ดูแลสภาพจิตใจเด็กและครอบครัวในสภาวะวิกฤต

ดูแลสภาพจิตใจเด็กและครอบครัวในสภาวะวิกฤต

การดูแลสภาจิตใจเด็กและครอบครัวในสภาวะวิกฤต

  • ปกป้องเด็กเล็ก (ก่อนวัยเรียนถึงชั้นประถมต้น) จากข่าวสารที่มีเนื้อหารุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจ
  • กรณีที่เด็กได้รับข่าวสารเหตุการณ์แล้วอยู่ในสภาวะตกใจ สะเทือนใจ หรือคนในครอบครัวที่เครียดง่าย อ่อนไหวรุนแรง ให้เลี่ยงการดูภาพหรือเสพข่าวเหตุการณ์ที่เวียนนำเสนอจากสื่อต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการรับฟังหรือบอกเล่าประเด็นข่าวซ้ำ ๆ จากคนใกล้ตัว เนื่องจากยิ่งรับฟังหรือได้รับข่าวสารมากเกินควร จะยิ่งสร้างให้เกิดอารมณ์ด้านลบ ความรู้สึกกดดัน หรือนำไปสู่ความรู้สึกโกรธแค้น
  • หลีกเลี่ยงการที่คนในครอบครัวเป็นผู้รับ หรือส่งต่อข่าวสารภาพเหตุการณ์ความรุนแรงจากสื่อทุกประเภท

การจัดการอารมณ์ความรู้สึกในสภาวะวิกฤต

  • ในช่วงแรก ถ้าความรู้สึกกลัวหรือตกใจไม่หายไป ในเด็กโตผู้ปกครองสามารถนั่งพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกหลังเห็นข่าวสารเหตุการณ์รุนแรง เพื่อรับรู้ว่าเด็กอยู่ในสภาวะอารมณ์อย่างไร
  • พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถมีบทบาทที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย โดยสร้างพื้นที่พิเศษในบ้าน บอกว่าเราอยู่กับเขาตรงนั้น ให้เด็กรับรู้ว่าบ้านยังคงเป็นพื้นที่ปลอดภัย
  • อาจมีการทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัยขึ้น เช่นร้องเพลง เล่านิทาน ทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันในครอบครัว
  • วิธีแสดงออกที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุดคือการโอบกอด เป็นการทำให้เด็กรับรู้ถึงความรัก ความห่วงใย และช่วยสร้างความปลอดภัยในใจได้ดีขึ้น
  • สำหรับผู้ใหญ่ ต้องสำรวจอารมณ์ตนเองเป็นระยะว่าอยู่ในสภาวะใด จัดการจิตใจตนเองได้แค่ไหน ถ้าไปถึงระดับที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ ควรหยุดรับข่าวสาร ขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือปรึกษานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อจัดการผลกระทบทางความรู้สึกจากเหตุการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

โดยทั่วไปเด็กจะมีการจัดการอารมณ์ได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ อาจหลงเหลือความรู้สึกหวาดกลัวตกค้างในระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามความเข้าใจในเหตุการณ์จะยังไม่ลึกซึ้งเช่นผู้ใหญ่ ถ้าไม่ได้รับข่าวสารซ้ำ ๆ หรือไม่ได้เห็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงต่อเนื่อง ผลกระทบในระยะยาวก็จะไม่ตกค้างยาวนาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญในการหลีกเลี่ยงการรับสื่อ  โดยเฉพาะสื่อที่นำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรง และพยายามนำวิถีชีวิตปกติมาช่วยให้เด็กรู้สึกปลอดภัย เพื่อฟื้นตัวจากสภาวะตกใจหรือหวาดกลัวโดยเร็ว

สำหรับครอบครัวหรือคนใกล้ชิดที่ได้รับความสูญเสีย ควรมีกระบวนการช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด เพื่อการจัดการกับอารมณ์โศกเศร้า หรือความรู้สึกโกรธแค้น


ข้อมูลจาก พญ.โชษิตา ภาวสุทธิไพศิฐ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต
โดย ศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤต กสศ.