กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน “ลงทุนให้เต็มที่และทำอย่างชาญฉลาดด้วยสูตร 3 ชั้น”
โดย : ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ กสศ.

กู้วิกฤตทักษะคนไทย หลุดพ้นความยากจน “ลงทุนให้เต็มที่และทำอย่างชาญฉลาดด้วยสูตร 3 ชั้น”

ทักษะพื้นฐานชีวิต ช่วย ‘หลุดพ้นความยากจน’ ในโลกยุคใหม่

ถ้าถามว่าทักษะอะไรที่สำคัญกับการ ‘หลุดพ้นความยากจน’ ต้องเข้าใจก่อนว่าความยากจนเกิดขึ้นจากอะไร ข้อเท็จจริงคือคนยากจนจะมีทักษะที่น้อยกว่า และมีทรัพยากรสำหรับจับจ่ายเพื่อเพิ่มทักษะน้อยกว่า เช่น การเรียนในระดับสูง หรือเรียนในสถาบันดี ๆ รวมถึงยังมีความเปราะบางเรื่องอื่น ๆ เช่นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย ตกงาน ซึ่งทำให้ยิ่งไม่มีเวลาสะสมหรือเพิ่มพูนทักษะ

แล้วทักษะที่เป็น ‘ทุนพื้นฐานชีวิต’ สำคัญอย่างไรกับคนยากจนใน ‘มิติใหม่’ หรือต่างจากทักษะเดิม ๆ ที่คุ้นเคยกันอย่างไร

“เราคุ้นเคยกันดีกับชุดความคิดที่ว่าในตลาดแรงงาน คนจนจะหายจนได้ต้องทำงานเก่งขึ้น ต้องพัฒนาตัวเองจนเป็นแรงงานฝีมือชั้นดี มีความสามารถเฉพาะทางระดับสูง หรือในตลาดการค้า ก็ต้องมีทักษะเช่น ทำอาหารเก่ง ทำขนมอร่อย ซึ่งนำไปใช้พาตัวเองหลุดพ้นความจนได้ เหล่านี้คือทักษะเฉพาะทาง เป็นเรื่อง ๆ ไป แต่ในโลกยุคใหม่ที่โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทักษะเฉพาะทางเหล่านี้เริ่มมีความสำคัญน้อยลง สิ่งที่เคยคิดกันว่าใช้ได้ดีในวันนี้ เวลาผ่านไปอาจใช้ไม่ได้หรือไม่มีความสำคัญอีกต่อไป โดยสิ่งที่กล่าวนี้ไม่ได้จำกัดแค่ในกลุ่มคนยากจน เพราะความเปลี่ยนแปลงของโลกนั้นกระทบกับคนทุกคนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม สำหรับคนยากจนที่มีต้นทุนชีวิตที่น้อยกว่า การปรับตัวรับมือกับปัญหาด้วยการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ จึงไม่มีมีโอกาสมากเท่ากับกลุ่มคนที่มีต้นทุนสูงกว่า 

“ความสำคัญของทักษะพื้นฐานชีวิต คือ เป็นทักษะพื้นฐาน การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) ทักษะดิจิทัล (Digital Skill) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Socio emotional Skill) จะเห็นว่าไม่มีเรื่องของ ทำขนม  ทำข้าวแกงได้อร่อย  หรือทักษะเฉพาะทางรวมอยู่ด้วยเลย แต่สามอย่างนี้คือทักษะที่ถ้าคุณเก่งแล้ว  จะไปได้ในทุก ๆ ทาง คุณอ่านหนังสือรู้เรื่องเข้าใจและมีทักษะดิจิทัล คุณตามโลกทัน  พร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง ขยับตัวเองไปเรียนรู้ในสิ่งใหม่ได้ สุดท้ายคือทักษะที่สำคัญมาก คืออารมณ์และสังคม ซึ่งผมพูดเสมอว่า EQ สำคัญกว่า IQ หรือ ‘ทัศนคติ’ สำคัญกว่า ‘ความรู้’ สังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะมาจากทัศนคติมากกว่าทักษะเฉพาะทาง เพราะคนกลุ่มแรกจะมีความเพียร มีการตั้งเป้าหมายในชีวิตและวางแผนเพื่อไปให้ถึง คือถ้าใครมีสามทักษะที่เป็นทุนชีวิตนี้ ทักษะเฉพาะทางอื่น ๆ จะตามมาได้ไม่ยาก เนื่องจากมันมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ (Learn How to Learn)”

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กสศ. ธนาคารโลก (World Bank)และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ได้เผยแพร่ผลสำรวจทักษะและความพร้อมเยาวชนและประชากรวัยแรงงาน (ASAT) ในประเทศไทย พ.ศ. 2565 โดยพบว่า  ไทยเผชิญวิกฤตเยาวชนและประชากรวัยแรงงานขาดแคลนทักษะหรือมีทักษะพื้นฐานชีวิต ได้แก่ 1) การอ่านออกเขียนได้ (literacy) 2) ทักษะด้านดิจิทัล (digital skill) และ 3) ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (sociomotional skill)   ต่ำกว่าเกณฑ์ (Threshold Level) ‘ในสัดส่วนที่สูง’ โดยปัญหาดังกล่าวคาดว่าได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20.1%

ประเทศไทยต้องลงทุนกับการกู้วิกฤตทักษะมากแค่ไหน?

คำถามที่ว่าเราต้องลงทุนอย่างไรหรือใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ เพื่อกู้วิกฤตทักษะประชากร คำตอบคือ ‘ใช้ให้เต็มที่ที่สุด’ ยิ่งเมื่อมองไปที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ทุกคนต่างทราบดีว่าอยู่ในสภาวะ ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ คือคนจนมีเยอะมาก ดังนั้นคนที่ต้องการการช่วยเหลือด้านทรัพยากรก็ยิ่งมีจำนวนมาก เรื่องนี้จึง “ไม่ควรจะอั้น มีเท่าไหร่ต้องใส่ไปให้หมด” แต่ใจความสำคัญคือเราต้องใส่อย่างชาญฉลาด ไม่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

“อย่าง ‘Soft Power’ ผมมองว่าเป็นเรื่องของ ‘กลุ่มทักษะ’ แต่สังเกตว่า งบประมาณให้น้อยเกินไป อย่างไรก็ตาม soft power  ก็ยังแคบไป และผมคิดว่า ทักษะที่เป็นพื้นฐานชีวิต ผมมองว่ายิ่งตอบโจทย์มากขึ้นไปอีก ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ต้องลงไม่อั้น ผมคำนวณดู  อินโดนีเซีย ใช้ 9,000 บาทต่อคน ลองใช้ตัวเลขนี้กับคนไทย ด้วยตัวเลขผู้ที่การศึกษาต่ำกว่า ม.3 ราว 20 ล้านคน ใช้เงินน่าจะไม่ถึงแสนล้าน งบประมาณ จริงๆอาจไม่ต้องใช้ถึงแสนล้าน เพราะทักษะแบบนี้โดยหลักการไม่จำเป็นต้องถูกฝึกใหม่ทุกปี ดังนั้น งบประมาณจะใช้ราว 60,000 ล้าน”

หมดยุคเรียน 16 ปี ถึงทำงานหาเงินได้
ลงทุนสร้าง 3 ทักษะ สร้างคนหาความรู้ด้วยตัวเอง สร้างงาน สร้างเงินได้เร็ว

ส่วนประเด็นเรื่องเวลาในการศึกษาเรียนรู้ ผมเปรียบเทียบให้เห็นเลยว่า สมัยก่อนจะหาเงินได้เป็นเรื่องเป็นราว พอจะมีชีวิตแบบชนชั้นกลางได้คุณต้องจบปริญญาตรี กว่าจะเรียนจบปริญญาตรีได้ต้อง 16 ปี  ถึงกล้าเข้าตลาดแรงงาน หาเงินได้ แต่ทักษะพื้นฐานชีวิต  ถ้าสอนกันดี ๆ มี Learning Platform ดี ๆ ดีไม่ดี เด็กอายุ 12-13  เก่งพวกนี้ได้แล้ว ยิ่งถ้าเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 6-7 ปี หรือตั้งแต่อนุบาลยิ่งดี หมายความว่า เด็กซัก 10-12 ปี เริ่มหาความรู้ด้วยตัวเองได้แล้ว แทนที่จะลงทุนถึง 16 ปีกว่าจะทำงาน หาเงินได้ในตลาดแรงงาน

“ประเด็นเรื่องเวลา คนจนไม่มีเวลา เรียนถึง 16 ปี ถ้าเราทำ platform ดี ๆ เด็กจากครอบครัวยากจน เรียน 6 ปี ไม่ถึง 10 ปี สามารถเก่งเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิต ก็สามารถหาความรู้ด้วยตัวเองได้ ดังนั้น การลงทุนกับทักษะพื้นฐานทุนมนุษย์ย่อม ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ามากกว่าและเร็วกว่าการลงทุน 16 ปีเพื่อสร้างคนเข้าตลาดแรงงานแน่นอน”

National Skill Program เริ่มต้นที่คนไทย 20 ล้านคนไม่จบ ม.3
จากสูตรสำเร็จของอินโดนีเซีย สู่การกู้วิกฤตทักษะของประเทศไทย 

การกู้วิกฤตทักษะคนไทย ต้องทำเป็นระบบใหญ่ ต้องเอาจริงและทุ่มเททรัพยากร  ตัวอย่างรูปธรรมสำคัญ เช่น การทำ National Skill Program เป็นวาระแห่งชาติ โดยโปรแกรมนี้ต้อง มีลักษณะเป็นขนมชั้น 3 ชั้น เริ่มจากชั้นกลาง คล้ายๆที่อินโดนีเซียทำ คือมีคูปอง มีระบบกลไกตลาด ให้คนที่รู้เรื่องทักษะจริงหรือรู้ว่าตลาดต้องการอะไรเป็น Suply Side เป็นผู้แจกคูปอง เป็นทักษะเฉพาะทาง ทักษะอาชีพต่างๆ  เรื่องนี้ต้องทำขนานใหญ่ ต้องกล้าลงทุน ของอินโดนีเซียทำ เริ่มต้น 5 ล้านคน ของไทยต้องวางเป้าหมายมากกว่านั้น  อาจกำหนดกลุ่มเป้าหมายเลยว่าคนไทยทุกคนที่เรียนไม่เกิน ม.3 ความรู้ไม่มากนัก ตามโลกไม่ทัน เข้าใจว่าน่าจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 20-30 ล้านคน แน่นอนว่าต้องค่อยๆเริ่ม และมีการประเมินระหว่างทาง โดยประเภทของทักษะอาจเป็นเฉพาะทางก็ได้ แต่ต้องมีความหลากหลายรองรับเพียงพอ”

ส่วนชั้นล่าง หรือชั้น 1 ควรมีโครงการที่เป็น Skill Program ที่ส่งเสริมเรื่องทักษะพื้นฐานชีวิตให้กับทุกคน ซึ่งในกระบวนการอาจมีการประเมินระดับทักษะทุนชีวิตในระดับบุคคล บางคนอาจจะมีอยู่แล้ว ก่อนจะไปใน ‘ชั้นกลาง’ ต้องแน่ใจว่า 3 ทักษะดี แต่ถ้า ทักษะพื้นฐานยังไม่ดี  การจะให้กลุ่มเป้าหมายข้ามไปเรียนรู้ทักษะเฉพาะทางเลย ผู้เรียนรู้จะไปไม่ได้ไกล หรือเรียนรู้ออกมาแล้วอาจไม่ได้ทำให้การสร้างรายได้เพิ่ม สร้างเนื้อสร้างตัวได้

สำหรับ ‘ชั้นบน’ ต้องเป็นพื้นที่เฉพาะของกลุ่มเปราะบาง เช่น ประชากรนอกระบบ เด็กที่ออกนอกระบบ กลุ่มคนจน 15% ล่างสุดของประเทศ คนพิการ ผู้สูงอายุ ฯลฯ เป็นกลุ่มนี้ต้องการการดูแลพิเศษ ด้วยโปรแกรมที่ออกแบบเฉพาะ

เสริมทักษะพื้นฐาน 3+2 เพื่อกลุ่มยากจนขาดแคลนโอกาสที่สุด

“การเสริม Foundation Skills ที่โยงกับกลุ่มคนนยากจนขาดแคลนโอกาสที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรเป็น 3+2 คือเรื่อง ‘ความรู้ทางการเงิน’ financial literacy และมีตัวย่อยคือ ‘ความรู้ในการลงทุน’ Investment literacy เราอาจจะคิดว่า คนจนไม่มีเงิน ไปลงทุน แต่เรา คนที่กึ่งจน กึ่งไม่จน ถ้ามีความรู้ทางการเงิน ลดการใช้จ่ายเงิน ลดการซื้อหวย ลดการกินเหล้า เงินที่มากขึ้น ถ้ามีความรู้ในการลงทุน จะทำให้เงินนี้ออกดอกออกผลได้ ไม่ว่าจะลงทุนในเรื่องอะไร  

ตัวแถมที่สาม คือเรื่อง สุขภาพ คนจนจำนวนมาก หลุดพ้นความยากจนไม่ได้เพราะปัญหาสุขภาพ เพราะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กินอาหารไม่ถูกต้อง นำไปสู่โรค หัวใจ ความดัน เบาหวาน NCD สุขภาพไม่ดีทำงานได้แย่ลง บางทีติดเตียงไป  เป็นภาระของครอบครัว หรือเสียชีวิตทั้งที่อยู่วัย เป็นกำลังหลักของครอบครัว กลายเป็นวังวนความยากจน”

มาตราเสริมอีกเรื่องที่ควรต้องทำ คือเรื่องอินเทอร์เน็ต ทักษะหลายเรื่อง ทั้งทักษะเฉพาะทาง และทักษะพื้นฐานทุนชีวิต ทักษะด้านสุขภาพ มาในรูปของดิจิตัล แต่ว่าปัญหาของประเทศไทย กลุ่มคนที่จนจริง ๆ จำนวนไม่น้อย เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต หรือในพื้นที่ห่างไกล ติดเขา ติดชายแดน สัญญาณไม่มี เป็นสิ่งที่ผมพยายามผลักดันผ่านมาหลายรัฐบาล ยังไม่สำเร็จ คือ ช่วยทำอินเทอร์เน็ตให้ฟรีได้มั้ย โดยเฉพาะฟรีสำหรับคนกลุ่มเปราะบาง จะเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ อย่างมากเลย ทำเรื่องนี้ผนวกกันกับโปรแกรม 3 ชั้น ความจำเป็นที่ต้องคุยว่า สวัสดิการเท่าไหร่ เบี้ยยังชีพพอมั้ย เงินไม่พอต้องหาเงินจะหาจากไหนดี จะหายไป