กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ หน่วยบริหารจัดการเมือง มหาวิทยาลัยพะเยา หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนมุมมอง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้: เมืองแห่งอนาคต’ (Learning City: Future of Learning) ภายใต้หลักสูตรอบรมพัฒนานักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ รุ่นที่ 2 โครงการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ณ TK PARK ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
นายพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวเปิดเวทีการเรียนรู้ครั้งนี้ว่า ด้วยสถานการณ์ด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อเด็กและเยาวชนไทย มีความจำเป็นที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพื่อทำให้เป้าหมาย Thailand Zero Dropout ประสบความสำเร็จ และหนึ่งในวิธีการที่สำคัญคือการสร้างทางเลือกการศึกษาให้มีความหลากหลาย ยืดหยุ่น และการกระจายความเป็นเจ้าของ โดยการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
นางสาววริฏฐา แก้วเกตุ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. ให้ข้อมูลสำคัญที่แสดงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเติบโตของเมือง สอดคล้องกับพันธกิจของ กสศ. ที่มีความต้องการสร้างการเรียนรู้ที่ถ่ายระดับจากจังหวัดสู่เมืองด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือ Area Based Education: ABE มาสู่แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งยังมีการสะท้อน 6 องค์ประกอบที่สำคัญของเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ (1) การเรียนรู้ทุกช่วงวัย (2) การเรียนรู้ในครอบครัวและชุมชน (3) การเรียนรู้ระหว่างการรทำงาน (4) การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ (5) พัฒนาคุณภาพในการเรียนรู้ และ (6) ส่งเสริมค่านิยมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งนี้ จะมีการจัดงาน Thailand Leaning Cities Award (TLE-CA) ในปี 2568 เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้กับสังคมไทยร่วมกัน
รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา ให้ข้อมูลการพัฒนาตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ คือเมืองที่นำกระบวนการเรียนรู้มาแก้ปัญหาให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างจุดแข็งของเมือง โดยแต่ละเมืองมีประวัติศาสตร์ รากฐาน และอัตลักษณ์ของเมือง โดยมีการพัฒนาเมืองในปีนี้จำนวน 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองลำพูน : เมืองแสงแห่งศรัทธาจากโคม เป็นจุดเชื่อมผู้สูงอายุให้เจอกับคนรุ่นใหม่ โดยใช้เทศกาลโคม เป็นแหล่งเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัยในเมือง เทศบาลนครอุดรธานี: เมืองแห่งเส้นทางการเรียนรู้พหุวัฒนธรรม โดยการพัฒนาเด็กทุกกลุ่ม ทั้งพิการและไม่พิการ รวมถึงเกิดการจ้างงานในพื้นที่ เทศบาลนครตรัง: เมืองที่เด็กและเยาวชนเดินเมืองเดินคลอง โดย กระบวนการพัฒนาแผนที่เมือง (City Mapping) และทำผลิตภัณฑ์โดยเยาวชน และ เทศบาลนครยะลา: เมืองที่สร้างคนบนพื้นที่สีเขียว โดยการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนบนพื้นที่สีเขียวของเมือง
ในช่วงการเสวนา ‘เมืองแห่งการเรียนรู้: เมืองแห่งอนาคต’ (Learning City: Future of Learning) เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันของพื้นที่เมืองต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบัน กสศ. มีการพัฒนาจำนวน 8 พื้นที่ และ บพท. อีก 40 พื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ กรณีศึกษา และเครื่องมือจัดการเรียนรู้กับผู้นำเมืองที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาพื้นที่ และนักแสดงพิธีกรมากประสบการณ์อย่าง ดร.เขมนิจ จามิกรณ์, นายวัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ ร่วมด้วย นายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก, นายพูนเกียรติ พุทธรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี ได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน โดยมี รศ.ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้ดำเนินรายการ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ และการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก สะท้อนว่า ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ ชุดประสบการณ์และทักษะที่มีความแตกต่าง รวมถึงมุมมองที่แตกต่างกัน การเรียนรู้จากมุมมองที่แตกต่างกันก็นำมาสู่การพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องเตรียมพื้นที่เรียนรู้ให้ทุกคนในเมือง เพื่อให้เกิดการสนับสนุนความรู้ การพัฒนาศักยภาพในด้านต่าง ๆ ที่มีความสนใจ เพื่อให้เกิดการพัฒนาคนได้อย่างตรงจุด
ประเด็นที่ 2 การเรียนรู้ตลอดชีวิต: ประสบการณ์จากชีวิตจริง
ดร.เขมนิจ จามิกรณ์ มองว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นทุก ๆ ก้าวของชีวิต ในทุกกิจกรรม การสั่งสมจะทำให้ได้เรียนรู้ตนเองมากขึ้น ความยากคือการออกจากพื้นที่ของตนเอง คนที่ปรับตัวได้ไวจะสามารถอยู่ในสังคมได้ดีกว่า การรู้เท่าทันสื่อ และสามารถปรับตัวได้จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับสังคมในปัจจุบัน
ประเด็นที่ 3 ประสบการณ์ของนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ ทั้งในบทบาทผู้จัดและผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
นายพูนเกียรติ พุทธรักษ์ รองนายกเทศมนตรีนครอุดรธานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางท้องถิ่นตนเองน้อยมาก หลายคนบอกว่าเมืองต้องเป็น smart city แต่ก่อนจะมี smart city ต้องมี smart people ก่อน ประชาชนรู้จักชุมชน และเมืองมากกว่าทุกคน การเรียนรู้จะทำให้คนสามารถสะท้อนและร่วมเป็นเจ้าของเมือง ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองตามบริบท และย่านที่เป็นสิ่งที่ต้องการของคนในเมือง โดยเทศบาลนครอุดรธานี ทำพื้นที่ให้เด็ก ๆ สามารถทำกิจกรรมและเรียนรู้ เพราะเด็กและเยาวชน คือ ต้นทุนการพัฒนาของเมือง
ประเด็นที่ 4 แนวทางการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างพื้นที่การเรียนรู้
นายวัฒนชัย วินิจจะกูล รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันอุทยานการเรียนรู้ โดย สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ TK Park เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ซึ่งตั้งมา 19 ปี ด้วยแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ปัจจุบันมี 28 แห่งกระจายอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ เมืองจะมีคุณภาพ คนต้องมีคุณภาพ ปัจจุบันลำพังการเรียนรู้ในห้องเรียนไม่พอแล้ว แต่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งในและนอกห้องเรียน เพื่อให้ปรับตัวและสามารถปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่ง TK Park ทุกแห่งก็พร้อมสำหรับการเรียนรู้ในทุกพื้นที่ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ เทศกาลการเรียนรู้ (Learning Fest) ร่วมกับพันธมิตร
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตและยั่งยืน ซึ่งต้องมีชีวิต สะท้อนรากเหง้า และสอดคล้องกับวิถีชีวิต นอกจากนั้น เมืองแห่งการเรียนรู้ยังเป็นการสร้าง Learning Space ที่เป็น Public Space ที่ไม่ใช่แค่พื้นที่ของหน่วยงานราชการ แต่เป็นทุกพื้นที่ที่ร่วมกันสร้างแหล่งรวมศูนย์ทางปัญญา
ช่วงสุดท้ายของงาน คือ กิจกรรมการประกาศผลรางวัลประกวดภาพถ่าย ‘เมืองแห่งการเรียนรู้: เมืองแห่งอนาคต’ (Learning City: Future of Learning) นิทรรศการดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้โครงการสนับสนุนทางวิชาการเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเปิดให้เยาวชนอายุ 16-18 ปี และประชาชนทั่วไป อายุ 19 ปีขึ้นไป ส่งผลงานภาพถ่ายเข้าร่วมประกวด ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 48,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เรื่อง ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ตามแนวคิดการพัฒนาเมืองของยูเนสโก ซึ่งมีการส่งผลงานภาพถ่ายเข้าประกวดจำนวนมากจากเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการถ่ายทอดวิถีชีวิต ความหลากหลาย และการตีความเมืองแห่งการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยได้รับเกียรติจากคุณตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้มอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวดในทุกประเภทรางวัล