อิสระ ฮาตะ กับชีวิตอิสระแบบ Youtuber และบทบาทจริงจังของการเป็นพ่อ

อิสระ ฮาตะ กับชีวิตอิสระแบบ Youtuber และบทบาทจริงจังของการเป็นพ่อ

หากจินตนาการถึง ‘อาชีพในฝัน’ หรือ ‘อาชีพที่มั่นคง’ ตามแบบฉบับที่ผู้ใหญ่หลายคนมักพูดถึงเมื่อหลายสิบปีก่อน คงหนีไม่พ้นหมอ พยาบาล ทหาร ตำรวจ วิศวกร ฯลฯ แต่อาชีพที่เป็นไปได้จริงในปัจจุบันและเป็นความถนัดของคนยุคนี้อย่าง Youtuber, Influencer, Content Creator ก็อาจเป็นอาชีพที่คนรุ่นก่อนอาจนึกไม่ถึง 

หนึ่งในยูทูบเบอร์อย่าง อิสระ ฮาตะ จากช่อง RUBSARB production ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.45 ล้านคน ผลิตเนื้อหาออกมาไม่ต่ำกว่า 1,100 ชิ้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แม้อาชีพนี้จะดูเป็นสิ่งใหม่ในสังคมไทย แต่ก็สามารถทำได้จริง และต่อยอดความฝันของตนเองได้ 

เราพูดคุยกันที่ออฟฟิศเงียบสงบย่านพหลโยธิน ไล่เลียงจากเส้นทางชีวิตตั้งแต่การเป็นบัณฑิตครู ยูทูบเบอร์ และพ่อของลูก หลายช่วงตอนของบทสนทนาสะท้อนถึงการบ่มเพาะทักษะของเขาที่ไม่ได้มาจากแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่ยังมาจากประสบการณ์รอบตัวและการเรียนรู้จากชีวิตจริง

อยากให้เล่าชีวิตวัยเด็กให้ฟังคร่าวๆ ก่อนจะมาเป็นยูทูบเบอร์ในวันนี้

ชีวิตวัยเด็กของผม เกิดและโตอยู่ในสลัมคลองเตย ม.ต้น เรียนที่สาธิตประสานมิตร แล้วเรียนต่อ ม.ปลาย ที่สาธิตปทุมวัน จากนั้นก็เรียนครุศาสตร์ จุฬาฯ ทุกวันนี้เป็นยูทูบเบอร์ช่อง RUBSARB production ครับ

อะไรทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนครู ณ ตอนนั้น

เพราะว่าพ่อให้กีตาร์ตัวหนึ่งครับ แค่นั้นเลย 

ตอนนั้นผมเลือกคณะนิเทศฯ ไว้อันดับ 1 เพราะตอน ม.ปลาย เริ่มชอบการแสดง ชอบเล่นดนตรี เลยคิดว่าอันนี้แหละน่าจะใช่ อันดับ 2 เลือกครุศาสตร์ จุฬาฯ ด้วยความที่พ่อบอกว่าจะซื้อกีตาร์ให้ ถ้าติดจุฬาฯ หรือธรรมศาสตร์ 

อันดับ 3 ผมเลือกโบราณคดี เพราะตอนเด็กๆ ชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ มันเหมือนอ่านนิยาย สนุกดี ส่วนอันดับ 4 น่าจะเป็นคณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ เพราะเข้าใจว่าเป็นคณะที่เรียนคล้ายๆ กับประวัติศาสตร์

ปรากฏว่าได้อันดับ 2 หลังจากนั้นก็มานั่งเลือกว่าจะเรียนสาขาอะไร เช่น ครูมัธยม ครูประถม แต่เราก็ไม่ได้ชอบ นั่งจิ้มๆ ไปแล้วเจอสาขาวิชาหนึ่งชื่อว่า การศึกษานอกระบบโรงเรียน ชื่อมันแปลกดี เหมือนมันไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน ก็เลยเลือกอันนี้ไป 

ก่อนจะเลือกเรียนครู คิดอย่างไรกับวิชาชีพนี้

เรื่องวิชาชีพครู เราก็เห็นว่ามันเป็นอาชีพของแม่ที่แม่ทำอยู่แล้ว แล้วการเป็นครูมันต้องอยู่กับเด็ก แต่ตอนนั้นก็ยังไม่รู้หรอกว่าครูมีความซัฟเฟอร์ยังไง ต้องทำงานเอกสารมากมายแค่ไหน รู้แค่ว่าอาชีพครูได้เงินน้อย แล้วก็ต้องอยู่กับเด็ก แค่ลองนึกสภาพว่าถ้าต้องอยู่กับเด็กแบบเรา เราก็ไม่อยากจะเป็นครูแล้ว ก็เลยเลือกสาขาการศึกษานอกระบบโรงเรียน เพราะมันดูเหมือนว่าไม่ต้องอยู่กับเด็กมากนัก 

พอเลือกเรียนครู พ่อกับแม่ก็ไม่ได้ขัดอะไร เพราะแม่ก็เป็นครู และตอนนั้นพ่อก็เป็นศาสตราจารย์สอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นด้วย

ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ มีส่วนในการแนะแนวหรือให้แนวทางอย่างไรบ้าง

ไม่มีเลย แต่แน่นอนว่าเรามีพ่อแม่เป็น role model (ต้นแบบ) โดยกำเนิดอยู่แล้ว เราก็เห็นว่าแม่ก็ครู พ่อก็ครู ถ้าเราเลือกเรียนครูก็คงไม่เป็นไร ก็เลยตัดสินใจประมาณนี้ แต่เขาไม่ได้มาแนะนำอะไรเรา เพราะว่าจริงๆ ในปัจจุบันเขาก็ไม่ได้ทำอาชีพครูเป็นหลัก แต่จะทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์เป็นหลัก

ทราบมาว่าระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัยได้ไปเข้าชมรมละครของจุฬาฯ อะไรที่ทำให้สนใจในกิจกรรมนี้

เราสนใจอะไรแบบนี้ตั้งแต่มัธยมแล้ว เวลาได้อยู่ข้างหลังเวทีมืดๆ ทำงานเบื้องหลัง ก็รู้สึกสนุก แล้วชมรมละครเวทีของคณะเขาก็เล่นกันจริงจัง เพราะเขามองว่าเป็นสื่อการสอนประเภทหนึ่ง ซึ่งก็ใช่ เพราะมันเป็นการเรียนรู้อีกประเภทจริงๆ กระบวนการละครมันเป็นกระบวนการที่พัฒนาศักยภาพของคนอีกรูปแบบหนึ่งที่ดีมากๆ

เห็นชัดว่าคุณสนใจการแสดงมาก แล้วทำไมถึงหันมาเป็นยูทูบเบอร์

พอเราอยู่กับโลกการแสดง เราก็จะสนใจไปเรื่อย ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบท การกำกับ การแสดง การจัดไฟ รวมถึงภาพยนตร์ด้วย คนที่ทำละครเวทีก็อยากทำภาพยนตร์ด้วย อยากทำหนังสั้นด้วย เพราะมันเป็นศาสตร์ที่ใกล้กัน 

ช่วงนั้นเราก็เคยสงสัยว่า ถ้าทำหนังสั้นแล้วจะส่งที่ไหนได้บ้าง แล้วก็คิดขึ้นมาได้ว่ามันมี YouTube เราก็ลง YouTube สิ ก็ทำกับพี่ๆ ที่ทำละครเวทีด้วยกัน แล้วเราเป็นคนชอบเล่นเกม คอมพิวเตอร์บ้านเราก็แรงพอสมควร เราก็เลยเป็นคนตัดต่อ แล้วก็เอาทักษะการเล่าเรื่อง ทักษะการละคร เอาองค์ความรู้ที่เรามีอยู่มาใช้กับงานตัดต่อของเรา

ก่อนหน้านี้คุณเคยทำช่อง VRZOchannel ร่วมกับ ‘ปลื้ม’ (สุรบถ หลีกภัย) ทำยังไงถึงโด่งดังเป็นที่รู้จักขนาดนั้น

ถ้าถามว่าอะไรที่ทำให้กลายเป็นที่รู้จัก ก็ต้องบอกก่อนว่าในยุคนั้นสื่อหลักยังประมูลทีวีดิจิทัลกันอยู่เลย ทุกอย่างมันเป็นทางการไปเสียหมด ต้องพูดจาสุภาพ ไม่พูดภาษาคนกันในทีวีเลย

แต่เรามองว่าธรรมชาติของมนุษย์มันมีความน่าสนใจอยู่แล้ว มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติที่น่าสนใจ เวลาเราอยู่กับเพื่อนมันจะมีโมเมนต์หลายอย่าง ซึ่งโมเมนต์เหล่านั้นมันสนุก แล้วเราก็แค่เอาโมเมนต์เหล่านั้น capture ออกมา แล้วถ่ายทอดออกไปด้วยความจริงใจ

ในยุคนั้นคำหยาบมันถูกกดเอาไว้เยอะ แต่ตอนนั้นเราก็โพล่งออกไปเลย อยากทำอะไรก็ทำ อยากพูดอะไรก็พูด ทุกวันเวลาเราพูดกับเพื่อนยังไง เราก็นำเสนอไปอย่างนั้นเลย 

ประกอบกับองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งการนำเสนอ ทิศทางเรื่องงานอาร์ต วิธีการเล่า การตัดต่อ ที่เราค่อนข้างแหวกขนบ พอองค์ประกอบมันครบถ้วน มันก็เลยบูม

พอมาทำช่อง RUBSARB คิดว่าต่างจากตอนทำ VRZO ไหม

คิดว่าต่างมาก เพราะว่าเราเริ่มแก่ ต้องเปลี่ยนวิธีการเล่า เปลี่ยนวิธีการทำงานเยอะ เมื่อก่อนเรากอดงานไว้คนเดียวด้วยความเป็นวัยรุ่นไฟแรง ปรากฏว่างานมันก็โหลด แล้วเราก็ burnout (หมดไฟ) ง่ายด้วย ตอนนี้ก็เลยมองว่าการมีส่วนร่วมของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่จำเป็นว่างานจะต้องออกมาเป็นเหมือนที่เราคิด 100 เปอร์เซ็นต์ แต่มันประกอบร่างจากหลายๆ อย่าง ต้องให้คนที่อยู่ในทีมรู้สึกเป็นเจ้าของงานร่วมกันด้วย

อีกเรื่องหนึ่งคือ ยุคสมัยมันเปลี่ยน ตอนแรกๆ ช่องของเราก็ใช้คำหยาบกันเยอะพอสมควร แต่พอมีเด็กดู มีเด็กติดตามเยอะ แล้วเราเองก็โตเป็นผู้ปกครองแล้วด้วย จริงๆ เราก็ยังมองว่าคำหยาบมันเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่บริบทสังคมมันเปลี่ยนไป ก็ต้องค่อยๆ ปรับ ไม่ใช่ว่าเราต้องสอนให้เด็กหลีกเลี่ยงคำหยาบนะ แต่เราสอนให้เขารู้จักกาลเทศะได้ 

ทุกวันนี้เราก็แค่ดึงกลับมาให้มันอยู่ตรงกลาง จากที่เคยหยาบมากก็แค่พูดไปตามปกติ ไม่ได้พยายามจะหยาบ อาจเป็นเพราะสมัยก่อนมันอาจจะถูกกดทับมั้ง เราก็เลยหยาบเยอะ แต่สมัยนี้ทุกคนชินกันหมดแล้ว พอทุกคนชินมันก็จะจูนกลับมาอยู่ตรงกลางเอง

ความหมายของชื่อช่อง RUBSARB คืออะไร

RUBSARB ก็คือ ‘รับทราบ’ จอร์จ จิ๋ว หลุยส์ เป็นคนตั้ง เพราะตอนนั้นเราอยู่อเมริกา ตั้งชื่อนี้เพราะรู้สึกว่ามันให้อารมณ์แบบ ‘ได้ครับ’ ‘ได้เลย’ มันดู active ในการทำงาน แล้วพอผวนมันก็เป็น ‘ลาภทรัพย์’ ดูรวยดี 

เนื้อหาแบบไหนที่ช่อง RUBSARB ต้องการสื่อสารกับผู้ชม

ถ้าจะให้นิยาม เรามองว่า RUBSARB เป็นที่ปล่อยของของเราเฉยๆ เวลาเจออะไรมา อยากเล่าอะไร ก็ทำไป มันแค่นั้นเลย เหมือนเป็นที่ปลดปล่อยสิ่งที่เราอยากสื่อสาร ไม่ได้ตั้งเป้าอะไรขนาดนั้น สุดท้ายมันก็ออกมาเองว่าเราอยากสื่อสารเรื่องนั้นเรื่องนี้ 

อารมณ์เหมือนเราเพิ่งดูหนังเสร็จแล้วอยากเม้าท์กับเพื่อน หรือเจออะไรเจ๋งๆ มาเราอยากโม้ต่อ แล้วก็มาโม้ต่อด้วยภาษาการเล่าเรื่องแบบของเรา เราก็มองแค่นั้น

ถามว่ามันมีมุม education ไหม มันก็มี อย่างเช่นรายการ ‘ศิลปะล่ะ’ ของจอร์จ จอร์จมีความรู้สึกว่าอยากให้ศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น เพราะศิลปะบ้านเรามันบิดเบี้ยวไปหลายอย่าง จอร์จมองว่ามันเป็นเครื่องมือของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อสาร มันเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยทักษะอย่างใดอย่างหนึ่งที่เราฝึกฝนมา และเราก็ถ่ายทอดมันไปผ่านทักษะนั้นๆ 

กระแสตอบรับของช่อง RUBSARB เป็นอย่างไรบ้าง ถือว่าประสบความสำเร็จตามที่คิดไหม

มันก็เติบโตมาเรื่อยๆ ในวิสัยทัศน์ของจอร์จที่มองว่าเน้นความมั่นคง ค่อยเป็นค่อยไป เพราะเราก็มีบทเรียนมาจากตอนทำช่อง VRZO ถึงมันจะโตช้าไปนิดนึง แต่ก็ไม่เป็นไร ค่อยๆ จัดการมันไป

ถ้าถามว่าสำเร็จหรือยัง ไม่รู้ดิ มันก็ยังห่างไกลจากคำว่าสำเร็จของเรา แค่กลับไปอยู่จุดเดิมเหมือน VRZO ให้ได้ก็ยังยากเลย ทุกวันนี้ rising star เกิดง่ายกว่าเราที่เกิดแล้วก็ดาวน์ลงไป

แค่ไหนถึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จตามนิยามของอิสระ

รวย!! 

จริงๆ ถ้านิยามในแง่ของการทำงาน แน่นอนมันก็มีหลายพาร์ทที่จะต้องปรับปรุง ทั้งเรื่องของความเป็นองค์กร การบริหารต่างๆ ก็ต้องปรับปรุงไปเรื่อยๆ 

ความสำเร็จอย่างหนึ่งที่เป็นตัววัดผลให้เห็นง่ายมากยิ่งขึ้นก็คือ เงิน ความมั่นคง แล้วก็การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งตอนนี้ก็ค่อยเป็นค่อยไป มันมี next goal ใหม่ๆ มีความท้าทายใหม่ๆ ที่เราตั้งไว้อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไปไม่ถึง

ยังไม่นับเรื่องความมีชื่อเสียงอีก มันก็มาในระดับหนึ่งแล้ว เพราะทำมานาน แต่มันไปได้กว่านี้ไหม เราก็มอง next step ต่อไปเรื่อยๆ

อะไรคือเสน่ห์ของรายการที่ทำให้คนติดตามมาจนถึงทุกวันนี้ และดูเหมือนว่าจะขยายฐานคนดูมากขึ้นเรื่อยๆ

เรื่องการรักษาฐานคนดู เราทำงานด้วยความจริงใจอยู่แล้ว มันมีคนที่รู้สึกได้ แม้ว่าบางทีเราจะปากหมาหรือเราจะทะเลาะอะไรกับเขาไปบ้าง แต่เขารู้ว่าอันนี้คือเรา เขารู้ว่าเราเป็นยังไง บางอย่างเขาอาจไม่เห็นด้วยกับเรา แต่เขารู้ว่าเจตนาเราเป็นยังไง อันนี้คือเรื่องแรก คือเรื่องของความเชื่อใจ 

เรื่องที่ 2 คือเราทำมานาน เหมือนเราโตมากับเขา เขานั่งดูเราเป็นชั่วโมงๆ ไม่ใช่แค่ 2 นาที 3 นาที อันนี้มันก็คือสิ่งที่เราอยู่กับเขา เขารู้สึกว่าเราเหมือนญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง เหมือนพี่คนหนึ่ง เหมือนน้องคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง มากกว่ามองว่าเราเป็น influencer มันก็เลยทำให้เรายังอยู่ด้วยกัน แน่นอนว่าเราก็ไม่ได้ชอบญาติเราทุกคน แต่เราก็คือญาติเขาคนหนึ่ง อันนี้คือความรู้สึกที่เราได้รับ feedback มา

สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ถือว่าตอบโจทย์ในสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วหรือยัง

ตอบโจทย์สิ่งที่ตัวเองชอบหรือยัง นี่ก็หันกลับมาถามตัวเองเหมือนกัน ช่วงนี้ได้มีโอกาสไปอบรม ไปออกงาน ได้คุยกับยูทูบเบอร์คนอื่นๆ ที่ทำมา 8 ปี 10 ปี หลายคนก็อยากจะเฟดตัวออกจากหน้ากล้องบ้าง หันไปทำธุรกิจบ้าง เพราะรู้สึกว่าอยู่หน้ากล้องตลอดไปไม่ไหว 

แต่เราเพิ่งได้คำตอบเมื่อไม่กี่วันนี้เองมั้ง เราตอบตัวเองได้ว่า ฉันยังแฮปปี้ที่อยู่หน้ากล้อง แต่ในขณะเดียวกันฉันก็สนใจระบบ ฉันก็สนใจธุรกิจ ก็พยายามจะหา formula บางอย่างให้ระบบมันรันไปได้โดยที่เรายังอยู่หน้ากล้อง แล้วก็ได้ทำงานอื่นๆ ด้วย ยืนยันว่ายังแฮปปี้ที่จะขี้โม้ต่อไป

อยากให้เล่าถึงช่วงหนึ่งที่หายไปจากโลกออนไลน์ ตอนไปเรียนต่อและใช้ชีวิตที่อเมริกา ได้เรียนรู้ทักษะอะไรบ้าง

ตอนไปใช้ชีวิตที่โน่นก็เป็นอะไรที่ใหม่มากๆ เราไปแบบไม่เอาอะไรเลย ไม่รู้จักใครเลย ไปหาบ้านเช่าเอง ทำเองทั้งหมดโดยที่ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็เป็นอีกหนึ่งความสนุก พอเรียนไปประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มสื่อสารได้นิดหน่อย พอเรียน 6 เดือน เราก็เริ่มพูดได้แล้ว 

หลังจากนั้นก็เริ่มมองว่าเราจะเรียนต่อ ป.โท ไหม แล้วพอเราดูค่าเทอม ดูอะไรต่างๆ ก็รู้สึกไม่ค่อยคุ้มค่าที่จะเรียนต่อ เลยเลือกที่จะเรียนคอร์สสั้นๆ ที่มีวิธีการสอนแบบเวิร์กช็อปก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ดี 

ในเรื่องทักษะ เราได้ความห้าวหาญมาเยอะ ปกติก็ไม่ได้แคร์อะไรอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ไม่ได้แคร์มากขึ้นไปอีก แล้วเราก็ open ในเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่แล้ว กับอีกสิ่งหนึ่งคือทักษะการเอาตัวรอด เราก็ได้ทักษะเหล่านั้นกลับมา เพราะว่าไปที่ไหนก็ได้ ไม่ได้กลัวอะไร

ตอนตัดสินใจกลับเมืองไทย คาดหวังอะไรบ้าง

‘ลูก’ เพราะว่าตอนนั้นเราก็อยู่มา 4 ปีแล้ว มันเหมือนเก็บ level ครบแล้ว มี connection ครบ กำลังจะสร้างอะไรเป็นของตัวเอง แต่ทีนี้มันมีสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบที่เมืองไทย ซึ่งก็คือลูก เราก็เลยต้องเลือกระหว่างการทิ้งสิ่งที่เราจะสร้างหรือความฝัน กับการกลับมารับผิดชอบลูกเรา ซึ่งเราก็ต้องเลือกลูกอยู่แล้ว

ถามว่าคาดหวังอะไร ก็คาดหวังว่าจะเป็นกลับมาทำหน้าที่ ‘พ่อ’ที่ไม่ได้ทำกับเขาตั้งหลายปี สรุปก็ยังทำได้ไม่ดีนะตอนนี้ ยังห่างไกลจากคำว่าพ่อที่ดีในทัศนะของเราไปเยอะ แต่ก็พยายามให้มันเข้ากับชีวิตเรามากที่สุด เลยไม่ได้คาดหวังอะไรมาก คาดหวังแค่ว่าต้องหารายได้ แล้วก็เพิ่มทักษะให้เขาให้ได้มากที่สุด

หลังจากกลับมาทำช่อง YouTube ร่วมกับเพื่อนๆ มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างในแง่ของวิธีคิด วิธีการทำงาน

เปลี่ยนเยอะ เพราะว่าเรามีบทเรียนจาก VRZO แล้วว่า พอเรากอดงานไว้กับตัวเอง มันก็จะเหนื่อยง่าย burnout ง่าย ตอนนี้เราวางวิธีคิดไว้ว่าเราจะไม่ burnout อีกแล้ว พยายามจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เรา burnout ออกไป ก็ตั้งเป้าไว้แบบนี้ คิดว่าเดี๋ยววิธีการมันก็คงตามมาเอง

จากที่ไปเรียนต่างประเทศ ระบบการศึกษาของเขาต่างกับบ้านเราอย่างไรบ้าง

มีโอกาสได้คุยกับครูคนไทยที่สอนในโรงเรียนอเมริกา ลองถาม schedule การใช้ชีวิตของเขา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็บอกว่างานเอกสารน้อยมากนะ แค่เตรียมการสอนอย่างเดียว ที่เหลือก็คือต้องอยู่กับนักเรียน ขนาดว่าการศึกษาที่นั่นก็ไม่ได้เลิศที่สุด แต่ระบบของเขาก็ให้ความสำคัญกับเด็กมาก 

ระบบเขาเหมือนมีจุดประสงค์ที่บอกได้ว่า เรียนไปเพื่ออะไร มันจะมีชุดความคิดว่าการศึกษาเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการหาความก้าวหน้าบางอย่าง แต่เครื่องมือเหล่านั้นจะถูกใช้เมื่อจำเป็น บางคนจบไฮสคูล (high school) แล้วไปทำงานเลยก็ค่อนข้างเยอะ ไม่ต้องเรียนต่อก็ได้ เพราะมีโอกาสไปทำงานอื่นๆ เยอะมาก แต่ถ้าคุณรู้สึกมันยังไม่พอ คุณค่อยมาเรียนเพิ่ม เหมือนเน้นการเรียนเพื่อออกไป survivor ให้ได้มากกว่า

คิดเห็นอย่างไรกับปัญหาระบบการศึกษาของไทย โดยเฉพาะเรื่องการสร้างทักษะของเด็กไทยในโลกสมัยใหม่

ยังห่างไกล สำหรับเรารู้สึกว่าการส่งเสริมทักษะในโลกสมัยใหม่ยังห่างไกลมาก เรามองว่าอาจารย์ผู้ใหญ่ส่วนมากยังปรับตัวไม่ได้ หรือถ้าปรับตัวได้ก็ยังติดที่ผู้บริหาร และระบบที่มันเทอะทะ ถึงแม้ว่าตัวบุคลากรค่อนข้างพร้อม แต่ภาพรวมมันยังไม่ค่อยพร้อม มันยังแหว่งอีกเยอะเลย

ผมเคยอ่านบทความหนึ่งไม่รู้ว่าจริงเท็จแค่ไหน เขาบอกว่าที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนระบบการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการเรียน 5 วิชา วิชาแรกคือภาษา นักเรียนต้องมีทักษะทางภาษา คือภาษาบ้านเกิดที่เป็น culture แล้วก็ภาษาอื่นๆ อีก 4 ภาษา แต่สำหรับบ้านเราแค่ได้ 2 ภาษา ก็โอเคแล้ว 

วิชาที่ 2 คือ computer sciences มันจะแตกย่อยมาเป็น AI หรืออะไรอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์และดิจิทัล 

วิชาที่ 3 คือ วิชาหน้าที่พลเมือง อันนี้จากคำอธิบายของเขา เรารู้สึกว่ามันสมเหตุสมผลที่เด็กจะต้องเรียน เพราะเราโตมาแบบไม่เคยรู้เลยว่าการจ่ายภาษีต้องจ่ายอย่างไร ประเทศไทยปัจจุบันก็เห็นบอกว่าเก็บภาษีรายได้ส่วนบุคคลได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แล้วทำไมไม่สอนเรื่องนี้บ้างล่ะ ระบบต่างๆ มันก็คือหน้าที่พลเมือง คุณมีสิทธิและหน้าที่แค่ไหน กฎหมายต่างๆ เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันยังไงบ้าง 

ถัดมาคือ financial จะเป็นวิชาเกี่ยวกับการเครื่องมือในการคำนวณ หรือการเงินต่างๆ ดูอย่างสิงคโปร์ ประเทศที่ไม่มีอะไรเลย แต่เขาเน้นสิ่งที่เรียกว่าการเงิน เขาเลยมีปัจจุบันนี้ขึ้นมาและแซงหน้าเราไปเท่าไรไม่รู้ 

วิชาสุดท้าย วิชาการอ่าน นักเรียนมี assignment ว่าต้องอ่านหนังสือที่ตัวเองเลือกสักอาทิตย์ละเล่ม 

นี่คือ 5 วิชา ที่เราคิดว่าก็ค่อนข้างครอบคลุมนะ

คิดว่าทักษะอะไรที่สำคัญในศตวรรษที่ 21

อย่างที่บอกไปว่ามันก็มี 5 ทักษะนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าโบราณไปหรือเปล่า เพราะถ้าวันหนึ่งที่ AI เข้ามา ทักษะทางภาษาจะถูกลดลงไปทันที วันหนึ่งมันต้องมีเครื่อง translate ที่เราพูดอะไรไปแล้วมันใช้ได้ทันที แล้วมันแม่นยำมากยิ่งขึ้น มันสามารถทำได้แน่ๆ เพราะฉะนั้นเราก็เลยคิดว่าอันนี้มันเก่าไปหรือยัง แต่ก็คิดว่ายังเป็นทักษะที่จำเป็นมากๆ อยู่ เพราะทันทีที่คุณ unlock ภาษา คุณก็จะได้ข้อมูลอีกแบบ เป็นข้อมูลอีกชุดที่ไม่มีอยู่ในภาษาไทยเลย คำถามที่เราสงสัยอาจจะได้รับคำตอบทันทีเลยก็ได้ 

กับอีกทักษะของเด็กยุคใหม่ที่เรามองว่าสำคัญ คือทักษะคอมพิวเตอร์ กับโปรแกรมมิ่งต่างๆ และอีกทักษะหนึ่งคือทักษะการหาข้อมูล ทักษะนี้เด็กควรจะมี เพราะว่า เราพ้นยุค information era มาแล้ว ทุกวันนี้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมันเยอะมาก ต้องใช้ทักษะในการหาข้อมูล การคัดกรองข้อมูลว่าข้อมูลนี้เชื่อถือได้มากแค่ไหน จริงๆ มันคือทักษะวิธีคิดในการหาข้อมูลแบบการทำวิจัยนั่นแหละ ซึ่งเรามองว่าเด็กควรจะมีทักษะนี้ 

ทักษะต่อมาที่เด็กยุคนี้ต้องมีคือ crisis management คุณต้องรู้ว่าจะจัดการปัญหาอย่างไรถ้าเกิดวันหนึ่งคุณบ้งขึ้นมา แน่ล่ะ ทุกคนต้องบ้งอยู่แล้ว เราก็บ้ง มันเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราผิดพลาดได้ ถ้าเกิดวันหนึ่งมันเกิดขึ้นกับเรา เกิดขึ้นกับเพื่อนเรา หรือเกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา เราจะบอกเขาให้จัดการ crisis นั้นอย่างไร จะจัดการกับความผิดพลาดนั้นอย่างไร เราก็เลยรู้สึกว่าทักษะนี้ควรที่จะต้องมี

ทักษะเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการทำคอนเทนต์ของตัวเองอย่างไรบ้าง

มันต้องใช้อยู่แล้ว เพราะเวลาเราพูดอะไรไปมันมีผล คน feedback ได้ เพราะฉะนั้นทักษะเหล่านี้มันต้องใช้ตลอดอยู่แล้ว ตั้งแต่เลือกคอนเทนต์ไปจนกระทั่งการคิด หรือถ้าเกิดมันผิดพลาดขึ้นมา เราจะจัดการกับความเห็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร

นอกเหนือจากเรื่องการศึกษาแล้ว คุณยังสนใจประเด็นทางสังคมการเมืองด้วยใช่ไหม

ถ้าดูจากประวัติครอบครัวมันก็สืบเนื่องมาอยู่แล้วนะ เพราะเป็นครอบครัวที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาตลอด คิดว่าก็คงอยู่ในสายเลือดล่ะมั้ง 

ที่ผ่านมาได้มีส่วนร่วมผลักดันประเด็นทางสังคมอย่างไรบ้าง

เราก็ใช้พื้นที่ของเราในการส่งเสียงออกไป แค่นั้นเลย เราทำได้แค่นั้น เพราะว่าเรายังแฮปปี้ที่จะมีชีวิตแบบอิสระตามชื่อ ให้คนที่เก่งกว่าเราในเรื่องงานระบบเข้าไป (ในสภา) ดีกว่า เราไม่ได้เป็นคนที่พร้อมจะเสียสละในรูปแบบนั้น เราพร้อมที่จะเสียสละในรูปแบบอื่นมากกว่า

กับบทบาทการเป็นพ่อ คุณมีแนวทางเลี้ยงดูลูกอย่างไร

แม่ของเรา (ครูประทีป) ให้เรียนภาษา จนเมื่อปี 2 ปีก่อน ลูกเพิ่งเริ่มพูดได้ กล้าพูดมากขึ้น ก็สบายใจไปหนึ่งเรื่อง เพราะเรามองว่าภาษาอังกฤษมันสำคัญมาก ตอนนี้ก็พยายามให้เขาเรียนภาษาญี่ปุ่นเพิ่ม

แล้วก็พยายามติดทักษะอื่นๆ ให้เขา และพยายามบอก อธิบายให้เขาเข้าใจ เช่น เราเห็นเขาชอบเล่นเกมอยู่แล้ว แค่อาศัยเกมเป็นสะพานเชื่อมให้เขาไปรู้จักการ coding การเขียนโปรแกรมต่างๆ มันก็จะได้ฝึกตรรกะไปด้วย 

วางอนาคตของลูกไว้อย่างไร

เราบอกเขาว่า ค่าแรงที่นี่มันเป็นยังไง แล้วเราก็แค่อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นให้เขาฟังไปเรื่อยๆ ล่าสุดพาลูกไปสิงคโปร์ก็เล่าให้เขาฟังว่า ประเทศนี้อายุน้อยกว่ายายอีกนะ แต่เขาไปไกลกว่าเราเยอะ เราก็ให้เขาดูและให้เขาค่อยๆ ซึมซับเปรียบเทียบกันไปเรื่อยๆ ในเมื่อเรามีโอกาสในการพาเขาไปเปิดโลก ให้โอกาสที่มากกว่าคนอื่น โน้มน้าวเขาด้วยการพาเขาเข้าไปดู แล้วบอกเขาว่ามันแตกต่างกันอย่างไร

ดูเหมือนว่าอยากให้ลูกไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศมากกว่า

ก็อยากจะให้เป็นอย่างนั้น แต่สุดท้ายมันก็ต้องแล้วแต่เขา เราทำได้แค่ชี้ชวนให้ดู ชี้ชวนให้เห็น แต่แน่นอนสิ่งที่เราต้องทำก็คือ ติดอาวุธทักษะให้เขาให้ได้มากที่สุด

คิดว่าติดอาวุธให้ลูกเพียงพอหรือยัง

พอเขาเริ่มพูดภาษาอังกฤษได้ก็โล่งไป 1 เปราะ ที่เหลือก็ยังมีอีก ต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะนี่ก็กำลังโต แล้วกำลังเริ่มจะมีเรื่องเพศเข้ามาตามประสาวัยรุ่น