ความฝันที่ ‘อยากจะพัฒนาประเทศ’ กับความจริงในการลงทุนกับการศึกษาพิเศษ ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างมากมาย
ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ.

ความฝันที่ ‘อยากจะพัฒนาประเทศ’ กับความจริงในการลงทุนกับการศึกษาพิเศษ ที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างมากมาย

“เราอยากเห็นคนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ มีการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ อยากเห็นระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี อำนวยความสะดวกให้กับทุกคน เราจะเป็นส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำลดน้อยลง”
ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช

นี่คือความฝันของ ‘อาจารย์โบ๊ท’ ปวรินทร์ พันธุ์ติเวช หัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. ที่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ

เมื่อต้นทุนทางร่างกายมีอุปสรรคเรื่องการมองเห็นตั้งแต่กำเนิด จึงต้องแลกความฝันมาด้วยความพยายามอย่างหนักในวัยเรียน เพื่อจะนำความรู้ที่ได้ศึกษามาใช้พัฒนาประเทศ ทำให้ ‘อาจารย์ปวรินทร์’ ต้องขยันและอดทนเพื่อก้าวข้ามผ่านอุปสรรคมากมายระหว่างทาง

อุปสรรคที่ต้องเจอในวัยเรียน

อาจารย์ปวรินทร์เข้าถึงการเรียนรู้อย่างยากลำบากตั้งแต่เด็กจากการมองไม่ค่อยเห็น ซึ่งระดับการมองเห็นที่เปลี่ยนไปตามอายุ ก็ทำให้พบเจออุปสรรคที่แตกต่างกัน อาจารย์โบ๊ทคิดเพียงว่า ต้องตั้งใจเรียนให้มากที่สุด เพื่อเป็นใบเบิกทางไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต

“ตอนเด็ก ๆ นึกภาพออกไหมว่าตัวเองจะเป็นอะไร ก็อาจจะนึกไม่ออกทั้งหมด เราคิดว่าตั้งใจเรียนหนังสือไปเรื่อย ๆ ตามคำที่พ่อสอนให้เราทำวันนี้ให้ดีที่สุด เดี๋ยวอนาคตก็ตามมาด้วยผลที่ดีจากความพยายามที่เราทําในวันนี้” 

อาจารย์ปวรินทร์เข้าเรียนในโรงเรียนปกติแทนโรงเรียนเฉพาะทางสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (Special Needs) สำหรับสถานการณ์คนพิการเมื่อสิบกว่าปีก่อน การตระหนักรู้ประเด็นคนพิการยังมีไม่มาก และสิ่งที่ยากกว่าการทำความเข้าใจเนื้อหาวิชา คือความไม่เข้าใจของครูผู้สอนที่มีต่อเขาและคนตาบอดอื่น ๆ ในการหาทางออกที่ไม่ตรงจุด

สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไม่เอื้อให้เขาเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ช่วงแรก ๆ ในชั้นอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้น อุปสรรคก็อาจยังไม่มากเท่าไหร่ ถ้านั่งแถวหน้าสุดของแถวเรียนก็ยังพออ่านกระดานได้บ้าง ถ้าเป็นหนังสือหรือเอกสารมองใกล้มาก ๆ ก็ยังพอจะอ่านได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม รวมถึงช่วงนั้นยังมีการเขียนตัวหนังสือเต็มบรรทัดก็ยังไม่เป็นปัญหามาก แต่พอชั้นประถมศึกษาตอนปลายขึ้นไปก็เริ่มไม่เหมือนเดิม 

แม้จะนั่งแถวหน้าสุดก็ยังมองไม่เห็นกระดาน ส่วนเอกสารข้อสอบหรือเอกสารประกอบการเรียนก็ต้องใช้อุปกรณ์อย่างแว่นขยายในการช่วย บางทีได้เอกสารที่มีขนาดปกติเหมือนคนอื่น ๆ และพิมพ์ตัวอักษรสีที่มีความเข้มต่ำ ทำให้อ่านแทบไม่ได้ อีกทั้งเวลาในการสอบเท่ากับคนปกติ 

พอเข้าสู่มัธยมศึกษาตอนปลายเริ่มมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เวลาเรียนเราสามารถอัดวิดีโอหรือถ่ายรูปได้ แต่บางอย่างที่เป็นสมการ กราฟหรือภาพก็ไม่สามารถใช้ได้ เพราะจินตนาการไม่ออกว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ส่วนวิถีชีวิตมีคุณแม่ดูแลอยู่ตลอด พออยู่โรงเรียนเรื่องพวกนี้จะไม่ใช่เรื่องยากมาก เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ปิด ไม่มีปัญหาเรื่องอันตรายในการเดินทาง แต่พอเป็นมหาวิทยาลัยมันค่อนข้างเป็นสถานที่กึ่งเปิด คุณแม่จึงค่อนข้างกังวลเรื่องความปลอดภัย

“วิชาคณิตศาสตร์โดยเฉพาะตระกูลเรขาคณิต เราก็ไม่รู้จะทำยังไงให้เรียนรู้เรื่อง หรือกระทั่งวิชาสมการ เราก็ทำได้แค่ฟังอย่างเดียว อาจารย์บางคนอาจจะไม่คุ้นชินกับการอธิบายพรรณนาสมการโดยละเอียด ก็อาจจะพูดลัดตัดตอน พอเรามองไม่เห็นการทำโจทย์ส่งอาจารย์ก็เป็นเรื่องยาก ขณะเดียวกันถ้าวิชาวิทยาศาสตร์บางอย่างก็ยาก เช่น คาบชีววิทยาก็จะมีกิจกรรมส่องกล้องจุลทรรศน์ เราก็ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร อาจารย์บางคนก็เข้าใจว่า เรามองไม่เห็นใช่ไหม  ใส่แว่นสิ เธอไปเอาแว่น โรงเรียนมีแว่นฟรี จริง ๆ ปัญหาทางสายตามันไม่ได้มีแค่การใส่แว่นแล้วหาย มันก็มีประเภทที่ใส่แว่นแล้วไม่หายเหมือนกัน”

แรงผลักดันให้ก้าวไปสู่ความฝัน

เรามักจะมีภาพจำของสังคมอยู่เสมอว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตาคงทำอะไรได้ไม่ค่อยมาก  แต่อาจารย์ปวรินทร์ อยากจะสื่อสารกับสังคมว่า เด็กเหล่านี้ก็มีความสามารถ มีศักยภาพและทำประโยชน์ให้กับคนในสังคมและประเทศได้เหมือนคนปกติทั่วไป

ด้วยเชื่อว่า การศึกษาที่ดีและมีคุณภาพเต็มตามศักยภาพ จะช่วยผลักดันให้เขาขึ้นมาแล้วบอกกับสังคมแบบนั้นได้ เขาจึงตั้งใจเรียนและพยายามอย่างมาก นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจสอบเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อปริญญาโทสาขา Data, Economics, and Development Policy ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ Massachusetts Institute of Technology (MIT) ซึ่งทำวิจัยเชิงนโยบาย โดยนำเครื่องมือจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์มาใช้เป็นเครื่องมือทางสังคม ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข การเงิน ช่วยให้เราเห็นประสิทธิภาพของนโยบายได้ชัดเจนที่สุด

แล้วเศรษฐศาสตร์การพัฒนา ก็ตอบโจทย์อาจารย์ปวรินทร์ในการที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคมและพัฒนาประเทศไทย เพราะไม่ใช่แค่เรียนไปเพื่อหาทางทำกำไรให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่อีกมิตินึงคือความเป็นอยู่ของคนทุกคน

ภายหลังเรียนจบจากอเมริกา อาจารย์ปวรินทร์ได้ทุ่มเทความรู้ให้กับงานที่ตั้งใจเข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างต่อเนื่อง จากการเป็นนักวิชาการในกองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา และก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายข้อมูลและติดตามสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาสทุกคน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้เต็มตามศักยภาพ

การลงทุนในการศึกษาพิเศษ เป็นการลงทุนที่สร้างผลตอบแทนได้อย่างมากมาย

อาจารย์ปวรินทร์เป็นตัวแทนเพื่อบอกว่า เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ (Special Needs) แท้จริงแล้วเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่สูงมาก ในหลาย ๆ กรณี อาจมีศักยภาพสูงกว่าเด็ก ๆ ทั่วไปอีกด้วย เพียงแต่เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้ จำเป็นต้องได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก (Disability Accommodation) ที่เหมาะสม เพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการศึกษาและได้รับโอกาสในการทำงานได้อย่างเต็มตามศักยภาพของพวกเขา

​แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายซึ่งกำหนดให้คนพิการทุกคน มีสิทธิเข้ารับการศึกษาได้จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าถึงการศึกษาของคนพิการยังคงมีความท้าทายในหลากหลายมิติ ทั้งในมิติทัศนคติของผู้ปกครอง ความพร้อมของสถานศึกษาและบุคลากรทางการศึกษา และการสร้างความเข้าใจของสังคมและการมีสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ (Universal Access) ที่สนับสนุนในวงกว้าง 

ดังนั้น การลงทุนในการจัดการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการจำเป็นพิเศษ จึงมีความสำคัญและสร้างผลตอบแทนที่สูงมาก โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้สร้างระบบหลักประกันสิทธิให้เด็กและเยาวชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ เข้าถึงโอกาสด้านการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้เต็มตามศักยภาพ ด้วยการริเริ่มโครงการ “ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ”

โดยจากการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (Social Return on Investment: SROI) ของการให้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ พบว่า มีผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุนสูงถึง 4.134 เท่า หมายถึง การลงทุนในการศึกษา 1 บาท ก่อให้เกิดประโยชน์ 4.134 บาท ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนทางสังคมที่สูงมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้หากไม่มีการลงทุน ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ เด็ก ๆ ที่มีศักยภาพเหล่านี้ก็อาจจะเข้าไม่ถึงการศึกษา ทำให้สังคม ครอบครัว และตัวคนพิการสูญเสียโอกาสที่จะมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม ขาดรายได้เนื่องจากมีโอกาสการทำงานที่จำกัด และในหลาย ๆ กรณี ก็อาจจะกลายเป็นไม่สามารถเลี้ยงหรือดูแลตัวเองได้ ซึ่งจะเป็นการเสียโอกาสที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมจาก :
ความฝันที่ ‘อยากจะพัฒนาประเทศ’ กับความบกพร่องทางสายตาที่ไม่ใช่อุปสรรค
Independent  Living จะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่ : เมื่อคนพิการต้องจิตแข็งเพื่อฝ่าปัญหา และความท้าทายของกทม.กับนโยบายคนพิการ 134 ข้อต้องเป็นรูปธรรม