ช่วงท้ายสุด ในงาน Equity Forum ทุนมนุษย์ยุติความเหลื่อมล้ำ เป็นวงแลกเปลี่ยน Co – Creation For Education นวัตกรรมความร่วมมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
เป็นช่วงสุดท้ายที่มีเพื่อนคนสำคัญของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาจากสององค์กร หนึ่งในนั้นคือ ทีมก้าวเพื่อน้อง
หนึ่งในเพื่อนที่ไม่เคยปล่อยมือจากเด็กๆ เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา การมาร่วมงานของทีมก้าว มีคุณค่ากับทุกคน
ในวันนั้น ทีมก้าวมาเล่าเรื่องสำคัญกว่าจะมาเป็นก้าวเพื่อน้องในวันนี้ เป็นพลังเล็กๆ ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน
เป็นปรากฎการณ์ผีเสื้อที่วันหนึ่งในอนาคตอันใกล้ โอกาสการศึกษาจะเป็นของเด็กทุกคนโดยไม่ต้องยากลำบากอีกต่อไป
คุณเบลล์–ชายชาญ ใบมงคล หนึ่งในผู้ริเริ่ม‘โครงการก้าวเพื่อน้อง’ นวัตกรรมการระดมความร่วมมือเพื่อสังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เล่าว่า ทุกอย่างเริ่มจากการถ่ายทอดเรื่องราวของเด็กๆ ในภูมิภาคต่างๆ ที่มีอยู่จริง
“ต้องย้อนไปถึงที่มาว่า ก่อนหน้านี้คนรู้จักโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’ โดยจะนึกถึงภาพพี่ตูนไปวิ่งแล้วก็เอาเงินไปช่วยโรงพยาบาล เราเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาตอนช่วงที่โควิด-19 ระบาด ตอนนั้น เราทำกิจกรรม ชื่อ ‘ก้าวต่อไปด้วยพลังเล็กๆ’ อยู่ แล้วพี่ตูนบอกว่า เลื่อนโปรเจ็กต์วิ่งไปก่อน มาทำอะไรบางอย่างที่ช่วยเหลือโรงพยาบาล โดยที่ไม่ต้องไปวิ่งแล้วก็นำสิ่งของไปมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ ด้วยตัวเอง ระหว่างทางก็มีโอกาสได้เลี้ยงข้าวเด็กๆ ในโรงเรียน ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลว่า ช่วงโควิดมีเด็กหลุดจากการศึกษา โดยเฉพาะช่วงมัธยมปลายเป็นจำนวนมาก คำถามคือ เราจะมีส่วนร่วมกับเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร?
สิ่งที่เราคิดกันออกมาในเวลานั้นคือ ทำรายการพิเศษขึ้นมา ชื่อ ‘ตลาดใจให้น้อง’ เป็นรายการที่มีดาราและนักแสดงที่คุ้นเคยกับมูลนิธิของเรามาแต่งตัวเป็นชุดนักเรียน แล้วก็บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองสมัยเป็นนักเรียน จากนั้นก็สอดแทรกเรื่องราวปัญหาของเด็กๆ ที่เราพบเจอ เรื่องราวของเด็กๆ ซึ่งสื่อทั่วไปหรือสังคมอาจจะไม่ค่อยพูดถึง และไม่รู้ว่ามีอยู่จริง โดยใส่เข้าไปในรายการเพื่อให้คนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นมากขึ้น จากนั้นก็ระดมทุนช่วยกัน โดยสนับสนุนเป็นเงินก้อนเล็กๆ จากภาคประชาชน
ต่อมาก็มีการสัมภาษณ์เด็กผ่านซูม (Zoom) ทำให้ทราบเรื่องราวของพวกเขา เช่น เด็กคนหนึ่งอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี บ้านของน้องหลังคามีรู มีแสงแดดส่องมาพาดไปพาดมา น้องบอกว่าในบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ จะอ่านหนังสือกลางคืนต้องใช้วิธีการส่องไฟจากโทรศัพท์มือถือ เวลาจะชาร์จแบตเตอรี่ ก็ต้องไปที่โรงเรียน เด็กคนนี้เรียนหนังสือชั้น ม.3 ได้เกรดเฉลี่ย 3.7 เพราะเขาตั้งใจเรียนมาก แต่ถ้าไม่มีใครช่วยเหลือ เขาก็จะไม่ได้เรียนต่อชั้น ม.ปลาย ต้องไปเลี้ยงวัว
ทุนก้าวเพื่อน้องเป็นทุนที่เจาะจงความช่วยเหลือไปยังเด็กที่กำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา โดยจากการคำนวณค่าใช้จ่ายทั้งหมด พบว่า รายจ่ายและค่าครองชีพที่ครอบคลุมสำหรับเรียนมัธยมปลายหรือสายอาชีพ 3 ปี ต่อคน ใช้เงินประมาณ 2.5 แสนบาท แต่เด็กที่เราช่วยมา 3 ปีก็ยังไม่มาก มีจำนวน 186 คน แต่เป็นกลุ่มที่จะได้เรียน 3 ปี โดยที่น้องๆ ไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”
คุณหมอปัม พันเอกนายแพทย์พลังสันติ์ จงรักษ์ หนึ่งในผู้ริเริ่ม‘โครงการก้าวเพื่อน้อง’ เล่าเสริมว่า การถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง กับเด็กๆ กลุ่มหนึ่งในพื้นที่ ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความตื่นตัว สร้างการรับรู้ในสังคมเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ภาคส่วนต่างๆ ในทุกพื้นที่ร่วมกันกำหนดบทบาทในการหาช่องทางช่วยเหลือได้อีกด้วย
“หลังจากที่เราค้นพบว่า ช่วงโควิดระบาดส่งผลกระทบต่อเด็กกลุ่มหนึ่งจริงๆ เด็กไม่มีข้าวกิน เด็กบางคน เมื่อโรงเรียนปิด ก็ขาดโอกาสซึ่งเคยได้รับจากโรงเรียน คือไม่มีข้าวกลางวันกิน เรื่องราวเหล่านี้ คนในสังคมเมืองอย่างพวกผมตกใจกับสิ่งที่เห็น ไม่เคยรู้ว่ามีปัญหานี้เกิดขึ้น แล้วเราก็คิดกันว่า จะทำอะไรได้ เราไม่มีศักยภาพที่เราจะไปขยับนโยบาย แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำให้คนอื่นตกใจเหมือนกับเรา
เมื่อลงไปสัมผัสเรื่องราวในพื้นที่ เราก็เห็นปัญหาจริงๆ ว่าปัญหาของเด็ก ไม่ได้อยู่ที่เงินค่าเทอมอย่างเดียว แต่ในระหว่างเรียน บางคนเดือดร้อนค่าไฟ ค่าน้ำ พ่อแม่ก็จะอยากได้แรงงานมาช่วยทำงาน ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ส่งผลให้สุดท้ายเด็กอาจต้องหลุดจากระบบการศึกษา
เราจึงคุยกันว่า หากเราจะจัดทุนช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ จะต้องเป็นทุนต่อเนื่อง 3 ปี ทุนที่ให้ต้องไม่ครอบคลุมเพียงแค่ค่าเทอม แต่ต้องครอบคลุมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ เพื่อให้เด็กเดือดร้อนน้อยที่สุด และช่วยให้พวกเขาไม่ต้องวิตกเรื่องทุน มีสมาธิที่จะโฟกัสกับเรื่องเรียนไปจนสุดทาง ไม่ว่าจะเลือกเรียนต่อ ม.ปลาย หรือว่าเลือกสายอาชีพก็ตาม
ต้องหาวิธีสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ให้ทุกคนในประเทศเห็นว่ามันมีปัญหานี้ แล้วมาสำรวจตัวเองว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง เรามีพี่ตูนเป็นหลัก พี่ตูนเป็นนักร้อง มีเพื่อนที่เป็นนักแสดง เรามีช่องทางสื่อสาร ที่จะเปล่งเสียงเพื่อเล่าเรื่องราวเหล่านี้ ผมรู้สึกว่าในโลกปัจจุบัน สื่อต่างๆ ข่าวต่างๆ เคลื่อนไหวเร็วมาก การนำเสนอข่าวบางเรื่อง อาจจะถูกทำให้หันเหความสนใจไปสู่เรื่องอื่นๆ ซึ่งบางครั้งอาจจะสนุกกว่า บันเทิงกว่า แต่กลายเป็นว่า เรื่องที่เป็นชีวิตจริงๆ เรื่องที่มันต้องการความช่วยเหลือจริงๆ มันกลับไม่ได้ถูกนำเสนอ หรือไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร หากเรื่องราวเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปให้ทุกคนรับรู้มากที่สุด ผมเชื่อว่า หากทุกคนได้รับรู้ก็น่าจะคิดไม่ต่างจากพวกเรา คือคิดอยากจะช่วยเหลือเด็กเหล่านั้น“
ปัจจุบัน ก้าวเพื่อน้อง เดินทางมาถึงปีที่ 2666 (ตั้งแต่ 2564 -2566) มีเด็กๆ ที่มีความมุ่งมั่น มีความฝัน ได้รับโอกาสเรียนต่อในระดับม.ปลายและสายอาชีพรวม จำนวน 189 คน
ขอบคุณก้าวเพื่อน้อง…..