ปัจจุบันผู้มีความต้องการพิเศษ หรือ ผู้พิการ กว่า 60% “จบการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมศึกษา” นี่คือ 1 ในสาเหตุซึ่งทำให้ผู้มีความต้องการพิเศษที่มีศักยภาพไปได้ไม่ถึงฝัน กลายเป็นภาพในสังคมว่าพวกเขาต้องได้รับความช่วยเหลือ สงเคราะห์ ทั้งที่จำนวนมากสามารถพึ่งพาตนเองได้
และนี่จึงเป็นการพิสูจน์ที่ท้าทายของ “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ” ที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคเอกชนที่สนับสนุนการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาร่วมกันในการผลักดันระบบการศึกษาเพื่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ให้ได้เรียน ปวส. เข้าสู่ตลาดแรงงานฝีมือเต็มศักยภาพ
จนถึงวันนี้ พวกเราทำงานกับเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษมาแล้ว 5 รุ่น มีเยาวชนที่สำเร็จการศึกษาแล้ว 3 รุ่นเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอชวนเพื่อนผู้อ่านทุกท่าน ร่วมยินดีไปด้วยกันผ่านชุดข้อความที่รวบรวมมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า “โอกาสทางการศึกษา เป็นรากฐานสำคัญทั้งต่อผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และสังคม”
‘คมชาญ แดนกาไสย’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่น 3 เล่าว่า ตนเองพิการทางการได้ยิน มีปัญหาจากรายได้ครอบครัวที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกือบไม่ได้ศึกษาต่อหลังจบ ม.6 จนเมื่อได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนที่วิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ จึงตั้งใจเรียนได้อย่างเต็มที่
การอยู่ร่วมกับเพื่อนในวิทยาลัยได้ช่วยเรื่องการเรียนรู้ปรับตัวเข้าสังคม จนขึ้นชั้น ปวส.2 การเป็นนักศึกษาทุน กสศ. ผนวกกับแนวทางการจัดการเรียนรู้ของสถาบัน ที่มีการเชื่อมต่อโอกาสให้ได้เรียนรู้และฝึกงานที่ Café Amazon ทำให้เริ่มมองเห็นว่าตนเองจะไปทางไหนต่อได้เมื่อจบการศึกษา โดยหลังจากเรียนและฝึกงานมาเป็นเวลา 1 ปีจนจบการศึกษาชั้น ปวส. ทาง Café Amazon ได้รับเข้าทำงาน และจะเริ่มงานในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
“ผมคิดว่าการได้ทดลองงานทำให้เราเห็นโลกของการทำงานมากขึ้น ลดความตื่นเต้น ความประหม่า ความไม่มั่นใจต่าง ๆ การทำงานทุกวันช่วยให้เราจำสูตรการชงกาแฟ เรียนรู้ทักษะการบริการลูกค้า และปฏิบัติงานได้โดยไม่มีความกังวล สามารถพัฒนาตัวเองและทำงานได้ดีขึ้น อีกทั้งการที่เห็นว่าตัวเองทำได้และเกิดความชอบในงานที่ทำ ทำให้เราเห็นเส้นทางประกอบอาชีพในอนาคต ภูมิใจในตัวเองได้ทั้งในการเรียนจนจบการศึกษา และยิ่งภูมิใจมากขึ้นเมื่อเห็นว่าการศึกษาพาเราไปสู่การทำงานได้จริง ๆ”
‘วรพงษ์ ไชยกันต์’ นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่น 3 ผู้เชื่อมต่อสู่การทำงานที่สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า เขามีความบกพร่องทางการมองเห็น ปัญหาด้านสายตาทำให้ไม่สามารถเรียนหนังสือได้เต็มที่ เมื่อเรียนจนจบ ม.6 จึงยังไม่รู้ว่าตนเองต้องเลือกเรียนต่อในสาขาใด จนหลังมาเจอกับวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ได้เข้าเรียนในสาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัลในฐานะนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง จึงเริ่มค้นพบว่าตนเองชอบด้านการออกแบบ และคอมพิวเตอร์กราฟิก
“ผมพบว่าการได้ทำในสิ่งที่ชอบทำให้เรามีความสุข จุดเปลี่ยนสำคัญคือตอนที่ขึ้นปีสองได้โอกาสไปฝึกงานที่สำนักงานสรรพากรเชียงใหม่ เขต 1 ได้รับผิดชอบงานเกี่ยวกับระบบข้อมูลและงานประชาสัมพันธ์ ผมมาพบอีกว่าการได้นำความรู้จากที่เรียนในวิทยาลัยมาปรับใช้ จนผู้ใหญ่ในที่ทำงานและเพื่อนร่วมงานยอมรับ ทำให้รู้สึกดีใจ ว่าตนเองสามารถทำงานได้ในมาตรฐานเดียวกับคนทั่วไป
“ต่อมาหลังฝึกงานเสร็จ ผมก็เอาความรู้จากที่ทำงานมาต่อยอดด้วย จนวันนี้ผมเรียนจบแล้วและได้งานทำทันทีที่สำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งงานก็ทำให้ผมได้ข้อค้นพบอีกหนึ่งอย่างว่า หัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน เขาไม่ได้มองว่าเราเป็นคนพิการหรือมีความแตกต่างใด ๆ ตราบที่คุณภาพงานของเราอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน หรือสูงกว่างานที่คนอื่น ๆ ทำได้ นั่นทำให้ผมต้องพยายามในทุก ๆ วันเพื่อเรียนรู้ เพื่อรับผิดชอบงานและพัฒนาตนเองยิ่งขึ้นไป แล้วเมื่อผมทำได้ ก็รู้สึกภูมิใจว่าตัวเราไม่ได้ด้อยค่าไปกว่าใคร ๆ เลย”
‘นายพิษณุเวช โพธิ์เพ็ชร’ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา สอศ. เปิดเผยในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่น 3 ว่า ผลผลิตจากโครงการฯ คือการจุดประกายให้กับเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษ ว่าความมานะความพยายามคือต้นทางของความสำเร็จ โดยแม้ต้องผ่านปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงแค่บททดสอบหนึ่ง ก่อนที่นักศึกษาทุนฯ จะก้าวไปสู่ทางแยก 3 ทาง
ทางเลือกแรก คือ การเข้าทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งหลายแห่งมาร่วมในงานนี้ และพร้อมรับเข้าทำงานทันที
ส่วนสอง คือ คนที่สนใจตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการ ทางเครือข่ายยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการ ได้มีทุนตั้งต้นสำหรับการกู้เงินเพื่อประกอบธุรกิจให้กับนักศึกษาทุนฯ ในวงเงิน 40,000-120,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
ทางเลือกที่สาม สำหรับผู้สนใจศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น สอศ. และ กสศ. จะเป็นผู้สนับสนุนผลักดันให้นักศึกษาเข้าถึงทุนการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ
“ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ณ ตรงนี้ คือการส่งผ่านแนวคิดที่ว่า คนทุกคนล้วนมีความสำคัญกับสังคมของเรา เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า มีศักยภาพ มีทัศนคติที่พร้อมพัฒนาเติบโต ซึ่งถ้าได้รับโอกาส ไม่ว่าใครก็ตามก็สามารถใช้การศึกษาเพื่อพาตัวเองไปสู่การมีงานทำได้ พึ่งพาตนเองได้ การตั้งศูนย์การศึกษาพิเศษในวันนั้น ได้พิสูจน์ให้เห็นผลสัมฤทธิ์แล้วว่าน้อง ๆ ทุกคนทำได้
“เมื่อนักศึกษาผู้มีความต้องการพิเศษของเราเตรียมจบการศึกษาอีกรุ่นหนึ่ง และกำลังจะก้าวไปเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และแม้ว่าหลังจากนี้สิ่งที่น้อง ๆ จะได้เจออาจไม่ใช่เส้นทางที่ราบเรียบสมบูรณ์ เพราะแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ปรับตัวเพื่อรับมือกับอุปสรรคปัญหาอีกมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านั้นจะเป็นเพียงประสบการณ์ชีวิตที่หล่อหลอมให้ทุกคนเติบโต พัฒนาศักยภาพ และประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่ทุกคนแสดงให้เห็นแล้วในพิธีจบการศึกษาวันนี้”
‘ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ’ กรรมการบริหาร กสศ. และอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กล่าวว่า การสร้างและส่งต่อเยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษเข้าไปสู่สังคมไม่ใช่เรื่องง่าย หลักการสำคัญไม่ใช่แค่มีทุนที่เป็นตัวเงิน แต่จำเป็นต้องมีหลายฝ่ายมาเกี่ยวข้อง
เหนือไปกว่านั้น กสศ. มีข้อค้นพบว่า เยาวชนผู้มีความต้องการพิเศษที่จบการศึกษาระดับ ปวส. จะสามารถพาครอบครัวให้พ้นไปจากความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ โอกาสครั้งนี้จึงเป็นรากฐานสำคัญของทั้งตัวนักศึกษา และต่อแนวทางการพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความต้องการพิเศษต่อไป
“ที่สำคัญคือเราต้องขอบคุณคณาจารย์จากทุกสถาบัน ที่เป็นทั้งผู้ค้นพบ สร้างกำลังใจ และเชื่อมโยงน้อง ๆ ให้ไปถึงแหล่งทุน แสดงถึงหัวใจของความเป็นครูที่ทุ่มเททำงานอยากให้ศิษย์ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ครอบครัวก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่หากมีทัศนคติเชิงบวกอยากให้ลูกหลานได้รับการศึกษา ก็จะทำให้เด็กก้าวเดินอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
“และที่ขาดไม่ได้ที่จะต้องขอบคุณ คือผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่มีนโยบายเห็นความสำคัญของการรับผู้มีความแตกต่างหลากหลายเข้าทำงาน นี่เป็นบทพิสูจน์ว่าไม่ว่าใครก็ตามที่มีศักยภาพ เขาจะสามารถทำงานและพัฒนาตนเองต่อไปได้ โดยจากบทเรียนความร่วมมือนี้ กสศ. จะพยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้ขยายออกไปมากขึ้น”
‘ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์’ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า ภาพที่เห็นในวันนี้ คือความเป็นนักสู้ของนักศึกษาทุกคน ทั้งในด้านการเรียน และการฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคในชีวิต ซึ่งถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ก่อนที่ทุกคนจะก้าวไปสู่โลกของการทำงานต่อไป
“เราไม่ได้พูดถึงแค่นักศึกษาทุนผู้มีความต้องการพิเศษ 107 คนในห้องนี้ หรือแค่จำนวนนักศึกษาทุนฯ ที่รวมกัน 5 รุ่น ราว 500 กว่าคน แต่ความสำคัญของงานที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำ กำลังส่งไปถึงคนทุกช่วงวัยที่ต้องการการศึกษาพิเศษทั้งประเทศไทยราว 2 ล้านคน ซึ่ง 60% จบการศึกษาสูงสุดแค่ชั้นประถมศึกษา งานวันนี้จึงถือเป็นภาพตัวอย่างของความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง ที่น้อง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็น และแม้ว่าจำนวนนักศึกษาทุนฯ ต่อรุ่นของโครงการจะยังไม่มาก แต่การเติบโตของน้อง ๆ 107 คนในระยะเวลาสองปี ก็ทำให้เราเชื่อมั่นแล้วว่าการศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้จริง
“นี่คือการพิสูจน์พลังที่อยู่ข้างในตัวเยาวชนทุกคน และสะท้อนไปถึงพลังของสังคมที่จะเข้ามาช่วยผลักดัน และลดทอนอุปสรรคของการเข้าถึงการเรียนรู้พัฒนาตนเอง อุปสรรคของการเข้าถึงการประกอบอาชีพ และเป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกันทำงานต่อไป โดยมีน้อง ๆ เหล่านี้เป็นตัวแบบ”
‘ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม’ หัวหน้าโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า งานในวันนี้มีเป้าหมายคือสร้างความสุขความประทับใจ และแสดงความยินดีกับการสำเร็จการศึกษาของนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ รุ่นที่ 3 ทั้งยังถือเป็น ‘โค้งสุดท้าย’ สำหรับการเอื้อให้เกิดคุณค่าที่จะติดตัวนักศึกษาทุกคนไปในโลกของการทำงาน นั่นคือความพร้อมที่จะช่วยให้ทุกคนแน่ใจว่า จะสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในโลกปัจจุบันได้
“สิ่งสำคัญที่คณะทำงานจะช่วยให้น้อง ๆ ค้นพบ คือความเข้าใจตนเองว่ามีความชอบอะไร หรือทำอะไรได้ดี ซึ่งจะพาไปสู่ความมั่นใจ ภูมิใจ สร้างให้เกิดทักษะสังคมต่าง ๆ ในโลกการทำงาน โดยเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ ‘อยู่ได้’ แต่ทุกคนจะต้องอยู่ได้อย่างยืนยาว และเติบโตในอาชีพ
“ส่วนอีกประเด็นหนึ่งคือนักศึกษาทุนฯ ทุกคน จะเป็นกระบอกเสียงสำคัญ ที่จะทำให้สังคมไทยดีขึ้น โดยเฉพาะในฐานะครูการศึกษาพิเศษผู้ผลิตครูไปสอนเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เราต้องรู้ว่าผู้เรียนต้องการอะไร มีความคิด ความเชื่อ หรือปัญหาอุปสรรคอะไร แล้วสังคมก็จำเป็นต้องรับฟังและเรียนรู้จากเสียงเหล่านี้ให้ลึกที่สุด เพื่อค้นหาให้พบว่าการช่วยเหลือและการให้กำลังใจที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของน้อง ๆ คืออะไร แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อยอย่างห้องน้ำหรือทางลาดสำหรับผู้พิการ ไปจนถึงการทำความเข้าใจ การสื่อสาร หรือการมองเห็นว่ามีคนที่แตกต่างอยู่ร่วมกับพวกเราทุกคน
“สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้สังคมเราเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด และยังจะทำให้คนที่ทำงานเกี่ยวข้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องทำ วันนี้สิ่งที่คณะทำงานโครงการฯ ได้เปลี่ยนแปลงร่วมกันไปแล้ว คือการเกิดขึ้นของทัศนคติของการอยู่ร่วมกันแบบ ‘inclusive society’ (สังคมของคนทุกคน) ซึ่งภาพเหล่านี้จะค่อย ๆ ต่อกันเป็นจิ๊กซอว์ ที่มีน้อง ๆ นักศึกษาทุนเป็นชิ้นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยสานฝันให้สังคมของเราดีขึ้นกว่านี้”