ต้องใช้ ‘ใจ’ ไขสู่ตัวตนภายใน เพราะ ‘แม้เราจะเจอแล้ว ก็ใช่ว่าจะเจอตัวเขาจริง ๆ’
เรื่องเล่าโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา
พิเชษฐ์ เบญจมาศ คณะทำงานหนุนเสริมวิชาการภาคใต้

ต้องใช้ ‘ใจ’ ไขสู่ตัวตนภายใน เพราะ ‘แม้เราจะเจอแล้ว ก็ใช่ว่าจะเจอตัวเขาจริง ๆ’

“มีเรื่องราวของน้องคนหนึ่งที่เก็บตัวอยู่ในห้อง และจะออกมาแค่ปีละสองครั้งเท่านั้น การลงพื้นที่ตลอดหนึ่งปีของผมจึงไม่เคยได้เจอน้องเลยสักครั้ง ได้ยินแต่เรื่องเล่าผ่านจากคุณแม่ของเขา บทเรียนจากน้องบอกผมว่า เยาวชนทุกคนที่เราจะไปพบ จะมีมนุษย์คนหนึ่งซ่อนอยู่ข้างในตัวเขาเสมอ หมายถึงแม้เราจะเจอแล้ว ก็ใช่ว่าจะเจอตัวเขาจริงๆ  พวกเราที่จะเข้าไปทำงานกับเขา จึงต้องไม่วางตัวเป็นแค่หน่วยจัดการเรียนรู้ แต่ต้องไปด้วยสถานะมนุษย์อีกคนหนึ่งที่มีหัวใจ ที่พร้อมเป็นเพื่อน เป็นพี่ป้าน้าอาของเขา”

พิเชษฐ์ เบญจมาศ คณะทำงานหนุนเสริมวิชาการภาคใต้ เล่าประสบการณ์ลงพื้นที่ทำงานกับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่ทำให้ทัศนคติและมุมมองของเขาต่อน้องๆ มุ่งไปที่การลดความสำคัญของเทคนิควิธีการและความซับซ้อนของกระบวนการลง แล้วเพิ่มน้ำหนักเรื่องการใช้ ‘ใจแลกใจ’ มากขึ้น เพื่อทะลวงผ่านเกราะกั้นแข็งแรงแน่นหนา เข้าไปให้ถึงส่วนลึกภายในที่แสนเปราะบาง จากความกดดันต่างๆ รอบตัว ที่น้องๆ เผชิญอยู่ตลอดเวลา

พิเชษฐ์ เบญจมาศ คณะทำงานหนุนเสริมวิชาการภาคใต้

“น้องบางคนอาจไม่เคยรู้สึกมีตัวตนเลยในพื้นที่ที่เขาอยู่ ก่อนจะไปถึงการสร้างการเรียนรู้ คำถามสำคัญจึงเป็นเรื่องที่ว่า เราจะเจอพวกเขาได้ที่ไหน และเมื่อเจอแล้ว จะเข้าไปพบตัวตนภายในของเขาที่ไม่ยอมปรากฏให้ใครพบง่ายๆ ได้อย่างไร

“งานที่เราจะทำจากนี้จึงต้องใช้ความประณีต ใช้จิตวิญญาณ ใช้จินตนาการ และใช้พลังภายในตัวเราสูงมาก เราต้องทำให้มากและเหนือไปกว่าตัวกิจกรรมที่ออกแบบไว้ เพื่อทะลุทะลวงเข้าไปข้างในและดึงมนุษย์อีกคนหนึ่งที่หลบซ่อนอยู่ออกมา แล้วบอกเขาว่าพวกคุณมีชีวิต มีตัวตน คุณเปลี่ยนแปลงได้ คุณเติบโตกว่านี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องซ่อนตัวอยู่ตรงนั้นตลอดไป

“พวกเราคณะทำงานจึงต้องถามตัวเองด้วยว่า เราเชื่อเรื่องนี้แค่ไหน เพื่อยืนยันว่าเรามีพละกำลังแข็งแรงพอจะทะลวงไปในใจของน้องๆ ได้แค่ไหน ที่ผมจะบอกคือเทคนิควิธีการควรเป็นเพียงเรื่องรอง แต่สิ่งที่ต้องใช้นำทางจริงๆ คือความเชื่อและพลังในใจเรา เพื่อจะขยับเข้าไปหาเพื่อนมนุษย์ แล้วพาเขาออกมาจากที่ซ่อน สร้างกระบวนการเพื่อเติบโตไปด้วยกัน นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งยวดไปกว่าการทำกิจกรรมเชิงรูปธรรมเสียอีก            

“เพราะถ้าไม่ลืมว่ามีมนุษย์คนหนึ่งอยู่ข้างในนั้น เราจะตระหนักถึงนามธรรมที่พาเราไป บนความไม่คาดหวังว่าสิ่งที่เราทำจะต้องให้ผลลัพธ์กลับมาในรูปแบบใดแบบหนึ่งอย่างจำเพาะเจาะจง แต่มันจะเป็นความสวยงามที่บ่มเพาะผ่านเวลา ผมอยากย้ำว่าเรื่องนี้สำคัญมากๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เราต่างคาดหวังให้เกิดขึ้น ‘ความเชื่อมั่น’ จะทำให้เรามีพลังที่แข็งแรงพอ สามารถทำในสิ่งที่ ‘จริง’ และ ‘ตรง’ พอ ซึ่งผลของมันจะส่งแรงดึงดูดที่เพียงพอจะปลุกมนุษย์คนหนึ่งที่หลับอยู่ข้างในให้ตื่นขึ้นมาได้”

พิเชษฐ์ เปรียบว่าการทำงานของหน่วยจัดการเรียนรู้ เสมือนเป็น ‘คนสั่นระฆัง’ เพื่อส่งสัญญาณไปให้ถึงการรับรู้ของมนุษย์ที่แอบอยู่ภายในใครคนหนึ่ง โดยแม้ว่าการเร้นกายอยู่ภายในนั้นลึก จนแรงสั่นสะเทือนจากระฆังยังส่งไปไม่ถึง ก็ไม่ได้เป็นความผิดใดของผู้สั่นระฆัง “เพราะการทำงานกับน้องๆ เยาวชนเหล่านี้ บางทีอาจต้องใช้เวลามากกว่าสิบเดือนของโครงการ อาจมากกว่าหนึ่งปี อาจมากกว่าเวลาที่สามารถคาดคะเนได้ หรือบางทีเราอาจยังไม่สามารถสร้างพื้นที่ที่ประจวบเหมาะเพียงพอ เพื่อจะทำให้มนุษย์คนหนึ่งตื่นรู้ได้ในฉับพลันทันที”

“งานพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา จึงเป็นงานที่ต้องทำไปพร้อมกันในพื้นที่ซ้อนทับระหว่างรูปธรรมและนามธรรม เพราะถ้าใจของคนทำงานยังคงยึดมั่นว่าไม่มีทางที่มนุษย์จะไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงสั่นระฆังต่อไปด้วยความเชื่อที่ไม่สั่นคลอน ยังคงสำรวจทบทวนและพร้อมปรับเปลี่ยนผลจากรูปธรรมของกิจกรรม และใช้พลังจากความคิด ความเข้าใจ จินตนาการและสร้างสรรค์อันเป็นสิ่งนามธรรมไปพร้อมกัน เช่นนั้นเราถึงจะทะลุทะลวงไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในของน้องๆ ได้ ในทางกลับกันถ้าไม่มีความเชื่อความศรัทธาในสิ่งที่ทำอยู่ เราก็อาจไม่มีวันไปถึงวันนั้นได้เลย

“วันนี้เราได้มาเจอกัน ได้มาทำความเข้าใจแนวคิด เป้าหมาย เส้นทางการทำงาน และได้เชื่อมต่อการเรียนรู้ระหว่างกันแล้ว ขณะเดียวกันก็ได้เจอกับน้องๆ ส่วนหนึ่งที่เคยหลบซ่อนอยู่ตามซอกมุมต่างๆ ด้วย ดังนั้นจากตรงนี้เราต้องช่วยกันคิดว่าจะเติบโตไปด้วยกันได้อย่างไร จะคงไว้ซึ่งการรู้จักเป็นพี่เป็นน้องเป็นลุงป้าน้าอากันต่อไปได้อย่างไร เพื่อจะร่วมสร้างพื้นที่ของชีวิตและสังคมแห่งการเรียนรู้ไปด้วยกัน ณ ตรงนี้ขอใช้ถ้อยคำว่า เราเรียกร้องต้องการความเชื่อ จินตภาพ และความบ้าคลั่งที่สูงมากในการทำงานจากทุกคน พร้อมกับต้องมีสมดุลว่า เราต้องไม่รีบร้อนต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไป เพราะในจำนวนเด็กเยาวชนหนึ่งร้อยคน เราอาจเห็นเพียงหนึ่งคนหรือสิบคนที่เปลี่ยนได้ ภายใต้เงื่อนไขเวลาของการทำโครงการ แต่อย่าลืมว่าถ้าทุกท่านยังคงเชื่อมั่นร่วมกัน ว่ามีมนุษย์คนหนึ่งที่หลบซ่อนอยู่ในตัวเด็กทุกคน จำนวนหลักหน่วยหรือหลักสิบของน้อง ๆ ที่เราพาเขาออกมาเจอได้ ก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์อันเป็นกุศลอย่างมหาศาลแล้ว”

จากเรื่องเล่าผ่านประสบการณ์และทัศนคติที่เกิดขึ้นต่อการทำงาน ในโครงการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษา ในงาน ‘สานพลัง ก้าวไปด้วยกัน’ วันปักหมุดเริ่มโครงการฯ ปี 2566 ที่แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายสำคัญของงานพัฒนาการเรียนรู้เยาวชนนอกระบบการศึกษา คือการ ‘จุดไฟความเป็นมนุษย์’ โดยทิ้งหัวเชื้อของความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไว้ในตัวของน้อง ๆ การสร้างกระบวนการทำงานจึงต้องใช้ทั้งพลังใจและพลังความคิด เพื่อออกแบบการเดินทางของการเรียนรู้ เพื่อให้น้องๆ ค่อยๆ ตื่นรู้ ค่อยๆ พาตัวออกจากที่กำบัง และค่อยๆ กล้ายืนหยัดด้วยตนเอง ไม่ว่าชีวิตจะต้องเจอกับความผันแปรอีกสักกี่ครั้ง ซึ่งความซับซ้อนละเอียดอ่อนเหล่านี้เอง จะเป็นความท้าทายให้หน่วยจัดการเรียนรู้ทั้ง 40 แห่ง ร่วมฝ่าฟันไปด้วยกัน