“ดีใจที่ทุนก้าวเพื่อน้องเป็นเหมือนเรือ หรือเป็นเหมือนสะพานให้น้อง ๆ ได้ก้าวข้ามฝั่ง จากวันหนึ่งที่เขาเองก็มองเห็นอีกฝั่งหนึ่งอยู่แล้ว แต่ไม่มีทางจะข้ามไปได้ จนวันนี้ น้องทุนก้าวเพื่อน้องรุ่นที่ 1 เรียนจบ ม.6 และได้ไปต่อในมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ขออวยพรให้ให้ทุกคนสำเร็จตามเป้าหมายที่แต่ละคนฝันไว้”
‘พี่ตูน’ อาทิวราห์ คงมาลัย ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวแสดงความยินดีกับนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้องรุ่นที่ 1 ในโอกาสพบปะตัวแทนน้อง ๆ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่งาน Sustainability Expo 2024 (SX2024) Good Balance, Better World ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ก่อนชวน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมพูดคุยในหัวข้อ ‘ห้องเรียนพิเศษ ก้าวเพื่อน้องปีที่ 5’ เผยสถานการณ์เด็กเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา พร้อมย้ำความสำคัญของทุน ที่จะช่วยเปลี่ยนเส้นทางชีวิตน้อง ๆ ซึ่งกำลังไขว่คว้าต้องการโอกาส ให้ก้าวไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เพื่อใช้ความรู้ความสามารถเป็นเครื่องมือก้าวพ้นวงจรความยากจนข้ามรุ่น และพัฒนาตนเองเป็นหนึ่งในบุคลากรคุณภาพของประเทศ
‘ทุนก้าวเพื่อน้อง’ เป็นโครงการที่มูลนิธิก้าวคนละก้าว ร่วมมือกับ กสศ. ในการใช้ระบบการชี้เป้าจากฐานข้อมูลนักเรียนทุนเสมอภาค (นักเรียนที่มาจากครัวเรือนซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 1,300 บาท ต่อคน/เดือน) เพื่อมองหาเด็กนักเรียนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาตรงช่วงรอยต่อหลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้ได้รับโอกาสศึกษาต่อระดับที่สูงขึ้นทั้งในสายสามัญและสายอาชีพ ด้วยการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาและค่าครองชีพตลอดสามปีจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยถึงปีนี้ (2567) ทุนก้าวเพื่อน้องได้เข้าสู่ปีที่ 5 และช่วยเหลือน้อง ๆ แล้วมากกว่า 200 คน ซึ่งนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง รุ่นที่ 1 ปัจจุบันได้เข้าสู่เส้นทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาและเทียบเท่า ในสาขาวิชาและสถาบันที่หลากหลาย ตามความสนใจของน้อง ๆ ได้เต็มตามศักยภาพ
ขณะที่เวที ‘ห้องเรียนพิเศษ ก้าวเพื่อน้องปีที่ 5’ ณ งาน SX2024 ครั้งนี้ มูลนิธิก้าวคนละก้าว และ กสศ. ได้ชวนตัวแทนนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้องรุ่นที่ 1 มาพบปะและแสดงความยินดี ก่อนจะใช้โอกาสนี้บอกเล่าถึงงานของมูลนิธิที่จะทำต่อไปในวาระโครงการก้าวสู่ปีที่ 5 กับ 3 กิจกรรมหลักคือ
1.วิ่งสะสมระยะทาง (Virtual Run) ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมกราคม 2568
2. การวิ่ง Half Marathon ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568
3. งาน Bodyslam Concert ในช่วงเดือนเมษายน 2568 เพื่อระดมทุนสำหรับทุนก้าวเพื่อน้องปีที่ 5
ทั้งนี้ภายในงาน SX2024 นี้ ทางมูลนิธิก้าวคนละก้าว ได้รับเงินสนับสนุนสมทบทุนก้าวเพื่อน้อง จาก บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) และ คณะนักศึกษาหลักสูตรวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 33 (วตท.33) เป็นจำนวน 2,000,000 บาท และ 1,200,000 บาทตามลำดับ
ประธานมูลนิธิก้าวคนละก้าว กล่าวว่า ขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมระดมทุนเพื่อส่งต่อโอกาสให้กับน้อง ๆ จนวันนี้ความร่วมแรงร่วมใจที่เริ่มขึ้นเมื่อสี่ปีก่อนได้เริ่มเผยความงดงามของผลลัพธ์ เมื่อนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้องรุ่นที่ 1จำนวน 80 คนจากทั้งหมด 109 คน ได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ซึ่งจากนี้อีกเพียงไม่กี่ปี น้อง ๆ เหล่านี้จะสำเร็จการศึกษา ก้าวไปประกอบอาชีพ และจะเป็นกำลังสำคัญในการส่งต่อโอกาสไปสู่คนรุ่นต่อไป
“เชื่อว่าภาพของน้อง ๆ ทุนก้าวเพื่อน้องรุ่น 1 จะช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเด็กชั้น ม.2-ม.3 อีกหลายคน ที่กังวลว่าจะหาทางไปต่อได้ยังไงเมื่อจบ ม.3 หรือกำลังคิดว่าตัวเองคงไม่มีโอกาสศึกษาต่อแล้ว เพราะตัวแทนของน้อง ๆ รุ่นหนึ่งที่มาวันนี้ได้ทำให้เห็นว่าไม่ว่าจะเผชิญอุปสรรคใดก็ตาม ถ้าเราตั้งใจ ก็จะมีคนเห็นความพยายาม และส่งโอกาสมาถึง”
‘พี่ตูน’ อาทิวราห์ กล่าวว่า งานที่ทำตลอดสี่ปีพร้อมกับชีวิตที่เปลี่ยนผ่านมาสู่สถานะ ‘พ่อคน’ ทำให้ยิ่งเห็นประโยชน์ของการ ‘ส่งต่อโอกาส’ โดยเฉพาะโอกาสของการได้ศึกษาในโรงเรียน ที่ไม่เพียงเป็นเรื่องของวิชาความรู้ แต่หมายถึงช่วงสำคัญของการได้ออกไปเห็นโลก ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน กับรุ่นพี่รุ่นน้อง กับสถานการณ์รอบตัวในช่วงวัยต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กคนหนึ่งมีต้นทุนพร้อมสำหรับเติบโต
“สี่ปีของโครงการก้าวเพื่อน้อง เราส่งน้อง ๆ 4 รุ่นให้ได้เรียนต่อชั้นมัธยมปลายและ ปวช. มา 200 กว่าคน รู้สึกมีความสุขที่ได้ทำ ยิ่งเป็นงานที่ไม่ได้อาศัยใครเพียงคนเดียว แต่เกิดขึ้นจากการระดมความร่วมมือของสังคม เรายิ่งดีใจที่มีคนเห็นคุณค่าของลูกหลานของเราแล้วยื่นมือเข้ามาช่วยประคับประคองส่งต่อ ให้พวกเขาได้มีโอกาสเดินไปบนเส้นทางที่ฝัน และพร้อมกับที่ทำโครงการนี้ ชีวิตเราได้เปลี่ยนบทบาทมาเป็นพ่อ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงคุณค่าและความสำคัญของสิ่งที่ทุกคนช่วยกันทำมากขึ้น ซึ่งการได้มาเจอกับน้อง ๆ วันนี้ เรายิ่งมีแรงทำต่อ จึงอยากบอกทุกคนที่มีใจเดียวกัน ว่าใครมีแรงเล็ก ๆ ก็มาลงด้วยกัน เพื่อให้แรงเล็ก ๆ ของพวกเราทุกคนได้ส่งต่อเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ ซึ่งเราจะได้กลับมาเป็นหมอคนหนึ่ง วิศวกรคนหนึ่ง ครูคนหนึ่ง หรือเป็นอาชีพอะไรก็ตาม ที่ผลิบานขึ้นจากวันที่แม้แต่ตัวของน้อง ๆ เองยังมองไม่เห็นด้วยซ้ำ ณ วันที่เขายังเรียนอยู่ชั้น ม.ต้น ว่าจะไปถึงฝันที่วาดไว้ได้ยังไง”
ทางด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวในช่วง ‘ห้องเรียนพิเศษ ก้าวเพื่อน้องปีที่ 5’ เพื่อย้ำความสำคัญของระบบการชี้เป้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า จากการนำข้อมูลเลข 13 หลักจากทะเบียนราษฎร์ มาชนเข้ากับรายชื่อนักเรียนในโรงเรียนกว่าสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ ทำให้ทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กเยาวชนช่วงอายุ 3-18 ปีที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาราว 1.02 ล้านคน หากเจาะจงเฉพาะช่วงวัย 15-18 ปี ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง จะมีอยู่ราว 300,000 คน และถ้าคิดเป็นจำนวนเด็กที่ไม่ได้ไปต่อในระดับการศึกษาที่สูงกว่าภาคบังคับหรือ ม.3 จะอยู่ที่ปีละประมาณ 30,000 คน โดยโจทย์ที่พบมากที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจ เด็กหลายคนเมื่อจบชั้น ม.3 แล้วไม่มีทุนทรัพย์เรียนต่อ จึงก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานทันที และด้วยวุฒิที่มีเพียงชั้น ม.3 ทางเลือกหรือโอกาสในชีวิตจึงมีไม่มาก ทั้งนี้ข้อมูลยังชี้ว่าเด็กที่หลุดออกจากระบบไปแล้ว ส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสได้กลับมาเรียนอีก
“ถ้านำตัวเลขเด็กหลุดจากระบบมาทาบวัดกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ ซึ่งล่าสุดมีอัตราลดลงต่ำกว่า 500,000 คนต่อปีแล้ว จะเห็นว่าการที่เด็กคนหนึ่งเข้าสู่ระบบการศึกษาแล้วหลุดออกไปเท่าไหร่ ก็ยิ่งไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของประเทศมากเท่านั้น เพราะการพัฒนาในมิติต่าง ๆ จะไม่มีวันสำเร็จได้ ถ้าไม่มีประชากรที่มีคุณภาพ ไม่มีการส่งต่อโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่เสมอภาค”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า หนึ่งในภาพตัวอย่างของการส่งต่อโอกาสที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็น ‘ความเสมอภาคทางการศึกษาที่มีชีวิต’ คือน้อง ๆ ทุนก้าวเพื่อน้องที่ได้รับทุน สามารถเปลี่ยนเส้นทางชีวิต จากวันที่จบชั้น ม.3 บนความไม่แน่นอนว่าจะต้องออกไปทำงานหารายได้หรือได้เรียนต่อ จนได้รับทุนเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ถึงวันนี้น้อง ๆ เหล่านี้สามารถพาตัวเองไปเรียนต่อในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ เปลี่ยนแปลงโอกาสที่ได้รับเพื่อพัฒนาตนเองไปเป็นบุคลากรที่มีคุณค่า ซึ่งนี่ไม่เพียงเป็นการเปลี่ยนอนาคตของคนคนหนึ่ง ที่เขาจะใช้การศึกษาพาครอบครัวพ้นจากความลำบากขาดแคลน แต่ทุนที่ส่งต่อไปยังน้อง ๆ ในทุกปี ยังหมายถึงประเทศเราจะมี ‘คนไทยคุณภาพ’ ที่จะช่วยกันสร้างประเทศให้พัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น
“สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยไม่ว่าจะใช้เงินแค่ไหน ถ้าเด็กไทยไม่ได้รับความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่วันนี้ และนี่คือสิ่งที่ กสศ. พยายามทำงานร่วมกับมูลนิธิก้าวคนละก้าวมาตลอดสี่ปี และจะทำต่อไป เพื่อส่งน้อง ๆ ให้ได้ก้าวต่อไป เพื่อให้ทุก ๆ ความฝันไม่สูญเปล่า และน้อง ๆ เหล่านี้จะเป็นผลลัพธ์ของความเสมอภาคทางการศึกษาที่จับต้องได้ ดังเช่นที่น้อง ๆ ส่วนหนึ่งมายืนอยู่กับเราตรงนี้”
‘น้องแครอท’ ธนัชญา กล้าหาญ จากคณะบริหารธุรกิจ สาขาเศรษฐศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในฐานะตัวแทนนักเรียนทุนก้าวเพื่อน้อง รุ่นที่ 1 ว่าสำหรับอนาคตของเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้มีโอกาสมากนัก การศึกษาเท่านั้นที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้ โดยสำหรับตนที่เคยผ่านความยากลำบาก ผ่านความไม่แน่ใจว่าจะพาชีวิตไปต่อย่างไรหลังจบชั้น ม.3 ถึงตอนนี้ที่ได้เรียนมหาวิทยาลัย มองเป้าหมายแรกไว้ที่การสำเร็จปริญญาตรี ส่วนหลังจากนั้นเมื่อวันที่พร้อม ก็ตั้งใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อโอกาสไปสู่น้อง ๆ รุ่นต่อไป เพื่อตอบแทนคืนให้กับสังคม เหมือนกับที่เคยเป็นผู้รับมาก่อน
ส่วน ‘น้องท้อป’ ยศกร แก้วสวัสดิ์ จากคณะชีววิทยา สาขาชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี อีกหนึ่งผลลัพธ์จากทุนก้าวเพื่อน้องปีที่ 1 กล่าวว่า “ถ้าไม่ได้ทุนวันนั้น ก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่าตอนนี้จะเป็นอย่างไร เพราะจำได้ว่าจะจบ ม.3 แล้วก็ยังมองไม่เห็นเลยว่าจะหาทุนที่ไหนมาใช้เรียนต่อ
“ช่วงนั้นถ้ามีวันหยุดผมพยายามไปทำงานทุกอย่าง แต่เงินที่ได้มาแค่ใช้จ่ายค่ากินอยู่ในบ้านก็แทบไม่พอแล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่าจะพอจ่ายค่าเทอมไหม วันที่ได้ทุนผมถึงดีใจมาก ๆ อยากขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยสร้างโอกาสขึ้นมา สำหรับผม เพื่อน ๆ และกับน้องรุ่นต่อ ๆ ไป และในฐานะที่ผมเคยผ่านมาก่อน อยากบอกน้องอีกหลาย ๆ คนว่า อย่าเพิ่งล้มเลิกความฝันหรือความตั้งใจที่จะเรียน เพราะยังมีคนที่พร้อมช่วยสนับสนุน ขอให้ทุกคนพยายามมองหาทางให้มากที่สุด แล้ววันหนึ่งเมื่ออะไรที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้สำเร็จขึ้นมา เราจะได้ภูมิใจกับมันอย่างเต็มที่”