นิยามใหม่ของการเรียนรู้ คือสร้างโอกาสให้เด็กทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกข้อแม้ “เชื่อมั่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ …ทำได้ และจะกลับไปเริ่มทำทันที”
ณัฐดนัย ศรีทะบาล : ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งน้อยพิพัฒน์โสภณวิทยา จังหวัดพิจิตร

นิยามใหม่ของการเรียนรู้ คือสร้างโอกาสให้เด็กทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกข้อแม้ “เชื่อมั่น 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ …ทำได้ และจะกลับไปเริ่มทำทันที”

“การจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นจะช่วยเด็กได้ในหลายกรณี ไม่ใช่แค่หลุดด้วยสาเหตุใดเพียงสาเหตุหนึ่ง แต่มันครอบคลุมรองรับได้ทั้งหมดของคนที่ไม่พร้อมจะเรียนในระบบการศึกษาปกติ ซึ่งเป็นการมองถึงความหลากหลายจริง ๆ ของรูปแบบการศึกษา ที่เราจะเตรียมไว้สำหรับเด็กทุกคน”

จากงานประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ “การศึกษาที่ยืดหยุ่น ป้องกันเด็กหลุดจากระบบ” ซึ่งเพิ่งปิดฉากเมื่อปลายเมษาที่ผ่านมา ผอ.ณัฐดนัย ศรีทะบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งน้อยพิพัฒน์โสภณวิทยา อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร คือหนึ่งในนักขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่สมัครใจเข้าร่วม โดยได้สะท้อนความเห็นหลังจบกิจกรรมว่า เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งน้อยฯ พบว่า ปัญหาหนึ่งที่เรื้อรังมายาวนาน คือโรงเรียนมี ‘เด็กแขวนลอย’ หรือเด็กที่มีชื่อในระบบแต่ไม่มาเรียนสะสม และทบทวีขึ้นทุกเทอมการศึกษา ขณะที่คำแนะนำจากฝ่ายวิชาการบอกว่า ที่ผ่านมาทำได้เพียงรอให้เด็กอายุครบ 15 ปี แล้วจึงจะสามารถจำหน่ายชื่อออกจากระบบได้

ผอ.ณัฐดนัย ศรีทะบาล ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านทุ่งน้อยพิพัฒน์โสภณวิทยา

“เราฉุกคิดว่าการรอเวลาให้ระบบดีดชื่อเด็กออก มันเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ แล้วทำไมแง่มุมการจัดการมันถึงมีแต่มุ่งไปในเชิงการเคลียร์ระบบอย่างเดียว ไม่มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็กเลย จึงเสนอว่าให้ลองไปติดตามเด็กถึงที่สุดก่อน ซึ่งครูทุกคนรับปาก แต่มีคำถามสำคัญที่ย้อนกลับมา ว่า

“…ถ้าพาเด็กกลับมาได้แล้ว ผอ.จะให้เขาเรียนแบบไหน?”

คำถามสั้น ๆ นั้นทำให้ ผอ.ณัฐดนัย ไปต่อไม่ได้ ไม่มีคำตอบ ทั้งทวนถามกับตัวเองว่าที่ผ่าน ๆ มานั้น มีเด็กจำนวนมากเท่าไหร่แล้วที่เสียโอกาสเรียนไปด้วยเหตุนี้

“เรื่องนี้คือสิ่งที่ติดใจมาตลอด จนได้ฟังผู้บริหารโรงเรียนต้นแบบ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ อธิบายถึงความเป็นไปได้ของการจัดการเรียนรู้ที่ไม่ได้ยึดโยงกับห้องเรียนเพียงอย่างเดียว เราก็สนใจ ดีใจว่าต่อจากนี้จะมีหลักการ กระบวนการ และมีตัวแบบของการจัดการศึกษาที่เหมาะกับวิถีชีวิตของเด็กแต่ละคนให้ศึกษาและเดินตามแล้ว ที่สำคัญคือเป็นวิธีการที่มีกฎระเบียบรองรับ และทำได้ทันที

“เมื่อนั้นเราจึงเข้าไปค้นคว้าข้อมูลจากเว็บไซต์ กสศ. จนเข้าใจรายละเอียดเพิ่มขึ้น และต่อเนื่องมาถึงการเข้าร่วม Workshop ครั้งนี้”

ผอ.ณัฐดนัยกล่าวว่า ‘การศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ไม่เพียงช่วยเด็กที่หลุดไปด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง แต่คือระบบที่มีไว้ ‘รองรับเด็กทุกคน’  เนื่องจากเด็กที่ขาดเรียนต่อเนื่องยาวนาน ไม่ได้มีแค่ปัญหาพฤติกรรม แต่ยังมีกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ หรือความจำเป็นในครอบครัว

“การสอบถามพูดคุยกับเด็กโดยลงลึกไปที่แก่นปัญหา ทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่าเด็กหลายคนต้องไปทำงานรับจ้าง ต้องคอยดูแลผู้พิการหรือสูงอายุ บ้างเจ็บป่วยจนไม่สามารถมาโรงเรียนต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าการจัดการเรียนรู้มีช่องให้ผ่อนปรนจากระบบที่เป็นแท่งเดียว โครงสร้างเดียว หรือการวัดประเมินผลด้วยชุดข้อมูลเดียว มันจะครอบคลุมความหลากหลายของข้อแม้ต่าง ๆ ในชีวิตที่เด็กทุกคนต้องเจอ

“ข้อมูลจากการร่วม Workshop เปิดโลกทัศน์เรากว้างขึ้น ว่าการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับกลุ่มเปราะบาง เรายืดหยุ่นกฎระเบียบได้ ออกแบบเป็นพิเศษได้ เพื่อให้สอดคล้องกับภาระที่เด็กแบกรับอยู่ และนี่คือทางออกของช่องทางที่ก่อนหน้านี้เรามองไม่เห็น โดยชุดความคิดหนึ่งที่หลังจากได้ยินแล้วมันจุดประกายให้เราตกผลึกทันที คือโรงเรียนจะต้องช่วยคืนความเป็นมนุษย์กลับไปที่เด็กทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มที่เขาเข้าไม่ถึงหรือไม่มีโอกาสที่เสมอภาคทัดเทียมกับเด็กคนอื่น ๆ

ผอ.ณัฐดนัย เปรียบว่า ‘หัวใจของการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ คือการเปิดสิ่งที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้น เปลี่ยนส่วนมืดมิดให้รับแสงสว่าง หรือคือการพยายามก้าวข้ามข้อจำกัด เพื่อให้ทุกอย่าง ‘เป็นไปได้’ โดยอำนาจตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะเป็นกุญแจไขประตูให้เปิดไปสู่แนวทางปฏิบัติ ซึ่งตอนนี้ตนยิ่งมั่นใจว่า ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบทำได้ และพร้อมจะกลับไปเริ่มทำที่โรงเรียนบ้านทุ่งน้อยพิพัฒน์โสภณวิทยาทันที’

“ก่อนเปิดภาคการศึกษาใหม่ เราจะสื่อสารไปยังชุมชนและผู้ปกครอง เพื่อสร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคนโดยช่วยกันตามพวกเขากลับมา และหาทางให้เรียนรู้ในวิถีทางที่เป็นไปได้ เราจะส่งสารสำคัญออกไปว่า ถ้าสังคมหันหลังแล้วคัดเด็กกลุ่มนี้ทิ้งไป เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเส้นทางที่เด็ก ๆ ระหกระเหินเดินไปด้วยตัวเองนั้น จะส่งผลย้อนคืนกลับมาที่สังคมของเราอย่างไร

“สำหรับโรงเรียนของเราที่อยู่ในพื้นที่สีแดงของปัญหายาเสพติด ผมเชื่อว่าความรู้และทัศนคติ จะเป็นอาวุธเพียงไม่กี่อย่าง ที่เด็กจะใช้พาตัวเองหลุดพ้นวงจรออกมาได้ เพราะอย่าลืมว่าส่วนหนึ่งของยุวอาชญากรที่สังคมต่างตระหนกกันอยู่ทุกวันนี้ ส่วนใหญ่ก็คือเด็ก ๆ ที่พวกเราปล่อยเขาหลุดออกจากโรงเรียนไปนี่เอง ดังนั้นวิธีที่เราลงมือทำได้ตอนนี้เลยคือพาเขากลับมา แล้วช่วยกันปรับความคิดและเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขา ก่อนจะสายเกินไป”

ผอ.ณัฐดนัย กล่าวหลังก้าวออกจากห้องประชุมเชิงปฏิบัติการเส้นทางสู่ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบว่า แผนผังขั้นตอนการทำงานคร่าว ๆ ที่ร่างไว้ และพร้อมลงมือทำทันทีเมื่อกลับไปถึงโรงเรียน คือ

1.จัดประชุมครูเพื่อสรุปแนวทางค้นหานักเรียนกลุ่มแขวนลอยให้พบ
2.สื่อสารพูดคุยกับเด็กและผู้ปกครอง
3.เตรียมออกแบบการจัดการเรียนรู้ร่วมกับครูประจำชั้นและครูประจำรายวิชา
4.ขออนุมัติความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา เรื่องการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต

“แผนระยะสั้นคือถ้าจัดการสี่ขั้นตอนนี้จบ เราเดินหน้าได้เลย ผมมองว่าความเป็นผู้บริหาร เมื่อทิศทางการทำงานชัด เราคิดให้จบแล้วมีอำนาจตัดสินใจได้ทันที ส่วนแผนระยะยาวคือหลังทดลองทำไปสักหนึ่งปีการศึกษา เราจะมีเด็กที่กลับมาและวิธีการเฉพาะมาเป็นตัวแบบ ซึ่งโรงเรียนจะถอดบทเรียนทำโครงสร้างหลักสูตร เพื่อเสนอเขตพื้นที่การศึกษาให้รับรองเห็นชอบ เมื่อนั้นเด็กกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ก็จะมีช่องทางการเรียนรู้ที่เป็นระบบ มองเห็นว่าจะวางตัวตนไว้บนเส้นทางการศึกษาอย่างไร แล้วพอเราทำแล้ว เห็นผลแล้ว ตัวแบบจากโรงเรียนของเราก็จะแข็งแรงชัดเจน จนโรงเรียนอื่น ๆ มั่นใจเช่นกัน ว่าการจัดการศึกษา 1 โรงเรียน 3 รูปแบบนั้น ‘เป็นไปได้’  

“ประสบการณ์ร่วม Workshop ครั้งนี้ยิ่งทำให้แน่ใจว่า รูปธรรมของการทำงาน คือเครื่องมือสื่อสารอันทรงพลังที่สุด ที่จะส่งต่อและระดมความร่วมมือจากชุมชน จากผู้ประกอบการ และจากสถาบันการศึกษาใกล้เคียง เพื่อออกแบบระบบดูแลเด็กร่วมกันให้มีเส้นทางส่งต่อระหว่างสถานศึกษา หรือก้าวไปสู่เส้นทางอาชีพ อาจเป็นหลักสูตรอบรมอาชีพระยะสั้น หรือมีรายวิชาใหม่ ๆ ที่บูรณาการข้ามกลุ่มสาระ”

ผอ.ณัฐดนัย กล่าวปิดท้ายว่า อีกสิ่งหนึ่งที่รู้สึกยินดีจากการได้เข้าร่วม Workshop ครั้งนี้ คือข่าวดีเรื่องการประกาศใช้ ‘ธนาคารเครดิต’ (Cradit Bank) โดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยมองว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดโครงสร้างของการจัดการศึกษา ที่เคลื่อนย้ายถ่ายเทไปสู่การผลิตหลักสูตรและรายวิชาน่าสนใจและก่อประโยชน์กับผู้เรียน โดยไม่อิงอยู่กับห้องเรียน อัตราเข้าเรียน  หรือการวัดประเมินผลตามกรอบสาระการเรียนรู้ที่ใช้มาตลอด และส่วนสำคัญที่สุดคือผลที่จะตกไปยังตัวผู้เรียน จากนี้การเรียนรู้ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม จะหมายถึง ‘ทางเลือก’ ที่ปรับเปลี่ยนได้ เทียบโอนข้ามรูปแบบได้ มีวุฒิการศึกษารองรับ มีเส้นทางที่เชื่อมต่อไปสู่การประกอบอาชีพ และความหมายใหม่ของการเรียนรู้นี้เอง ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับเด็กทุกคน ทุกกลุ่ม และทุกข้อแม้อย่างแท้จริง