เมื่อเร็ว ๆ นี้ กสศ. ได้ลงพื้นที่ไปร่วมวงคุย ‘เวทีสานพลังเครือข่ายเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการดูแลเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง’ ที่มีคณะทำงานด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของที่นั่นเป้าหมายของวงคุยนี้ คือการพัฒนากลไกที่มุ่งให้เกิดวิธีการแบ่งปันทรัพยากร ร้อยรวมเครือข่ายวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ การจัดการเรียนรู้ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย สร้างพื้นที่ชุมชนการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้ตลอดช่วงชีวิต ที่พร้อมยกระดับลำปางสู่การเป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ เรียบร้อยแล้ว
“ต้นทุนด้านการศึกษาปฐมวัย” คือคำบอกเล่าจาก ‘ผศ.ดร.วิยดา แหล่มตระกูล’ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งบอกว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง มีต้นทุนที่โดดเด่นด้านสาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย เพราะมีภารกิจในการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้ได้มาตรฐาน
ที่นี่เริ่มต้นจากการสร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบไม่กี่แห่ง ก่อนค่อย ๆ ขยายผลจนเต็มพื้นที่ทุกอำเภอ ปัจจุบันนี้เกิดเป็นเครือข่ายครูผู้ดูแลเด็กที่มีผู้ปกครองร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลลูกหลานในช่วงโอกาสทองของชีวิต
สำหรับการทำงาน ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นตั้งแต่ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นักวิชาการด้านการศึกษา อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงครูการศึกษาพิเศษ ร้อยรวมพลังสร้างกลไก “จังหวัดจัดการตนเอง”
ลำปางได้ก่อตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด ทำให้มีกลไกสำรวจเด็กเยาวชนนอกระบบ มีระบบสร้างโอกาสทางการศึกษาที่สามารถช่วยเหลือดูแลและส่งต่อเด็กเป็นรายกรณี เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายในวงล้อมของความเหลื่อมล้ำได้รับโอกาสในการพัฒนาตนเองตามความสนใจและตามบริบทชีวิต โดยมีหน่วยงานที่ชำนาญในด้านนั้น ๆ คอยส่งเสริม
“สมัชชาการศึกษานครลำปาง คือต้นทางของการผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาของจังหวัด ช่วยให้เกิดการระดมทุนทั้งภายในและภายนอก ยกระดับให้คนในพื้นที่ทำงานได้ด้วยกำลังตนเอง ใครที่เห็นประโยชน์และมีความตั้งใจก็สามารถเดินเข้ามาร่วมกันได้ทันที”
‘ดร.นภาพร แสงนิล’ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาน่าน ซึ่งเป็นอดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาลําปาง-ลำพูน เล่าว่า การมีระบบสารสนเทศบันทึกข้อมูลเด็ก ๆ ได้เป็นรายคนที่ร่วมทำงานกับ กสศ. ทำให้ลำปางสามารถดูแลช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้ทั้งเรื่องการเรียน ความเป็นอยู่ ความปลอดภัย โดยการออกแบบระบบที่ดีต้องใช้ครูและผู้บริหารสถานศึกษามาช่วยกันคิด ว่าวิธีการใดจะทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสได้มากที่สุด
“สิ่งที่ได้กลับมาจากการลงเยี่ยมบ้านเด็กคือภาพชีวิตของเขาในทุกมิติ เพราะแม้ใช้ชื่อว่าสมัชชาการศึกษา แต่การคัดกรองเราทำครอบคลุมทั้งหมด เด็กเจ็บป่วยเราส่งต่อสาธารณสุข มีเครือข่ายพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตำรวจ กรมสุขภาพจิต เราดูแลสวัสดิภาพชีวิตเขาทุกด้านผ่านระบบที่ใช้งานร่วมกัน”
“เครือข่ายหน่วยงานทำให้เรารู้ได้ว่าเมื่อเด็กหายไปหนึ่งคน เขาไปอยู่ที่ไหน ถ้ายังอยู่ในพื้นที่ เราตามตัวได้ทันที ไม่มีใครปล่อย ต้องหาวิธีช่วยให้ได้ จะกลับไปแก้ศูนย์แก้ ร. ส่งต่อ กศน. อาชีวะ ทุกคนยินดีช่วยกันหาสิ่งที่เขาสนใจ ทำให้เขามีเป้าหมาย ทุกคนต้องได้รับโอกาสพัฒนาจนดูแลตัวเองได้” ดร.นภาพร แสงนิล บอกกับเรา
‘สงวนศักดิ์ ปันใจแก้ว’ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโป่งแยงใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ หนึ่งในคณะกรรมการหนุนเสริมระดับภาคโครงการพัฒนาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับครูรัก(ษ์)ถิ่น กล่าวเสริมว่า กลไกหนึ่งของการลดความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนขนาดเล็กพื้นที่ห่างไกล คือการค้นหาเด็กเยาวชนด้อยโอกาสที่มีใจรักอยากเป็นครูให้พบ และหล่อหลอมให้เป็น ‘ครูนักพัฒนา’ ที่จะกลับมาดูแลบ้านเกิดของเขา นี่คือแนวทางที่สามารถนำมาต่อยอดกับเด็กเยาวชนในจังหวัดลำปางได้ด้วยเช่นกัน
“การทำงานเชิงพื้นที่ทำให้ไม่มีใครทำงานอย่างโดดเดี่ยว แต่ทุกฝ่ายจะเคลื่อนที่ไปด้วยกัน มีคู่คิด มีกลุ่มโรงเรียนระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค ที่จะค้นหาจุดเด่นจุดด้อยร่วมกัน แลกเปลี่ยน ส่องสะท้อนทั้งความสำเร็จและปัญหาไปด้วยกันตลอดเส้นทาง”
‘ธีรดา แก้วบุญปัน’ ผู้อำนวยการโรงเรียนทุ่งอุดมวิทยา จังหวัดลำปาง เล่าย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 ในพื้นที่มีจำนวนนักเรียนกลุ่มเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นมาก โรงเรียนไม่อาจทำงานได้โดยลำพัง ต้องอาศัยเครือข่ายช่วยกันดูแล ซึ่งการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ นี่เอง ที่ทำให้นักเรียนกลุ่มนี้สามารถประคองตัวรอดผ่านวิกฤตมาได้
“หลักการคือเราต้องเข้าใจนักเรียนให้ได้ในสถานการณ์ที่เขาเผชิญ เข้าให้ถึงตัวเขา พยายามเข้าใจความแตกต่างของปัญหา สังเกตความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งการอยู่ในโรงเรียนที่มีครู มีชุมชน มีทีมนักจิตวิทยามาช่วยกันดูแลเด็กรายคน ถือว่าช่วยให้เด็กเข้าถึงโอกาสในการดูแลรอบด้าน แล้วเราจะสามารถหาทางช่วยเหลือเขาได้ ขณะที่ปัญหายังไม่บานปลายจนเกินแก้ไข”
‘พรศรี บุญธนสถิต’ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลำปาง บอกว่า การจัดการศึกษาไม่ได้มีแค่ส่วนวิชาการ แต่ต้องมองเรื่องคุณภาพชีวิต ครอบครัว ชุมชน และสังคมร่วมด้วย สำหรับบ้านพักเด็กมีหน้าที่ดูแลกลุ่มเปราะบางยากลำบาก จะทำงานเกาะเกี่ยวกับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อซ่อมแซมสุขภาพจิตใจของเด็ก ๆ ไว้ ไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“มีเคสเด็กที่ต้องต่อสู้กับปัญหาการล้อเรียนกลั่นแกล้งในโรงเรียน ซึ่งความเจ็บปวดทรมานจิตใจที่สั่งสมทุกวันทำให้เขาตัดสินใจระบายออก ลุกขึ้นตอบโต้กลับ แล้วท้ายที่สุดเด็กก็ถูกตีตราว่าก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง อยู่ในโรงเรียนไม่ได้ และถูกคัดทิ้ง”
‘พรศรี บุญธนสถิต’ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลำปาง เล่าต่อไปว่า เมื่อเด็กคนนั้นมาอยู่กับเรา ตัวเขากลับแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถพิเศษ มีจินตนาการในการทำงานประดิษฐ์ มีความคิดสร้างสรรค์ที่พัฒนาต่อไปได้อีกมากมาย
“คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องสร้างระบบการศึกษาที่ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตอย่างจริงจัง มุ่งปรับทัศนคติ สร้างเจตคติให้ทั้งคนทำงานและเพื่อนนักเรียนช่วยสังเกตดูแลกัน หาทางช่วยเหลือกันโดยไม่ตัดใครออกไปแม้แต่คนเดียว เพราะบางครั้งกว่าเรื่องจะมาถึงเรา เด็กบางคนก็ถูกกระทำจนต้องใช้เวลาอีกยาวนานเพื่อฟื้นฟูให้กลับมา หรือกับบางคนก็แทบสายไปเสียแล้ว กว่าเขาจะเข้าถึงความช่วยเหลือที่สมควรได้รับ”