การศึกษายืดหยุ่น คืนโอกาส สร้างเส้นทางอนาคตแก่เยาวชนที่หลุดจากระบบ
ร่วมเรียนรู้ไปกับ Mobile School จังหวัดสงขลา

การศึกษายืดหยุ่น คืนโอกาส สร้างเส้นทางอนาคตแก่เยาวชนที่หลุดจากระบบ

“การมีโอกาสกลับมาเรียน ทำให้ได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น ตำแหน่งงานสูงขึ้น”

น้องยู เกตุทิพย์ พึ่งบุญ อดีตเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น กล่าวบนเวที Youth Talk การศึกษาเพื่อเด็กสงขลา ในงาน Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา ซึ่งจัดขึ้นที่โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น อ.เมือง จ.สงขลา โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กับ ศูนย์อาสาสร้างสุขภาคใต้ ร่วมด้วยภาคีเครือข่ายจังหวัดสงขลาทุกภาคส่วน ได้แก่ เครือข่ายศูนย์การเรียน สถานศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดสงขลา ตัวแทนผู้ปกครองที่จัดการศึกษาแบบบ้านเรียน สถาบันการศึกษาเพื่อปวงชน (มหาวิทยาลัยชีวิต) สำนักจัดหางานจังหวัดสงขลา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดสงขลา (สกร.) สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดสงขลา และเครือข่ายชุมชนสงขลา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ น้องนา สุไรนา หมุดแหล๊ะ ที่กล่าวว่าหลังจากกลับมาเรียน ได้วุฒิการศึกษา “ชีวิตเปลี่ยน” ไปทันที

สองเสียงยืนยันจากเยาวชนที่เคยหลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้ว เพราะต้องรับผิดชอบต่อการทำงานเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว เมื่อได้รับโอกาสให้ได้เรียนในรูปแบบใหม่ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต คือการเปิดเส้นทางอนาคตที่สร้างความหวัง ความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองต่อไป

เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าทุกคนอยากได้รับโอกาสทางการศึกษา อยากมีชีวิตที่ดี และแน่นอนว่าสังคมที่มีคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ย่อมเป็นสังคมที่ร่มเย็น การศึกษายืดหยุ่นจึงเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบได้อย่างตรงจุด

(นักศึกษาซ้ายมือ) น้องนา สุไรนา หมุดแหล๊ะ / (นักศึกษาขวามือ) น้องยู เกตุทิพย์ พึ่งบุญ

การหายจากระบบการศึกษาไม่ใช่ปัญหาของเด็ก

ยืนยันผ่านเวทีเสวนา ‘Mobile School การศึกษายืดหยุ่น ตอบโจทย์ชีวิต เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา จังหวัดสงขลา’ มีการนำเสนอตัวเลขเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาอายุ 3-18 ปีในระดับประเทศว่ามีจำนวนถึง 1.02 ล้านคน จำนวนนี้เทียบเท่าการศึกษาระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมปีที่ 6 โดยสาเหตุหลัก 3 ประการแรกมาจากความยากจน ปัญหาครอบครัว และออกกลางคันหรือถูกผลักออก เมื่อไม่จบการศึกษาระดับมัธยมตอนต้น จึงหมดโอกาสในการเข้าทำงานที่เปิดรับวุฒิขั้นต่ำไว้ที่มัธยมปีที่ 3 ซึ่งก็คือระดับการศึกษาภาคบังคับ ทำให้เด็กเยาวชนกลุ่มนี้ต้องทำงานที่ใช้แรงงานเสี่ยงต่อสุขภาพ และยังมีความเสี่ยงที่จะเข้าไปสู่วงจรยาเสพติด การลักขโมย การค้าประเวณี ฯลฯ

การดึงเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษากลับมาไม่ใช่เรื่องง่าย หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ก็ไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง แม้ว่าจะมีมาตรา 12 ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่ทำให้เกิดแนวทางการศึกษายืดหยุ่น ทำให้การเรียนไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน และสามารถออกแบบการเรียนให้เหมาะสมกับผู้เรียน สามารถเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อให้ประกาศนียบัตร การดำเนินการตั้งแต่การค้นหาเด็กที่หลุดจากระบบ การออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเด็กแต่ละคน จนสามารถจบการศึกษาได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากเครือข่ายหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรชุมชนที่มีความใกล้ชิดกับเด็กและครอบครัวมากที่สุด

อบต. ส่งถึง สกร. ร่วมค้นหา สร้างโอกาส

น้องยูและน้องนา ได้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งด้วยการชักชวนจากเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อแดง ให้สมัครเข้าเรียนกับศูนย์การเรียน CYF ซึ่งใช้วิธีการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนผ่านมือถือ การเทียบโอนประสบการณ์ชีวิตกับวุฒิการศึกษา ทำให้มีโอกาสจบการศึกษาใน 1 ภาคการศึกษา เริ่มจากการทำความเข้าใจปัญหาการเรียน แล้ววางแผนการศึกษาร่วมกับเด็ก ทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถกลับเข้ามาเรียนได้

น้องยูกับโครงการซูชิ

น้องยูเล่าถึงการกลับเข้ามาเรียนกับศูนย์การเรียน CYF ว่าออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่มัธยมปีที่ 2 มาทำงานในห้างสรรพสินค้า การเรียนผ่านมือถือ ครูจะดึงเข้ากลุ่มไลน์เชื่อมต่อไปที่ Google Classroom โดยครูจะสอนสด และให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการเรียนทำให้ไม่หนักใจ  ใช้เวลาในการเรียนเพียง 4 เดือนก็จบการศึกษาได้ประกาศนียบัตรมัธยมปีที่ 3 ตั้งใจว่าจะเอาไปสมัครเรียนต่อ เพราะพอได้ประกาศนียบัตรมาแล้วก็ได้เลื่อนตำแหน่ง มีเงินเดือนสูงขึ้น 

โครงการซูชิเป็นโครงการที่น้องยูเลือกทำก่อนจบการศึกษา เป็นเรื่องที่สนใจและใกล้เคียงกับวิถีชีวิตการทำงานในห้างสรรพสินค้านั่นเอง ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการศึกษายืดหยุ่นที่ทำใหผู้เรียนได้เห็นคุณค่าในประสบการณ์ตนเอง นำประสบการณ์นั้นมาเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนเห็นว่าการเรียนรู้ไม่ใช่สิ่งไกลตัว และสามารถนำประสบการณ์ทำงานมาเทียบวัดเป็นหน่วยกิตการเรียนได้

โครงการประมงของน้องนา

สำหรับน้องนา ซึ่งทำงานขายอาหารทะเล งานของเธอต้องออกทะเลไปดูแลวัตถุดิบ ดังนั้นจึงเลือกทำโครงการประมง น้องนาออกจากระบบการศึกษาตอนมัธยมปีที่ 2 เช่นเดียวกับน้องยู และ อบต.บ่อแดง ชักชวนให้เธอเข้าโครงการ Mobile School ด้วยการเรียนแบบยืดหยุ่นกับศูนย์การเรียนรู้ CYF โดยเรียนผ่านมือถือ หลังจากจบการศึกษาได้ประกาศนียบัตรวุฒิมัธยมต้น เธอก็ได้เลื่อนเป็นหัวหน้า ได้เงินเดือนขึ้น ซึ่งทำให้ “ชีวิตเปลี่ยน” ไปทันที น้องนาเล่าว่าในเพื่อนรุ่นเดียวกันจากบ่อแดง มี 12 คน ซึ่งจบการศึกษาทั้งหมด เพราะการเรียนไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีครูคอยช่วยเหลือแนะนำ ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างราบรื่น

สองเยาวชนผู้หลุดจากระบบการศึกษาและได้รับโอกาสให้กลับมาศึกษาอีกครั้ง แต่เป็นรูปแบบใหม่ที่มีมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับชีวิต สามารถเรียนไปทำงานไปได้ และใช้เวลาไม่นาน ทำให้มีโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตที่จะก้าวต่อไป เช่นเดียวกับเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับโอกาสกลับเข้ามาเรียนด้วยแนวทางการศึกษายืดหยุ่น หรือ Mobile School สิ่งที่พวกเขาบอกกับสังคมก็คือ ทุกคนอยากได้รับการศึกษา เพราะรู้ดีว่าการศึกษาจะช่วยสร้างชีวิตที่ดีให้กับพวกเขา เพียงแต่ที่ผ่านมากับปัญหารอบตัวทำให้มองไม่เห็นทางที่จะประคองตัวเองให้อยู่ในระบบได้ กสศ. จึงสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบ คืนโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้มีเส้นทางสร้างอนาคตที่ดีให้กับตนเอง ครอบครัว และแน่นอนว่าสังคมย่อมได้รับผลพวงนั้นด้วยเช่นกัน