“ครูที่ดี คือ ครูที่ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลว”
ว่าที่ร้อยตรีหญิง ณัฐวดี ทองขาว ครูโรงเรียนบ้านหนองขาม จังหวัดนครปฐม โรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. เครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา

“ครูที่ดี คือ ครูที่ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลว”

เรามุ่งพัฒนาปัญญาภายใน เสมือนกระจกที่ส่องมองตัวเอง ให้เด็กมีสติรู้ตัว รู้จักตัวเอง มีจิตที่ใหญ่ รักและเคารพในคุณค่าของตัวเอง คุณค่าของเพื่อน และผู้อื่น

เปลี่ยนตั้งแต่ใช้สนามพลังบวก สำคัญที่สุดคือโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนมาโรงเรียนแล้วอยากได้ สภาพแวดล้อม สงบ ร่มรื่น ร่มเย็น วิถีวัฒนธรรมคงเส้นคงวา

ลดการตัดสิน เปรียบเทียบ ทำโทษ ยัดเยียด คำพูดด้านลบ บางทีคุณครูไม่รู้ตัว เด็กทุกคนมีความเป็นตัวเอง เราไม่สอนปลาให้ปีนต้นไม้

เราสอนปลาให้ว่ายน้ำในท่าที่เขาถนัดที่สุด  บางอย่างเราอาจมองข้ามความรู้สึกของเด็กๆ ไป  เด็กบางคนอยู่ที่บ้านโดนกดดัน อย่างน้อยมาโรงเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขา ทำไมโรงเรียนต้องปลอดภัยการเรียนรู้ศตวรรษที่21 ทักษะต่างๆ จะยังไม่เกิดขึ้นถ้าเขายังไม่รู้สึกว่า ตัวเองปลอดภัย

ปลอดภัยจากการบูลลี่ เราไม่ได้สอนว่า อย่ามาพูดอย่างนั้น แต่ให้เด็กๆ ได้เห็นสิ่งที่เป็นผลกระทบสิ่งที่เกิดขึ้น ให้เขาสะท้อนออกมาเองว่า ถ้าการบูลลี่เพื่อน การพูดแบบนี้ เพื่อนจะรู้สึกอย่างไร

โรงเรียนของเรา คุณครูจะเป็นนักตั้งคำถามที่ดี ไม่ครอบงำเราเป็นบ้านหลังที่สองให้กับเขา ความปลอดภัยทางจิตใจ เริ่มจากครู ลดการตัดสิน ไม่มีการจัดอันดับผลการเรียนว่าใครได้ที่หนึ่ง เด็กจะถูกปรามาส

ครูจะไม่เปรียบเทียบ ใช้คำพูดด้านลบ ซึ่งคำพูดบางคำพูด ไม่ว่าจะเป็นตั้งฉายา “อ้วน ดำ“ อาจเป็นการพูดเล่นๆ  เช่น “น้องอ้วนมาหาคุณครูสิลูก /เตี้ยมาหาครูสิลูก” อาจจะดูน่ารัก น่าเอ็นดู แต่เคยถามเด็กมั้ยว่า รู้สึกอย่างไรที่โดนเรียกเช่นนั้น 

ครูจะเพิ่มความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือ self esteem empower เพิ่มตัวตน ครูจะเรียกเด็กๆ ว่า พี่ ตามด้วยชื่อ นั่นก็คือการเคารพเขาแล้วนะคะ  แสดงว่าเขามีตัวตนในห้องเรียนของเรา  

การที่ครูบอกเด็กๆ ว่า “เธอคิดผิด เธอพูดผิด เธอคิดได้อย่างไรเนี่ย เด็กก็จะรู้สึก ฉันคิดไม่ได้ ฉันต้องตามครูเท่านั้น”

วง PLC ของที่โรงเรียน ครู ผู้อำนวยการ จะนั่งระดับเดียวกัน เท่ากัน ไม่มีผอ.ไม่มีครูที่แก่กว่า ไม่มีคุณครูที่มาก่อน เรามีแต่ครูที่ดี คือ ครูที่ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลว  อย่างน้อยเขาเป็นปลาที่ว่ายน้ำในท่าที่เขาถนัด เขาเป็นลิงที่ปีนต้นไม้ได้เท่าทีเขาปีนได้    

นวัตกรรมเหล่านี้ สามารถปลดปล่อยศักยภาพของครูในโรงเรียน บ้านหนองขาม  ทำให้เกิด ครูที่ดี ครูที่ไม่ปล่อยให้เด็กล้มเหลว ครูที่เก่ง ครูที่ถามเด็กเก่ง ทำให้เด็กคิดและหาคำตอบได้ 

ห้องเรียนคณิตศาสตร์ของเราเป็นอย่างไร

ครูจบเอกคณิตศาสตร์โดยตรง เรามีไฟ เราต้องสอนได้ดี แต่วันหนึ่ง สอนประถมปลายสามปี หลังจากนั้นผอ.ให้มาสอนประถมต้น ด้วยเหตุผลว่า เพื่อให้ได้เห็นบริบท ให้ได้เห็นตัวเอง พอมาวันหนึ่ง ทำสหกรณ์รร. เด็กคนหนึ่งมาซื้อไอติม  เราก็ตั้งคำถาม หนูจะให้ครูทอนเท่าไหร่คะ ก็นึกหยอกล้อตามประสา แต่เด็กคนนี้เงียบค่ะ เด็กคนนี้อยู่ ป.5 แค่จ่ายเงินยี่สิบบาท ไอติมราคาสิบบาท เขาควรจะตอบได้ว่าทอนเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเด็กกลัวเราหรือเพราะว่าอะไร จึงกลับมานั่งนึกทบทวนตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ เราจบเอกคณิตมาโดยตรง เราทำร้ายเด็กไปกี่รุ่นแล้ว สิ่งที่เราเป็นอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่เราทำ ทำไมเด็กๆทำการบ้านไม่ได้ การบ้านไม่เคยส่ง เราก็คือครูคนหนึ่งที่อยากให้เด็กๆได้ด้วยการสั่งแบบฝึกหัดเยอะๆ เด็กต้องได้ เด็กต้องเก่ง แต่สิ่งที่ได้มาก ซื้อไอติมสิบบาท จ่ายยี่สิบบาท เด็กคิดเงินทอนไม่ได้ เรามาตั้งคำถามกับตัวเอง ที่สอนมานั้นล้มเหลวรึเปล่า เราเป็นครูคณิตโดยตรงแท้ๆ ทั้งที่ครูประถมใครๆ ก็สอนคณิตได้

เคยถามตัวเองมั้ยว่า ในห้องเรียนเราเป็นแบบไหน POWER OVER ใช้อำนาจ กดขี่ ไม่เสมอภาค ตัดสินใจแทน ทำไมเธอตอบอย่างนี้ เธอตอบอย่างนี้ได้อย่างไร  ถ้าตอบผิดกลับไปแก้ 

การสื่อสารกับเด็กว่า  หลักการมีง่ายๆแค่นี้ ทำไมไม่เข้าใจ  ทำไมไม่ชอบ ไม่ใช่เพราะเด็กกลัวคณิตศาสตร์ แต่เพราะกลัวครู  กลัวเราที่เราเร็ว และตัดสินทุกอย่าง เรามีอำนาจ เขาก็ไม่อยากจะเรียนกับเราแล้วค่ะ

เราจึงเปลี่ยนเป็น POWER SHARING เสมอภาค เปิดพื้นที่อิสระ ระดมความคิดเห็น ตัดสินใจเอง ซึ่งตอนแรกก็ขัด เพราะไหนจะตัวชี้วัด  ต้องทำอะไรอีกมากมาย แต่พอเราช้าลง เด็กของเราก็ช้าลง ช้าตามเรา

คณิตศาสตร์โปรแอคทีฟ เริ่มต้นด้วยการเล่นเกม เด็กอาจตอบไม่ตรง แต่ใกล้เคียง ก็ทำให้เด็กกล้าที่จะตอบมากขึ้น การตั้งโจทย์จากสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เพราะที่ผ่านมาโจทย์คณิตศาสตร์ค่อนข้างยาก และห่างไกลตัวเด็ก ให้เด็กคิดแก้ปัญหาร่วมกัน หนึ่งคน คิดไม่ได้ สองคนคิด ไม่ได้ แล้วมาแชร์ด้วยกัน

เราลองพูดให้น้อยลง ฟังให้มากขึ้น  เราลองช้าตามเด็ก อย่างน้อยเขาก็คิดได้ นั่งยิ้ม เดินยิ้มมาเลย หนูคิดได้ค่ะ ครู  อย่างน้อยวันนี้เราจะได้ยินเสียงเด็กๆ คนที่เราไม่เคยได้ยินเลย  คนที่ไม่เคยพูดกับเราเลย คนที่แค่ถามก็ตัวสั่น ร้องไห้


เรียบเรียงจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของ ว่าที่ร้อยตรีหญิง ณัฐวดี ทองขาว ครูโรงเรียนบ้านหนองขาม จังหวัดนครปฐม โรงเรียนพัฒนาตนเอง กสศ. เครือข่ายมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “โรงเรียนพัฒนาตนเอง : การจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ของชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ณ ห้องประชุม Magnolia โรงแรมทีเค. พาเลซ โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น