ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ สส.พรรคเพื่อไทย จังหวัดเชียงราย และรองประธานกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดมุมมองเกี่ยวกับนโยบายทิศทางความเสมอภาคทางการศึกษาของประเทศไทยในปี 2568 ในงาน Equity Forum 2025 การสัมมนาทางวิชาการเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาประจำปี 2568 หัวข้อ “ประเทศไทยกับการแก้ปัญหาเชิงระบบเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา” โดยเริ่มจากการพูดถึง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับปัจจุบัน ซึ่งใช้มานานกว่า 25 ปี ที่จำเป็นต้องปรับให้ทันสมัย พร้อมยอมรับถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในด้านพื้นที่ ความห่างไกล และสภาพการณ์ที่ไม่เคยลดช่องว่างลง ทำให้เกิด “ช่องว่างทางการศึกษา” เพิ่มขึ้นตามมา
ดร.เทอดชาติ กล่าวถึงประสบการณ์เมื่อครั้งที่ตนอายุ 28 ปี ขณะเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านนอกที่มีครูเพียง 2 คน และอาคารไม้หนึ่งหลัง ซึ่งภาพของโรงเรียนแบบนั้นยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน
“ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือช่องว่างทางรายได้และทรัพย์สินที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาของประชาชน ซึ่งเรายังไม่สามารถลดช่องว่างนี้ได้ นี่คือภาพของสังคมไทยที่เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/02-มุมมองนโยบาย-ดร.เทอดชาติ-ชัยพงษ์ai.jpg)
ในประเด็นงบประมาณที่ลงไปยังสถานศึกษาและหน่วยงานการศึกษา ดร.เทอดชาติกล่าวว่า งบประมาณที่จัดสรรยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากสามารถกระจายอำนาจไปยังหน่วยปฏิบัติงานได้ จะช่วยลดปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณได้ เขายังพูดถึงปัญหาทางโครงสร้าง ทั้งด้านสังคมและโครงสร้างพื้นฐานของสถานศึกษาที่ไม่เท่ากัน เนื่องจากการจัดสรรงบประมาณที่แตกต่างกัน จึงต้องหาทางช่วยกันแก้ไขปัญหานี้
“เราเห็นปัญหานี้มานาน ซึ่งตอนนี้สำคัญว่าเราทุกฝ่ายจะช่วยกันอย่างไร”
ดร.เทอดชาติ เน้นย้ำถึงปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของทรัพยากรในสถานศึกษา โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนห่างไกลที่ยังคงได้รับทรัพยากรไม่เท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง นอกจากนี้ในภาวะปัจจุบันที่เด็กเกิดใหม่น้อยลงทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีจำนวนเด็กน้อยลง จึงมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณที่ลดลงตามไปด้วย ดังนั้นในการประชุมคณะกรรมาธิการการศึกษา จึงมีการเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยคำนึงถึงการจัดสรรเงินอุดหนุนที่เหมาะสมสำหรับโรงเรียนต่างขนาด
“คณะกรรมาธิการการศึกษา มีการขอเสนอให้ตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โดยตั้งต้นที่หาทางคำนวณการจัดสรรเงินอุดหนุนให้เหมาะสมกว่าเดิม ซึ่งต้องทำให้เป็นโมเดลที่ชัดเจนสำหรับวิธีการจัดสรรเงินสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดใหญ่ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการครู สื่อการเรียนรู้ และงบประมาณสำหรับกิจกรรมโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ภาครัฐมีแนวทางรองรับที่ตรงจุด”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/01-มุมมองนโยบาย-ดร.เทอดชาติ-ชัยพงษ์ai.jpg)
สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านการศึกษา ดร.เทอดชาติกล่าวว่า “จำเป็นต้องมีการรื้อระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด” โดยต้องใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้เรียน รวมถึงการบริหารงบประมาณเพื่อให้สามารถส่งมอบงบประมาณได้ถึงสถานศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังต้องปรับการจัดการเรียนรู้ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมทั้งให้ครูได้เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน และหน่วยจัดการศึกษาต้องสามารถบริหารหลักสูตร บริหารจัดการงบประมาณ และเลือกแนวทางพัฒนาการเรียนรู้ได้เองด้วย
“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือ เราต้องมีระบบที่ช่วยประคองส่งต่อเด็ก ให้สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย และต้องมีวิธีการวัดผลที่เหมาะกับผู้เรียน เพื่อการจบการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องได้รับความสำคัญ มีเส้นทางให้พัฒนาตัวเองโดยที่ไม่สร้างภาระต่อภารกิจหลัก
“เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องแก้ไข ต้องเปลี่ยนวิธี ซึ่งการกระจายอำนาจให้ผู้ที่อยู่หน้างานที่เผชิญปัญหาจริงได้มีทรัพยากรที่เหมาะสม จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ในภาพรวมแล้วหมายถึงกระบวนการการเรียนการสอนจะต้องปรับครั้งใหญ่ เพื่อวางรากฐานยุทธศาสตร์ประเทศไทยไปสู่อนาคต”