บทพิสูจน์การศึกษายืดหยุ่น เปลี่ยนใจเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้กลับมาเรียน

บทพิสูจน์การศึกษายืดหยุ่น เปลี่ยนใจเด็กเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมให้กลับมาเรียน

“ในทุกปีมีคนพ้นออกไปจากกรมราชทัณฑ์ราว 200,000 คน ส่วนมากเป็นประชากรวัยหนุ่มสาว เราต้องมีแผนการพัฒนาคนกลุ่มนี้ให้เข้าไปเติมเต็มสังคม เพื่อยกระดับการฟื้นฟูดูแลพัฒนาคนในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ”

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

“เรือนจำต้องเป็นศูนย์ฝึกหรืออคาเดมีด้านการซ่อมสร้าง แก้ไขฟื้นฟู และเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ต้องขัง ก้าวแรกคือเราต้องสามารถทลายข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อให้เรือนจำแต่ละแห่งนำต้นทุนที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

จิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม

“กรมราชทัณฑ์มีการจัดการศึกษาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีข้อจำกัด ด้วยเรือนจำเป็นสังคมที่ซับซ้อน ต้องมีการดูแลทั้งเรื่องการควบคุม พัฒนาพฤตินิสัย รวมถึงจัดการศึกษาและสร้างงานสร้างอาชีพ ความท้าทายของการจัดการศึกษาในเรือนจำจึงเป็นเรื่องของการจัดทำระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทอันหลากหลาย สามารถนำต้นทุนจากกิจกรรมที่มีมาออกแบบบูรณาการกับสาระวิชาที่กำหนดได้ เพื่อไปสู่การเทียบโอนและออกวุฒิ”

สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

ปี พ.ศ. 2558 (ค.ศ. 2015) องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับการจัดการต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatmentof Prisoners) ในชื่อ ‘กฎแมนเดลา’ (Mandela Rules) โดยในส่วนการจัดการศึกษา ข้อ 104 ระบุใจความว่า 

1.ต้องจัดให้ผู้ต้องขังทั้งหมดที่อาจได้ประโยชน์จากการศึกษาได้มีโอกาสศึกษาต่อไป และต้องจัดให้มีการศึกษาภาคบังคับสำหรับผู้ต้องขังที่ไม่รู้หนังสือและผู้ต้องขังที่เป็นเยาวชน โดยฝ่ายบริหารเรือนจำจะต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับคนกลุ่มนี้

และ 2.ผู้ต้องขังควรได้รับการศึกษาจากระบบที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของชาติ เพื่อให้สามารถศึกษาเล่าเรียนต่อได้อย่างต่อเนื่องภายหลังได้รับการปล่อยตัว

เนื้อหาจากข้อที่ยกมา หมายความว่า ไม่เพียงผู้ต้องขังทุกคนมีสิทธิเข้าถึงการศึกษา หากการจัดการศึกษาเรียนรู้นั้นต้องเอื้อต่อการต่อยอดทั้งด้านการศึกษา และการพัฒนาตนเองเพื่อการประกอบอาชีพ มีงานทำ อันเป็นเสมือนการมอบโอกาสให้คนคนหนึ่งได้กลับคืนสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ มีอนาคต และมีความหวังที่จะมีเส้นทางก้าวหน้าในชีวิต

ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ในการกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม ได้จัดการศึกษาสำหรับผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการศึกษาภาคบังคับ (ม.3) การศึกษาขั้นพื้นฐาน (ม.6) ภายใต้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) หรือการจัดการศึกษาในสายอาชีพ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ด้วยหลักสูตรของสถาบันการศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จนถึงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) ด้วยหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และหลักสูตรมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) ด้วยหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม       

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ ของการจัดการศึกษาในเรือนจำ โดยเฉพาะเรื่องการสมัครเรียนที่ต้องใช้หลักฐานประจำตัวของผู้เรียน เช่น เอกสารแสดงตัวตนหรือวุฒิการศึกษา หรือข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา เนื่องจากเรือนจำคือสถานที่ที่ผู้คนเปลี่ยนถ่ายเข้าออกตลอดเวลา การจัดการศึกษาที่มีอยู่ซึ่งมีช่วงเวลารับสมัครและการวัดประเมินผลเหมือนระบบการศึกษาปกติ จึงยังเป็นช่องว่างที่ทำให้การเรียนรู้ขาดความต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ที่มีเป้าหมายคือวุฒิการศึกษา หรือข้อจำกัดเรื่องฐานความรู้ประสบการณ์ของผู้เรียนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่ไม่เคยได้รับการศึกษามาก่อน กลุ่มที่หลุดจากระบบก่อนจบการศึกษาภาคบังคับ กลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าภาคบังคับ จนถึงข้อจำกัดด้านการเรียนรู้เฉพาะบุคคลหรือเฉพาะกลุ่ม ที่เกี่ยวพันกับอายุ สุขภาพ หรือความบกพร่องทางสติปัญญา ดังนั้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการออกแบบระบบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม

ใช้ ‘การศึกษายืดหยุ่น’ ทลายข้อจำกัดการเรียนรู้

จิรภา สินธุนาวา รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า เป้าหมายการจัดการเรียนรู้ของกรมราชทัณฑ์ คือพัฒนาทักษะรอบด้านและสร้างองค์ความรู้ที่จะส่งผลต่อโอกาสการทำงานเมื่อผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคม เพื่อลดโอกาสการทำผิดซ้ำ ดังนั้นการจัดการศึกษาในเรือนจำจึงต้องมีการเรียนรู้มากกว่าแค่รูปแบบเดียว และเป็นการศึกษาที่ยืดหยุ่น เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดเวลา มีการสร้างพื้นที่เรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยหลักคิดสำคัญคือ ‘ทลายกฎเกณฑ์และกำแพงเรือนจำ’ ด้วยความเมตตาและมนุษยธรรม รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อรับรู้ปัญหาและข้อจำกัดต่าง ๆ ขณะที่การจัดฝึกอบรมอาชีพต้องสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และต้องคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างทั้งเรื่องขนาดของสถานที่ควบคุม การจำแนกเรือนจำชาย-หญิง หรือการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของผู้ต้องขังซึ่งต่างกันในแต่ละทัณฑสถาน 

จิรภา สินธุนาวา

เมื่อกรมราชทัณฑ์ตั้งใจขยายการจัดการศึกษาที่มุ่งตอบโจทย์ความหลากหลาย ภายใต้ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน ที่ระบุว่าการศึกษาสามารถทำได้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย จึงมองหาผู้มีประสบการณ์จัดการศึกษาที่หลากหลาย และเป็นจุดเริ่มของความร่วมมือกับ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งมีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น โดยร่วมกับภาคีหน่วยงานต่าง ๆ 

ทั้งนี้ในการจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม กสศ. มีต้นแบบการทำงานที่ทำร่วมกับศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน โดยนำรูปแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายเข้าไป ‘เพิ่มโอกาส’ ให้ผู้เรียนเข้าถึงการศึกษา อาทิ เรียนผ่านศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 การเรียนผ่านโรงเรียนมือถือหรือ Mobile School ซึ่งในทุก ๆ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเทียบโอนวุฒิและประสบการณ์ เพื่อสะสมหน่วยกิตและไปถึงการได้รับวุฒิการศึกษาได้ และได้กลายมาเป็นนโยบายสำคัญของการจัด ‘การศึกษาทางเลือก’ ที่กรมพินิจขยายผลออกไปในหลายพื้นที่ในปี 2567

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิตและประธานสาขาวิชาการศึกษานอกระบบโรงเรียน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังเคราะห์บทเรียนการทำงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ 40 หน่วยในความร่วมมือกับ กสศ. เพื่อถอด ‘ตัวแบบ’ การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นสำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา และผู้ต้องขังในเรือนจำ ก่อนนำเสนอถึงความเหมาะสมและเป็นไปได้ ในการจัดการเรียนรู้ให้กับเรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์ ว่า ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา’ (2566-2567) การเดินทางของทั้งสี่สิบหน่วยพาไปสู่ข้อค้นพบว่า ‘โอกาสทางการศึกษา’ เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคมโดยตรง โดยเมื่อลงรายละเอียดเฉพาะคน จะได้เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้ผู้เรียนคนหนึ่งหลุดจากระบบ ไม่ได้เพราะแค่ ‘ไม่อยากเรียนหนังสือ’ หรือ ‘ความยากจน’ แต่ยังมีประเด็นซับซ้อนจากปัญหาครอบครัว การกดทับของความเชื่อค่านิยม ลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรม รวมถึงการกลั่นแกล้งในโรงเรียน อีกทั้งระบบการศึกษาที่มีอยู่นั้นไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนบางคนหรือบางกลุ่ม จนเป็นเหตุตั้งต้นของความ ‘ไม่สนใจอยากเรียน’

รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา

“ก่อนไปถึงเรื่องการเรียนรู้ที่ตั้งต้นจากบริบทเฉพาะของผู้เรียนแต่ละคน ว่าจะช่วยรับมือกับข้อจำกัดของการจัดการศึกษาได้อย่างไร ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ‘โรงเรียนไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม’ ที่จะผลิตคนทุกคนออกมาเป็นบล็อกเดียวกัน เพราะแต่ละคนต่างมีข้อดีข้อด้อย มีความพิเศษในตัวที่ต่างกัน ฉะนั้นก็ต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ให้เหมาะ เช่น บางคนถนัดเรียนสายสามัญ บางคนถนัดเรียนอาชีวศึกษา บางคนเหมาะเรียนในกระแสหลัก บางคนเหมาะกับการศึกษาทางเลือก ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควรในการจัดการศึกษา โดยเฉพาะหากกล่าวถึงกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ยิ่งจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ เข้าใจปัญหาทับซ้อนต่าง ๆ

“ก่อนเริ่มโครงการเราพบข้อมูลว่า การจัดการศึกษาให้เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม จะยึดหลักสูตรจาก สกร. โดยเน้นระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะที่ประเด็นสำคัญคือการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าวยังมีกรอบจำกัด หน่วยจัดการเรียนรู้ภายนอกจึงต้องเข้าไปเติมเต็ม และใช้การเทียบโอนหน่วยกิตเพื่อเข้าสู่ระบบหลักของ สกร. ซึ่งเราเรียกว่าเป็นการเรียนรู้แบบ ‘กลุ่มประสบการณ์’ ที่ผู้จัดการเรียนรู้จะนำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของผู้เรียนมาออกแบบเป็นหลักสูตร โดยไม่แยกตามกลุ่มสาระ อาทิหน่วยจัดการเรียนรู้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ใช้ ‘โนรา’ เป็นฐานสำหรับผู้เรียน และสอดแทรกสาระวิชาไว้ในกิจกรรมต่าง ๆ จากนั้นจะนำประสบการณ์มาแปลงเป็นหน่วยกิตสะสม มีการปรับและเทียบกับเกณฑ์ของหลักสูตรแกนกลาง เพื่อออกวุฒิการศึกษา ด้วยวิธีการนี้ การเรียนแบบกลุ่มประสบการณ์จึงมีประโยชน์มาก กับการจัดการเรียนรู้สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ”

รศ.ดร.วีระเทพ ยกตัวอย่างการจัดการศึกษาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ กสศ. ทำร่วมกับภาคีทั่วประเทศมามากกว่า 5 ปี คือ ‘การจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’ ที่หลักสูตรจะออกแบบโดยผู้รู้ในชุมชนหรือผู้ประกอบการและสถานศึกษาในพื้นที่ มุ่งเน้นการมีทักษะอาชีพ การหารายได้ และการประกอบอาชีพในชุมชน ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากต่อการกลับคืนสู่ภูมิลำเนาของผู้ต้องขัง ที่ต้องมีทักษะความรู้ที่จะนำไปประกอบอาชีพ  ขณะที่อีกนวัตกรรมหนึ่งซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่จังหวัดนครพนม คือ ‘Mobile School’ โดยศูนย์การเรียน CYF ได้แสดงให้เห็นว่าการใช้เทคโนโลยีออนไลน์ สามารถช่วยในเรื่องการเรียนควบคู่กับการประกอบอาชีพ หรือคือการขยายขอบเขตห้องเรียนและเวลาเรียนให้กว้างไกลออกไปได้ในทุกที่และทุกเวลา (Anytime Anywhere) ด้วยแพลตฟอร์มที่ออกแบบไว้รองรับกลุ่มอาชีพที่หลากหลาย และมีจุดเด่นคือศูนย์การเรียนจะนำกิจกรรมที่ผู้เรียนทำอยู่แล้ว มาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตและรับวุฒิการศึกษา 

“นอกจากรูปแบบวิธีการ สิ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้การจัดการเรียนรู้ต่อยอดถึงการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง คือการมี ‘เครือข่าย’ เช่นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหรือสถานประกอบการในพื้นที่ และต้องให้ความสำคัญมาก ๆ กับระบบ ‘Credit Bank’ หรือธนาคารหน่วยกิต ที่จะเป็นเครื่องมือให้เกิดการเทียบโอนชุดประสบการณ์และองค์ความรู้มาเป็นรายวิชา และระบบ Credit Bank นี่เองที่จะช่วยเอื้อให้เกิดการสร้างสรรค์หลักสูตรได้หลากหลาย โดยเฉพาะศาสตร์ทางสุนทรียะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญา ส่วนเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาจะนำมาซึ่งหลักสูตรใหม่ ๆ ทั้งหลักสูตรสำหรับวุฒิการศึกษาต่อเนื่อง (degree) และหลักสูตรประกาศนียบัตร (none degree) พร้อมเปิดเรียนผ่านระบบออนไลน์และสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ จึงถือเป็นหนึ่งกลไกของการจัดการศึกษาระดับสูงกว่าขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ต้องขัง”

ท้ายที่สุดแม้จะมีรูปแบบแนวทาง กระบวนการ เครือข่าย หลักสูตร หรือบุคลากรคุณภาพพรั่งพร้อมแค่ไหน หาก ‘หัวใจ’ ของการขับเคลื่อนผลักดันให้การจัดการเรียนรู้ให้ผู้ต้องขังในกรมราชทัณฑ์เป็นไปได้  ภัทระ คำพิทักษ์ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กสศ. ได้ฝากไว้ว่า

“การออกแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อไปสู่การสร้างโมเดลจะสำเร็จได้ ทุกคนในคณะทำงานต้องเชื่อมั่นอย่างสุดหัวใจก่อน ว่า ‘การศึกษาเปลี่ยนคนได้’ แล้วต้องเข้าใจว่าการศึกษา ณ วันนี้ได้พ้นจากการมีหลักสูตรแกนกลางเพียงหนึ่งเดียว หรือมีการเรียนการสอนแค่ในห้องเรียนไปแล้ว ดังนั้นทุกสิ่งอย่างที่ผู้เรียนสนใจและถนัด ล้วนแปลงเป็นรายวิชาได้ สามารถทำให้ผู้เรียนยืนหยัด และนำพาไปไปสู่การมีชีวิตอย่างภาคภูมิใจได้ โดย กสศ. ขอเป็นหนึ่งภาคีการทำงานน ที่จะนำประสบการณ์จากการทำงานกับเครือข่ายภาคประชาสังคมในหลายพื้นที่ และพร้อมนำข้อค้นพบ บทเรียน เครื่องมือ และกระบวนการที่หลากหลาย มาช่วยสนับสนุน เพื่อให้กรมราชทัณฑ์เป็นหนึ่งสถาบันที่สามารถฟื้นฟูบำบัด และผลิตพัฒนาคนที่มีคุณภาพกลับคืนสู่สังคมได้เต็มประสิทธิภาพ”