“โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอกมีบริบทที่แตกต่างกัน ในฐานะที่เป็นศึกษานิเทศก์ซึ่งทำหน้าที่แนะนำ กระตุ้นให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษา เกิดความรู้ ความตระหนัก และมีทักษะในการบริหารจัดการและการจัดการเรียนการสอน ได้ใช้กระบวนการจิตศึกษา กระบวนการ PLC ที่ช่วยสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เริ่มจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองจากการปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้เป็นวิธีที่แค่สร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นกับตัวเด็ก วิธีการนี้ จะเน้นการพัฒนาครูไปพร้อมกับเด็กด้วย”
ในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา รัตนาภรณ์ ปั๋นเป็ง จาก ศธจ.เชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการทำงานในบทบาทศึกษานิเทศก์เพื่อร่วมผลักดันโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเอง (Teacher and School Quality Program) หรือ TSQP ไปสู่ขบวนการขับเคลื่อนโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQM (Teacher and School Quality Movement) ที่แสดงให้เห็น Movement ความเข้มแข็งขั้นกว่าของคำว่าโครงการ หรือ Program
ศึกษานิเทศก์รัตนาภรณ์ บอกว่า ต้องหาวิธีเปิดโอกาสให้ครูสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อครูนำปัญหามาเปิดใจให้ฟัง ก็จะสามารถร่วมกันแนะนำ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และช่วยกันหาวิธีแก้ไขด้วยกัน
“สิ่งที่สะท้อนออกมาจากครู เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำมาออกแบบการจัดการเรียนรู้ เพราะคุณครูจะได้ไอเดียมาช่วยในการแก้ไขปัญหาที่นอกเหนือจากการเรียนการสอนอีกด้วย”
กระบวนการ PLC ทำให้ครูมองเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเด็ก และทำให้ครูไม่รู้สึกรู้สึกโดดเดี่ยว เกิดสังคมที่ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน กระบวนการนี้ ทำให้ทั้งครูและนักเรียนมองเห็นคุณค่าของตัวเอง
“ในบทบาทของศึกษานิเทศก์ ได้บอกกับคุณครูเสมอว่า ครูคือผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงห้องเรียน ให้เด็กมองเห็นคุณค่าในตัวเองและกล้าแสดงออก แสดงความคิดเห็น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ความรู้ ความจำหรือความเข้าใจในสิ่งที่เรียน แต่เกิดขึ้นกับตัวของนักเรียนเอง เมื่อสิ่งนี้เกิดขึ้นกับนักเรียนแล้ว สิ่งอื่นๆ ก็จะตามมา การมาโรงเรียนจะไม่ใช่เรื่องน่ากลัว โรงเรียนจะกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กๆ อยากเดินเข้ามาหา”