เว็บไซต์ของเราใช้งานคุกกี้เพื่อช่วยเพิ่มประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น คุณสามารถเลือกที่จะยอมรับหรือปฏิเสธการใช้งานคุกกี้ได้ง่ายๆ โดยการดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายคุกกี้
ครูพร้อม โรงเรียนพร้อม ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ร่วมออกแบบกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาเด็ก ๆ พื้นที่ประสบภัยรับเปิดเทอมใหม่
“เพราะฐานข้อมูลคือจุดตั้งต้นที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับความช่วยเหลือตรงจุด”

ครูพร้อม โรงเรียนพร้อม ลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน ร่วมออกแบบกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาเด็ก ๆ พื้นที่ประสบภัยรับเปิดเทอมใหม่ “เพราะฐานข้อมูลคือจุดตั้งต้นที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้รับความช่วยเหลือตรงจุด”

การร่วมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของหลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงราย เพื่อรวบรวมข้อมูลความจำเป็นเร่งด่วน สำหรับเตรียมพร้อมเปิดเทอมในเดือนพฤศจิกายน ทีมงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และภาคีคณะทำงานทั้งในและนอกพื้นที่พบว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของจังหวัด ทำให้ร่องรอยความเสียหายในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะหากกล่าวถึงอำเภอแม่สายอันเป็นพื้นที่หลักของความสูญเสีย จะมีทั้งโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมและดินโคลนถล่มหนัก มีบางโรงเรียนที่เป็นเพียงทางน้ำผ่าน และอีกบางโรงเรียนที่รอดพ้นจากมวลน้ำและดินโคลน 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลหนึ่งที่คณะครูจากโรงเรียนทุกแห่งยืนยันตรงกันคือ ‘ไม่มีโรงเรียนใดเลยที่เด็ก ๆ ไม่โดนผลกระทบ’ ซึ่งนำมาสู่การ ‘มองไปข้างหน้า’ เพื่อหารือถึงการเตรียมการรับเทอม 2 ปีการศึกษา 2567 ที่มาถึงว่าคณะทำงานและแต่ละโรงเรียนในพื้นที่ “ควรออกแบบกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาอย่างไร ให้สมดุลกับน้ำหนักของความสูญเสียที่ต่างกัน?”

ปักหมุดความช่วยเหลือให้ตรงจุด เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่แม่นยำ

ผอ.ประเทือง เสนรังษี ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดป่ายาง ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  เล่าว่า น้ำท่วมที่ผ่านไป โรงเรียนเทศบาล 2 รอดพ้นจากความเสียหาย ด้วยตัวโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่สูง แต่ด้วยขนาดของโรงเรียนที่มีนักเรียน 943 คน ซึ่งมาจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ไหนพื้นที่ต่าง ๆ ในตำบลแม่สายและตำบลใกล้เคียง ทำให้มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมถึง 193 คน

ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 วัดป่ายาง กล่าวถึงแนวทางฟื้นฟูช่วยเหลือเด็ก ๆ หลังจากนี้ว่า ตั้งแต่เกิดอุทกภัย แม้เป็นช่วงปิดเทอม แต่โรงเรียนได้มอบหมายให้คุณครูประจำชั้นแต่ละห้องประสานกับนักเรียน โดยเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา โรงเรียนจึงสามารถเก็บบันทึกข้อมูลความเสียหายหลายด้าน โดยส่วนหนึ่งได้รับจากนักเรียนและผู้ปกครองซึ่งเดินทางเข้ามาให้ข้อมูลด้วยตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งจัดทำผ่านกูเกิลฟอร์มที่ให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองกรอกข้อมูลบนแบบฟอร์มดิจิทัล พร้อมรวบรวมภาพความเสียหายของบ้านเรือนและรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ไม่ว่าผลกระทบที่จะเกิดจากการประกอบอาชีพ การเดินทางมาเรียน จนถึงเสื้อผ้าอุปกรณ์การเรียนที่สูญเสียไปกับอุทกภัย  

“ที่เราต้องเก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพราะรู้ถึงความจำเป็นว่าหลายคนต้องสูญเสียเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ไปกับน้ำท่วม หรือบ้างก็เดินทางลำบากเนื่องจากอยู่ในพื้นที่เสียหายหนัก ดังนั้นในสถานการณ์อย่างนี้ ครูประจำชั้นจึงต้องเป็น ‘ตัวเชื่อมข้อมูลหลัก’ เพื่อพยายามรวบรวมและจำแนกให้ได้มากที่สุด ว่าเด็กแต่ละคนเดือดร้อนแตกต่างกันอย่างไร เช่นบางคนแม้บ้านได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม แต่ยังสามารถอาศัยบ้านญาติชั่วคราว เมื่อเปิดเทอมแล้วจึงน่าจะมาโรงเรียนได้ ส่วนเด็กบางคนไม่มีบ้านญาติให้ไปอยู่อาศัย จำเป็นต้องอยู่บ้านเดิม ถึงเปิดเทอมแล้วก็ยังอาจมาโรงเรียนไม่ได้ เพราะต้องช่วยผู้ปกครองซ่อมแซมบูรณะบ้าน กรณีนี้โรงเรียนจะหาวิธีไม่ให้เด็กพลาดโอกาสเรียนรู้

“มีผู้ปกครองของเด็กบางคนยืนยันกับโรงเรียนว่า เปิดเทอมนี้เด็กอาจยังมาเรียนไม่ได้ทุกวัน อาจจะต้องขอให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ให้ ทางโรงเรียนเราก็จะเตรียมพร้อมสำหรับการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบนี้” ผอ.ประเทือง  กล่าว และย้ำว่า “ทางโรงเรียนต้องการเก็บข้อมูลจำเป็นเด็กทุกคนอย่างละเอียด เพราะถือเป็นความสำคัญของการรับมือกับเปิดเทอมใหม่นี้ จากประสบการณ์ที่ทำมา เราพบว่าข้อมูลที่แม่นยำคือหัวใจ หรือคือต้นทางของการวางแผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพ โดยฐานข้อมูลของเด็กแต่ละคน จะนำไปสู่การฟื้นฟูช่วยเหลือที่ตรงกับความต้องการของเด็ก และช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”

“จากที่เราเคยเก็บข้อมูลขนาดของรองเท้าและเสื้อผ้าของเด็กในโรงเรียน ทำให้ถ้าดึงข้อมูลของกลุ่มเด็กที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมออกมา เราจะสามารถจัดสรรรองเท้าและชุดนักเรียนได้ตรงกับขนาดและความต้องการสำหรับเด็กเป็นรายคน ทั้งเชื่อว่าข้อมูลยังสามารถนำมาใช้แลกเปลี่ยนและเชื่อมต่อการทำงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบแนวทางการช่วยเหลือ ที่ตอบโจทย์ความสูญเสียและสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริง”

ผอ.โรงเรียนเทศบาล 2 วัดป่ายาง กล่าวว่า ทางโรงเรียนจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้าง ‘โมเดลการจัดการปัญหาในช่วงวิกฤตที่มีข้อมูลเป็นฐาน’ ตั้งแต่การประเมินและประมวลความเสียหาย จนถึงวางแผนการขอรับความช่วยเหลือ ที่ตรงจุด เช่นสำรวจอุปกรณ์การเรียนว่ามีอะไรที่เสียหาย อะไรที่ยังใช้ได้ หรือบ้านแต่ละหลังต้องซ่อมแซมมากน้อยอย่างไร ขาดแคลนเครื่องมือวัสดุอะไรบ้าง แล้วข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประสานถึงหน่วยงานต่าง ๆ จนท้ายที่สุด ทุกฝ่ายจะช่วยกันวางแผนความช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวได้ต่อไป

(จากซ้าย) ผอ.ประเทือง เสนรังษี และ ผอ.พัชรินทร์ จันทาพูน

ข้อมูลเยี่ยมบ้านนักเรียนในภาวะวิกฤต ช่วยรับมือเปิดเทอมใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

อีกโรงเรียนหนึ่งที่พูดถึงการนำระบบข้อมูลมาใช้ตั้งต้นทำงาน คือโรงเรียนบ้านป่าเหมือด (เสริมเกียรติวณิชราษฎร์บำรุง) ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย ที่เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ผอ.พัชรินทร์ จันทาพูน ผู้อำนวยการโรงเรียนกล่าวว่า โดยปกติของทุกปี สพฐ. ได้กำหนดให้โรงเรียนสำรวจข้อมูลเด็กผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล หรือ DMC (Data Management Center ) ซึ่งจะบันทึกข้อมูลนักเรียนที่มีตัวตนในโรงเรียนไว้เป็นรายคน โดยข้อมูลนี้จะได้จากกิจกรรมเยี่ยมบ้านนักเรียน โดยในเทอมสองที่มาถึงนี้ เชื่อว่าหากครูลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเด็กทุกคนได้อย่างละเอียด ก็จะทำให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์หลังน้ำท่วม   

“การเยี่ยมบ้านนักเรียน คือแนวปฏิบัติที่คำนึงถึงการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นสำคัญ โดยปีการศึกษา 2567 นี้ มีการเยี่ยมบ้านเด็กไปแล้ว 1 ครั้งในเดือนมิถุนายน 2567 ขณะที่ข้อกำหนดการเยี่ยมบ้านนักเรียนมีระบุอยู่ว่าต้องทำอย่างน้อยปีการศึกษาละ 1 ครั้ง เพื่ออัปเดตสถานการณ์ของนักเรียน พร้อมประสานการดูแลช่วยเหลือให้เข้าไปถึงเด็กและครอบครัวอย่างทั่วถึง อย่างไรก็ตามในปีการศึกษานี้หลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายต้องเจอกับอุทกภัย จึงคิดว่าเปิดเทอมใหม่นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่โรงเรียนต้องส่งครูไปเยี่ยมบ้านเด็กอีกครั้ง เพื่อเอาข้อมูล ณ ปัจจุบันหลังน้ำท่วมกลับมาคุยกันว่า แต่ละบ้านแต่ละคนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่เท่ากัน เช่นบางบ้านอาจเสียหายทั้งหลัง บางบ้านอาจเสียหายเป็นบางส่วน หรือบางบ้านไม่เสียหายแต่ต้องการความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ เช่นการประกอบอาชีพหรืออะไรก็ตาม โรงเรียนจะเป็นสื่อกลางให้เด็กและครอบครัวได้รับการเยียวยาอย่างครอบคลุมได้อย่างไร”

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่าเหมือด ระบุว่า ข้อมูลจริงที่จะได้จากการเยี่ยมบ้านกรณีพิเศษ ถือเป็นการทำงานที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐ เรื่องการใช้ฐานข้อมูล (Big Data) มาช่วยออกแบบการแก้ปัญหา และเชื่อว่าแนวทางนี้จะ ‘ส่งเสริมบรรยากาศการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน’ อันหมายถึงการเหนี่ยวนำความช่วยเหลือจากทุกองคาพยพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสหวิชาชีพต่าง ๆ จะขยายขอบเขตออกไปยิ่งขึ้น และจะเป็นกลไกของการดูแลช่วยเหลือเด็กที่ตรงกับทุกมิติปัญหาในระยะยาว

และสำหรับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการเชื่อมประสานหน่วยงานต่าง ๆ และเชื่อมั่นอย่างยิ่งในเรื่องการปฏิบัติงานโดยมีฐานข้อมูลที่แม่นยำและงานวิจัยที่ละเอียดครอบคลุม มาช่วยกำหนดนโยบายการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ สอดคล้องกับกับบริบทของปัญหา โดยหนึ่งในงานสำคัญที่ กสศ. ทำร่วมกับครูและโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ทั่วประเทศ คือการเก็บข้อมูลเด็กนักเรียนรายคน เพื่อนำมาออกแบบการสนับสนุน “ทุนเสมอภาค” หรือ “โครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข” (Conditional Cash Transfer: CCT) ในทุกปีการศึกษา 

การร่วมลงพื้นที่ร่วมสำรวจความเสียหายของหลายโรงเรียนในจังหวัดเชียงรายครั้งนี้ นอกจากจะได้รับข้อมูลที่จำเป็นกลับมา เรายังได้เห็นว่าแม้ในวิกฤตความสูญเสียที่อาจกล่าวได้ว่า คือ ‘จุดเปลี่ยนของชีวิต’ ของเด็กในพื้นที่จำนวนมาก โดยหลังจากนี้เชื่อว่าจะมีอัตราของเด็กกลุ่มเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อีกฟากด้านของความสูญเสีย เราได้เห็นว่า ณ พื้นที่ประสบภัย ยังมีความตระหนักถึงกระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผ่านฐานข้อมูล 

ต้องขอชื่นชมโรงเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนทุกแห่ง ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่พร้อมและมุ่งมั่นลงพื้นที่เพื่อเก็บบันทึกข้อมูลของเด็ก ๆ กลับมา และจะนำมาเป็นเครื่องมือออกแบบแนวทางการช่วยเหลือเด็กและผู้ปกครองที่ตรงกับความต้องการ ความจำเป็น และความเดือดร้อนของแต่ละครัวเรือนอย่างตรงจุด