ความรู้เป็นเรื่องสำคัญแต่จะจัดการความรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพทรงพลังที่สุด กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้จัดการความรู้และเติมความรู้ ผ่านโครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า เป้าหมายการเรียนรู้ที่แท้จริงในยุคนี้จะต้องก้าวจากระดับพื้นผิว (superficial) ไปสู่ระดับลึก (deep) และ ไปสู่ระดับสุดท้ายคือระดับที่สามารถนำความรู้เชื่อมโยงประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆได้ (transfer) ดังนั้นจึงไม่ควรตกหลุมความผิวเผิน อีกทั้งการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่การเรียน “วิชา” แต่ยังรวมไปถึงนิสัย ความเชื่อ และคุณธรรมซึ่งสำคัญต่อชีวิตมากกว่า “วิชา”
อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด หรือ Visible Learning ทั้งครูและลูกศิษย์ต้องมีความชัดเจนตั้งแต่เรื่อง คุณค่าของการเรียนต่อชีวิตและอนาคต ผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยเป้าหมายสำหรับนักเรียนที่ชัดเจน นักเรียนจะต้องรู้คุณค่าของการเรียน รู้ว่าเรียนเพื่ออนาคตตัวเอง รู้คุณค่าของแต่ละบทเรียน รู้ว่าตนเองบรรลุเป้าหมายแค่ไหน รู้จักการวัดผล ประเมินตนเอง และปรับปรุงการเรียนรู้
ครูต้องรู้จักนักเรียนแต่ละคน
เพื่อกำหนดเป้าหมายตามความถนัด
ขณะที่เป้าหมายของครู ครูจะต้องรู้จักนักเรียนแต่ละคนเพื่อกำหนดเป้าหมายให้สอดรับกับความต้องการ ความถนัด ความสนใจของนักเรียนแต่ละคน โดยจัดการเรียนแบบองค์รวม (Holistic Learning) ซึ่งไม่ใช่แค่วิชา แต่ต้องพัฒนาทั้งทัศนคติ ทักษะ และ ความรู้ นำไปสู่การเรียนลึก และการเรียนแบบเชื่อมโยงโดยครูไม่ใช่สอนวิชาแต่ต้องสอนครบทุกด้านรวมทั้งนิสัยใจคอที่ต้องปลูกฝัง โดยเฉพาะการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมซึ่งส่วนตัวเห็นว่าสำคัญ
“หัวใจสำคัญในการจัดการเรียนรู้คือการมองนักเรียนเป็นศูนย์กลางอยู่ทุกขณะจิต ในการจัดกระบวนการต่าง ในการวางเป้าหมายจะต้องมองนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยครูจะต้องสร้างศิษย์ สร้างตัวเอง และสร้างศักดิ์ศรีวิชาชีพครู ซึ่งการสร้างอนาคตของชาติครูจะต้องเป็นผู้ก่อการ ต้องพัฒนาทักษะความเป็นครู ซึ่งไม่ใช่แค่ครูแต่ยังรวมไปถึง ผอ. ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้ใหญ่ในกระทรวงซึ่งเป็นเรื่องของทุกคนที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ ส่งเสริมซึ่งกันและกัน”
การเรียนรู้สมัยใหม่สมองมนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุด
ผ่านประสบการณ์ คิดใคร่ครวญสะท้อนคิด
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า ในส่วนของการจัดการเรียนรู้จะต้องไม่ใช่การถ่ายทอดความรู้ให้เด็กเป็นหลัก แต่จะต้องเน้นให้เด็กปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ใส่ตัว เพราะหลักการเรียนรู้สมัยใหม่ สมองมนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดผ่านประสบการณ์ คิดใคร่ครวญสะท้อนคิดหรือรีเฟล็กชั่น ซึ่งมีทั้งทำแบบคนเดียวคือการเขียนมายด์แม็ป คอนเซ็ปต์แม็ป เพื่อกระตุ้นความคิด และการคิดแบบกลุ่มมีการนำเสนอที่มี Facilator
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่สำคัญคือการสร้างบรรยากาศการเรียนทั้งในโรงเรียน ห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย สำหรับเด็กไม่มีคำตำหนิ เยาะเย้ย ไม่ต้องกลัวที่จะตอบผิด พร้อมกับมีกัลยาณมิตร มีครูที่ช่วย Facilitator ฝึกทักษะกำหนดเป้าหมาย ซึ่งจะต้องทำให้เป็นเป้าหมายของนักเรียนไม่ใช่เป้าหมายของครู ให้เด็กรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียน พร้อมกับการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนรู้สึกท้าทายและสนุก ซึ่งเด็กแต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน ดังนั้นครูต้องรู้จักเด็กเป็นรายคน
4 ประเด็นสำคัญการเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด
ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าวว่า การเรียนรู้อย่างประจักษ์ชัด เด็กควรได้เรียนรู้ 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. มีเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะทำให้เด็กขวนขวายไปสู่เป้าหมายและพัฒนาตัวเองไปสู่เป้าหมาย 2. เห็นผลการเรียนรู้ตัวเอง 3 เห็นพฤติกรรมการเรียนรู้ตัวเอง และ 4. พัฒนาการเรียนรู้ตัวเอง กำกับตัวเองได้ ประเมินตัวเองได้ ปรับวิธีการเรียนตัวเองได้ สรุปคือการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงได้และเป็นที่ประจักษ์จะต้องเรียนโดยลงมือทำและสะท้อนคิดในพื้นที่อิสระปลอดภัยและมีการ สนับสนุน Facilator
ด้าน ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า โครงการครูเพื่อศิษย์ สร้างการเรียนรู้สู่ระดับเชื่อมโยงออนไลน์ ได้จัดการอบรมให้กับครูซี่งมุ่งผลการเรียนรู้เพื่อลูกศิษย์ของตัวเอง โดยได้จัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom มามากกว่าสามครั้ง ซึ่งเป็นเหมือนกับสารตั้งต้นที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ ของนักเรียนในแต่ละโรงเรียน และมุ่งหวังว่าจะขยายผลไปยังโรงเรียนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต