พลังเครือข่ายจังหวัดสงขลา กำลังพาการศึกษาไปหาเด็ก ๆ ทุกคน

พลังเครือข่ายจังหวัดสงขลา กำลังพาการศึกษาไปหาเด็ก ๆ ทุกคน

“Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา” เป็นโครงการเชิงรุกที่พาโอกาส “การเรียนรู้” และ “วุฒิการศึกษา” ไปให้เด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาในพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและหลุดพ้นจากวงจรความยากจน

โครงการนี้เริ่มต้นนำร่องใน 25 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร โดยความร่วมมือของ กสศ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะ สถานประกอบการ ภาคเอกชน นักวิชาชีพสาขาต่าง ๆ และชุมชน

บนเวทีเสวนาพลังเครือข่ายศูนย์การเรียนเพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กใต้ ในงาน Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา ณ โรงสีแดง หับ โห้ หิ้น อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เห็นภาพความร่วมมือของเครือข่ายในการขับเคลื่อนความร่วมมือกันไปสู่เป้าหมาย “เด็กทุกคนต้องได้เรียน” และเมื่อเด็ก ๆ มีความแตกต่างหลากหลาย “การจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต” จึงได้รับการสนับสนุนจากหลายคนที่มาช่วยกันเปลี่ยนสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสังคม ไปสู่การสร้างโอกาสใหม่ให้เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง ด้วยการออกแบบนวัตกรรมการศึกษาที่ไม่ติดกรอบ สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้ในประสบการณ์จริง

เริ่มต้น “ค้นหา” : สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด

จังหวัดสงขลามีจำนวนเด็กและเยาวชนอยู่นอกระบบการศึกษาในฐานข้อมูล  Thailand Zero Dropout 23,681 คน เท่ากับประชากรทั้งอำเภอนาหม่อม ข้อมูลนี้ทำให้ภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมขับเคลื่อนไปกับภาครัฐ จากการเห็นภาพความเสี่ยงที่สังคมต้องเผชิญกับอนาคตกับประชากรไร้คุณภาพเพราะขาดโอกาสทางการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสงขลาได้เริ่มต้นด้วยการทำหน้าที่ “ค้นหา” เด็กและเยาวชนที่อยู่นอกระบบ ด้วยการดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วน ลงพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั้ง 10 แห่ง และเตรียมขั้นตอนการ “ช่วยเหลือ” ร่วมกับเครือข่ายตามปัญหาของเด็กและเยาวชนที่ได้ค้นพบด้วยการคัดกรองเบื้องต้น

ไม่ใช่แค่การศึกษา ทุกปัญหา ต้อง “ช่วยเหลือ”

คุณนิพนธ์ รัตนาคม ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้เยาวชนสร้างสุข หนึ่งในภาคีเครือข่ายของจังหวัดสงขลา อธิบายถึงขั้นตอนในการ “ช่วยเหลือ” เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาที่ได้ “ค้นพบ” แล้ว ต้องมาคัดกรองว่าจะต้อง “ช่วยเหลือ” อย่างไรให้ตรงตามความต้องการ ถ้าต้องการกลับไปเรียนในระบบก็จะช่วยให้เข้าไปเรียน และจัดการปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการกลับไปเรียน เช่น ค้างค่าเทอม หรือถ้าไม่ต้องการไปโรงเรียน อาจจะนำเสนอว่าเรียนกับ สกร. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือถ้าต้องทำงานไปเรียนไปศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งจะตอบโจทย์ได้ ด้วยการเรียนผ่านมือถือหรือออนไลน์

แต่ปัญหาด้านการเรียนไม่ใช่ปัญหาเดียวที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ต้องเผชิญ ปัญหาชีวิตในหลาย ๆ ด้าน เช่น ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ติดคุก เสพยา ต้องดูแลคนในครอบครัว เป็นสถานการณ์ที่ต้องการการ “ช่วยเหลือ” ร่วมด้วย เพื่อคลี่คลายปัญหาต่าง ๆ จากหนักให้เป็นเบา ทำให้เด็กและเยาวชนที่เผชิญปัญหาอยู่ มีความพร้อมที่จะเรียนต่อได้ ซึ่งเครือข่ายต่าง ๆ ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา และแนวทางการศึกษายืดหยุ่นคือแนวทางใหม่ทางการศึกษา เป็นทางเลือกที่พลิกสถานการณ์จากความตีบตันไร้ทางออกให้มีทางเดินต่อไป ด้วยวิธีที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง

“ดูแล” ด้วยความยืดหยุ่นตามความแตกต่าง

สกร. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) หรือ กศน. เดิม และศูนย์การเรียนรู้ที่มีการจัดตั้งขึ้นหลายแห่งในแต่ละจังหวัดคือองค์กรที่มีบทบาทหลักในการ “ดูแล” จัดการศึกษาที่เหมาะสม ตรงตามความต้องการ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่กลับเข้ามาได้ไปถึงจุดหมายปลายทางคือได้รับประกาศนียบัตรการศึกษาระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือไปถึงมัธยมปีที่ 6  สามารถนำสมัครงาน มีอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้

คุณบุปผชาติ เรืองกูล จาก สกร. สงขลา เล่าถึงแนวทางการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของผู้เรียนว่า สกร. มีหลักสูตรที่เป็นการสร้างอาชีพและการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้วุฒิการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบ โดยเป็นการเรียนเทียบระดับใช้เวลา 1 ภาคการเรียน แนวทางการเรียนการสอนคือให้ทำโครงงาน ค้นคว้าด้วยต้นเอง แบบ Mobile School มีการสัมภาษณ์ประสบการณ์ทำงาน การทำงานจิตอาสาเป็นการประเมินผู้เรียน จัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนก่อนจบการศึกษา


การจัดการเรียนการสอนของศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่งนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการคิดนอกกรอบบนฐานข้อมูลจริงสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้เสมอ เช่น ศูนย์การเรียนเซนต์เทเรซา เซ้าท์เทิร์น ที่มีการเรียนการสอนอิงตามหลักสูตรแกนกลาง ใช้การทำโครงงานหรือ Project Base เป็นเครื่องมือวัด เปิดโอกาสให้เรียนรู้ด้วยตนเองตามสภาพแวดล้อมการทำงานจริง ถือว่าทุกพื้นที่ ทุกอาชีพที่ใช้เลี้ยงชีวิตเป็นห้องเรียน และแม้ว่าจะอายุเกินเกณฑ์ก็ยังให้โอกาสที่จะจบการศึกษา

ศูนย์การเรียน CYF (Children and youth development Foundation ) หรือมูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งทำงานกับเด็กและเยาวชนชาติพันธุ์ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา และที่หลุดออกจากระบบ ก็ใช้ชีวิตเป็นการเรียนรู้ เอาประสบการณ์มาเทียบโอนวุฒิ เอาเทคโนโลยีในการเข้าถึงตัวผู้เรียน เช่น การตั้งกลุ่ม Facebook เพื่อติดตาม กระตุ้นให้มีเป้าหมาย เรียนรู้ในชีวิตประจำวัน พัฒนา Application ในมือถือเพื่อให้เก็บข้อมูลและสร้างหลักสูตรออนไลน์เสริมให้นิเวศการเรียนรู้ขยายตัวกว้างขวางออกไป

“ส่งต่อ” จากก้าวแรกสู่ก้าวต่อไป

เมื่อได้วุฒิบัตรจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปีที่ 3 หรือมัธยมปีที่ 6 แล้ว ยังมีหน่วยงานที่เข้ามาร่วมเป็นภาคีเครือข่ายการ “ส่งต่อ” ในการสร้างอาชีพหรือการเรียนในระดับอาชีวศึกษาหรือปริญญาตรีตามความต้องการและศักยภาพ ได้แก่ สำนักงานจัดหางานประจำจังหวัด ในสังกัดกระทรวงแรงงาน ที่มีข้อมูลตำแหน่งงานหลากหลาย เมื่อขึ้นทะเบียนหางานแล้ว ถ้ามีงานที่เหมาะสมก็จะพาไปพบนายจ้าง กรณีที่ไม่มีวุฒิก็ยังมีการฝึกอาชีพอิสระให้ และจัดหางานให้ด้วย

มหาวิทยาลัยชีวิตที่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในกรณีต้องการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท แต่ไม่สะดวกต่อการศึกษาในระบบ ซึ่งมีการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่น ใช้ประสบการณ์การทำงานมาทำโครงงาน สามารถเรียนได้ทุกที่ เช่นเดียวกัน

พลังขับเคลื่อนของเครือข่ายอย่างเป็นกระบวนการ ตั้งแต่ ค้นหา – ช่วยเหลือ – ดูแล – ส่งต่อ จะทำให้ Thailand Zero Dropout ไปถึงเป้าหมาย ด้วยการเปิดใจ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างนวัตกรรมทางการศึกษาที่จะเปลี่ยนผู้เสียเปรียบในเกมการศึกษาเดิมให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม โดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลังอีกต่อไป