โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำจังหวัดระยอง นำโดยสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัยจังหวัดระยอง หรือ ‘RILA’ (Rayong Inclusive Learning Academy) สำรวจทรัพยากรพื้นที่ เพื่อวางเส้นทางพัฒนาคนระยองสู่การเป็นพลเมืองโลก สามารถพึ่งพาและพัฒนาตนเองให้พร้อมสำหรับชีวิตในโลกสมัยใหม่ ด้วยทักษะการทำงานระดับสากล
“ระยองเป็นจังหวัดเศรษฐกิจ มีรายได้ประชากรต่อหัวหรือ GPP สูงที่สุดในประเทศไทย นั่นหมายถึงการมีต้นทุนที่สูงกว่าพื้นที่อื่น คำถามคือจะทำอย่างไรให้โอกาสที่มีอยู่กระจายไปถึงทุกคน”
ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และประธานกรรมการสถาบัน RILA
คำถามข้างต้น นำมาซึ่งแนวทางการทำงานแบบ ‘ย่อส่วน’ ระดับจังหวัด จนถึงการระดมคนทั้งจังหวัดสู่งานเสวนา ‘เตรียมคนระยองสู่สากล’ เพื่อรับฟัง แลกเปลี่ยน ระดมความเห็น พร้อมลงพื้นที่สำรวจต้นทุนทรัพยากรด้านการศึกษาในพื้นที่ร่วมกัน
ทั้งนี้ คณะทำงานได้เข้าเยี่ยมชมการทำงานและความสำเร็จของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม และพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำนักงานเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) อันเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมบนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ที่ตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม สร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ พร้อมเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลักดันความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อย่างโรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี
งานนี้เป็น ‘ก้าวแรก’ ของความร่วมมือระดับจังหวัดที่จะสนับสนุนให้เกิดการสังเคราะห์ข้อมูล การออกแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ และยกระดับเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education: ABE) ของจังหวัดระยองต่อไป
บางทักษะอาชีพจะตกยุคสมัย
แต่ทักษะในโลกยุคใหม่จะทำให้ ‘คน’ ยืนหยัดได้
ในทุกความเปลี่ยนแปลง
“นอกจากทักษะอาชีพเฉพาะทาง เราต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและโอกาส โดยเสริมสร้างทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่ คือความสามารถในการอ่านและทำความเข้าใจ การจัดการข้อมูลและใช้เครื่องมือ ICT รวมถึงทักษะอารมณ์สังคม ที่เปรียบเสมือนเครื่องมือหรือต้นทุนในการเข้าถึงโอกาส และช่วยรับมือกับความเสี่ยงต่อความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
“ทักษะพื้นฐานการทำงานในโลกยุคใหม่นั้น สำคัญยิ่งกว่าทักษะอาชีพเฉพาะทางเสียอีก เพราะวันนี้เราเห็นแล้วว่า การแทรกแซงของเทคโนโลยีดิจิทัลอาจทำให้บางทักษะอาชีพตกยุคตกสมัยไป แต่ถ้ามนุษย์รู้จักการต่อยอดความรู้ สามารถสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพตนเองให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และพร้อมผลักดันตนเองไปสู่การจ้างงานที่มีรายได้สูงขึ้น หรือในภาคของผู้ประกอบการคือ เพิ่มผลผลิตและนวัตกรรมได้มากขึ้น พลเมืองโลกเหล่านี้ก็จะยังพึ่งพาตนเองได้ในทุกกระแสความเปลี่ยนแปลงที่มาถึง”
โคจิ มิยาโมโต นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice จากธนาคารโลก
จัดการศึกษา ‘ทวิภาคี’
อุดช่องโหว่ผลิตคนไม่ตรงกับงาน
“ระยองโดดเด่นเรื่องพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม การจัดการศึกษาจึงต้องเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ ฝ่ายผลิตกำลังคนควรรู้ว่าคุณสมบัติและทักษะที่สถานประกอบการต้องการคืออะไร ยิ่งเมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังบอกเราว่าไม่ได้ต้องการแรงงานจำนวนมากอีกต่อไปแล้ว แต่การทำงานกับเครื่องจักรทันสมัย จำเป็นต้องมีคนที่มีทั้งทักษะ ความเข้าใจ และมีความชำนาญงาน
“แนวทางหนึ่งที่สภาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจังหวัดระยองวางแผนไว้ คือร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจัดการศึกษาแบบทวิภาคี เพื่อให้โอกาสนักศึกษาเรียนรู้ในสถาบันไปพร้อมกับการฝึกงานในสถานประกอบการ ดังนั้นเมื่อจบการศึกษาแล้ว สถาบันจะได้บุคลากรที่ผ่านการฝึกฝนจนชำนาญงานแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการอุดช่องโหว่ที่จะผลิตคนออกมาที่ไม่ตรงกับงาน”
อนันต์ นาคนิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
ส่งเสริมความหลากหลายด้านภาษา
เปิดประตูโรงเรียนให้กว้างเพื่อรองรับเด็กทุกคน
“สิ่งที่ต้องค้นให้เจอในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ คือเด็กและเยาวชนควรได้รับการส่งเสริมผลักดันด้านใดจึงจะมีศักยภาพเหมาะสมกับการใช้ชีวิตและการทำงานในพื้นที่ ระยองเป็นเมืองท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม การเตรียมคนไประดับสากล อย่างแรกต้องมีจุดเด่นเรื่องภาษา ณ วันนี้ระยองมีโรงเรียน อบจ. ที่ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์ภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น รวมถึงภาษาทางเลือกอื่น ๆ ให้เด็กเลือกเรียนตามความสนใจ และจากจุดเริ่มต้นนี้ ผลที่งอกเงยคือ ความเปลี่ยนแปลงของเด็กระยองที่สามารถสอบได้คะแนนภาษาระดับท็อปในการสอบ O-NET
“อีกประเด็นสำคัญไม่แพ้กัน คือการจะดูแลเด็กและเยาวชนให้ไปได้ไกลที่สุดในระบบการศึกษา โรงเรียนต้องเป็นที่พึ่งพิงที่พร้อมเปิดประตูรับเด็กทุกคน ครูต้องมีข้อมูลของเด็กในทุกมิติ เพื่อรู้จักครอบครัว ทำความเข้าใจปัญหาให้ถ่องแท้ ก่อนจัดทำแผนช่วยเหลือเด็กได้เป็นรายคน แล้วโรงเรียนต้องพร้อมผ่อนปรนกฎระเบียบบางอย่างที่ขัดแย้งต่อโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาตนเองของเด็กทุกคน”
ปิยะ ปิตุเตชะ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง และประธานกรรมการสถาบัน RILA
‘การจัดการศึกษาจังหวัด’ ไม่เท่ากับ ‘การจัดการโรงเรียน’
แต่คือการพัฒนาคนทุกคนในหลากหลายรูปแบบ
“แผนยุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดระยอง คือ 1. ลดความเหลื่อมล้ำ 2. พัฒนาผลสัมฤทธิ์ 3. กระจายอำนาจ และ 4. พัฒนากลไกความร่วมมือในพื้นที่ ซึ่งหมายถึงภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น ประชาสังคม จะต้องร่วมมือกันจัดการศึกษาของจังหวัดให้มีคุณภาพ
“การที่ต้องใช้พลังจากผู้มีส่วนร่วมทุกฝ่าย เพราะเมื่อพูดถึงการจัดการศึกษาจังหวัด แน่นอนว่าเราย่อมไม่ได้กินความแค่การศึกษาในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่หมายถึงการพัฒนาคนทุกคนในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้นการผลักดันแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนาคน ต้องมีพื้นที่ให้ประชากรวัยแรงงานยกระดับทักษะฝีมือ เพื่อค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แล้วการที่ทุกคนจะเข้าถึงโอกาสได้ ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายมองเป้าหมายไปในทางเดียวกัน ตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย ผู้มีนาจตัดสินใจ ผู้ดูแลระบบ นักการศึกษา รวมถึงสถานประกอบการภาคเอกชนที่เป็นปลายทางในการรับคนเข้าไปเติมเต็มในระบบ
“และนั่นคือเหตุผลที่เราทุกคนมาอยู่ ณ เวทีสนทนาแห่งนี้ เพื่อมาช่วยกันสำรวจทุนพื้นฐาน และกำหนดทิศทางพัฒนาไปด้วยกัน และเพื่อเป็นการจุดประกายให้ทุกคนทุกภาคส่วนเชื่อมั่นว่า คนระยองสามารถใช้การศึกษาเพื่อสร้างและกำหนดทิศทางการเติบโตของเมืองได้ ด้วยพลังของทุกคน”
สมศักดิ์ พะเนียงทอง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง