“ดีใจที่ได้เห็นเด็กอีกคนหนึ่งเรียนจบ เห็นเขามีช่องทางและโอกาสไปต่อมากขึ้น แล้วยิ่งได้เห็นว่าเขาภูมิใจที่ตัวเองทำได้ ทางโรงเรียนก็ภูมิใจไปด้วย”
ปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี กล่าวในวาระที่เยาวชนในความดูแลของ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ.’ ซึ่งร่วมมือกับ สพฐ. และโรงเรียนไทรน้อย ช่วยกันพากลับเข้าโรงเรียนในภาวะฉุกเฉิน ได้แก่ ‘น้องวง’ ตาวง และ ‘มะขาม’ อิสรา เจือทิน จบการศึกษาชั้น ม.6 และ ม.3 ตามลำดับ หลังภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา 2566 สิ้นสุด

…ย้อนไปช่วงการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 วงจบ ม.3 จากโรงเรียนไทรน้อยในปีการศึกษา 2563 และไม่ได้เรียนต่อ ม.4 เนื่องจากครอบครัวขาดรายได้อย่างหนัก วงจึงสละสิทธิ์ให้น้องสาวได้เรียน ส่วนตัวเองไปช่วยแม่ทำงานหารายได้อีกแรงหนึ่ง
จนผ่านไปราว 8 เดือน เมื่อ กสศ. และ สพฐ. สำรวจตามแนวทางการสร้าง ‘ระบบป้องกันและช่วยเหลือเด็กหลุดออกนอกระบบ’ พบว่า วง เป็นหนึ่งในเยาวชน 4.3 หมื่นคน ที่ไม่มีรายชื่อเรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้น และเมื่อได้คุยกัน วงแจ้งความประสงค์ว่าอยากกลับเข้าเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนเดิม จึงมีการประสานพูดคุยกับทางโรงเรียน ซึ่ง ผอ.ปิติ ตัดสินใจรับวงทันทีในภาคเรียนที่สองของปีการศึกษา 2564 พร้อมมีโปรแกรมฟื้นฟูความรู้ และจัดตารางเวลาเรียนเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้วงตามบทเรียนทันเพื่อนในช่วงเวลาเหลื่อมกันไม่มาก ‘น้องมะขาม’ หลุดจากโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในระหว่างเรียนชั้น ม.1 จากนั้นไม่ได้ศึกษาต่อในระบบใดเลยตลอดหนึ่งปีการศึกษา จนรายชื่อของน้องเข้ามาสู่ ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ.’ กระบวนการดูแลช่วยเหลือจึงเริ่มต้น โดยเมื่อน้องมะขามแจ้งความต้องการว่าอยากเรียนต่อ ก็เป็นโรงเรียนไทรน้อยที่ชื่อของน้องอยู่ในเขตบริการเป็นผู้รับไว้ และนำกลับสู่การเรียนชั้น ม.1 ทันที แม้อยู่ในช่วงกลางภาคเรียน
‘ยินดีรับทันที’
ผอ.ปิติ กล่าวว่า กรณีของเด็กทั้งสองคนเป็นผลพวงที่เกิดจากวิกฤตโควิด ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กเยาวชนหลุดจากการศึกษาเป็นจำนวนมาก เมื่อทราบเรื่อง โรงเรียนจึงยินดีรับทันที และจำเป็นต้องจัดโปรแกรมพิเศษเพื่อให้เด็กเก็บหน่วยกิตทันเพื่อน และผ่านการศึกษาที่มีคุณภาพตรงตามตัวชี้วัด
“สำคัญมากคือเราต้องมีทีมครูที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดูแลใกล้ชิด คอยติดตามทั้งเรื่องเรียน เป็นที่ปรึกษาทุกข์สุข เพราะการเข้ามาเรียนกลางเทอมเป็นภาระที่หนัก เด็กต้องฟื้นฟูและตามเก็บความรู้ในช่วงเวลาที่หายไป ขณะที่เด็กบางคนเช่นน้องวงก็ยังต้องไปช่วยแม่ทำงานหลังเลิกเรียนและวันหยุดเหมือนเดิมเพื่อพยุงค่าใช้จ่ายในครอบครัว”

“ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน เมื่อเห็นความตั้งใจของเด็ก เห็นความพยายามที่จะต่อสู้ทั้งในและนอกโรงเรียนของเขา ก็อยากให้กำลังใจและส่งเสริมให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ จนวันนี้วงเรียนจบ ม.6 แล้ว เราถามว่าจะทำอะไรต่อ เขาบอกว่าจะไปทำงานพาร์ตไทม์ช่วยแม่หาเงินส่งน้องเรียน และจะเก็บเงินเพื่อเรียนต่อไปด้วย เราก็ดีใจว่าอย่างน้อยเขาก็มีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่าชั้น ม.3 ส่วนมะขามที่จบ ม.3 ปีนี้ เราเพิ่งได้คุยกับพ่อของเขา รู้สึกดีใจเมื่อเขาบอกว่าถ้าวันนั้นไม่มีความร่วมมือต่าง ๆ เกิดขึ้น น้องอาจจะหลุดจากการศึกษาไปแล้วไม่ได้กลับมาอีก”
‘งดเว้นค่าธรรมเนียมการศึกษา ติดตามสถานการณ์ ดูแลใกล้ชิดเพื่อส่งให้ถึงฝั่ง’
อีกประเด็นสำคัญ ก่อนจะจบการศึกษาในกรณีของวง คือยังติดค้างชำระค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงการศึกษาจำนวนหนึ่ง ผอ.ปิติ ยืนยันว่า สำหรับวงที่เข้าเรียนเป็นกรณีพิเศษในฐานะเยาวชนจาก ‘ศูนย์ช่วยเหลือเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ.’ ที่ผ่านมาจึงมีการระดมทรัพยากรช่วยเหลือ และงดเว้นค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อให้เด็กและผู้ปกครองไม่ต้องกังวลว่ากลับมาเรียนแล้วจะไปได้สุดทางแค่ไหน จะจบการศึกษาได้วุฒิพร้อมเพื่อนคนอื่น ๆ หรือไม่
“เรื่องนี้โรงเรียนเราดูแลทั้งหมด ซึ่งตามอำนาจที่มีอยู่ โรงเรียนสามารถจัดสรรได้สำหรับเด็กที่อยู่ในสถานการณ์จำเป็นจริง ๆ โดยเมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในความดูแล โรงเรียนจะมีระบบดูแลช่วยเหลือ เยี่ยมบ้าน ติดตามสถานการณ์ชีวิต เมื่อพบปัญหาจะมีการพูดคุย ทำความเข้าใจ พยายามหาความร่วมมือมาช่วย รวมถึงยกเว้นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาบางอย่าง เพื่อให้เด็กเรียนได้ตลอดรอดฝั่งจนจบการศึกษา”

ผอ.ปิติ กล่าวว่า เด็กสองคนที่จบการศึกษาในวันนี้ คือความภาคภูมิใจของโรงเรียน ทั้งยังเป็นความยินดีที่เราได้ร่วมมือกับทุกฝ่ายในการดูแลและผลักดันมาด้วยกัน เพราะทำให้เห็นว่าในสถานการณ์วิกฤต จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาทางออก เพื่อช่วยเด็กหลาย ๆ คนให้เขายังอยู่บนเส้นทางการศึกษาตามที่ควรจะเป็น
“ผมเชื่อว่าโรงเรียนคือที่พึ่งของเด็กและผู้ปกครอง เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวกเรื่องการจัดการศึกษา การพัฒนาทักษะกระบวนการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมเด็กตามศักยภาพของเขา เด็กทุกคนต้องมีโอกาสได้เรียน ได้พัฒนาตนเอง ซึ่งแต่ละคนก็มีเส้นทางต่างกัน มีความต้องการต่างกัน ดังนั้นเราต้องหาให้เจอแล้วผลักดันตรงนั้น ส่วนคนที่ขาดแคลน หรือมีความต้องการพิเศษบางอย่าง ก็ต้องช่วยกันหาทางหนุนเสริม
“เพราะสุดท้ายแล้ว เด็กคนหนึ่งไม่ว่ายากดีมีจนขาดพร่องแค่ไหน เขาต้องมีโอกาสได้เรียน นี่คือสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากนั้นถ้ามีอะไรที่ช่วยเหลือได้ เราจะรับฟัง หาทางช่วย และลงมือทำทันที”
‘ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กส่วนหนึ่งหลุดจากระบบ’

วิทิต เติมผลบุญ ผู้อำนวยการศูนย์การเรียน CYF จังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในเชิงนโยบายแล้ว การเก็บค่าบำรุงการศึกษาของทุกโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเป็นต้องมีความชัดเจน เนื่องจากเชื่อว่ามีเด็กจำนวนมากที่แม้ฝ่าฟันเรียนจนถึงปลายทางได้ แต่ด้วยติดค้างชำระค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ทำให้ไม่มีสิทธิ์รับวุฒิการศึกษา รวมถึง ‘ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา’ ส่วนนี้ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้เด็กเยาวชนบางส่วน ต้องจำใจโบกมือลาจากเส้นทางการศึกษาไป
โดยในเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษาหรือค่าบำรุงโรงเรียน ตามกฎแล้วระบุว่าโรงเรียนสามารถเรียกเก็บได้ แต่ด้วยนโยบายที่ยังไม่ชัดเจนก็ทำให้ยังเป็นปัญหาอยู่ สำหรับเคสของเด็กที่เข้ามาในภาวะวิกฤต ด้วยอำนาจของผู้บริหารสถานศึกษา สามารถดูแลให้เด็กเรียนจบได้ อย่างไรก็ตามในเด็กส่วนใหญ่ ผู้ปกครองมีทางออกเดียวคือกู้เงินด่วนหรือนำทรัพย์สินไปจำนำ จนยิ่งกลายเป็นหนี้สินติดตัว
“สถิติบอกเราว่าช่วงเปิดกับปิดภาคเรียน จะเป็นช่วงที่มีอัตราคนใช้บริการโรงรับจำนำพุ่งสูงมาก ประเด็นสำคัญที่อยากให้มอง คือในเมื่อค่าบำรุงการศึกษายังไม่มีความชัดเจน ความหมายของการ ‘เรียนฟรี 12 ปี’ จนจบการศึกษาภาคบังคับ จึงไม่อาจพูดได้ว่า ‘เป็นความจริง’ อย่างทุกวันนี้ เราพบว่าเด็กในต่างจังหวัดจำนวนหนึ่งหลุดออกจากระบบช่วง ม.ต้น สาเหตุหนึ่งมาจากค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น เพราะพอถึงชั้นมัธยม ส่วนใหญ่ต้องย้ายไปเรียนในโรงเรียนที่ไกลขึ้น เฉลี่ยค่ารถอยู่ที่ 400-500 บาทต่อเดือน หลายบ้านที่เด็กอยู่กับผู้สูงอายุซึ่งมีรายได้แค่เบี้ยคนชราก็ไม่มีกำลังจ่าย
“สาเหตุที่สองคืองบอาหารกลางวันที่รัฐอุดหนุนแค่ชั้นประถม พอขึ้นมัธยมเด็กต้องจ่ายเอง ขั้นต่ำอย่างน้อยตกวันละ 50 บาท พอบวกรวมกับค่ารถ เดือน ๆ หนึ่งอย่างน้อยอยู่ที่ 2,000 บาท ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้หมู่บ้านหนึ่งจบพร้อมกัน 20 คน จะมีถึง 5 คนไม่ได้เรียนต่อมัธยมทันที แล้วสองสาเหตุนี้มันต่อเนื่องมาถึงเหตุผลว่า หากเด็กกัดฟันเรียนแล้วไปเจอค่าบำรุงโรงเรียนเพิ่มมาอีก สุดท้ายโอกาสจะเรียนจนจบ หรือจบมาแล้วจะมีวุฒิการศึกษาก็ยิ่งน้อยลง”