เคนซาบุโร โอเอะ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวญี่ปุ่นเขียนความเรียงเล่าเรื่องเกี่ยวกับบุตรชายพิการด้านสมองในหนังสือชื่อว่า A Healing Family สร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งถึงความต้องการ “ดูแลเป็นพิเศษ” เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างน้อยในระดับพื้นฐาน ไปจนถึงการดึงศักยภาพที่สร้างคุณค่าให้ตนเองและสังคม ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของครอบครัว แต่โยงใยไปทุกส่วนของสังคมที่ต้องช่วยกันโอบอุ้ม “ผู้ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ” นั้นให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพคนหนึ่ง ไม่ใช่ “ภาระ” ของครอบครัวหรือสังคมใด
ฮิคาริลูกชายของเคนซาบุโร โอเอะ เกิดมาพร้อมความผิดปกติของสมอง แม้ได้รับการผ่าตัดแล้วก็ยังมีปัญหาเรียนรู้ช้า และอาการออทิสติก จัดอยู่ในกลุ่มผู้พิการซ้ำซ้อน แม้ว่าการเลี้ยงดูจะเต็มไปด้วยความยากลำบาก ฮิคาริมีอาการลมชักได้ตลอดเวลา แต่ครอบครัวโอเอะก็ให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้เหมือนน้องสาวและน้องชายที่ปกติใช้ชีวิตร่วมกัน เฝ้าสังเกตจนพบว่าฮิคาริมีพรสวรรค์ด้านดนตรี ปัจจุบันมีผลงานเพลงหลายชิ้น ได้ออกแสดงหลายครั้ง และดนตรีเป็นหนทางที่ฮิคาริได้แสดงความรู้สึกของเขาให้คนอื่นได้เข้าใจ
พลังสร้างสรรค์ของฮิคาริไม่ได้มาจากการโอบอุ้มของครอบครัวโอเอะเท่านั้น ความพร้อมของโครงสร้างสังคมญี่ปุ่นเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ครอบครัวโอเอะไม่โดดเดี่ยวที่จะแบกภาระของลูกพิการ เคนซาบุโร โอเอะ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า เขาเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า
“สังคมใดละเลยคนพิการ สังคมนั้นย่อมเป็นสังคมที่อ่อนแอและเปราะบาง”
เวทีเสวนา “การจัดการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ” ในงาน All for Education : Education for All “ปลุกพลังปวงชนเพื่อเด็กไทยทุกคน” ซึ่งจัดโดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ( กสศ. ) เมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคมที่ผ่านมา ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ทำให้ได้เห็นถึงสถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความพร้อมเป็นแรงส่งให้ผู้ที่ต้องการการดูแลพิเศษหลุดพ้นจากมุมมอง “ภาระ” สร้างพลังที่จะยืนหยัดด้วยตนเอง และเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพคนหนึ่งของสังคม
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ
“อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” (Convention on the Rights of Persons with Disabilities ,CRPD) ที่ประเทศไทยร่วมเป็นแกนนำในการยกร่าง เจรจา ลงนามรับรอง เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 ส่งผลให้มีการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิคนพิการหลายฉบับ ทำให้การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีทิศทางชัดขึ้น และมีการขยายเครือข่ายไปมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคการศึกษา ข้อมูลสถานการณ์การศึกษาของคนพิการในประเทศไทยในปี 2567 จากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ บ่งชี้ว่าเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือมีความพิการทั้งทางกายภาพ การเรียนรู้และด้านจิตใจหรือพฤติกรรม หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนสูงถึง 2,199,978 คน สำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. สรุปสาเหตุของการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กที่มีความต้องการพิเศษเพื่อให้เห็นถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด พบว่า 3 ลำดับสูงสุดของปัญหาคือความยากจน ปัญหาครอบครัว และออกกลางคันหรือถูกผลักออก การให้ทุนการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างโอกาส แต่สิ่งที่จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในภาพกว้างและทั่วถึง คือการทำให้สังคมรับรู้และเข้าใจผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ร่วมกันสร้างเครือข่ายในการโอบอุ้มและช่วยเหลือในส่วนที่ทำได้ หากสังคมมีความเข้าใจในภาพเดียวกันก็จะสามารถเชื่อมร้อยการช่วยเหลือในแต่ละจุดให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ในเวทีเสวนา “การจัดการศึกษาและการพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ” ความคิดเห็นของผู้ร่วมเสวนาซึ่งคนทำงานด้านการศึกษากับกลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมาอย่างยาวนาน ต่างให้ความคิดเห็นตรงกันว่า ปัจจัยความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของผู้มีความต้องการพิเศษให้ไปสู่เป้าหมายคือการมีอาชีพ สามารถพึ่งตนเองได้ คือการทำงานร่วมกันอย่างเป็นกระบวนการ เริ่มจากการดูแลตั้งแต่แรกเกิด การเรียนระดับประถม มัธยมไปจนถึงอาชีวศึกษาหรือปริญญาตรี ต้องร่วมกันประคับประคองไม่ให้หลุดออกจากระบบก่อนที่จะถึงจุดหมาย
เนื่องจากผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษนี้มีความแตกต่างหลากหลายในความสามารถที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ ความเข้าใจในความต้องการที่แตกต่างเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับครูผู้สอน นวัตกรรมในการเรียนการสอนจะทำให้ผู้เรียนกลุ่มนี้เรียนรู้ได้เท่าเทียมกับผู้เรียนอื่น ๆ และประสบความสำเร็จได้ ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม จากคณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันหนึ่งที่ผลิตครูการศึกษาพิเศษ กล่าวว่าปัจจุบันสถานประกอบการหลายแห่งมีความพร้อมในการรับคนพิการเข้าทำงานด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนไปแล้วคือไม่ได้รับโดยความจำเป็นตามกฎหมาย หรือรับด้วยความสงสาร แต่รับเข้าทำงานด้วยคุณค่า ด้วยความสามารถที่ได้รับการพิสูจน์แล้ว และเชื่อว่าคนพิการคือส่วนหนึ่งของการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมดี ดังนั้นหน้าที่ของสถานบันการศึกษาทุกระดับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษมีทักษะในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเอง ด้วยการมีสมรรถนะในการทำงาน ทำให้สังคมรับรู้ว่าผู้ที่มีความต้องการพิเศษนี้มีคุณค่าไม่ต่างไปจากคนอื่น ๆ ในสังคม
นวัตกรรมร่วมสร้างก้าวเริ่มต้น
หน่วยงานที่อาจนับได้ว่าเป็นจุดตั้งต้นด้านการศึกษาของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็คือศูนย์การศึกษาพิเศษที่มีทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คุณสุวิทย์ สุทาลา ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ จังหวัดพะเยา เล่าถึงการทำงานร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ จนเกิดนวัตกรรมการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ให้สามารถเรียนรู้ได้อย่างเสมอภาคกับผู้เรียนทั่วไป และยังคงร่วมกันพัฒนานวัตกรรมให้เกิดผลที่ดียิ่งขึ้นต่อไป ข้อมูลล่าสุดพบว่าจังหวัดพะเยา มีจำนวนคนพิการทั้งหมด 24,000 กว่าคน อยู่ในช่วงวัยเรียนตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 18 ปีมีจำนวน 725 คน ที่ศูนย์รับไว้ 350 คน แม้จะพบว่าการจัดการเรียนการสอนร่วมจะตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนกลุ่มนี้มากที่สุด แต่ก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ความพร้อมของเด็กและครอบครัว ที่พะเยามีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นเด็กพิการซ้ำซ้อนมากที่สุด รองลงมาเป็นเด็กมีความบกพร่องทางร่างกาย มีอาการออทิสติกและบกพร่องทางสติปัญญาตามลำดับ เมื่อเข้าไปศึกษาลงลึกถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องส่งผลกระทบถึงด้านการศึกษาพบว่าเด็กพิการคนหนึ่งส่งผลกระทบหลายเรื่องในครอบครัว ไม่ใช่แค่ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ พยาบาลก็เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เด็กที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง ทางศูนย์ฯ จึงทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งชุมชนในจังหวัด โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้ามาช่วยสร้างนวัตกรรมในการเรียนการสอนให้ ปัจจุบันได้มีการก่อตั้งโรงเรียนการศึกษาพิเศษขึ้น ทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องพาเด็กไปเรียนต่างจังหวัด ซึ่งเป็นความยากลำบากสำหรับครอบครัวมาก
นวัตกรรมของทีมงานมหาวิทยาลัยพะเยาที่ช่วยให้การเริ่มต้นก้าวเดินในระบบการศึกษาได้มั่นคงขึ้น คือ แอปพิเคชันให้เด็กได้เล่นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ผู้รู้ของท้องถิ่นและวิทยาลัยเทคนิคก็เข้ามาช่วยประดิษฐ์ของเล่นช่วยพัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต เช่น การปักผ้า การทำผ้ามัดย้อม การวาดรูป เป็นต้น
การทำงานของศูนย์ ฯ และโรงเรียนการศึกษาพิเศษดำเนินการไปด้วยการทำงานร่วมกับเครือข่ายเช่นนี้เพราะเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลดีกับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษอย่างเห็นได้ชัด เจ้าหน้าที่ของศูนย์และครูของโรงเรียนพร้อมที่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ทำให้การทำงานกับเครือข่ายมีพลังในการส่งแรงไปสู่เด็ก ๆ ที่เป็นผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีสมรรถนะที่จะประกอบอาชีพ สร้างคุณค่าให้กับตนเองและสังคมต่อไป
ร่วมเรียนรู้ พลังครูผู้สร้างสรรค์
การเรียนร่วมหรือเรียนรวมของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ความต้องการที่แตกต่างของผู้เรียนกลุ่มนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของครูผู้สอน การเตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษจึงเป็นบันใดขั้นแรกที่จะพาไปสู่เป้าหมาย ถ้าหากยังไม่สามารถก้าวขึ้นบันใดขั้นแรกได้อย่างมั่นคง ก้าวต่อไปก็นับว่าเกือบไม่มีทางเป็นไปได้
คุณครูพัชรนุช ราชมนตรี จากโรงเรียนบ้านทุ่ม (ทุ่มประชานุเคราะห์) จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงห้องเรียนพี่ ป.7 ของโรงเรียน ซึ่งเป็นห้องสอนเสริมสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเพื่อให้สามารถเรียนร่วมกับเด็กนักเรียนคนอื่น ๆ ได้ โดย ‘ไม่เรียกผู้เรียนกลุ่มนี้ว่าเด็กพิเศษ’ ให้เกิดความแตกต่าง การเตรียมความพร้อมนี้เปรียบเสมือนการตัดเสื้อเฉพาะตัว โดยให้เรียนเฉพาะในเนื้อหาวิชาที่นำไปใช้ได้ ตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นสำหรับผู้เรียนกลุ่มนี้ออกไป เป็นต้น
ห้องเรียนพี่ ป.7 เกิดจากความร่วมมือของครูทุกคน ผู้ปกครองรับรู้ ยอมรับปัญหา จัดทำกระบวนการการเรียน การสอน เช่นปัญหาที่พบคือสมาธิ แก้ไขด้วยการใช้สื่อจากศูนย์การศึกษาพิเศษที่ขอนแก่น ร่วมกับที่ครูผู้สอนผลิตเอง ปกติที่โรงเรียนบ้านทุ่มเรียนแบบ Active Learning เน้นการทำงานกลุ่ม จึงเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามาถเรียนร่วม ทำงานกลุ่มได้
ครูที่สอนไม่ได้จบการศึกษาพิเศษ หาความรู้ เรียนรู้ไปกับเด็ก มีกรณีตัวอย่างที่สร้างความภูมิใจคือ เด็กพิการซ้ำซ้อนคนหนึ่งที่โรงเรียน บอกครูว่าอยากวาดรูป อยากเข้าร่วมกิจกรรมกีฬา ครูก็ให้ทำ ปรากฏว่าขยันซ้อมมาก จนไปแข่งกีฬาได้เหรียญทองระดับจังหวัด ทำให้ได้เห็นคุณค่าของตนเอง
จุดไฟให้พลังยั่งยืน
เมื่อเป้าหมายสุดท้ายสำหรับการบ่มเพาะผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก็คือการมีอาชีพ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ไม่เป็นภาระกับคนในครอบครัวหรือสังคม ดังนั้นแม้ว่าผู้เรียนกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับจึงยังไม่เพียงพอ สถาบันการศึกษาระดับสูง เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาจึงเข้ามามีบทบาทในการรับช่วงเตรียมความพร้อมไปสู่การประอบอาชีพ เป็นคนทำงานที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กรที่เข้าทำงาน หรือเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเอง
อาจารย์อณุภา คงปราโมทย์ หัวหน้างานการศึกษาพิเศษ วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโกและผู้ดูแลนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ กสศ. ได้เล่าถึงกระบวนการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ให้สามารถก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพ และเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการด้วยการเรียนไปพร้อมการปฏิบัติจริง โดยผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในโครงการเป็นกลุ่มบกพร่องทางการได้ยิน แต่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย สร้างแบรนด์และบริหารจัดการด้วยทักษะของผู้ประกอบการเต็มรูปแบบ
การจัดการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส.ให้กับผู้เรียนกลุ่มนี้ วิทยาลัยฯ จัดการศึกษาแบบเรียนรวม เป็นโรงงานในโรงเรียน เน้นภาคปฏิบัติ ทำงานจริงของลูกค้า ลดการเรียนภาคทฤษฎี เลือกเฉพาะเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการนำไปใช้ในการทำงานจริงเท่านั้น
โรงงานในโรงเรียนมีสาขาวิชาการพิมพ์ มีโรงพิมพ์ครบวงจร รับงานลูกค้าทุกรูปแบบ ให้เด็กไปฝึกงาน จากการเรียนภาคทฤษฎี แล้วนำมาปฏิบัติ นอกจากนั้นยังมีงานสกรีนเสื้อ งานปักที่เกิดจากการสังเกตว่าผู้เรียนมีความชอบด้านแฟชั่น เริ่มจากการออกแบบ จากการต้องไปจ้างร้านสกรีน ก็ซื้อเครื่องมาฝึกสกรีนเอง โดยศิษย์เก่าให้การสนับสนุน หลังจากนั้นก็ซื้อเครื่องปักมาเพิ่ม จนเกิดเป็นแบรนด์ DB Asok ที่ตั้งเป้าให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเป็นผู้ประกอบการได้ สอนทักษะการทำงานเป็นทีม การบริหารจัดการ วางแผนธุรกิจ รวมทั้งการบริหารจัดการการเงินของตนเอง เพื่อให้การใช้ชีวิตมีคุณภาพอย่างยั่งยืน
ความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษจึงต้องอาศัยเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทาง สร้างนวัตกรรมทางการศึกษาให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษเข้าถึงความรู้ได้อย่างเสมอภาคในทุกระดับ กสศ. จึงทำงานร่วมกับเครือข่ายทุกระดับด้วยโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างเส้นทางให้ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษก้าวเดินอย่างมั่นคงไปสู่จุดหมาย มีพลังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ตนเอง และสร้างคุณค่าให้กับสังคม ซึ่งมีหลายกรณีศึกษาที่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษสร้างผลงานที่โลกหันมามองด้วยความตื่นใจ และเป็นแรงบันดาลใจให้คนหลายคนเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง ร่วมสร้างสรรค์สังคมที่ดีงามร่วมกัน