“ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ….” จุดเปลี่ยนการศึกษาไทยให้เสมอภาค ตอบโจทย์เยาวชนและแรงงานนอกระบบหลายสิบล้านคน
โดย : ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. ….” จุดเปลี่ยนการศึกษาไทยให้เสมอภาค ตอบโจทย์เยาวชนและแรงงานนอกระบบหลายสิบล้านคน

ประเทศไทยกำลังมีกฎหมายสำคัญ ที่จะช่วยปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา  หลังจากรัฐสภา มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ในวาระ 2 และ 3 ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิต ผู้เรียนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

กฎหมายฉบับนี้จะส่งผลให้กระทรวงศึกษาธิการเตรียมยกระดับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เป็น ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’  โดยจัดการศึกษา 3 รูปแบบ คือ 1.มุ่งสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.การเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และ3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามลำดับขั้น ผ่านการกระจายอำนาจการจัดการเรียนรู้ ไปยังหน่วยส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอ ศูนย์การเรียนรู้ตำบล สถาบันการเรียนรู้เฉพาะด้านหรือเฉพาะกิจการ รวมถึงมีภาคีเครือข่าย สถานศึกษา และสถาบันพัฒนาหลักสูตรและการเรียนรู้ เป็นต้น

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. จะทำให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานรัฐ อปท. ภาคเอกชน ประชาชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นการเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มที่อยู่ นอกระบบสถาบันการศึกษา มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองได้กว้างไกลและทั่วถึงยิ่งขึ้น

จุดเด่นที่น่าสนใจคือ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้น จะมีฐานะเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการศึกษาสำหรับผู้ขาดแคลนโอกาส ขณะที่การจัดการศึกษาโดยตรงจะไม่ได้ขึ้นอยู่ภายใต้ภาครัฐเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เพราะพื้นที่ ท้องถิ่น หรือภาคเอกชน จะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายจัดการศึกษาที่รองรับความจำเป็นของแต่ละพื้นที่

‘ศูนย์การเรียนรู้’ ที่คนทุกวัยทุกกลุ่มเข้าถึงได้

ปัจจุบันยังมีเด็ก เยาวชนที่หลุดออกนอกระบบ เพราะการศึกษาในระบบนั้นไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหา ความจำเป็น หรือความต้องการในชีวิตจริงได้ กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ เป็น ‘การศึกษา’ ที่ตอบโจทย์ผู้เรียนตรงตามความต้องการยิ่งขึ้น ทั้งเรียนเพื่อประกาศนียบัตร วุฒิการศึกษาตั้งแต่ขั้นพื้นฐานถึงระดับอุดมศึกษา การศึกษาเพื่อดำรงชีวิตที่เน้นฝึกทักษะอาชีพ สร้างรายได้ เพิ่มทักษะงานและชีวิต (upskill reskill) ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือการศึกษาที่เน้นเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยรัฐจะพัฒนาการจัดแหล่งเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ รวมไปถึงท้องถิ่นเองที่จะกลายเป็นรากฐานสำคัญของการเรียนรู้ในชุมชน ในรูปแบบของ ‘ศูนย์การเรียนรู้’ ที่คนทุกวัยทุกกลุ่มเข้าถึงได้ นอกจากนี้ยังเป็นหลักประกันคุณภาพการศึกษา ที่ผู้เรียนทั้ง 3 ระบบสามารถสะสมความรู้ ความชำนาญ แล้วเทียบโอนด้วย ‘ระบบธนาคารหน่วยกิต’ (credit bank) เป็นวุฒิการศึกษาได้

ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. กำหนดชัดเจนครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย 5 ช่วงวัย ตั้งแต่ปฐมวัย เด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ตอนต้น วัยกลางคน และผู้สูงอายุ เป็นการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นหลักสูตรต้องมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย สามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์และความสนใจเฉพาะบุคคล เพื่อนำไปใช้ยกระดับชีวิต พัฒนาตนเองเป็นพลเมืองคุณภาพ

ต้องการวิธีการที่หลากหลาย เข้าถึง เข้าใจกลุ่มเป้าหมายและต้องใช้ ‘พลังใจ’ นำทางในการทำงาน

กฎหมายฉบับนี้ เอื้อให้เกิดโครงสร้างระบบบริหารที่เป็นอิสระ จะทำให้เกิดการกระจายอำนาจในระดับภาค ระดับจังหวัด โดยสิทธิในการกำหนดทิศทางนโยบาย หลักสูตรหรือการติดตามวัดผลประเมินผลจะทำให้มีการจัดรูปแบบการเรียนรู้ และกระบวนการทำงานที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงการศึกษาครั้งใหญ่ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม แม้การเกิดขึ้นของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ที่มีเป้าหมายสำคัญคือ ‘ทำให้คนทุกวัยเข้าถึงการศึกษา’ จะเป็นการปฏิรูปครั้งสำคัญ ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง ขบคิด และคณะทำงานด้านการศึกษาจำเป็นต้องร่วมกันหาทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่ตามมา โดย ‘กรมส่งเสริมการเรียนรู้’ ที่ตั้งขึ้น ไม่ควรทำงานด้วยระบบที่ ‘แข็งตัว’ ด้วยระบบการบริหารงานแบบราชการ ขณะที่ลักษณะการทำงานกับเด็กเยาวชนด้อยโอกาสหรือแรงงานนอกระบบ ต้องการวิธีการที่หลากหลาย เข้าถึงใกล้ชิด และต้องใช้ ‘พลังใจ’ นำทางในการทำงาน ดังนั้นระบบที่เชื่องช้า ติดกรอบ มีข้อจำกัดด้วยระเบียบวาระ ควรลดทอนลงและปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุก ละเอียดอ่อนในการทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย โดยสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นคือจะทำอย่างไรให้การสร้างและพัฒนาเครือข่าย เป็นการทำงานจาก 3 เสาหลัก คือรัฐ เอกชน และท้องถิ่น 

อย่าละเลยครูนอกระบบ  หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ในหลักการและเหตุผลของการร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ฉบับนี้ ยังมุ่งไปที่การจัดตั้ง ‘กรม’ เป็นหลัก โดยมีเนื้อหาที่น้อยเกินไปในการกล่าวถึงเด็กเยาวชนด้อยโอกาสทุกกลุ่มประเภท ทั้งที่หลักการสำคัญของการทำงานคือการเข้าถึง เข้าใจ รู้จักกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ให้ชัดเจน

“ส่วนในจุดที่ดูเป็นข้อด้อยที่สุดของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ฉบับนี้ คือไม่มีเนื้อหาส่วนใดเลยที่กล่าวไปถึง ‘ครูนอกระบบ’ ทั้งที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดของการทำงาน ทั้งนี้ถ้าเราจะทำงานกับกลุ่มเป้าหมายเหล่านี้ ต้องมองเห็นตัวตนของครู ทั้งครูในระบบ ครูจากภาคประชาสังคม NGO ซึ่งกระจายตัวทำงานอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ครูเหล่านี้คือคนที่ทำงานมายาวนาน ด้วย ‘พลังใจของผู้ต้องการความเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งพวกเขามีทั้งบทเรียน ประสบการณ์ และความตั้งใจ อันเป็นสิ่งจำเป็นต่องาน และควรได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น”

กสศ. มีภาคีที่ทำงานเรื่องการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของคนทุกช่วงวัย

งานของ กสศ. ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการเหนี่ยวนำความร่วมมือจากเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับประเทศ รวมถึงระดับนานาชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำประสบการณ์ทำงาน มาช่วยพัฒนาเครือข่ายให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายและกระจายการทำงานที่ทั่วถึง

“กสศ. มีภาคีที่ทำงานเรื่องการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาของคนทุกช่วงวัย ซึ่งทำมาแล้ว มีความเข้าใจงาน เข้าใจคน เป็นเครือข่ายที่แทรกซึมในระดับพื้นที่ งานสำคัญจากนี้คือต้องตีความ พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง นำไปสื่อสารอธิบายความ ทั้งกับคนในคณะทำงานของ กสศ. และคณะทำงานที่ทำงานร่วมกันกับ กสศ. ดังนั้นต้องรู้รายละเอียดเนื้อหา มาตราต่าง ๆ มองเห็นจุดอ่อนจุดแข็งให้ชัด เพื่อออกแบบวิธีการทำงานในระยะยาวต่อไป

“ในอนาคต กสศ. ต้องมีความร่วมมือ มีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ในฐานะภาคีที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน และขยายภาพความสำคัญของเยาวชนด้อยโอกาสและแรงงานนอกระบบทุกกลุ่ม รวมถึงเชื่อมโยงกับครูทั้งในและนอกระบบการศึกษาเข้ามาเป็นกำลังสำคัญ

 

“กสศ. ต้องร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยย่างก้าวสำคัญคือการสร้างระบบ credit bank ที่จะช่วยให้ทุกการเรียนรู้ไปสู่การต่อยอด กสศ. ต้องสนับสนุนให้เกิดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบ 9 แสนคน และแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน ให้ได้รับและเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้วยหลักสูตรที่เหมาะสมทั้งระยะสั้น ระยะยาว เพื่อให้ความเสมอภาคทางการศึกษาเกิดขึ้นได้ ผ่าน พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. …. ฉบับนี้”