“เราจะตื่นขึ้นมาในโลกที่ความเท่าเทียมแย่ลงกว่านี้ไม่ได้” – อลิส อัลไบร์ท

“เราจะตื่นขึ้นมาในโลกที่ความเท่าเทียมแย่ลงกว่านี้ไม่ได้” – อลิส อัลไบร์ท

ในแวดวงการศึกษาระดับสากล Global Partnership for Education หรือ GPE ถือเป็นกองทุนที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความเสมอภาค และยกระดับคุณภาพการศึกษาแก่นักเรียนชั้นแนวหน้า นับจากจุดเริ่มต้นปี 2002 จนถึงปัจจุบัน GPE ได้ระดมเงินทุนเป็นมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากประเทศผู้เป็นหุ้นส่วน เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็กจำนวนกว่า 360 ล้านคนทั่วโลก

เบื้องหลังการส่งมอบความช่วยเหลือแก่เด็กด้อยโอกาส คือ การบริหารจัดการและวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาของ ‘อลิส อัลไบร์ท’ (Alice Albright) ผู้บริหารสูงสุดของ GPE ซึ่งก้าวขึ้นมามีบทบาทตั้งแต่ปี 2013 โดยอัลไบร์ทได้ผ่านเหตุการณ์ที่นับว่าเป็นความท้าทายต่อระบบการศึกษา เช่น การระบาดของอีโบลาในแอฟริกา และเห็นตัวอย่างบริบทประเทศกำลังพัฒนาอันเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำมากมาย

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 คือมหันตภัยที่ไม่เคยมีใครพบเจอ ในวันที่ผลกระทบของโรคระบาดนี้สร้างวิกฤตการเรียนรู้พร้อมกันทั่วโลก และอาจทวีความเหลื่อมล้ำให้สาหัสกว่าเดิม สิ่งที่อัลไบร์ท – ในฐานะซีอีโอของ GPE ย้ำ คือการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ความเท่าเทียมยังคงดำรงอยู่ หรือเพิ่มมากขึ้นหลังภัยโควิด-19 จบลง

อลิส อัลไบรท์ (Alice Albright) – ซีอีโอของกองทุน Global Partnership for Education (GPE)
ที่มา : Read the biography of GPE’s Chief Executive Officer

โควิด-19 สร้างวิกฤตการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ก่อนที่โควิด-19 จะมาเยือน ข้อมูลจากรายงานติดตามการศึกษาทั่วโลกในปี 2020 ได้บ่งชี้ชัดว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ระดับปานกลางรุนแรงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว วัยรุ่นจากครัวเรือนร่ำรวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ในประเทศเหล่านี้มีโอกาสได้เรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาสูงกว่าวัยรุ่นจากครัวเรือนยากจนถึง 3 เท่า ขณะเดียวกัน เด็กยากจนยังมีแนวโน้มขาดสารอาหารมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 2 เท่า ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ที่ด้อยลง จนทำให้ถูกทิ้งห่างจากเด็กคนอื่นๆ มากขึ้น

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่กลุ่มเด็กยากจนเท่านั้นที่น่ากังวล เด็กพิการก็เป็นอีกกลุ่มที่มีโอกาสเข้าโรงเรียนหรือเรียนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาต่ำ และอาจเรียนรู้ได้ล่าช้า เพราะขาดการสนับสนุนหรือทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเรียน คนขาดความเข้าใจในความต้องการ และครูขาดทักษะที่จำเป็น ดังนั้น แม้โลกจะไม่ประสบกับโรคระบาดใหญ่ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาของเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ ก็เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข

ทว่า เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม ยิ่งเรียกได้ว่า “ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงและก่อให้เกิดวิกฤตการเรียนรู้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” ตามคำของอลิส อัลไบร์ท

“ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เด็กและเยาวชนกว่า 258 ล้านคนทั่วโลก หรือนับเป็น 17 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมดในโลกไม่ได้เข้าโรงเรียน หลายคนที่เป็นเด็กที่มีภูมิหลังด้อยโอกาสที่สุด ถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษาเพราะปัจจัยด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เช่น ความยากจน การแต่งงานก่อนวัยอันควร ความรุนแรง เพศ ความพิการ ผลกระทบทางสุขภาพหรือโภชนาการที่ไม่สมบูรณ์” อัลไบร์ทกล่าว

แน่นอนว่าผลกระทบของโรคระบาดไม่ได้เกิดแค่กับกลุ่มเด็กนอกโรงเรียน เพราะเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา ก็ต้องเจอกับภาวะ ‘หยุดชะงัก’ เมื่อรัฐบาลหลายประเทศตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียน

“ขณะที่ทั้งโลกอยู่ในภาวะล็อกดาวน์ เพื่อชะลอการแพร่กระจาย เด็กจำนวนกว่า 1.6 พันล้านคนถูกระงับการเรียน และมากกว่าครึ่งเป็นเด็กอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา

“แม้การปิดโรงเรียนจะจำเป็นต่อการรักษาชีวิตผู้คน แต่การที่เด็กต้องหยุดไปโรงเรียนหมายถึงค่าใช้จ่ายทางบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดความท้าทายอย่างใหญ่หลวงสำหรับความเสมอภาค ซึ่งอาจผลักดันให้เด็กหลุดออกจากการศึกษา

“ความผันผวนทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่จากโควิด-19 จะทำให้ผู้ใหญ่และเด็กมากกว่า 70 ล้านคนทั่วโลกมีแนวโน้มถูกผลักเข้าสู่ความยากจนในปีนี้ เศรษฐกิจโลกคาดว่าจะหดตัวอย่างรุนแรงถึง 5.2 เปอร์เซ็นต์ เป็นภาวะถดถอยมากที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่สอง แม้จะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจกำลังพัฒนา ก็คาดว่าจะหดตัว 2.5 เปอร์เซ็นต์”

โดยสรุปแล้ว อัลไบร์ทถือว่าสถานการณ์เช่นนี้ คือ ‘หายนะ’ ของการศึกษา

เมื่อเศรษฐกิจหดตัว รัฐบาลแต่ละประเทศมีรายรับลดลง งบประมาณด้านการศึกษาก็จะลดลงตาม “กระทั่งผู้ปกครองที่มีบุตรหลายคนอาจต้องเลือกว่าจะส่งลูกคนไหนไปเรียน ทำให้กลุ่มที่เปราะบางอย่างเด็กพิการ และเด็กผู้หญิงจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”

อัลไบร์ทเล่าว่า ผลกระทบจากการปิดโรงเรียนและการแพร่ระบาดของโรคที่มีต่อเด็กผู้หญิงเคยปรากฏให้เห็นผ่านเหตุการณ์การระบาดของโรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกเมื่อ 5 ปีก่อน

“พอปิดโรงเรียน เด็กผู้หญิงต้องทนทรมานกับความรุนแรงทางเพศ ปัญหาการแต่งงาน ท้องก่อนวัยอันควร ความรุนแรงในครอบครัว และแรงงานเด็ก ซึ่งทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียน

“เราเห็นอัตราการออกจากโรงเรียนกลางคันในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นช่วงอีโบลา จากข้อมูลของกองทุนมาลาลาที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการประเมินว่าเด็กผู้หญิงวัยมัธยม 10 ล้านคนทั่วโลกไม่สามารถกลับไปยังโรงเรียนได้ ซึ่งเด็กที่ออกจากโรงเรียนจะสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ สูญเสียศักยภาพในการหารายได้ในช่วงชีวิตระยะยาวที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้” เธออธิบาย

ด้านผลกระทบอื่นๆ จากโควิด-19 ที่ GPE คาดการณ์ คือ ปัญหาของครูที่อาจต้องหารายได้จากแหล่งอื่นเพิ่มเติมในช่วงการระบาด จนทำให้คุณภาพการสอนลดลง หรือกระทั่งเลิกเป็นครู และโรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะในชุมชนยากจนอาจขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันโรค อันจำเป็นต่อการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักเรียนและบุคลากร

ในเมื่อตัวอย่างมีให้เห็นมาก่อนหน้า อัลไบร์ทจึงคิดว่า การเร่งมือช่วยเหลือกลุ่มนักเรียนเปราะบางด้วยการลงทุนด้านการศึกษาที่เหมาะสม ถูกจุด จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ผลลัพธ์ไม่ซ้ำรอยกับเมื่อคราวอีโบลาระบาดหนัก

สร้างโลกใหม่ ที่โรคระบาดไม่อาจกีดขวางการศึกษาของเด็กทุกคน

ขณะที่เราให้ความสำคัญกับการป้องกันด้านสาธารณสุข เราก็ควรรักษาและเสริมสร้างการลงทุนด้านการศึกษาไปพร้อมกันด้วย เพราะการศึกษามีความสำคัญต่อการจัดการผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวของโควิด-19” อัลไบร์ทกล่าว

สำหรับการจัดการระยะสั้น อัลไบร์ทเสนอว่าสามารถจัดให้โรงเรียนทำหน้าที่มากกว่าการเป็น ‘สถานศึกษา’ เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่เข้าถึงคนในระดับชุมชนได้มากที่สุด ดังนั้น จึงสามารถเป็นทั้งแหล่งส่งเสริมโภชนาการและความมั่นคงทางอาหารแก่เด็กด้อยโอกาส ช่วยเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพ และสนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขเพิ่มเติม เช่น ให้ความรู้เรื่องการล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย และช่วยแจกจ่ายวัคซีน เป็นต้น

“ส่วนในระยะยาว การศึกษาที่มีคุณภาพจะช่วยสร้างความมั่นคงทางสังคมและมอบโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกับนักเรียน นี่เป็นทางออกเดียวที่ยั่งยืนจากวิกฤตเศรษฐกิจ”

ในแง่นี้ อัลไบร์ทมองว่าเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในโลกยุคหลังโควิด-19 ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำรุนแรงซึ่งมีมาแต่เดิมด้วย คือ การศึกษาทางไกล

“หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาการศึกษาจากการระบาดใหญ่ของโรคคือเพิ่มการเรียนรู้ทางไกล ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง กลาง ต่ำ หรือกระทั่งไม่มีเทคโนโลยีเลย ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะทำได้ดีเมื่อครูมีส่วนร่วมและหลักสูตรมีความเหมาะสม รวมถึงไม่มีการแบ่งแยก เลือกปฏิบัติกับเด็กที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม

เพราะเราจะตื่นขึ้นมาในโลกที่ความเท่าเทียมแย่ลงกว่านี้ไม่ได้แล้ว

การทำงานของ GPE ในยุคโควิด-19 จึงเน้นการส่งเสริมให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาอย่างเร่งด่วนในยามวิกฤต เชื่อมโยงให้เห็นประโยชน์ของการศึกษาที่ส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายทางสังคม ทั้งด้านสุขภาพ โภชนาการ และความปลอดภัย พร้อมช่วยระดมทุนเพื่อสร้างการเรียนรู้ทางไกลรูปแบบต่างๆ ในหลายประเทศ

“ทุนของ GPE ถูกใช้ใน 4 ด้านหลัก คือ สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (learning continuity) โดยเฉพาะกับกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรครู การเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย และเสริมสร้างความยืดหยุ่นในระบบการศึกษา” อัลไบร์ทอธิบาย

“โดยหนึ่งในสามของเงินทุนจาก GPE จะใช้เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมด้านการศึกษาโดยตรง ยกตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก GPE สนับสนุนสื่อการเรียนรู้แก่เด็กในชุมชนยากจนและชนบทของภูฏานและอินโดนีเซีย สนับสนุนการแปลภาษามือของบทเรียนวิดีโอสำหรับนักเรียนที่มีความพิการในกัมพูชา สร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ทางไกลออนไลน์ โดยมีเนื้อภาษาท้องถิ่นสำหรับเด็กทุกคน รวมถึงเด็กพิการในคีร์กีซสถาน”

นอกจากนี้ GPE ยังใช้เงินจำนวนมากในการรณรงค์ป้องกันความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิงทุกรูปแบบ การแต่งงานก่อนวัยอันควร และช่วยสนับสนุนด้านจิตสังคม เพื่อดึงเด็กผู้หญิงกลับสู่โรงเรียนให้ได้มากที่สุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนการสอนทางไกลผ่านสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ต่างๆ สร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นเพื่อเด็กที่อยู่นอกโรงเรียนอีกด้วย

อาจกล่าวได้ว่า การลงทุนด้านการศึกษาทางไกล ทั้งทรัพยากร การเรียนการสอนที่หลากหลาย เหมาะสมกับเด็กทุกกลุ่ม และสร้างแผนช่วยเหลือเจาะกลุ่มเด็กเปราะบางตามบริบทแต่ละสังคม คือแนวทางสำคัญสำหรับการศึกษาหลังยุคโควิด-19 เป็นต้นไป

“สุดท้ายนี้ เราควรคิดถึงอนาคตและการฟื้นฟูการศึกษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 กระตุ้นให้เราต้องลงมือพัฒนาอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนระบบการศึกษาที่มีมาแต่เดิมให้ครอบคลุม ไม่ให้มีใครถูกทอดทิ้ง ขยายนวัตกรรม และปรับระบบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น” อัลไบร์ททิ้งท้าย

“ทั้งหมดนี้เพื่อให้เราก้าวเข้าใกล้โลกใหม่ ที่แม้แต่โรคระบาด ก็ไม่สามารถกีดขวางการศึกษาสำหรับเด็กทุกคน”


หมายเหตุ

ความเห็นของอลิส อัลไบร์ท จากงานประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา: ปวงชนเพื่อการศึกษา หัวข้อ “Equitable Education: What does it mean in the Changing World amidst COVID19 Pandemic? ความเสมอภาคทางการศึกษา: หมายถึงอะไร ในโลกที่เปลี่ยนแปลงท่ามกลางการระบาดโควิด-19” โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วันที่ 10 กรกฎาคม 2563

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world