“ดีใจค่ะที่ได้มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ”
“กังวลค่ะว่าจะคุยกันรู้เรื่องไหม แต่ก็รู้สึกตื่นเต้น เดี๋ยวเราจะได้ทำงานด้วยกันแล้ว”
“เจออะไรแปลกใหม่เยอะมากตั้งแต่ออกจากบ้านมา ยังคิดอยู่ว่าแค่วันแรกยังขนาดนี้ เหมือนจะอดใจรอจะทำกิจกรรมต่อ ๆ ไปไม่ไหวแล้ว”
เหล่านี้คือส่วนเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึกตื่นเต้นดีใจที่น้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาค กสศ. มีต่อการได้เข้าร่วมกิจกรรม Equity Partnership’s School Network หรือที่เราเรียกชื่อเล่นสั้น ๆ ว่า Equity Partnership ซึ่งเวียนกลับมาอีกครั้งใน Season 5 ซึ่งปีนี้มีนักเรียนทุนเสมอภาคชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น 10 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. จาก 10 จังหวัดทั่วไทย จับคู่กับพี่ ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 10 ทีมจาก 6 โรงเรียนนานาชาติ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่า ตั้งแต่ในขั้น ‘แบบร่าง’ หรือ ‘Prototype’ จนเข้าสู่กระบวนการผลิต การบริหารจัดการร้านค้าและสินค้า ก่อนถึงขั้นตอนจำหน่ายจริงบนตลาดออนไลน์ Shopee ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 นี้
กสศ. ชวนติดตามน้อง ๆ ตั้งแต่วันแรกของการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อร่วมกันติดตามความเปลี่ยนแปลงตลอดเส้นทาง แต่ก่อนจะไปฟังเสียงน้อง ๆ ชวนเพื่อนผู้อ่านทำความรู้จักกับกิจกรรม Equity Partnership พอสังเขปกันก่อนครับ
Equity Partnership’s School Network หรือที่มีชื่อเต็มภาษาไทยคือ โครงการขยายผลนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาค เป็นกิจกรรมที่ กสศ. เครือข่ายโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี และ Sea (ประเทศไทย) ร่วมกัน co-creation for education เป็นปีที่ 5 แล้วที่เราได้สร้างสรรค์ความร่วมมือเพื่อสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาผ่านต้นทุนที่ไม่ใช่เพียงตัวเงิน แต่เป็นการมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เช่น Digital Marketing ผ่าน ‘การลงมือแบบมีส่วนร่วม’ ระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนห่างไกล โดย ‘สร้างพื้นที่การเรียนรู้’ และ ‘ใช้เวลาร่วมกัน’ ในการบ่มเพาะส่งเสริมองค์ความรู้ทางวิชาชีพ จนถึงการเรียนรู้และเติบโตทางด้านอารมณ์สังคม ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ และพร้อมเดินทางค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปด้วยกัน บนพื้นฐานของความแตกต่างด้วยพื้นเพภูมิหลังและวิถีชีวิต
ด้วยผลลัพธ์จากกิจกรรมที่ดำเนินต่อเนื่องตลอด 4 ปี ได้ทำให้เกิดการระดมความร่วมมือจากท้องถิ่น ชุมชน คนในพื้นที่ ผ่านเครือข่ายคณะทำงานที่มีโรงเรียนในสังกัด สพฐ.จากทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 40 แห่ง ร่วมด้วยเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 9 แห่ง ในพื้นที่ 30 จังหวัด มีบุคลากรคณะครูและนักเรียนในโครงการทั้งหมดราว 400 คน ตลอดจนผลกำไรจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์รวมในโครงการบนแพลตฟอร์ม Shopee ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1.5 ล้านบาท ยังได้แปรเปลี่ยนเป็นต้นทุนที่คืนกลับไปสู่น้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาคในโครงการ เพื่อนำไปใช้สร้างสรรค์พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป
ในปีที่ 5 นี้ มีโรงเรียน สพฐ. 10 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่านหญิงวิภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) จังหวัดตราด โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี โรงเรียนขุนยวมวิทยา จังหวัดแม่ฮ่องสอน โรงเรียนดงสวรรค์วิทยา จังหวัดหนองบัวลำภู โรงเรียนบ้านนาเลา จังหวัดมหาสารคาม โรงเรียนบ้านยะพอ จังหวัดตาก โรงเรียนเพียงหลวง 1 (บ้านท่าตอน) จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านทุ่งโฮ้ง (อภิวังวิทยาลัย) จังหวัดแพร่ โรงเรียนบ้านนห้วยลึก จังหวัดเชียงราย และเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี (Shrewsbury International School) โรงเรียนนานาชาติรักบี้ (Rugby School Thailand) โรงเรียนนานาชาติเซนต์ แอนดรูว์ส (St. Andrews International School) โรงเรียนสาธิตประสานมิตร (International Programme) โรงเรียนนานาชาติแอสคอท (Ascot International School) ผนวกกับอีกหนึ่งโรงเรียนนานาชาติที่อยู่ในขั้นตอนเข้าร่วม
คุณค่าและผลกำไรจากการทำงานร่วมกัน ยังสะท้อนกลับมาในรูปของการเกิด ‘พื้นที่ความร่วมมือ’ และการถักทอ ‘มิตรภาพ’ ที่จะยั่งยืนสืบไปของเยาวชนจากสองฟากฝั่ง ที่แม้อาจเริ่มต้นด้วยความต่าง หากการได้นำศักยภาพมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันและผลักดันกัน ได้กลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวความรู้ ทดลอง หล่อหลอมทักษะและประสบการณ์ใหม่ ไม่ว่าทักษะดิจิทัล ทักษะผู้ประกอบการ ไปจนถึงการเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะอารมณ์สังคม (Social Emotional Learning) ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตงอกงามของ ‘Empathy’ หรือความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ การให้และการรับ ทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า ซึ่งถือเป็นประสบการณ์อันแตกต่างไปจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนปกติ และนี่เองคือส่วนหนึ่งของการสานเครือข่ายความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและการสนับสนุนจากภาคเอกชน ที่อาจเป็นต้นแบบของการสร้างรูปแบบการเรียนรู้บนฐานความเสมอภาคในทางหนึ่ง
พื้นที่ตรงนี้… น้อง ๆ ทุนเสมอภาคส่วนหนึ่ง ได้บอกเล่าความรู้สึกของการร่วมกิจกรรม ‘วันแรก’ ว่าเด็ก ๆ รู้สึกตื่นเต้นดีใจ หรือกังวลสักแค่ไหน แล้วการได้พบพี่ ๆ จากโรงเรียนนานาชาติจะเหมือนหรือไม่อย่างไรจากที่จินตนาการไว้ก่อนมาพบเจอตัวกันจริง ๆ
อ่านข่าว : เริ่มแล้ว Equity Partnership’s School Network Season 5
‘แปลกใจว่าคุยคนละภาษา แต่กลับเข้าใจกันได้เอง’
เริ่มที่น้อง ๆ ชั้นมัธยม 3 โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) จังหวัดตราด น้องฝนบอกว่า ตื่นเต้นที่จะได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แต่ก่อนจะมาวันนี้ก็คิดไปเยอะมากว่าจะเป็นอย่างไร เพราะการมาเจอพี่ ๆ โรงเรียนนานาชาติเป็นเรื่องหนึ่งที่คิดภาพไว้ว่า ‘ต้องคุยกันไม่รู้เรื่องแน่ ๆ’ แต่ถึงวันได้เจอได้คุยจริง ๆ กลับไม่เหมือนที่คิดไว้เลย
“เราแปลกใจว่าเราใช้คนละภาษา คิดว่าจะคุยกันไม่รู้เรื่อง แต่อยู่ ๆ ก็กลับเข้าใจกันได้เองค่ะ ถึงตรงนี้คิดว่าการทำงานด้วยกันต้องสนุกแน่ ๆ ดีใจที่จะมีพวกพี่ ๆ มาช่วยกันคิดงาน อยากได้แนวคิดมุมมองจากเขาค่ะ จากนี้เราก็เตรียมตัวต้อนรับตอนพี่ ๆ วันที่เขาจะไปบ้านเรา อยากอวดของดีที่ชุมชนให้เขาเห็นค่ะ”
‘ภูมิใจที่ถูกเลือก’
น้องนาวี บอกว่าอยากได้ประสบการณ์การทำงาน โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับสังคมอื่นที่กว้างไกลไปกว่าแค่ที่เคยเห็น นอกจากนี้ยังอยากได้ความรู้เรื่องการตลาดและการพัฒนาสินค้าที่ไม่มีสอนในโรงเรียนด้วย
“อยากรู้ว่าด้วยของที่เรามีซึ่งมันมีเรื่องเล่าอยู่แล้ว พี่ ๆ เขาจะมีวิธียังไงมาช่วยทำให้คนซื้อคนสนใจค่ะ ส่วนตัวเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ครูเลือกให้มาร่วมโครงการ วันนี้ที่มาก็ตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะต้องได้ความรู้ ได้มีเพื่อนใหม่ ได้รู้เห็นสังคมใหม่ ๆ ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการไปโรงเรียนทุกวัน คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีจริง ๆ ค่ะ”
‘ตั้งสตินานมากกว่าจะหายตื่นเต้น’
ส่วนน้องกันบอกว่า ทีแรกไม่คิดว่าตัวเองจะได้รับเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม พอมาถึงหน้างานจริง ๆ เลยต้องตั้งสตินานมาก เพื่อทำให้ตัวเองหายตื่นเต้น
“ยังงง ๆ อยู่ค่ะ ไม่กล้าเข้าไปคุยกับพี่ ๆ เลย เขิน กลัวมากว่าเขาจะไม่เข้าใจเรา แต่คิดว่าเดี๋ยวถ้ามีเวลาได้ทำงานกัน พี่ ๆ เขาน่าจะมีอะไรมาสอนหรือแนะนำเราได้เยอะเลย ตอนนี้ตื่นเต้นกับการจะได้ไปเจอกันที่บ้านเรา อยากให้พี่ ๆ ไปเห็นการสานตะกร้าที่ชุมชนเราขึ้นชื่อเรื่องนี้มาก ๆ อยากดูด้วยค่ะ ว่าเขาจะมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังไงให้น่าสนใจค่ะ”
ไปที่โรงเรียนบ้านม่วงนาดี จังหวัดอุบลราชธานี น้องปลายข้าวชั้น ม.3 บอกว่าการปฐมนิเทศด้วยเกมและกิจกรรมสนุก ๆ ทำให้รู้จักกันเร็วขึ้นและคลายความกังวลได้มาก
“ก่อนมาเรากลัวมากเกี่ยวกับเรื่องภาษา ว่าเขาต้องฟังเราไม่เข้าใจแน่เลย แต่เราก็พยายามค่ะ เพราะอยากรู้จักเขา อยากได้ความรู้จากเขา เราตั้งใจไว้มากว่าอยากเอาสิ่งที่จะได้เรียนรู้จากวันนี้จนถึงวันจบกิจกรรมไปใช้ต่อให้ได้ค่ะ”
‘รอกิจกรรมต่อ ๆ ไปไม่ไหวแล้ว’
น้องอุ๋มอิ๋มชั้น ม.3 บอกว่าเจออะไรแปลกใหม่เยอะมากตั้งแต่ออกจากบ้านมา “ยังคิดอยู่ว่าแค่วันแรกยังขนาดนี้ เหมือนจะอดใจรอจะทำกิจกรรมต่อ ๆ ไปไม่ไหวแล้ว
“การเจอพี่โรงเรียนนานาชาติต่างจากที่เราคิดไว้เลย คิดไว้ว่าจะสื่อสารกันยากก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น หรือที่คิดว่าเราน่าจะมีอะไรที่ต่างกันมาก ๆ ก็ไม่ใช่สักหน่อย ตอนนี้หนูรู้สึกดีมาก ๆ ค่ะ ที่ได้มาอยู่ตรงนี้ เพราะเราสนใจเรื่องขายของ ก็อยากได้ความรู้ว่าถ้าจะทำร้านค้าออนไลน์ การจัดการโครงสร้างหลังบ้านต้องทำยังไง หรือเรามีของอยากจะขายต้องเริ่มตรงไหน เราว่าการได้ลองวางแผน ลงมือทำ และได้เปิดร้านจริงบนช้อปปี้ ข้อมูลพวกนี้จะติดตัวเราไป และต้องใช้ประโยชน์ได้มาก ๆ เลย”
‘สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้จะบอกว่าอนาคตเราจะเดินต่อไปอย่างไร’
น้องปาล์มมี่ชั้น ม.2 เผยว่า “ใช้เวลาแค่ครึ่งวันก็เริ่มชินกันแล้วค่ะ พี่ ๆ ทุกคนเป็นกันเองมาก ทำให้เราไม่เกร็งแล้ว
“ความสำคัญของวันนี้และกิจกรรมนี้คือ ความรู้ทั้งหมดที่ได้คือสิ่งที่จะบอกเราว่าจากวันนี้ควรพัฒนาตัวเองอย่างไร และน่าจะมีส่วนมาก ๆ ต่อการตัดสินใจหลังจบชั้น ม.3 ว่าเราจะไปทางไหน ตอนนี้แอบคิดว่าถ้าผ่านโครงการนี้ไป บางทีเราอาจจะสามารถเปิดร้านขายของออนไลน์ไปด้วยแล้วเรียนไปด้วย เพื่อจะมีเงินไว้ใช้จ่ายเรื่องเรียนมากกว่านี้ค่ะ”
และนี่คือความในใจส่วนหนึ่งของน้อง ๆ นักเรียนทุนเสมอภาค ในวันแรกของกิจกรรม Equity Partnership’s School Network’ Season 5 ซึ่งหลังจากปฐมนิเทศแล้ว โรงเรียนทั้งสองฝั่งจะได้รับการจับคู่กันเป็นทีมทั้งหมด 10 ทีม จากนั้นจะไปสู่ขั้นตอน ‘field trip’ ลงพื้นที่สำรวจต้นทุนทรัพยากรในชุมชน ร่วมเก็บเกี่ยวเรื่องราวซึมซับวิถีชีวิตตลอดเดือนเมษายน 2567 เพื่อนำกลับมาสรรค์สร้างกลั่นกรองออกมาเป็น ‘ผลิตภัณฑ์’ (Product) และ ‘เรื่องเล่า’ (Story) ก่อนไปถึงกระบวนการผลิตสินค้าและจัดจำหน่าย ซึ่ง กสศ. ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันติดตามน้อง ๆ ทุกคนไปด้วยกัน ในการเดินไปบน ‘เส้นทางแห่งมิตรภาพ’ ครั้งนี้ครับ