บันทึกการเดินทางจาก “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งที่ 2 ภาคใต้
“ถ้าทรัพยากรส่งถึงโรงเรียนอย่างเสมอภาค เราเชื่อว่าเด็ก ๆ สามารถยืนเทียบเคียงกันได้ทุกคน”

บันทึกการเดินทางจาก “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งที่ 2 ภาคใต้ “ถ้าทรัพยากรส่งถึงโรงเรียนอย่างเสมอภาค เราเชื่อว่าเด็ก ๆ สามารถยืนเทียบเคียงกันได้ทุกคน”

ออกเดินทางอีกครั้ง สำหรับกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน’ ที่ กสศ. มูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส ระดมความร่วมมือจากสังคม เป็น ‘พื้นที่กลาง’ รับ-ส่ง นำทรัพยากรด้านการศึกษา อาทิ ชุดนักเรียน อุปกรณ์กีฬา หนังสือส่งเสริมการอ่าน สื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอน อุปกรณ์สริมทักษะ รวมถึงเครื่องมือสำคัญของการเข้าถึงการเรียนรู้ในโลกปัจจุบันอย่างคอมพิวเตอร์ ไปส่งยังโรงเรียนที่ขาดแคลน

หลังจากธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน ปักหมุดแรกภาคเหนือเมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่สูงที่มีโรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลจำนวนมาก กิจกรรมในครั้งที่ 2 ภาคีความร่วมมือได้เคลื่อนขบวนไปยังภาคใต้ ที่ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการเดินทางครั้งนี้ คือภารกิจลำเลียง ส่งมอบ และติดตั้งคอมพิวเตอร์ ให้กับโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลน และแม้ว่าความตั้งใจที่จะถ่ายเทส่งต่อทรัพยากรทางการศึกษาครั้งนี้ จะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันที อย่างไรเสียทุกฝ่ายก็ยังเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนผลักดันให้ ‘พื้นที่’ สามารถสร้างเครือข่ายทำงานภายใน และการปฏิรูประบบการจัดสรรทรัพยากรที่มุ่งไปที่ความเสมอภาคนั้น “ถึงจะถือว่าเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดและคือทางออกที่ยั่งยืนจริง ๆ” ใกล้จะถึงครั้งที่ 3 ภาคตะวันออก ของกิจกรรมธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน กสศ. ชวนติดตามรับฟังเสียงจาก อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ว่าสถานการณ์ความขาดแคลนทางการศึกษาในพื้นที่มีหน้าตาอย่างไร และการเดินทางไปถึงของธนาคารโอกาสกับถนนครูเดิน ช่วยชุบชูหัวใจของคุณครูและน้อง ๆ ให้ฟูฟ่องขึ้นมาได้สักแค่ไหน

-1-

โรงเรียนแรกที่ทีมงานมูลนิธิกระจกเงาและ กสศ. เข้าไปติดตั้งคอมพิวเตอร์ คือโรงเรียนวัดขจรบำรุง ที่มีนักเรียน 135 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนทั้งหมดที่นี่มาจากครอบครัวประมงชายฝั่ง ผู้ปกครองส่วนใหญ่รายได้ไม่แน่นอน เด็กส่วนใหญ่จึงขาดแคลนทั้งโอกาสทางการศึกษาและคุณภาพชีวิตหลายด้าน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่เหมือนเป็น ‘หัวใจสำคัญของการเข้าถึงความรู้’

“ในชั่วโมงคอมพิวเตอร์ เราต้องใช้วิธีให้เด็กหนึ่งคนเป็นตัวแทนใช้คอมที่มีอยู่เครื่องเดียวที่หน้าห้อง แล้วคนที่เหลือก็นั่งมองตามกัน ซึ่งเราก็พยายามใช้การเรียนผ่านโค้ดดิ้งบนกระดาษมาเสริม แต่ก็รู้ว่ายังไงก็ไม่ได้ผลเท่ากับเรียนผ่านเครื่องมือจริงอยู่แล้ว”

คุณครูบุษรา ศักดา ครูคอมพิวเตอร์โรงเรียนวัดขจรบำรุง ฉายภาพให้เห็นว่า ด้วยข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือที่ไม่พอกับจำนวนเด็ก การเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนจึงไม่อาจทำให้ ‘เด็กทุกคน’ เข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ และไม่เพียงต้องเวียนกันใช้ แต่คอมทุกเครื่องยังมีอายุการใช้งานมากมาก่อนจะส่งถึงเราแล้ว หลายเครื่องจึงใช้เวลานานกว่าจะเปิดติด การเรียนรู้จึงไม่ต่อเนื่อง และไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีเท่าที่ควร

“วันนี้เด็ก ๆ ถึงตื่นเต้นกันมาก มารอพี่ ๆ กระจกเงากับ กสศ. ตั้งแต่เช้า พอติดตั้งเสร็จก็ดีใจกันใหญ่ เหมือนจากนี้หลายอย่างที่เขาเคยเห็นแค่บนหน้ากระดาษ ก็จะได้สัมผัสจริง ๆ บนจอแล้ว ดังนั้นถ้าจะอธิบายในมุมของโรงเรียนเล็ก ๆ อย่างเราเพื่อให้เห็นภาพการขาดแคลนทรัพยากรที่ชัด ต้องบอกว่าการที่เด็กคนหนึ่งได้จับคอมพิวเตอร์ ได้ใช้เครื่องคนเดียวแม้จะเป็นเวลาสั้น ๆ มันไม่ได้แค่เป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้เด็ก แต่มันยังเป็นอีกความสุขหนึ่งที่เด็กทุกคนจะได้รับเมื่อเขามาโรงเรียนด้วย”

-2-

(ซ้าย) น้องน้ำปิง

น้องน้ำปิง นักเรียน ป.6 เล่าถึงประสบการณ์การเรียนคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา และความรู้สึกของการได้เห็นคอมพิวเตอร์เข้ามาติดตั้งในโรงเรียนวันนี้ ว่า “ปกติการหาข้อมูลในวิชาเรียนเราจะใช้วิธีถามครู หรือเปิดหาข้อมูลในหนังสือ ซึ่งก็เจอบ้างไม่เจอบ้าง ส่วนเวลาเรียนคอมพิวเตอร์ก็จะใช้ 2-3 คนต่อหนึ่งเครื่องเป็นอย่างน้อย หรือบางครั้งก็ต้องเรียนจากในกระดาษที่เขียนเป็นรูปเครื่องมือหรือขั้นตอนต่าง ๆ เราก็ต้องพยายามจำ นึกภาพตาม แต่ยังไงพอได้ไปจับของจริง ความรู้สึกมันก็ไม่เหมือนกันค่ะ

“วันนี้มีคอมพิวเตอร์มาเพิ่ม ก็คิดว่าต่อไปคงเรียนง่ายขึ้น หรือการเข้าถึงข้อมูลก็ง่ายขึ้น ไม่ต้องมานั่งเปิดหนังสือกันแล้ว ใจหนูอยากให้มีคนละเครื่องค่ะ เพราะความอยากรู้ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางที่เราอยากรู้อะไรก็ไม่ต้องรอ ค้นได้ทันที ส่วนวันนี้ต้องขอบคุณพี่ ๆ ที่เอาคอมพิวเตอร์มาให้ หนูได้เล่นเกม ได้เปิดเพลงฟัง ชอบมากค่ะ แล้วเพื่อน ๆ ก็สนุกกันมากด้วย”  

-3-

(กลาง) ผอ.ปาณิสรา เภตราใหญ่

ผอ.ปาณิสรา เภตราใหญ่ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดขจรบำรุง บอกว่า คอมพิวเตอร์ทั้งสิบเครื่องที่เข้ามาเติมเต็มในวันนี้ คือโอกาสสำคัญมากของทั้งเด็ก ๆ และโรงเรียน การมีเครื่องมือดิจิทัลที่ใช้งานได้เต็มศักยภาพ ไม่เพียงเป็นการช่วยเด็กให้ได้รับโอกาสเรียนรู้ที่กว้างไกลออกไปจากตำราเรียน แต่คอมพิวเตอร์ยังจะเป็นเครื่องมือของครูในเรื่องการเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ๆ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยยกระดับการเรียนรู้ของเด็กให้ดีขึ้นด้วย 

“ต้องขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันทำให้โรงเรียนมีเครื่องมือที่พร้อมขึ้น เพราะสิ่งที่ทางโรงเรียนมุ่งหวังคือ อยากจะให้เด็ก ๆ ที่จบการศึกษาไปมีทักษะดิจิทัลติดตัว เพราะมันจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนต่อของเขาทั้งในสายสามัญ สายอาชีพ หรือถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ไปถึงระดับอุดมศึกษา เพื่อให้การศึกษาเป็นประตูสู่โอกาสในชีวิต รวมถึงช่วยเปลี่ยนแปลงสถานะเศรษฐกิจของครอบครัวให้ได้ในรุ่นของเขา”

-4-

จากชุมชนชายฝั่งทะเล พี่ ๆ มูลนิธิกระจกเงาและ กสศ. เดินทางต่อไปที่โรงเรียนบ้านคลองรอก ซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของอำเภอ ในเขตป่าสงวนติดกับอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง และแม้จะไม่ใช่โรงเรียนขนาดเล็กเนื่องจากมีนักเรียน 366 คน แต่ข้อมูลจาก ผอ.ณัฐพงค์ แสงอำพร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองรอก แสดงให้เห็นว่าพื้นที่แห่งนี้ประกอบด้วยหลายชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากเมือง การเข้าถึงโอกาสของน้อง ๆ จึงน้อยลงไปตามระยะทาง 

“เราอยู่ห่างจากตัวอำเภอมาก การเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ จึงค่อนข้างจำกัด อย่างสื่อสำหรับเด็กเล็กที่มีอยู่ก็ค่อนข้างตกยุคตกสมัยไปแล้ว จึงคิดว่าจำเป็นต้องมีสื่อที่มีคุณภาพและทันต่อการเรียนรู้ในปัจจุบันมากขึ้น หรือถ้าพูดถึงเครื่องมือดิจิทัล เรามีคอมพิวเตอร์เพียง 15 เครื่องในห้องเรียนคอมพิวเตอร์หนึ่งห้อง ขณะที่จำนวนนักเรียนต่อห้องอยู่ที่ราว 40 คน เด็ก ๆ จึงต้องแบ่งกันเรียนเวียนกันใช้ มันจึงเป็นข้อจำกัดอย่างยิ่งในการเรียนรู้”

ผอ.ณัฐพงค์ แสงอำพร

ผอ.ณัฐพงค์ กล่าวถึงเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนว่า “แม้เราเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่ไม่ได้มองถึงความเป็นเลิศทางวิชาการเป็นหลัก แต่การส่งต่อนักเรียนให้ไปสู่การมีอาชีพ มีงานทำ ยังไงทักษะคอมพิวเตอร์ก็ถือว่าจำเป็น เพราะในโลกปัจจุบัน สื่อดิจิทัลคือเครื่องมือที่จะพาไปสู่การเรียนรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะในการทำงานที่ใครรู้มากกว่า ใช้เครื่องมือได้คล่องกว่าชำนาญกว่า โอกาสก้าวหน้าในชีวิตมันก็เพิ่มขึ้นตามกัน วันนี้ที่ทางโครงการธนาคารโอกาสนำเครื่องมาเติม เราคิดว่าจากนี้เด็กจะสามารถมีคอมพิวเตอร์หนึ่งคนต่อหนึ่งเครื่องได้ ซึ่งแน่นอนว่าในเรื่องผลลัพธ์การเรียนรู้ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

-5-

นอกจากที่ธนาคารโอกาสได้เข้ามาบรรเทาปัญหาการขาดแคลนสื่อดิจิทัลของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลแล้ว กิจกรรม ‘ถนนครูเดิน’ ที่เป็นเหมือนสื่อกลางในการระดมสิ่งของเครื่องใช้และอุปกรณ์ที่จำเป็น ตั้งแต่ชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน รองเท้า หนังสือ อุปกรณ์กีฬา สื่อการสอน ถ้วยชามจานช้อน แฟ้มเอกสาร คลิปหนีบกระดาษ ดินสอสี สีน้ำ ชอล์ก พู่กัน จานสี ฯลฯ ไปจนถึงของเล่นเสริมพัฒนาการต่าง ๆ มาส่งต่อให้กับโรงเรียนในพื้นที่ ยังเป็นการเติมเต็มโอกาสในการจัดการเรียนรู้และการดำรงชีวิต ที่แสดงให้เห็นว่า หากทรัพยากรถูกส่งลงไปถึงมือผู้รับอย่างตรงจุดและถูกที่ การแก้ปัญหาขาดแคลนทรัพยากรก็สามารถทำได้ทันที 

และผู้ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ได้ก็คือเหล่าคนทำงานในพื้นที่ ครูประกายการ รอดทิม ครูชั้นอนุบาล โรงเรียนบ้านคลองรอก บอกว่า การขาดสื่อการเรียนการสอนไม่ว่าจะอนาล็อกหรือดิจิทัล ล้วนทำให้เด็กยิ่งห่างไกลจากการเรียนรู้ที่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อเด็กไม่ได้สัมผัส มองเห็น ทำความคุ้นเคย อย่างไรเสียความรู้ความเข้าใจต่อ ‘สิ่ง’ หรือ ‘เรื่องราว’ หนึ่ง ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้เลยกับ ‘ของจริง’ ทั้งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งต่อ ‘การสะสมชุดประสบการณ์ที่คลาดเคลื่อน’ ซึ่งจะติดตัวเด็กต่อไป

ครูประกายการ รอดทิม

“แม้เราจะพยายามหาสื่อการเรียนการสอนมาช่วยให้เด็กเรียนรู้มากขึ้นได้ในบางเรื่อง แต่แน่นอนว่าการเรียนรู้จากของจริง ยังไงก็ทำให้เด็กเข้าใจมากกว่า อย่างเราให้เด็กเรียนคอมพิวเตอร์โดยดูภาพเมาส์ภาพจอในกระดาษ เด็กไม่มีทางรู้เลยว่าของจริงมีผิวสัมผัสยังไง จะใช้ยังไง หรือที่ว่าใช้สืบหาข้อมูลได้มันเป็นยังไง หมายถึงเขาจะไม่รู้ว่าคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งนั้นทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมันก็เลยจากจุดประสงค์จริง ๆ ของการเรียนรู้ไปแล้ว

“ขณะที่การเรียนจากของจริง นอกจากได้สัมผัสเพื่อความคุ้นชิน เด็กยังจะได้รู้จักโปรแกรมต่าง ๆ ได้ลองค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตัวเอง แล้วมันจะต่อยอดความรู้ในเรื่องที่เขาสนใจเป็นรายคนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระดาษหรือการอธิบายจากครูยังไงก็แทนไม่ได้ค่ะ หรือแม้แต่ครูเอง เราอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีสื่อไม่พอ ไม่ทันสมัย การมีคอมพิวเตอร์ก็จะช่วยให้เราเข้าไปค้นหาสื่อสำเร็จรูปแล้วเอามาปรับใช้ได้”

-6-

(กลาง) ‘ครูน้ำฝน’ อังคนา วัตรสังข์

ปิดท้ายที่ ‘ครูน้ำฝน’ อังคนา วัตรสังข์ ครูใหม่ป้ายแดงจากโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น ที่มาเป็นครูชั้นอนุบาลเต็มตัว ในฐานะที่เติบโตมาในพื้นที่ ครูน้ำฝนจึงพูดถึงปัญหาการขาดแคลนสื่อการสอนว่า

“การขาดแคลนสื่อทำให้เป็นเรื่องยาก ที่ครูจะพาเด็กไปถึงการเรียนรู้ เช่นในช่วงแห่งการเริ่มต้นทำความรู้จักสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าดอกไม้ ใบไม้ พืชผักผลไม้ ถ้าไม่มีสื่อดี ๆ แม้ครูจะอธิบายเท่าไหร่ เด็กก็นึกภาพตามไม่ได้ ดังนั้นการมีสื่อสมัยใหม่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของน้อง ๆ รวมถึงความช่วยเหลือจากสื่อดิจิทัล จะเป็นเครื่องมือให้เด็กเรียนรู้ได้มากกว่า เห็นโลกได้กว้างไกลกว่า การจะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยทำให้เด็กพื้นที่ห่างไกลเรียนรู้ได้เท่า ๆ กับเด็กในเมืองขึ้นมาบ้าง เราจึงต้องหาทางเปิดโลกของเขาให้กว้างออกไปกว่าแค่พื้นที่ชุมชน ให้เขาพบเจอสิ่งใหม่ที่หลากหลาย ให้เขามีประสบการณ์รอบด้านและเอาไปต่อยอดได้จริง

“ในฐานะที่เราเป็นคนที่เติบโตมาในพื้นที่ห่างไกล และวันนี้ได้มาเป็นครูซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนผลักดันเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป จึงอยากให้คนข้างนอกมองมาที่โรงเรียนเล็ก ๆ แบบพวกเราบ้าง ส่องแสงมาที่เด็กในพื้นที่เล็ก ๆ ให้พวกเขามีโอกาสเฉิดฉายบ้าง 

“คือด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เราอาจไม่สามารถพาเด็กทุกคนไปถึงการมีผลลัพธ์การเรียนในระดับประเทศ แต่ขอแค่ให้ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น ไม่หลุดจากระบบการศึกษา มีช่องทางพัฒนาตัวเอง มีทางไปต่อในชีวิตเพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวได้ แล้วยิ่งถ้าการจัดสรรทรัพยากรลงมายังโรงเรียนต่าง ๆ ทำได้เสมอภาคมากขึ้น เราก็เชื่อว่าวันหนึ่ง เด็ก ๆ เหล่านี้จะสามารถก้าวไปยืนอยู่ตรงหัวแถวเทียบเคียงกับเด็กอื่น ๆ ได้ทุกคน”