“U-Volunteer for School” รวมพลังนักศึกษาอาสาสมัคร พัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

“U-Volunteer for School” รวมพลังนักศึกษาอาสาสมัคร พัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล

“อยากเห็นเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและยั่งยืน เพื่อเติบโตขึ้นพร้อมทักษะวิชาการและทักษะการใช้ชีวิต”

“โอกาสทางการศึกษาที่เราส่งไปในวันนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ เป็นต้นกล้าที่ดีและแข็งแรง แล้วเมื่อเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ พวกเขาจะเปลี่ยนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ต่อไป”

“อยากเห็นน้อง ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งเราเชื่อมั่นจริง ๆ ว่าทีมอาสาสมัครจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพนั้นเกิดขึ้นได้”

“ถ้าปลายทางของการทำงานอาสา คือการได้เห็นเด็ก ๆ มีความรู้ ทักษะ และมีแรงบันดาลใจ ก็รู้สึกคุ้มค่าแล้วกับเวลาที่เราทุ่มเทพยายามลงไป”

พลังอาสาสมัครจะช่วยเติมเต็มการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างไร ? …ชวนฟังเสียงจากทีมนักศึกษาอาสาสมัครจาก ‘โครงการนำร่องพัฒนากลไกอาสาสมัครในสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล’ หรือ U-Volunteer for School ที่ กสศ. ร่วมกับ มูลนิธิวายไอวาย (Why I Why Foundation และ 5 มหาวิทยาลัย ริเริ่มขึ้นด้วยจุดประสงค์คือพัฒนาทักษะพี่ ๆ นักศึกษาอาสาสมัคร เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ‘ภารกิจสร้างโอกาสทางการศึกษา’ ให้กับน้อง ๆ นักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โดยเฉพาะการเข้าไปทำงานกับโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งไม่อาจควบรวมได้ เนื่องด้วยความสำคัญของการมีอยู่ในฐานะ ‘โรงเรียนของชุมชน’ หรือเป็นสถานศึกษาสำหรับรองรับเด็กเยาวชนในท้องถิ่น ซึ่งขาดแคลนโอกาสในการเดินทางไปเรียนยังโรงเรียนที่อยู่ไกลออกไป

โดย U-Volunteer for School จะเป็นพื้นที่พัฒนาทักษะเพื่อผลิตกำลังคนรุ่นใหม่ ที่สามารถนำความรู้ความสามารถเข้าไปพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกลในฐานะอาสาสมัคร ซึ่งขณะนี้โครงการได้เริ่มต้นโดยนำร่องร่วมกับ 5 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พร้อมได้จัดกิจกรรมค่ายปฐมนิเทศชวนพี่ ๆ อาสาจากสถาบันต่าง ๆ มาพบกัน เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้และทักษะจำเป็นผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อป ก่อนจะเดินหน้าลงพื้นที่ทำงานกับโรงเรียนกลุ่มเป้าหมาย อันได้แก่โรงเรียนขนาดเล็กห่างไกลที่จะใช้ฐานข้อมูลจาก กสศ. เป็นโจทย์ในการสำรวจความพร้อมและคัดเลือกเป็นโรงเรียนต้นแบบต่อไป

“สิ่งที่เป็นรูปธรรมและทำได้ทันที คือระดมทรัพยากรการศึกษาให้เข้าไปถึงน้อง ๆ ในพื้นที่ห่างไกล”

พี วรกิจ คำใจ

หลังพบกันครั้งแรกและร่วมกิจกรรมที่อัดแน่นด้วยความรู้และทักษะของนักพัฒนาตลอดสามวันเต็ม พี วรกิจ คำใจ นักศึกษาชั้นปี 3 จากสาขารัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า กิจกรรมครั้งนี้ทำให้มองเห็นหลากหลายมิติของกลไกอาสาสมัคร ที่จะสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ที่ขาดแคลนและอยู่ห่างไกลจากโอกาส โดยเฉพาะการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางทรัพยากร โดยใช้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน     

“มุมมองหนึ่งที่เราเห็นว่าเป็นรูปธรรมและทำได้ทันทีในช่วงเวลาราวห้าเดือนของโครงการ คือการระดมทรัพยากรการศึกษาให้เข้าไปถึงน้อง ๆ นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล เพราะถึงแม้ว่าการพัฒนาโรงเรียนจะมีความยาก และมีรายละเอียดหลายสิ่งต้องทำ ไม่ว่าการเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาโรงเรียนให้ตรงจุด หรือการพัฒนาที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งครูและนักเรียน อย่างไรก็ตามเมื่อคำนึงถึงโจทย์พื้นฐานของโรงเรียนขนาดเล็กที่ตลอดมาต้องเผชิญความขาดแคลนปัจจัยพื้นฐาน จึงคิดว่าถ้าเริ่มต้นจากลดข้อจำกัดของการเข้าถึงทรัพยากร ที่ไม่ใช่แค่นำสิ่งของหรือทุนเข้าไปมอบให้ แต่เป็นการดึงความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่มาช่วยกัน และเข้าไปช่วยพัฒนารากฐาน เช่น การซ่อมแซมอาคารเรียน ปรับปรุงห้องสมุด รวมถึงช่วยจัดหาสื่อการเรียนรู้ที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะเรียนรู้ด้วยตนเองได้ ก็จะสามารถหวังผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงระยะยาวได้”

พีบอกว่า ที่ตัดสินใจร่วมโครงการนี้ เพราะอยากเห็นเด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเที่ยมและยั่งยืน เพื่อเติบโตขึ้นโดยมีทักษะด้านวิชาการและทักษะการใช้ชีวิต ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงภาพสังคมในวงกว้าง และสำหรับวันนี้ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอย่างเต็มตัวแล้ว ก็คิดว่าจะพยายามพัฒนาทักษะและนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ และจะสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมต่อไป

“เมื่อเริ่มต้นแล้ว เครือข่ายจะมีแต่ขยายออกไปเรื่อย ๆ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ”

แพน กัญทิมา มองเพชร

แพน กัญทิมา มองเพชร จากสาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา ภาควิชาอาชีวศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพ่วงด้วยตำแหน่ง นายกสโมสรนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2568 กล่าวว่า ในฐานะผู้นำกิจกรรมนิสิต ตนเองให้ความสำคัญมากกับการพัฒนากลไกอาสาสมัครเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะไม่ใช่แค่ช่วยขยายโอกาสการเรียนรู้ไปสู่พื้นที่ขาดแคลน แต่ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนิสิตนักศึกษาและชุมชน ซึ่งหลักสำคัญของการทำงานคือ “เมื่อได้เริ่มต้นแล้ว เครือข่ายจะมีแต่ขยายออกไปเรื่อย ๆ” ซึ่งหมายถึงยิ่งเวลาผ่านไป ภาคีเครือข่ายจะยิ่งเพิ่มพูนทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

“เราอยากพัฒนาโครงการที่ดึงดูดการมีส่วนร่วม เพื่อสร้างโอกาสและแรงบันดาลใจที่ยั่งยืน ภาพที่มองไว้จึงเป็นการจัดกิจกรรมอาสาสมัครที่เน้นพัฒนาเยาวชน โดยหวังผลทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่นมีค่ายเสริมทักษะ สอนพิเศษ หรือโครงการแนะแนวการศึกษา และสำคัญมากคือมุ่งสร้างเครือข่ายกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้ระยะยาวได้แม้ในวันที่โครงการสิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้จะส่งเสริมและชักชวนให้นิสิตคนอื่น ๆ มามีส่วนร่วม เพื่อขยายผลภายในสถาบันอีกด้วย”  

แพนบอกเล่าถึงความคาดหวังต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ว่าอยากเห็นเด็กเยาวชนทุกพื้นที่เข้าถึงโอกาสได้โดยไม่จำกัดด้วยฐานะหรือระยะทาง และการศึกษาควรส่งเสริมการพัฒนาทักษะชีวิตควบคู่ไปกับความรู้ทางวิชาการ เพื่อให้ผู้เรียนนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง โดยเชื่อว่า ‘การเรียนรู้ที่หลากหลายตามบริบท’ และ ‘ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่’ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเป็นต้นทางของการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในอนาคต 

“ที่เลือกเป็นอาสาสมัครด้านการศึกษา เพราะเราเชื่อว่าการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาชีวิตและสังคม อีกทั้งเราเองเป็นนิสิตครูที่มีโอกาสได้เห็นการเรียนรู้และระบบการศึกษาในหลายรูปแบบ จึงมีต้นทุนที่จะช่วยให้ตกผลึกได้ว่าการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นแบบใด ซึ่งแน่นนอนว่าไม่ได้มีเพียงรูปแบบใดหนึ่งตายตัว และแม้ว่าการทำงานครั้งนี้จะซับซ้อนและท้าทายมาก ๆ แต่เรารู้ว่าผลลัพธ์ที่จะได้คือการสร้างโอกาสให้เด็ก ๆ มีอนาคตที่ดีขึ้น ส่วนท้ายที่สุด ถ้าปลายทางของการทำงานอาสา คือการได้เห็นเด็ก ๆ มีความรู้ ทักษะ และมีแรงบันดาลใจ ก็รู้สึกคุ้มค่าแล้วกับเวลาที่เราทุ่มเทพยายามลงไปค่ะ”

“ถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้แล้วจะหวังให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็คงไม่มีทางเป็นไปได้”

ชะโอม อิทธิเดช ตื้อยศ นักศึกษาชั้นนปี 3 สาขาการบริการงานท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า จากข้อมูลที่ระบุว่าประเทศไทยมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลมากกว่า 1,000 แห่ง ที่ขาดแคลนทรัพยากรทั้งบุคลากรและสื่อการเรียนรู้ จึงมองว่าการจัดตั้งกลไกอาสาสมัครถือว่าคือความเป็นไปได้อย่างยิ่ง ที่จะช่วยเติมเต็มและลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำดังกล่าว โดยกระบวนการต้องทำผ่านการทำกิจกรรมแลระดมการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ และนอกจากทำงานในพื้นที่ห่างไกลโดย การจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยเพื่อระดมความร่วมมือของรุ่นพี่รุ่นน้องและบุคลกรภายในมาเพิ่ม  ตลอดจนขยายผลจากโครงการไปทำร่วมกับโรงเรียนอื่น ๆ ในการหาทรัพยากร ทุนทรัพย์ หรือสื่อการเรียนรู้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเพิ่มโอกาสให้กับน้อง ๆ กลุ่มนี้

“เราเชื่อมั่นว่าโอกาสทางการศึกษาที่ส่งไปในวันนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ เป็นต้นกล้าที่ดีและแข็งแรง แล้วเมื่อเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ พวกเขาจะเปลี่ยนจากผู้รับกลายเป็นผู้ให้ต่อไป อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าวันนี้ประเทศไทยยังมีจำนวนอาสาสมัครน้อย และไม่มีได้มีเครือข่ายความร่วมมือที่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อมองถึงจำนวนเด็กทั้งหมดที่ขาดแคลนโอกาสทางการศึกษา จึงพบว่าหลายพื้นที่ยังไม่มีความช่วยเหลือเข้าไปถึง พอเราทราบว่ามีโครงการอย่างนี้ เลยไม่รีรอที่จะร่วมเป็นอาสาสมัคร เพราะถ้าเราไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้แล้วจะหวังให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็คงไม่มีทางเป็นไปได้”

“ถ้าต่อยอดผลลัพธ์จากตัวโครงการไปประยุกต์ใช้ในปีการศึกษาต่อ ๆ ไปได้ นั่นเท่ากับสิ่งที่ร่วมกันทำครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้ว”

ณัฐ ณัฐสุดา กังวาฬ

ณัฐ ณัฐสุดา กังวาฬ นักศึกษาปี 4 สาขารัฐศาสตร์ คณะวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ บอกว่า ‘การแก้ปัญหาตรงจุด’ หรือตรงกับความต้องการของพื้นที่ จะช่วยให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาทุเลาลงได้ กลไกอาสาสมัครจึงมีความสำคัญมาก ในการลงพื้นที่สำรวจสอบถามความขาดแคลนและความต้องการ จากครูและนักเรียนในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โดยข้อมูลนั้นจะเป็นต้นทางของกระบวนการวิเคราะห์เพื่อหาวิธีการทำงานที่เหมาะสม  

 “สำหรับทีมอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เรามองว่าการเข้าไปช่วยเรื่องเสริมทักษะภาษาให้กับน้อง ๆ และช่วยคุณครูจัดหาจัดทำสื่อการสอนที่น่าสนใจ ทันสมัย และเพียงพอต่อความต้องการ คือการเริ่มงานที่ตรงจุด และสอดคล้องกับบริบทของหลายโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลของภาคเหนือ ทั้งนี้ภารกิจสำคัญคือเราต้องรู้ว่าน้อง ๆ นักเรียนควรจะเรียนรู้ หรือต้องการการเรียนรู้อย่างไรที่เหมาะกับบริบทของชีวิต และวางแผนทำงานให้เป็นไปในทิศทางนั้น

 “อยากเห็นน้อง ๆ มีความสุขกับการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งเราเชื่อมั่นจริง ๆ ว่าทีมอาสาสมัครจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพนั้นเกิดขึ้นได้ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เราตัดสินใจมาทำงานอาสาสมัครด้านการศึกษา โดยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ ในพื้นที่ห่างไกลจากโอกาส สามารถเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้ด้วยตัวเองและนำไปใช้ได้จริง ทั้งในการศึกษาต่อและการทำงาน”

ณัฐทิ้งท้ายเกี่ยวกับแผนการทำงานหลังจากนี้ว่า คณะอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้วางเป้าหมายการทำงานโดยแบ่งออกเป็น ระยะแรกคือคาดหวังให้น้อง ๆ เรียนรู้บนความสนุก มีทักษะวิชาการและทักษะด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ส่วนความคาดหวังระยะถัดไปคือ มุ่งให้ตัวคุณครูเป็นผู้ต่อยอดผลลัพธ์จากตัวโครงการ โดยสามารถนำเทคนิควิธีการและกระบวนการไปประยุกต์ใช้ในชั้นเรียนในปีการศึกษาต่อ ๆ ไปได้ ซึ่งนั่นเท่ากับว่าโครงการนำร่องที่ร่วมกันทำในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแล้ว

และนี่คือจุดเริ่มต้นของการสร้างพลังจากเครือข่ายนักศึกษาอาสาสมัคร ที่จะลงพื้นที่ไปปฏิบัติงานจริงในอนาคตอันใกล้ โดยผลจากภารกิจครั้งนี้จะสะท้อนกลับมาในรูปแบบใด จะมีความเปลี่ยนเปลงเกิดขึ้นและหยั่งราก-งอกงามในพื้นที่ใดบ้าง กสศ. จะเฝ้าติดตามและนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป   

อ่านข่าว : กสศ. ร่วมกับมูลนิธิวายไอวาย และ 5 มหาวิทยาลัย พัฒนากลไกอาสาสมัครในสถาบันการศึกษา ช่วยเสริมโอกาสนักเรียนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล