เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปาฐกถาพิเศษ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานปาฐกถาพิเศษ


เนื่องในการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเพื่อครูและความเสมอภาคทางการศึกษา ในหัวข้อ การทรงงานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) และการพัฒนาครูและสถานศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้    

ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 วันที่ 29 ตุลาคม 2564


ข้าพเจ้ารู้สึกยินดียิ่งที่ได้เป็นประธานในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 4 ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปีพุทธศักราช 2564 ทั้ง 11 ท่าน สำหรับความเสียสละที่ได้หล่อหลอมนักเรียนเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับประเทศชาติและภูมิภาค 

ยิ่งไปกว่านี้ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่พิธีพระราชทานรางวัลได้จัดขึ้นต่อจากการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาที่เท่าเทียมและคุณครู ทั้งนี้ก็เพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การประชุมครั้งนี้ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของครูในการสร้างการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 

ดังนั้นข้าพเจ้าขอส่งคำอวยพรไปยังผู้เข้าร่วมทุกคน เพื่อให้การประชุมประสบความสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี บทบาทของครูนั้นจะประเทืองในวันครูโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ตุลาคมของทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าครูสามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ได้ 

พิธีพระราชทานรางวัลนั้น เป็นสิ่งตอกย้ำบทบาทอันมีค่าของครูในสังคมที่ใกล้จะเกิดขึ้น และความท้าทายที่จะต้องเผชิญ และทำให้แน่ใจว่าการเรียนรู้ไม่เคยหยุดนิ่งและไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในประเทศส่วนใหญ่การล็อกดาวน์เนื่องจากโควิด-19 มีผลกระทบอย่างมาก ไม่เพียงแค่ในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงด้านการศึกษาด้วย 

เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้ การเรียนแบบผสมผสาน ซึ่งรวมเอาการเรียนรู้ทางออนไลน์ การเรียนรู้นอกสถานที่และการเรียนรู้ทางโทรทัศน์เอาไว้ด้วยกัน อย่างไรก็ตามครูที่มุ่งมั่นและมีความสามารถ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เด็กมีความพร้อมสำหรับอนาคต ครูเป็นผู้กำหนดเป้าหมายทางวิชาการของนักเรียนและอุทิศตนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนบรรลุเป้าหมาย 

วันนี้ครูมีหน้าที่พัฒนาทักษะของตนเองต่อไป เพื่อปรับตัวให้เข้ากับความปกติใหม่อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ครูต้องพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนจะสามารถศึกษาต่อในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ ในการนี้ครูได้มีส่วนสำคัญในทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของนักเรียน 

ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงยินดีที่ได้ทราบว่าผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ คือครูที่อุทิศชีวิตตนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจแก่นักเรียน เพื่อบรรลุสิ่งที่ยิ่งใหญ่และเติบโตเป็นพลเมืองที่แข็งแกร่ง ข้าพเจ้าหวังว่าจะได้แสดงความยินดีกับพวกเขาในวันนี้ 

ในโอกาสนี้ขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั้ง 11 ประเทศ รวมทั้งกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีและพันธมิตรการศึกษาที่เกี่ยวข้อง ที่ทุ่มเทอย่างหนักเพื่อให้งานประกาศรางวัลครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จอย่างมาก ข้าพเจ้าขอขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและสถานทูตต่างๆ ในประเทศสมาชิกอาเซียนที่แน่นแฟ้น รวมถึงสถานทูตติมอร์-เลสเตสำหรับการทำงานหนักและความทุ่มเทในการจัดงานครั้งนี้ ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จในความพยายามในอนาคต ขอบคุณมาก

บรรยายพิเศษเรื่องครูและการศึกษาที่เท่าเทียม

สวัสดีทุกท่าน ในสถานการณ์ที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด สิ่งที่เราทำได้คือพยายามทำให้แน่ใจว่าเยาวชนของเรามีความรู้เพียงพอสำหรับอนาคตและปลอดภัยจากไวรัสไปพร้อมๆ กัน เราต้องทำให้มั่นใจว่าพวกเขามีโอกาสเรียนหนังสือและมีอาหารที่ดี 

ภายใต้สถานการณ์ของผู้ที่มีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พบว่าการศึกษาออนไลน์เป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะไม่สะดวกอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถให้การศึกษาออนไลน์ได้ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่กว่า ข้าพเจ้าต้องการบอกเล่าเรื่องราวกับทุกท่านว่า ภาคประชาสังคมได้ดำเนินวิธีการอื่น ในการจัดการการศึกษาในกรณีเหล่านั้นอย่างไร 

เมื่อสิบที่แล้ว เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในภาคกลางของประเทศไทย หลายองค์กรรวมทั้งภาคเอกชนบริจาคถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัย เพื่อให้พอเห็นภาพว่ามีอะไรอยู่ในถุงยังชีพ เราบรรจุของในกระเป๋าที่เรามี ได้แก่ เสื้อยืด แชมพู สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ข้าวหนึ่งถุง ปลาทูทอดรสเผ็ดพร้อมซอสพริกสามกระป๋อง ปลาทูรสเผ็ดสามกระป๋อง ปลาทูราดซอสมะเขือเทศสามกระป๋อง หอยลายสามกระป๋อง ปลาทูสามกระป๋อง ไข่พะโล้สามกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหกแพ็ค ผ้าขาวม้า และถุงดำสำหรับเก็บขยะ 

ในเวลานั้นข้าพเจ้ามีความคิดว่าควรมีอย่างอื่นในกระเป๋าสำหรับเด็กๆ ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเพิ่มสิ่งของในกระเป๋าและมอบสิ่งที่เรียกว่าถุงยังชีพเพื่อการศึกษาให้กับเด็กๆ กระเป๋าใบนี้มีหนังสือเรียน สื่อการสอน หนังสือแบบฝึกหัด เครื่องเขียน และชุดวาดภาพระบายสี คุณครู อาสาสมัคร หรือแม้กระทั่งพระสงฆ์ล้วนแต่พายเรือเพื่อไปให้การบ้าน เปลี่ยนหนังสือ และส่งเสบียงให้แก่นักเรียน

ตั้งแต่การระบาดของโควิดในระลอกแรก ตอนนั้นมีแค่การเรียนการสอนผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้นที่ทำได้ ข้าพเจ้าได้บริจาคถุงยังชีพเพื่อการศึกษาสำหรับเด็กๆ โดยได้เพิ่มอุปกรณ์อื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ หรือสารอื่นๆ เพื่อป้องกันโควิด นอกจากนี้ ถุงยังชีพยังมีเมล็ดผัก ข้าพเจ้าซื้อกระดาษเปล่าและหนังสือแบบฝึกหัดให้แก่เด็กๆ แต่บางคนขอให้บริจาคกระดาษ A4 ที่ใช้แล้วหนึ่งด้าน เอาไว้ทำสมุดทำมือพร้อมภาพวาดสวยๆ บนปกเพื่อเป็นของขวัญแก่เด็กๆ พวกเขาเรียกตัวเองว่า “เปเปอร์เรนเจอร์”

คุณครูและอาสาสมัครพากันตรวจตราเพื่อให้ทุกบ้านและเด็กทุกคนได้รับอาหารที่ดีและการศึกษาที่ดี ในบางครอบครัว เด็กนักเรียนรุ่นปัจจุบันเป็นสมาชิกในครอบครัวคนแรกที่ได้เรียนหนังสือ จึงเป็นเรื่องยากมากที่เราจะคาดหวังให้ญาติของเด็กสอนหนังสือแก่เด็กๆ ได้ บางโรงเรียนยังสามารถจัดหาอาหารให้ได้ และคุณครูสามารถเดินทางไปยังบ้านของนักเรียนเพื่อสอนหนังสือ ให้การบ้าน และอาหารในกล่องโฟมได้ 

ข้าพเจ้าคิดว่ากล่องอาจจะสร้างมลพิษ ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามใช้ปิ่นโตแทน แบบที่เคยใช้ช่วงน้ำท่วม ข้าพเจ้าเปลี่ยนศาลาการเปรียญให้กลายเป็นโรงครัวและแจกจ่ายอาหารในปิ่นโต ในวันถัดไป ครอบครัวก็จะล้างปิ่นโตแล้วกลับมารับอาหารสำหรับวันต่อไป

คุณครูเรียกตัวเองว่า “ครูหลังม้า” แต่ที่จริงแล้วส่วนใหญ่เดินหรือขี่มอเตอร์ไซค์ไปสอนมากกว่า

สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

นอกจากเน้นเรื่องการศึกษาแล้ว ข้าพเจ้ายังใส่ใจสุขภาพของเด็กๆ ด้วย เด็กควรได้รับอาหารที่เหมาะสมทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แป้ง แร่ธาตุ และวิตามิน 

วัตถุประสงค์ของข้าพเจ้าคือ แก้ไขการขาดไอโอดีนและธาตุเหล็กด้วยอาหารและยาเม็ด ข้าพเจ้าปฏิบัติตามคำแนะนำของที่ปรึกษาที่เป็นชาวอเมริกันในการดูแลเด็กๆ ทุกกลุ่มอายุ เริ่มจากสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ทารกแรกเกิดจนถึงสามขวบ จากนั้นก็เป็นเด็กที่เข้าศูนย์รับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลในช่วงววัย 3 – 5 หรือ 6 ขวบ จนถึงระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย 

ข้าพเจ้าริเริ่มโครงการนมโรงเรียน เมื่อครั้งแรกเริ่มเราใช้นมถั่วเหลือง จากนั้นจึงใช้นมวัว ในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าอุปถัมภ์อยู่ ข้าพเจ้าใช้นมผง แต่ในโรงเรียนอื่นๆ จะใช้นม UHT เพราะจัดการง่ายกว่า

ข้าพเจ้าจะดูแลให้เด็กไม่มีพยาธิในลำไส้หรือเหาบนหัว และพวกเขาจะต้องมีสุขภาพปากและฟันที่ดี สุขอนามัยก็เป็นเรื่องสำคัญ ครูและเจ้าหน้าที่อนามัยเดินทางไปบ้านเด็กๆ เพื่อให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับสุขภาพของคนทั้งครอบครัว

“ผู้ขับขี่รถวิบาก”

ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่มีนักเรียนจำนวนไม่มาก คุณครูยังสามารถไปโรงเรียนเพื่อดูแลสวนของโรงเรียนได้ นอกจากนี้ คุณครูยังสามารถเอาการบ้านและอาหารไปให้เด็กๆ ที่บ้านได้ด้วย ในบางหมู่บ้าน การเดินทางไปยังบ้านของเด็ก สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลนั้นยากลำบากมาก ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงมอบรถวิบากขับเคลื่อน 4 ล้อแก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อมีรถวิบาก พวกเขาสามารถเดินทางเข้าถึงบ้านของเด็กได้ง่ายขึ้น ผู้ขับขี่รถวิบากช่วยข้าพเจ้าช่วยเหลือโรงเรียน รถพวกนี้ยังสามารถใช้ในการขนส่งผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลหรือนำบุคลากรทางการแพทย์มายังหมู่บ้านได้ด้วย

การเยี่ยมเยียนของข้าพเจ้าผ่านช่องทางออนไลน์

ข้าพเจ้ามอบทุนการศึกษาแก่เด็กๆ เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นเป็นเวลาหลายปีแล้ว พวกเขาสามารถเรียนสูงเท่าใดก็ได้ตามต้องการ และข้าพเจ้ายินดีที่จะเห็นพวกเขาได้เป็นนักวิชาชีพระดับสูง เช่น เป็นแพทย์ คุณครู พยาบาล วิศวกร และอื่นๆ ในช่วงที่มีการระบาดของโควิดอย่างสูง แพทย์ไม่อนุญาตให้ข้าพเจ้าออกจากบ้าน ดังนั้น ข้าพเจ้าสามารถคุยกับนักเรียนเหล่านี้ได้เฉพาะผ่านช่องทางออนไลน์ โดยข้าพเจ้าพูดอยู่ที่บ้านกับพวกเขาอยู่ที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหรือหอพักของพวกเขา หรือบางครั้งก็คุยกับนักเรียนที่ข้าพเจ้าส่งไปศึกษาต่อต่างประเทศ (ในอินเดีย)

นักเรียนบางคนพยายามใช้สมาร์ทโฟนเพื่อเรียนออนไลน์ แต่หลายครั้งก็ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยอินเทอร์เน็ตที่ไม่เสถียรหรือไม่มีสัญญาณไวไฟ ที่จริงแล้วนักเรียนที่อาศัยอยู่ใกล้กับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสามารถใช้คอมพิวเตอร์ของโรงเรียนได้ ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง คุณครูคนหนึ่งแจ้งข้าพเจ้าว่าไฟฟ้าขัดข้องบ่อยครั้ง ดังนั้น การใช้คอมพิวเตอร์ก็ไม่ง่ายอยู่ดี ข้าพเจ้านึกถึงการใช้เครื่องปั่นไฟระบบน้ำมันดีเซล มันราคาแพงสักหน่อย แต่ก็ช่วยเด็กๆ ในการเรียนหนังสือได้ วิธีการอื่นๆ ก็มี เช่น การซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและไอแพดให้เด็กๆ แต่ข้าพเจ้าคนเดียวก็ซื้อคอมพิวเตอร์จำนวนมากไม่ได้ อย่างไรก็ตาม โครงการที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินจากรายการวิทยุอาจช่วยได้ โครงการนี้เรียกว่า “โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง” ซึ่งผู้คนต่างร่วมบริจาคเงินและคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กๆ

นอกเหนือจากคอมพิวเตอร์แล้ว ข้าพเจ้ายังมอบหนังสือเรียนในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายให้แก่ห้องสมุดในโรงเรียนประถม เพื่อให้นักเรียนและบุคคลอื่นๆ สามารถอ่านได้ หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่ดีและหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ทั้งที่เขียนและตีพิมพ์ใหม่ ซึ่งข้าพเจ้าชอบอ่านมากๆ

การศึกษาอยู่รอบตัว

เด็กควรได้รับการอบรมบ่มเพาะให้อนุรักษ์มรดกทางธรรมชาติของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์น้ำ ป่า และดิน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก

ข้าพเจ้ายังสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น ดนตรีและนาฏศิลป์เพื่อการศึกษาเชิงสร้างสรรค์ การรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของพวกเขาในช่วงที่โควิดกำลังระบาดอยู่นี้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยข้าพเจ้าได้ส่งเสริมกิจกรรมดังกล่าวผ่านการมอบเครื่องดนตรีให้โรงเรียนจำนวนหนึ่ง

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่การที่ทหารได้เสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนและครอบครัวของเด็กๆ ในช่วงวิกฤตโควิด พวกเขาสอนได้เด็กๆ และครอบครัวของเด็กเหล่านี้เกี่ยวกับวิธีการปลูกผักและผลไม้ การเลี้ยงปลาและกบ และฝึกการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะไก่ สุกร และแพะ ข้าพเจ้ามองว่าเกษตรกรรมเป็นกิจกรรมการศึกษาที่ดี เด็กๆ ต่างสนุกกับการมีเหล่าทหารคอยอยู่เคียงข้าง โดยเรียกพวกเขาว่า “พี่ทหาร” ซึ่งไม่เพียงแต่สอนเด็กๆ เกี่ยวกับการเกษตรเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างโรงเลี้ยงไก่ บ่อปลา ห้องเรียน ห้องน้ำ และหอพักสำหรับครอบครัวของเด็กด้วย

สมาร์ททีวีเพื่อการศึกษา

ข้าพเจ้าซื้อสมาร์ททีวีเพื่อบริจาคให้วัด เนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะมอบโทรทัศน์ให้แก่บ้านทุกหลัง เพราะเราเองก็คงมีเงินไม่เพียงพอ โดยข้าพเจ้าเริ่มต้นที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับสามเณรที่สอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี พระธรรมคำสอน และวิถีแห่งพระพุทธเจ้า รวมถึงยังมีการศึกษาทั่วไประดับมัธยมต้นถึงมัธยมปลาย (ม.1 – ม.6) 

โรงเรียนแห่งนี้เผชิญกับชะตากรรมเดียวกันกับโรงเรียนอื่นๆ ในช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา เหล่าสามเณรจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนและกลับไปที่วัด สิ่งเดียวที่ข้าพเจ้าทำได้คือการบริจาคสมาร์ททีวีและติดตั้งรายการที่จำเป็น รวมถึงมอบทัมบ์ไดรฟ์ที่มีไฟล์สอนจำนวนมาก ข้าพเจ้ายังได้นิมนต์ผู้สอนที่เป็นพระภิกษุและเชิญบุคลากรทั่วไปมายังวัดเหล่านี้เพื่อสอนจนกว่าที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดอีกครั้ง ไม่เพียงแต่สามเณรเหล่านี้เท่านั้นที่มีโอกาสเรียนหนังสือ แต่เด็กที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงยังเดินทางมาที่วัดเพื่อร่วมชั้นเรียนด้วยเช่นกัน

ข้าพเจ้ายังทำสิ่งเดียวกันนี้สำหรับโรงเรียนมุสลิมเอกชน ทั้งก่อนและระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญยังคงเป็นด้านสุขอนามัยและสุขาภิบาล โภชนาการ อาชีวศึกษาและการศึกษาทั่วไป ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ ข้าพเจ้าได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนให้กับครูในโรงเรียนเอกชนชาวมุสลิม

การจัดการประกวดท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤต

ในปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือพิมพ์เยอรมันที่ชื่อว่า “Die Zeit” โดยมีหน้าหนึ่งที่เชิญชวนเด็กๆ จากทั่วทุกมุมโลก ให้ส่งภาพวาดเข้าประกวดพร้อมเขียนเรียงความเกี่ยวกับโควิด-19 ในความคิดของพวกเขา ผลกระทบที่พวกเขาได้รับและโลกหลังโควิดในจินตนาการของพวกเขา เสียดายที่ข้าพเจ้ามาเห็นบทความนี้ช้าไป ทำให้ไม่สามารถส่งผลงานเด็กไทยเข้าร่วมได้ทัน พวกเราจึงจัดการประกวดด้วยตนเอง โดยชวนเด็กจากโรงเรียนต่างๆ ให้ส่งภาพวาดและบทความของพวกเขาเข้าร่วมประกวด ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก และข้าพเจ้าจะจัดงานอีกในปีหน้าแน่นอน

ประสบการณ์ของข้าพเจ้าในประเทศอาเซียน

ไม่เพียงแต่โรงเรียนในประเทศไทยเท่านั้นที่ข้าพเจ้าเคยร่วมงานด้วย ข้าพเจ้ายังเคยมอบความช่วยเหลือให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ในกว่า 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองโกเลีย และภูฏาน ภายใต้โครงการอาหารโลก และในบังกลาเทศ โดยร่วมมือกับรัฐบาลบังกลาเทศ พวกเราทำงานในลักษณะเดียวกับโครงการของเราในประเทศไทย โดยเน้นด้านสุขภาพ สุขาภิบาล และการศึกษาทั่วไป ข้าพเจ้ายังเคยพานักเรียนบางส่วนมาศึกษาที่ประเทศไทยด้วย

ข้าพเจ้ามักจะเดินทางเยี่ยมโรงเรียนเหล่านี้ในต่างประเทศ และเชิญพวกเขามาที่ประเทศไทยเมื่อมีการจัดการประชุม แต่ในขณะนี้เรายังไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เราจึงได้พบปะกันผ่านทางออนไลน์ไปก่อน

สปป.ลาว

มีกิจกรรมการศึกษามากมายที่ข้าพเจ้าจัดขึ้นในประเทศลาว ตัวอย่างเช่น หลักสูตรระยะสั้นเพื่อฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์

ข้าพเจ้ายังมอบทุนสำหรับการศึกษาหลักสูตร “วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาอนามัยโรงเรียน (หลักสูตรนานาชาติ)” ที่คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่บุคลากรในโรงเรียนที่เราร่วมมือด้วย ปัจจุบันมีบุคลากรจำนวนมากที่จบการศึกษาจากโครงการและได้เขียนวิทยานิพนธ์ที่น่าสนใจ

อีกตัวอย่างหนึ่งของโครงการใน สปป.ลาวคือ “โรงเรียนกิโลเมตรที่ 67” ซึ่งเริ่มจากการเป็นสถานที่เลี้ยงดูเด็กกำพร้าจากสงคราม ข้าพเจ้าได้สร้างหอพักให้แก่พวกเขาเมื่อสามสิบปีที่แล้ว โดยร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมชลประทาน เราเน้นไปที่การเกษตรและสุขภาพ การแปรรูปอาหารและอาชีวศึกษาในช่วงเริ่มต้น และต่อมาเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาจึงเริ่มมีการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และไอที

โครงการห้องสมุดมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความหลงใหลในการอ่าน โดยเริ่มจากการสร้างห้องสมุด มอบหนังสือภาษาประจำชาติ รวมทั้งหนังสือภาษาอังกฤษและภาษาไทยเพื่อเพิ่มประสบการณ์การอ่าน ความสามารถในการอ่านและการคิดของเด็กๆ และความรักที่จะสำรวจ

สิงคโปร์

เราได้ริเริ่มโครงการการศึกษาระยะสั้นและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโรงเรียน Singaporean Northlight และโรงเรียนจำนวน 4 แห่งภายใต้การดูแลของมูลนิธิชัยพัฒนา

ข้าพเจ้าขออธิบายเกี่ยวกับมูลนิธิชัยพัฒนาก่อน มูลนิธินี้ก่อตั้งเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 พระบิดาของข้าพเจ้า ก่อตั้งขึ้นในฐานะองค์กรการกุศลนอกภาครัฐ เราเน้นงานพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ งานส่วนใหญ่เป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กและกิจกรรมการเกษตร เช่น การปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาเมล็ดพันธุ์และการจัดกิจกรรมแบบบูรณาการ ซึ่งเปิดให้ชาวบ้าน กลุ่มเกษตรกร เด็กนักเรียน ทหาร และตำรวจเข้ารับการอบรม มีการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผัก และกล้าไม้ผล มีเหล่าผู้เชี่ยวชาญในการปรับปรุงพันธุ์พืชช่วยสร้างสายพันธุ์ใหม่ เราพยายามส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ตามหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice: GAP) ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงเมล็ดพันธุ์ที่ดี ดินดี และน้ำที่ดี

โรงเรียน Northlight เป็นโรงเรียนในสิงคโปร์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 เพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาในการเรียนในโรงเรียนทั่วไปของรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มลาออกจากโรงเรียนกลางคันหากเข้าศึกษาโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรระดับชาติ นักเรียนบางคนมีความพิการบางประเภท เช่น ออทิสติก ขณะที่นักเรียนคนอื่นๆ มีปัญหาครอบครัว โรงเรียนนี้ส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในแต่ละปีเราจะส่งเด็กไทยจากโรงเรียน 4 แห่ง ได้แก่โรงเรียนรัฐบาล 2 แห่ง และโรงเรียนมุสลิมเอกชน 2 แห่ง (โรงเรียนปอเนาะ ปนโดะก์ หรือมัดเราะซะฮ์) คณะครูและนักเรียนมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมมากมาย นักเรียนไทยได้เพื่อนชาวสิงคโปร์ เพลงและพจนานุกรมมีส่วนช่วยอย่างมาก นอกจากนี้เรายังเชิญนักเรียนสิงคโปร์มาเยี่ยมประเทศไทย ที่ซึ่งพวกเขาต่างชื่นชอบเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้นักเรียนรุ่นที่ 4 จำเป็นต้องจัดโครงการแลกเปลี่ยนออนไลน์ นักเรียนไทยมีความกล้าที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษ เข้าใจวัฒนธรรมอื่น และมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น

ภูฏาน

ในประเทศภูฏาน โรงงานในโรงเรียนที่ข้าพเจ้าปฏิบัติงานอยู่สามารถปลูกพืชผลได้เพียง 3 เดือนต่อปีเท่านั้น ดังนั้นการตุนอาหารไว้บริโภคตลอดทั้งปีและเก็บรักษาอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เช่น การทำมันฝรั่งทอดหรือผักดอง เรายังจัดทำโครงการนี้สำหรับโรงเรียนในประเทศไทยเช่นกัน

มาเลเซีย

การแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนในเกาะลังกาวี เคดาห์ ประเทศมาเลเซีย และโรงเรียนบนเกาะในจังหวัดสตูลทางภาคใต้ของประเทศไทย เกิดขึ้นในโครงการต่างๆ เช่น ค่ายภาษาอังกฤษ การสอนภาษามาเลย์มาตรฐาน การฝึกอบรมเครือข่ายครูภาษาอังกฤษ การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมในภูมิประเทศหินปูนแบบคาร์สต์ ณ อุทยานธรณีลังกาวี

กัมพูชา

โรงเรียนสองแห่งถูกสร้างขึ้นในกัมพูชาที่จังหวัดกำปงสปือและจังหวัดกำปงเฌอเตียล ในช่วงแรก โรงเรียนสองแห่งนี้เปิดสอนในระดับมัธยม และปัจจุบันได้รับการเลื่อนขั้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยมีประธานประจำสถาบันที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศไทย มีโครงการด้านการเกษตร โซลาร์เซลล์ในฐานะสื่อการสอนด้านฟิสิกส์ และแหล่งโบราณคดีที่ Preset Sombo Preikuk และวัดยุคก่อนพระนครใกล้กับบริเวณโรงเรียน

กิจกรรมนานาชาติ

iCREATe (อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยวิศวกรรมการฟื้นฟูและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก) เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะสิงคโปร์และมหาวิทยาลัยนันยางด้านเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยให้ผู้พิการสามารถเรียนรู้ เพลิดเพลิน และทำงานเหมือนบุคคลทั่วไป มีการจัดการประชุมระดับนานาชาติเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องกันหลายปี ผลิตงานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านวิศวกรรมการฟื้นฟูและเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การประชุมในปี 2564 ถูกเลื่อนออกไปเป็นปีหน้า ซึ่งอาจจัดขึ้นที่ฮ่องกง

การประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Global Young Scientists: GYSS) ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา จัดขึ้นโดยมูลนิธิเพื่อการค้นคว้าวิจัยแห่งประเทศสิงคโปร์ (National Research Foundation of Singapore) เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์กับนักวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่เพียงแต่ครอบคลุมผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลเท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์ และวิศวกรรมยังได้รับเชิญให้มาพบกับเด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมด้วย มีผู้ได้รับรางวัล Field Medal and Turing Award ปีนี้ ข้าพเจ้าไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ แต่หวังว่าปีหน้าจะเข้าร่วมได้ มีการเชิญนักวิทยาศาสตร์เยาวชนจำนวน 20 คนและผู้สังเกตการณ์ 20 คน ส่วนกิจกรรมจะจัดแบบออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19

บทสรุป

แม้จะมีการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป บางทีชีวิตหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิดอาจจะไม่เหมือนเดิม ไม่เพียงแต่เด็กๆ เท่านั้น คนทุกวัยจะต้องศึกษาหาความรู้ใหม่และพัฒนาทักษะใหม่เพื่อหาเลี้ยงชีพ 

การศึกษา “วิถีใหม่” คือ การเน้นที่การเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และการให้บริการแก่สังคม ข้าพเจ้าสังเกตว่าตั้งแต่ปัจจุบันเป็นต้นไปจะมีนวัตกรรมเพิ่มขึ้นมากมาย หากเราไม่มีความสามารถเพียงพอที่สรรค์สร้างสิ่งใหม่ อย่างน้อยเราควรใช้นวัตกรรมต่างๆ เป็น เราจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีผลงาน และรู้จักใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราสร้างหรือผลิตขึ้น และรู้ว่ามันจะช่วยเหลือสังคมและมวลมนุษยชาติได้อย่างไร

สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การหาวิธีเอาตัวรอดและช่วยคนอื่นๆ ให้รอดจากโควิด-19 ฉีดวัคซีน ดูแลสุขอนามัยและสุขภาพของตนเองและสุขภาพของประชาชน เราจะต้องยึดปฏิบัติกฎการเว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาด “ดูแลตัวเอง ดูแลผู้อื่น”

ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกท่านเป็นอย่างสูง