดนี้ได้ ซึ่งสุดท้ายก็จะสร้างผลกระทบแก่ผู้เรียน

นอกจากนี้ เวลาที่ต้องทำงานกับภาครัฐก็มักจะมีปัญหา คือเขาชอบตัดยอดเอาไปใช้ เห็นว่าอะไรดูดีก็หยิบเอาไปใช้เลย ขาดความเข้าใจ อย่างเช่นก่อการครู เราพยายามทำงานโดยให้ความสำคัญกับศักยภาพภายในของครู กลับมาตั้งคำถามว่า ‘ทำไม?’ คนคนหนึ่งถึงมาประกอบวิชาชีพนี้ และตัวเขาเองจะเข้าใจเรื่องอำนาจในชั้นเรียนอย่างไรบ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่เราให้ความสำคัญ แต่สิ่งที่ภาครัฐเห็น คือนักเรียนห้องนี้ได้คะแนนเพิ่มมากขึ้นทั้งห้องเลย ถ้าอย่างนั้นเอาคนมาอบรมด้วยสัก 500 คน ครูมาถึงก็ถ่ายรูป เสร็จแล้วกลับบ้าน กลายเป็นวงจร

ผมคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาที่เต็มไปด้วยปัจจัยแวดล้อมมากมาย เรามีงานวิจัย งานวิชาการเยอะ มีนักวิชาการเก่งๆ เยอะ แต่สุดท้ายเราไม่ได้เอาไปใช้อย่างแท้จริง มันกลายเป็นการตัดยอด คือเอาไอเดียหรือคอนเซปต์บางอย่างไปใช้ แต่ไม่ได้เอาไปใช้แบบเข้าใจแท้จริง

ในแวดวงของคนทำงานวิจัย สนใจด้านการพัฒนาการศึกษา ได้นำปัจจัยการเมืองเข้ามาพิจารณาบ้างไหม

ผมมองว่าเรื่องการศึกษาเป็นพื้นที่ของการเมืองอยู่แล้วครับ การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการทรัพยากรว่าจะใช้ทรัพยากรอย่างไร ไปอยู่ตรงไหน และส่งต่อไปตรงไหน รวมถึงใครจะได้ ใครจะเสีย พื้นที่การศึกษาไม่เคยเป็นพื้นที่สำหรับเด็ก ผมเชื่อว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็รับนโยบายมาทำ เพราะฟังดูมันก็ make sense แต่พอมาถึงระดับปฏิบัติการ ทำไมถึงไม่เกิดอะไรขึ้น มันไปหล่นหายระหว่างทางตรงไหน นั่นเพราะว่าบางทีเราสั่งการไป แต่เรายังไม่เข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของตัวระบบการศึกษาเอง มันมีเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร กระจายทรัพยากร จะแบ่งเค้กแบบไหน สุดท้ายแล้ว มันมาถึงแค่นั้นจริงๆ

เวลาเราคุยเรื่องการศึกษากันในหลายๆ พื้นที่ หลายครั้งผมพบว่าเขาไม่ได้คุยโดยมีเป้าหมายเป็นเด็กนะครับ คุยแค่ว่าเราจะแบ่งเค้กกันอย่างไร ถ้าเรายังไร้เดียงสา มองไม่เห็นปรากฏการณ์เหล่านี้ คิดแค่ว่าการมีนโยบายที่ดีที่สุดคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย เราก็อาจจะพบว่านโยบายที่ดีที่สุดไม่สามารถเป็นไปได้ในประเทศนี้ แต่ถ้าเรารู้แล้วว่านี่เป็นปัญหา แปลว่าเราต้องเข้าไปแทรกแซงตัวระบบว่ามันเกิดอะไรขึ้นในการกระจายทรัพยากร เราจะมีความรับผิดรับชอบ (accountability) จะมีมาตรการรทำให้กระบวนการทั้งหมดมีความโปร่งใสได้อย่างไร จะทำให้มีการจัดสรรงบไปถึงตัวนักเรียน หรือผู้รับอย่างแท้จริง ให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการได้อย่างไร ทั้งหมดคงต้องอาศัยองคาพยพต่างๆ ทำงานร่วมกัน


ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาบ้างไหม

หากย้อนไปดูช่วงหาเสียง ประเด็นการศึกษาจะเป็นประเด็นที่พรรคไม่ค่อยส่งใครมาพูด เพราะการศึกษาไม่ใช่จุดขายอยู่แล้ว ทุกพรรคการเมืองมองงานการศึกษาเป็นเหมือนยาขม ถึงแม้จะมีเงินเยอะ แต่เงินส่วนใหญ่ตกอยู่กับบุคลากรหรือเงินเดือนมากกว่า โอกาสที่จะทำอะไรไม่ได้มีเยอะมาก และเราก็รู้ว่าระบบการศึกษาเป็นระบบที่อุ้ยอ้าย เทอะทะ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การเป็นนักการเมือง เมื่อเข้ามาแล้ว ต้องมี quick win แต่ quick win ในระบบการศึกษากลับหายไปหมดเลย เพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็น ไม่มีใครอยากมาคุมกระทรวง


มีข้อแนะนำให้ภาคประชาชนหรือนักวิชาการไหม ถ้าอยากผลักดันเรื่องของการศึกษาให้อยู่ใน top agenda ของรัฐบาลควรทำอย่างไร

อันนี้ต้องยอมรับเลยจริงๆ ว่าเราไปข้างหน้าได้ เพราะมีภาคประชาสังคมที่ทำงานกันอย่างเข้มข้น และค่อนข้างเข้มแข็งระดับหนึ่ง ผมคิดว่าการดึงทุกฝ่ายทุกส่วนมาทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ และผมก็เชื่อว่ายังมีนักการเมืองที่ทำงานโดยเห็นความสำคัญของเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำแก่ผู้เรียน

ทีนี้หน้าที่ต่อๆ ไป คือถ้าเราคิดว่าพรรคการเมืองไหนสนับสนุน หรืออยากทำงานให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาลดลงจริงๆ เราก็เริ่มต้นด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองเหล่านั้นที่เราสมาทานความคิดของเขา ต่อมาคือทำหน้าที่ตรวจสอบและติดตามการทำงาน แต่ละพรรคประกาศนโยบายไว้อย่างไรบ้าง สุดท้ายได้ทำตามนั้นหรือเปล่า ผมคิดว่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ และทำได้ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง


ในต่างประเทศเช่นสิงคโปร์เริ่มมีการใช้นโยบายคูปองการศึกษา (school voucher) ที่ใช้เลือกเรียนอะไร ที่ไหนก็ได้ อาจารย์มีความเห็นต่อนโยบายนี้อย่างไร คิดว่านำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้ไหม

ผมเห็นด้วยว่าผู้ปกครองและตัวเด็กควรมีสิทธิเลือกเรียนในโรงเรียนที่ต้องการ แต่ติดที่ว่าโรงเรียนบางแห่งยังมีคุณภาพด้อย ทั้งที่เป็นโรงเรียนที่อาจใกล้กับละแวกบ้านของเด็ก ดังนั้นโจทย์คือทำอย่างไรให้โรงเรียนต่างๆ มีคุณภาพเพิ่มขึ้น เพราะเริ่มต้นแข่งมันก็ไม่เท่ากันแล้ว บางที่ทรัพยากรดีกว่า ครูที่เก่งๆ ก็อยากจะไปอยู่โรงเรียนที่ดีกว่า แต่นั่นหมายความว่าเรากำลังละทิ้งบางพื้นที่ที่สะดวกและเข้าถึงประชากรที่เขาอาจไม่สามารถเดินทางมาเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพได้

ในประเด็นของการใช้ระบบคูปองเลือก ผมคิดว่ามีปัจจัยค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ลองทำพื้นที่ทดลองดูก่อนได้ว่า เวิร์กหรือไม่เวิร์กอย่างไร เพราะสังคมไทยก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่จำเป็นต้องมีการปรับให้เข้ากับบริบท นอกจากนี้ หากต้องเอาระบบ voucher มาใช้จริงๆ เราก็ต้องมีระบบสนับสนุนส่งเสริมประกบตามไปด้วยสำหรับโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนลดน้อยลง แต่ยังมีความสำคัญในเชิงพื้นที่ยุทธศาสตร์ ไม่อย่างนั้นเด็กจำนวนหนึ่งอาจจะต้องเดินทางไกล

อยากฝากอะไรเกี่ยวกับอนาคตของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เราควรเริ่มต้นกลับมาตั้งคำถามต่อคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใหม่ เพราะวิธีการนิยามส่งผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากร ถ้าเรานิยามความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น มีความเข้าอกเข้าใจต่อความแตกต่างหลากหลายของเด็กและเยาวชนที่เรากำลังทำงานอยู่ด้วย จะทำให้เราเปิดพื้นที่การทำงานในมิติต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะมิติที่อาจไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา เช่น สุขภาวะ ความแตกต่างหลากหลายหรืออัตลักษณ์ของตัวเด็กและเยาวชน พื้นเพต่างๆ รวมทั้งศาสนา ถ้าเรามองเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ภายใต้ร่มความเหลื่อมล้ำ จะทำให้วิธีการที่เราออกแบบการแก้ไขปัญหามีความแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นกั

ผมเชื่อว่าการใช้โมเดลหลายๆ แบบ เพื่อตอบสนองต่อประเด็นปัญหาทั้งจุดเล็กและใหญ่ร่วมกันเป็นเรื่องดี และนี่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตั้งนโยบายทำฝ่ายเดียว ฝั่งผู้ปกครองเยาวชนก็ต้องมีความเข้มแข็ง เรียกร้องในสิ่งที่เราคิดว่าลูกหลานของเราควรจะได้รับ ฝ่ายภาคประชาชนเองก็ควรลุกขึ้นมาตั้งคำถามและตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ ภาครัฐเองก็ต้องรับรู้ภาระหน้าที่ของตนว่ากำลังทำอะไรอยู่ การวิ่งตอบสนองต่อฝั่งการเมืองอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนที่เราทำงานด้วยอย่างเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาสำคัญมาก แต่ก็โทษเขาไม่ได้เสียทีเดียว เพราะว่ามันมีผลร้ายเกิดขึ้นจริงๆ จากการที่เขาไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ทางการเมืองส่งลงมา เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถเอาทุกฝ่าย มาทำงานร่วมกันได้ในสังคมไทย มันจะช่วยให้เราก้าวไปข้างหน้าได้


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world