จากเด็กที่เกือบยุติความฝันด้านการศึกษาไว้เพียงระดับ ปวช. วันนี้เขาคือกำลังสำคัญของสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ที่มีโอกาสทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำที่ต่างประเทศ พลิกฟื้นฐานะทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น
หลังจบ ปวช. ที่วิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี ‘อาชัญ แสงว่าง’ เกือบจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะความยากจน แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะได้รับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น เขาสมัครขอรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง (หลักสูตร ปวส. 2 ปี) จาก กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เรียนต่อที่เดิมในสาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ ซึ่งนอกจากจะเป็นสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว ยังเป็นสาขาที่มีโอกาสหางานทำได้ค่อนข้างสูง
“ผมเป็นเด็กบ้านจนครับ ผมคิดว่าการเรียนต่อระดับ ปวส. มันค่อนข้างใช้เงินเยอะกว่าระดับ ปวช. อีกอย่างผมเป็นเด็กต่างจังหวัด เป็นคนจังหวัดตาก ไม่ได้อยู่สิงห์บุรีนะครับ ก็ต้องเช่าหอพัก จะมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ถ้าผมไม่ได้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงก็คงจะต้องกลับบ้านหรือหางานทำด้วยวุฒิ ปวช. แต่หลังจากได้รับทุนของ กสศ. ความฝันที่จะได้เรียนต่อของผมก็เป็นจริง
“ส่วนที่ผมเลือกเรียนสาขานี้เพราะผมเรียนมาตั้งแต่ ปวช. เป็นสิ่งใหม่ที่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ครับ”

นับตั้งแต่ได้รับโอกาส เขาคว้ามันไว้แน่นแล้วลงมือทำอย่างตั้งใจ ด้วยความหวังว่าวุฒิการศึกษา ปวส. จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเขาและครอบครัวได้ ซึ่งความมุ่งมั่นนี้ก็ส่งผลทันทีหลังจากอาชัญเรียนจบ บริษัทด้านการติดตั้งระบบอัตโนมัติให้โรงงานอุตสาหกรรมอย่างบริษัท เฟิร์สเมค จำกัด ได้คว้าตัวอาชัญเข้าทำงานด้วยเงินเดือนเริ่มต้น 17,000 บาท และด้วยความสามารถประกอบกับความสนใจด้าน PLC สถานประกอบการจึงส่งเขาไปทำงานที่ไซต์ต่างประเทศนานถึง 5 เดือน
“ผมได้มีโอกาสไปทำงานที่ประเทศบราซิล ไปเป็นทีมสร้างโรงงานผลิตกระดาษ ในตำแหน่งวิศวกร เขียนโปรแกรมให้เครื่องจักร ออกแบบระบบสายพานลำเลียง (ระบบควบคุมด้วย PLC) ในโอกาสครั้งนั้นผมได้ประสบการณ์จากการทำงานกับชาวต่างชาติ เขามีลำดับการทำงานและลำดับความคิดที่แตกต่างจากเรา ตอนอยู่ที่นู่นเราทำงานตามเวลา แต่ทุกอย่างมันราบรื่นไม่ติดขัดเลยครับ
นอกจากนี้การที่ผมได้โอกาสเขียนโปรแกรม แรก ๆ อาจจะยังไม่เข้าใจอะไรมาก พอดูโปรแกรมที่เขาเขียนไว้จะเห็นว่าเขาแยกกันเป็นหมวดหมู่ คนที่มาใหม่ ๆ จะรู้ว่าส่วนไหนคืออะไร และอยู่ตรงไหนของโปรแกรม เขาทำให้คนใหม่มารันระบบได้ง่าย
ผมไปอยู่บราซิล 5 เดือน เขาใช้ภาษาบราซิล แต่คนที่เราทำงานด้วยเป็นคนฟินแลนด์ เวลาทำงานเราจึงใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารกัน ภาษาอังกฤษของผม ผมใช้เวลาประมาณ 2 เดือนเพื่อเรียนรู้ ก็อาจจะไม่ได้มากเท่าไร แต่ศัพท์เฉพาะในการทำงานผมรู้อยู่แล้วก็เลยทำงานตรงนี้ได้”

ไม่เพียงแต่ประสบการณ์ที่อาชัญได้รับ ทว่าค่าตอบแทนตำแหน่งวิศวกรในครั้งนั้นมากถึงเดือนละ 60,000 -70,000 บาท เลยทีเดียว นับเป็นก้าวกระโดดของชีวิตก็ว่าได้ เพราะ ณ ตอนนั้นเขาเพิ่งเรียนจบ ปวส. ไม่นาน และอายุเพียง 21 ปี
ปัจจุบัน อาชัญกลับมาทำงานอยู่ที่ บริษัท เฟิร์สเมค จำกัด อีกครั้ง และด้วยความที่บริษัทนี้ป็นผู้จัดหาและติดตั้งระบบอัตโนมัติให้โรงงานอุตสาหกรรม เชี่ยวชาญในการพัฒนาเครื่องจักรหุ่นยนต์ แขนกล การบังคับควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติ การผสานระบบและออกแบบฮาร์ดแวร์ จึงทำให้เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์อย่างเต็มเปี่ยม ในตำแหน่งล่าสุดคือ Technician Automation
“ปัจจุบันผมมีหน้าที่ดูระบบไฟฟ้าของเครื่องจักร เริ่มตั้งแต่ดีไซน์ระบบไฟฟ้า ไปจนถึงการต่อสายไฟ ซัพพอร์ตหน้างานเวลาเครื่องจักรติดตั้งไปแล้วบ้าง และมีเขียนโปรแกรมบ้าง”
คงเป็นเหมือนอย่างที่เขาบอกไปตั้งแต่ต้นว่าถ้าหากเขาไม่ได้รับโอกาสจากการศึกษา ก็คงไม่มีเขาในวันนี้ และในจุดที่เขายืน อาชัญย้ำเสมอว่ามาไกลกว่าที่คาดคิดไว้มากพอสมควร แต่สำหรับคนที่กำลังต้องการโอกาสและกำลังจะได้รับโอกาส เขาอยากให้ทุกคนคว้าไว้และทำให้ดีที่สุด
“โอกาสทางการศึกษาช่วยให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ถ้าผมจบแค่ ปวช. แล้วออกไปทำงานเลย ผมอาจจะมายืนอยู่ในจุดนี้ในสักวันหนึ่งได้แต่มันอาจจะนานมากกว่านี้ แต่พอผมได้รับโอกาสทางการศึกษามากขึ้นก็ทำให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้น ทางบ้านก็ความเป็นอยู่ดีขึ้นครับ
“และผมอยากบอกรุ่นน้องว่าผมไม่ได้คาดหวังให้รุ่นน้องจะมาอยู่ในจุดที่ผมอยู่ แต่ผมคาดหวังให้รุ่นน้องไปไกลกว่าจุดที่ผมอยู่”
ภารกิจหลักด้านหนึ่งของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. คือการช่วยเหลือเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้มีโอกาสศึกษาต่อเต็มศักยภาพ ด้วยงบประมาณจำกัด เราคิดค้นวิธีการลงทุนเพื่อพัฒนาเรื่องนี้ให้ถูกจุด เริ่มต้นจากโจทย์ที่ว่าการเรียนรูปแบบไหน ที่สร้างโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มนี้มากที่สุด และยังตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กันไปด้วย
“ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ของ กสศ. เป็นทุนให้เปล่าที่สร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชน จากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดร้อยละ 20 ล่างของประเทศ มีโอกาสศึกษาต่อสายอาชีพในสาขาซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน
ในปีการศึกษา 2568 กสศ. ร่วมกับสถานศึกษาสายอาชีพ จำนวน 18 แห่งทั่วประเทศ เปิดรับสมัครเยาวชนยากจน ให้มีโอกาสเรียนต่อหลักสูตร ปวส./อนุปริญญา 2 ปี, หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ 1 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรพนักงานให้การดูแล ระยะเวลา 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีทุนเรียน ปวส. สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (พิการ) และทุน ปวส.2 ปี ที่ร่วมกับหอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดพัฒนากำลังคนตอบโจทย์ตลาดแรงงานระดับจังหวัด
นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 หรือระดับอื่นใดเทียบเท่า และคาดว่าจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2567 ที่มีฐานะยากจน ด้อยโอกาสหรือเป็นผู้มีความต้องการพิเศษ สามารถสมัครได้ถึงวันที่ 12 มีนาคม 2568 ติดตามข้อมูลของโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ได้ที่ ประกาศโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปี 2568