ปัญหาสำคัญ คือเรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมทางทรัพยากร บุคลากร การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ บรรยากาศของการเรียนที่ทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ของโรงเรียน ปัญหาการกลั่นแกล้ง (bullying) สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน บ้าน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน
วันก่อนธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสองฉบับ คือรายงานดัชนีทุนมนุษย์ 2020 (Human Capital Index – HCI) โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย และได้นำเสนอรายงานเรื่อง Strengthening the Foundation for Education Success in Thailand – PISA 2018 ซึ่งเป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล PISA ของประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา การจัดสรรทรัพยากร การกระจายตัวของครู ในกรณีของประเทศไทย โดยมีวิทยากรผู้นำเสนอจากธนาคารโลก คือ Dr.Ronald Mutasa (ประเด็น HCI) และ ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (PISA 2018) และได้เชิญ ตัวผมและผู้แทนจาก UNICEF และจาก จุฬาลงกรณ์ฯ มาร่วมพูดคุย เห็นว่ามีบางประเด็นน่าสนใจ เลยจะขอเล่าให้ฟังกันครับ
*** Human Capital Index 2020 ***
ในส่วนของรายงาน Human Capital Index 2020 นับเป็นปีที่ 2 ที่ทางธนาคารโลกได้จัดทำรายงานนี้ขึ้นมา (ครั้งแรกในปี 2018) เพราะทำการวิเคราะห์ว่า ประเทศต่างๆ ในโลก มีระดับของดัชนีทุนมนุษย์เท่าไร โดยมีดัชนีง่ายๆ แค่สามด้าน คือ 1.ด้านการรอดชีวิต (อัตราการรอดชีวิตของเด็กอายุ 5 ขวบ, อัตราการรอดชีวิตของผู้ใหญ่อายุ 15-60 ปี) 2.สุขภาพ (สัดส่วนเด็กอายุ 5 ขวบที่ไม่แคระเกร็น) และ 3.การศึกษา (จำนวนปีที่ได้เรียนในโรงเรียน คะแนนสอบมาตรฐานระดับนานาชาติ) ซึ่งกรณีของประเทศไทยมี HCI เพิ่มขึ้นมานิดหน่อย คือจาก 0.58 เป็น 0.6 ซึ่งเขาให้ความหมายว่า 0.6 หมายถึง เด็กที่เกิดในประเทศไทยนั้นเมื่อมีอายุ 18 ปี จะสามารถบรรลุระดับของทุนมนุษย์ได้สูงสุดประมาณ 60% ของศักยภาพที่เขาสามารถเป็นได้ พิจารณาจากสภาพแวดล้อมทางสุขภาพ และทางการศึกษาของประเทศ
ในขณะที่สิงคโปร์มี HCI 0.88 หมายถึง เด็กที่เกิดในสิงคโปร์ในวันนี้ จะสามารถมีโอกาสบรรลุศักยภาพของตนเองได้ถึง 88% เมื่อเขามีอายุ 18 ปี โดยในภาพรวมประเทศสิงคโปร์มีค่าดัชนีทุนมนุษย์สูงสุดในโลก ส่วนในภูมิภาคเรา เวียดนาม บรูไน ก็มีคะแนนสูงกว่าไทย กลุ่มประเทศ CLM จะอยู่กลุ่มท้ายสุด
สัมภาษณ์เรื่องดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index) (เคยเขียนไว้เมื่อสองปีที่แล้ว ปีนี้ก็ไม่ค่อยมีอะไรเปลี่ยนมากนัก)
ที่น่าสนใจคือในกรณีของประเทศไทยที่แม้จะมี HCI สูงขึ้น แต่ปัจจัยด้านการศึกษา กลับเป็นปัจจัยที่มีระดับลดลง ทั้งในเรื่องของจำนวนปีการศึกษาในระดับปฐมวัย (Pre-primary)และมัธยมต้น (Lower-Secondary) มีประเด็นน่าสนใจนิดหน่อยที่ทาง World Bank พยายามคำนวณเปรียบเทียบค่าคะแนนมาตรฐานการสอบของหลายประเทศมาไว้ด้วยกันให้เทียบกันได้ เรียกว่า Harmonized Test Score (เช่น ประเทศที่ไม่เคยเข้าสอบ PISA เขาก็จะแปลงคะแนนอื่นๆ ให้อยู่ใน scale ที่พอจะเอามาเทียบได้) ทำให้เราได้เห็นคะแนนของประเทศที่เราไม่ค่อยได้เห็น เช่น พม่า เขมร ลาว มาเปรียบเทียบด้วย ซึ่งน่าสนใจมาก เพราะเขาบอกว่าเขมรทำคะแนนได้ดีทีเดียว ทำคะแนนได้ดีกว่าไทย พม่ากับไทยสูสีกัน แต่ ลาว ยังห่างอยู่ แต่ก็อยู่ในระดับแถวๆ ฟิลิปปินส์ ก็เป็นตัวเลขที่น่าสนใจดี (แต่จะจริงหรือไม่ก็แล้วแต่จะคิด คงอยู่ที่หลักการทางเทคนิคที่เขาเอาคะแนนมาแปลงเพื่อเปรียบเทียบกัน)
[ระดับคะแนนสอบมาตรฐานของประเทศอาเซียน มีดังนี้ สิงคโปร์ (575) เวียดนาม (519) กัมพูชา (452) มาเลเซีย (446) บรูไน (438) ไทย (427) พม่า (425) อินโดนีเซีย (395) ลาว (368) ฟิลิปปินส์ (362)]
***PISA 2018 Report***
ในส่วนของรายงาน PISA 2018 ได้มีการเอาสถิติจาก PISA ของนักเรียนไทย มาวิเคราะห์ในหลาย ๆ ประเด็น พบว่าปัญหาสำคัญ คือ เรื่องของความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนที่มีความพร้อมทางทรัพยากร บุคลากร การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ บรรยากาศของการเรียนที่ทำให้นักเรียนไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belong) ของโรงเรียน ปัญหาการกลั่นแกล้ง (bullying) สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน บ้าน ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน รวมไปถึงเรื่องของความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอุปกรณ์ ICT, Digital Device ต่างๆ ซึ่งเห็นได้ชัดในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 ทำให้ต้องมีการเรียนทางไกล
ซึ่งทางธนาคารโลกได้สรุปข้อเสนอออกมาเป็นสามประเด็นสำคัญๆ คือ 1. สนับสนุนให้โรงเรียนมีบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะในโรงเรียนด้อยโอกาส 2. พัฒนาวิธีการสอน และการจัดการในชั้นเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เวลาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3. สร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ปลอดภัย เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษา
อ่านรายงานได้ที่ PISA 2018 Programme for International Student Assessment
ระยะเวลาที่ผ่านมา กสศ. ก็ได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับธนาคารโลกและ สพฐ.ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้เพียงพอทั่วถึง ภายใต้ชื่อโครงการ Fundamental School Quality Level (FSQL) ซึ่งจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำแผนที่ เก็บข้อมูลด้านทรัพยากรของโรงเรียน เพื่อที่จะให้เห็นความขาดแคลน การเข้าถึงทรัพยากรของแต่ละโรงเรียนและทำให้ทาง สพฐ. ได้มีมาตรการสนับสนุนที่เหมาะสมลงไปได้ต่อไป ซึ่งธนาคารโลกได้เคยทำการสำรวจในโครงการนี้กับประเทศเวียดนาม และสามารถผลักดันให้รัฐบาลเวียดนามปรับระบบการจัดสรรทรัพยากรให้สามารถไปสนับสนุนโรงเรียนได้อย่างมีมาตรฐานอย่างน้อยในระดับขั้นต่ำ มากขึ้น (อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ช่วยพัฒนาการศึกษาของเวียดนาม)
** PISA 2018 Global Competence **
ช่วงสองเดือนที่ผ่านมา PISA เพิ่งเปิดเผยรายงานผลการวิเคราะห์เรื่อง Global Competence ของนักเรียนจากทั่วโลก และผมได้ลองเอามานั่งวิเคราะห์ดู เห็นว่าน่าสนใจ จึงนำไปแชร์ในวงธนาคารโลกด้วย ปัญหาที่นักวิจัยจากธนาคารโลกมองเห็นคือนักเรียนไทยมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (belonging) กับโรงเรียนน้อย อาจจะเกือบต่ำที่สุดในโลก เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่ง… แต่เป็นเพราะอะไร ถ้าหากติดตามปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนในช่วงที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาก็พยายามจะสะท้อนเรื่องพวกนี้ออกมาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงโทษแบบเกินขอบเขต การกลั่นแกล้งในโรงเรียน และปัญหาอื่นๆ ซึ่งหลายๆ ประเด็นก็ได้สะท้อนออกมาในรายงานของ PISA Global Competence เช่นกัน
จากการเก็บข้อมูลพบว่าถึงแม้ว่าเด็กไทยอาจจะไม่ใช่กลุ่มที่มีความรู้สูง หรือทำคะแนนสอบได้ดีนัก (ทำการทดสอบ PISA Global Competency ได้อันดับ 20 จาก 26 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ) แต่ก็เป็นกลุ่มที่ใส่ใจในเรื่องปัญหาสังคมสูงกว่านักเรียนจากหลายๆ ประเทศ ที่น่าสนใจคือเป็นกลุ่มที่นิยมใช้ Facebook/Twitter สูงที่สุดในโลก (อันดับ 1 จาก 66 ประเทศ) มองตนเองว่าเป็นพลเมืองโลก (สูงเป็นอันดับ 13 จาก 66 ประเทศ) ใส่ใจต่อประเด็นเช่นความเหลื่อมล้ำทางเพศ (อันดับ 6 จาก 66 ประเทศ) ร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม (อันดับ 10 จาก 66 ประเทศ) คิดว่าตนสามารถแก้ปัญหาแก่โลกได้ (อันดับ 14 จาก 66 ประเทศ)
ส่วนจุดด้อยของเยาวชนไทยคือความเข้าใจเห็นใจต่อคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากตนในระดับที่ต่ำมากในเกือบทุกดัชนี (อันดับ 65 จาก 66 ประเทศ) ไม่ให้คุณค่าในวัฒนธรรมความเชื่อของคนที่มีความเชื่อหรือวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป (อันดับ 66 อันดับสุดท้าย) ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจครับ น่าจะเอาจุดแข็งหรือจุดอ่อนตรงนี้ของเยาวชนไทย มาใช้ในการพัฒนาการศึกษาได้เหมือนกัน (เช่นถ้าเด็กนักเรียนสนใจเรื่องประเด็นทางสังคม ก็นำพาให้เขาได้ลงไปศึกษาเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ที่สามารถทำได้ จะได้มีความสุขในการเรียนมากขึ้น ส่งเสริมในเรื่อง empathy ทำให้เข้าใจเห็นใจคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมความเชื่อมากขึ้น ซึ่งหลายโรงเรียนที่ค่อนข้างก้าวหน้าก็ได้ลงมือทำบ้างแล้ว)
จริงๆ การสำรวจนี้ทำขึ้นในช่วงสองปีที่แล้ว แต่ผลก็ดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่เหมือนกัน