เรื่องเปิดขึ้นที่ ‘อาณาจักรปีศาจชั้นที่ 666’ ด้วยเสียงจอมมารที่กล่าวกับหนุ่มสาวซึ่งมารวมตัวกันเพื่อสอบเข้า ‘สถาบันฝึกอบรมจอมมารเดดร็อค’ ความว่า
…ยินดีต้อนรับสู่ขุมนรกแห่งอาณาจักรปีศาจ
…ในเมื่อพวกเจ้ามาที่นี่แล้ว พวกเจ้าทุกคนจะถูกสร้างให้เป็นราชาของโลกนี้
…ในโรงเรียนนี้ พวกเจ้าจะต้องฝึกหนัก พวกเจ้าต้องต่อสู้และเอาชีวิตรอด
…หากพวกเจ้าจบการศึกษาจากที่นี่ไปได้
…ข้าขอสัญญาว่าจะยกอาณาจักรมนุษย์ให้กับพวกเจ้า
แล้วเนื้อหาก็ดำเนินไป…
จากคลิปพากย์ ‘มังงะ’* เรื่อง ‘God of the Demon Realm’ หรือชื่อไทยว่า ‘โรงรียนจอมมารเดดร็อค’ เจ้าของเสียงพากย์ทุ้มกังวานที่สะกดให้นึกถึงแรงกดดันของการเคี่ยวกรำตัวเองขนาดหนักนั้น คือ ‘เต้’ ศุภวิชญ์ เครือแก้ว หนุ่มร่างสูงโปร่งวัย 20 ปี ที่กำลังยิ้มน้อย ๆ อย่างเขินอาย ภาพนั้นยิ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิง เมื่อเรามองกลับไปที่รูปลักษณ์ของจอมมารผู้มีผมสีฟ้า ดวงตาสีแดง ห่มคลุมร่างกายกำยำไว้ด้วยอาภรณ์สีดำ ที่ปรากฎบนหน้าจอโทรศัพท์
เต้เปิดคลิปให้เราเห็นภาพว่าช่อง T.W มังงะ & โอตาคุ ใน YouTube ที่มีอายุราว 1 ปี ซึ่งเขากับเพื่อนคือ ‘แม็ค’ ต้นตระกูล วงศ์ศามาลย์ ช่วยกันปลุกปั้นขึ้นมา มีหน้าตาอย่างไรเมื่อเลื่อนดูรายละเอียด จึงเห็นว่าช่องของทั้งคู่มีผู้ติดตามราว 54,400 คน มีวิดีโอทั้งหมด 25 รายการ เราคิดไปพลางว่าบทพูดต้นเรื่องของ ‘โรงเรียนจอมมารเดดร็อค’ ที่เต้เลือกเปิดนั้น มีบางส่วนพ้องพานกับบทชีวิตของเยาวชนทั้งสองคน โดยเฉพาะเรื่องราวของการ ฝึกหนัก และ ต่อสู้ เพื่อจะเอาตัวรอดให้ได้ แม้ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของทั้งคู่ จะไม่ได้เฉียดใกล้กับความอยากจะเป็น ราชาของโลกนี้ เลยก็ตาม
*มังงะ (manga) เป็นคำสำหรับเรียกการ์ตูนช่องในภาษาญี่ปุ่น คำนี้จึงถูกใช้เรียกแทนการ์ตูนช่องทั้งหมดที่มาจากญี่ปุ่นในระดับสากล
เรียนรู้ เติบโต และงอกงามได้ทุกที่ ถ้าหาตัวเองพบและลองลงมือทำ
เต้ กับ แม็ค คือเยาวชนจาก ‘กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร’ ตำบลนานวน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2565 โดย ‘พี่นาย’ ฉัตรมงคล ภูเงิน ภายใต้โครงการสานสัมพันธ์ชุมชนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งทำร่วมกับ กสศ. และเครือข่ายชุมชน ตลอดจนภาคีทั่วทั้งจังหวัดสุรินทร์และหน่วยงานภายนอก เพื่อร่วมกันออกแบบ ‘การเรียนรู้ที่ใช้บริบทชุมชนเป็นฐาน’ สำหรับเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา
และถึงแม้ใช้ชื่อ ‘กลุ่มเกษตร’ หากกระบวนการเรียนรู้จะมุ่งส่งเสริมวิชาชีพ วิชาการ และวิชาชีวิตแบบผสมผสาน โดยให้ผู้เรียนค้นพบและต่อยอดทักษะที่สนใจ ผ่านหลักสูตรที่ปราชญ์ชุมชนหลากหลายสาขาอาชีพช่วยกันวางแนวทางไว้
*อ่านเรื่องราว : “การเรียนรู้ไม่มีจุดสิ้นสุด เมื่อโจทย์ชีวิตยังคงเลื่อนไหลเปลี่ยนแปลง” กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชรกับการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงได้ตามโจทย์ชีวิตคลิก
พี่นายเล่าว่าแม็คกับเต้ไม่ได้เรียนต่อหลังจบ ม.3 เพราะครอบครัวไม่มีกำลังส่งเสีย เมื่อพบทั้งคู่ในช่วงก่อตั้งกลุ่มจึงลองชวนเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน โดยไม่รู้มาก่อนเลยว่าเด็กสองคนกำลังจะกลายเป็น ‘กรณีศึกษา’ (Case Study) ให้พี่นายนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ ‘การศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต’ สำหรับเยาวชนในพื้นที่ในอนาคต
“เต้กับแม็คจะเงียบ ๆ พี่ชวนมาปลูกผักทำเกษตรก็รับปาก สองคนขยันมาก มาแต่เช้าตลอด จนวันนึงพอเราได้คุยแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น ถึงมารู้ว่าเขาเป็นยูทูปเบอร์พากย์การ์ตูนกัน แล้วระดับสกิลคือไม่ใช่แค่ทำได้ แต่ทำได้ดีด้วย เราก็ตะลึงกับเด็กไม่ค่อยพูดสองคนนี้มาก
“ถามว่าเรามีส่วนร่วมกับสิ่งที่เขาทำแค่ไหน พี่ไม่สามารถเคลมได้เลยกับงานพากย์การ์ตูนของเขา แต่เราดีใจที่ได้เจอและพาเขามาที่นี่ เพราะสองคนนี้มีส่วนมาก ๆ กับการช่วยจุดประกายให้เด็กคนอื่นเห็นว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในหรือนอกโรงเรียนก็ตาม คุณเรียนรู้ เติบโต และงอกงามได้ ถ้าคุณหาตัวเองพบและลองลงมือทำ ส่วนเราเองจะพยายามช่วยสร้างพื้นที่เรียนรู้ ช่วยเติมทักษะชีวิต และช่วยหามือมาผลักดันสนับสนุนให้สิ่งที่เขาทำไว้ไปต่อได้มากที่สุด”
เรียนรู้แบบไร้กระบวนท่า
ตั้งแต่เด็ก ‘แม็ค’ ติดมังงะงอมแงม ไม่ว่าจะที่มีแปลให้อ่านในอินเทอร์เน็ต หรือจะเป็นเวอร์ชั่นหมึกพิมพ์บนกระดาษที่ ‘ผู้ใหญ่’ ชอบเรียกว่า ‘หนังสือการ์ตูน’ แม็คก็ไม่เกี่ยง
“ผมว่าเด็กส่วนใหญ่ชอบมังงะทั้งนั้น แค่พอเริ่มโต มันจะมีเรื่องอื่นมาแย่งความสนใจไป แต่กับผมตอนที่จบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อ ได้ไปทำงานรับจ้างหาเงินบ้าง ตอนนั้นผมเริ่มคิด ว่าทำไมไม่ลองทำสิ่งที่เราชอบให้เป็นอะไรสักอย่าง
“ช่วงนั้นผมติดช่องพากย์มังงะในยูทูป ที่เขาเอามังงะที่แปลเป็นภาษาไทยแล้วมาใส่เสียงตัวละครลงไปให้คนอ่านสนุกขึ้น ก็อยากลองทำบ้าง เลยพยายามเก็บเงินจากการทำงานเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์กับไมค์ จากนั้นลองฝึกพากย์ พยายามออกแบบเสียงกับอารมณ์ตัวละครเอง แรก ๆ ก็ไม่ได้เรื่องเลยครับ” แม็คหัวเราะเบา ๆ เมื่อหวนนึกถึงช่วงลองผิดลองถูก
เราสงสัยว่า เมื่อไม่มีความรู้มาก่อน แม็คตั้งสเปกเครื่องมือและเลือกมังงะเรื่องที่จะมาพากย์ยังไง
แม็คบอกว่า “ไม่ได้คิดเยอะเลยครับ ตังค์พอซื้อเครื่องไหนก็เอาเครื่องนั้น ส่วนไมค์แค่พอรับเสียงได้ก็เอาแล้ว แต่การเลือกเรื่องต้องคิดละเอียดหน่อย เพราะต้องไปติดต่อขอจากเพจที่เขาแปลภาษาไทยไว้แล้ว เพจไหนอนุญาตเราก็เอามาพากย์แล้วให้เครดิตเขา ผมจะพยายามเลือกเรื่องที่ไม่ซ้ำกับช่องอื่นที่มีอยู่แล้ว เหมือนเป็นทางเลือกให้คนอ่านด้วย”
คลำทางอยู่คนเดียวสักพัก แม็คจึงชวน ‘เต้’ เพื่อนที่แก่กว่าเขาสองปีและโตมาด้วยกันมาช่วย เพราะแม็ครู้ว่าเต้ก็เป็นอีกคนหนึ่ง ที่หมกหมุ่นอยู่กับมังงะในระดับกินกันไม่ลง
แม็คเล่าถึงการทำงานเป็นทีมว่า “พอพากย์สองคน งานง่ายขึ้นเยอะครับ เราแบ่งตัวละครได้ ช่วยกันคิดได้ว่าจะดีไซน์เสียงยังไงใส่เข้าไป ตัวละครควรมีเสียงแบบไหน คาร์แรคเตอร์เสียงเป็นยังไง คือมันต้องมีเสียงในหัวเราก่อน เพื่อจะเปลี่ยนภาพกับตัวหนังสือที่มีแต่ความเงียบให้มีอารมณ์ความรู้สึกขึ้นมา”
เต้เสริมว่า “ผมจะเสียงทุ้มกว่า ส่วนใหญ่จะพากย์ตัวละครผู้ชายที่มีอายุหน่อย ส่วนแม็คจะถนัดเสียงเด็กกับผู้หญิง แล้วยังรับหน้าที่ตัดต่อคลิปด้วย เรื่องเทคนิคเราก็อาศัยฝึกเอาเรื่อย ๆ ดู อนิเมะ เยอะ ๆ แล้วมาปรับกับสไตล์เรา ทำซ้ำเข้ามันก็รู้วิธีเองครับ”
ฟังดูเหมือนเป็นการเรียนรู้แบบ ‘ไร้กระบวนท่า’ หากเบื้องลึกเบื้องหลังนั้น เด็กหนุ่มสองคนเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ไม่ย่อท้อแม้จะล้มเหลว ทั้งยังพร้อมนำข้อบกพร่องมาปรับปรุงแก้ไข
ดังนั้นจากคลิปแรก ๆ ที่มีผู้ติดตามเพียงหลักสิบ ไม่นานจึงเพิ่มเป็นหลักร้อย ซึ่งแม็คบอกว่า “แค่นั้นก็มากกว่าที่คิดไว้แล้วครับ” แต่ตัวเลขผู้ติดตามก็ไม่หยุดแค่นั้น หากยังเพิ่มขึ้นตามจำนวนชิ้นงานที่ทั้งคู่ปล่อยออกมา จนแตะหลักพัน หมื่น และมาถึงระดับครึ่งแสนกว่า ๆ โดยที่อายุช่องยังไม่ครบหนึ่งปีดี
ที่สุดแล้ว ความหลงใหลหมกมุ่นของเต้กับแม็ค จึงให้ผลตอบแทนคืนกลับมาเป็น ‘ตัวเงิน’ ที่เป็นทั้งกำลังใจและคือ ‘ทุน’ ที่หล่อเลี้ยงให้ ‘T.W มังงะ & โอตาคุ’ ทะเยอทะยานอยากทำงานให้ดีขึ้น และเติบโตขึ้นไปอีก
*อนิเมะ หมายถึง ภาพเคลื่อนไหวที่วาดด้วยมือหรือใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกจากประเทศญี่ปุ่น ใช้สื่อถึงภาพยนตร์การ์ตูน (Animated media) สัญชาติญี่ปุ่น หรือภาพยนตร์การ์ตูนที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปะลักษณะเดียวกันกับภาพยนตร์การ์ตูนที่ผลิตในญี่ปุ่น
ส่วนหนึ่งที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะไม่มีภาพตัวอย่างให้เห็นว่าการศึกษาจะพาไปไหน
แม็คกับเต้ใช้เวลาพากย์ ตัดต่อ และอัปโหลดคลิปประมาณ 1-2 อาทิตย์ครั้ง พอมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6-7 พันบาท ทั้งยังมีคลิปที่เคยมีคนดูมากที่สุดระดับหลายแสนวิว และได้ค่าตอบแทนมาสองหมื่น ซึ่งทั้งคู่ดีใจกันมาก
อย่างไรก็ตามถ้าจะสร้างฐานคนดูเพิ่มและทำให้มีรายได้มากขึ้นไปอีก พวกเขายังต้องสู้ ต้องเหนื่อย และต้องการ ‘ความรู้’ กับ ‘เครื่องมือ’ มาเพิ่มอีกเยอะ
“เราพยายามเน้นคุณภาพ ตอนนี้ก็ได้อย่างที่ใจคิดประมาณหนึ่ง คือมันจะมีช่องพากย์ที่คนยอมรับกันว่าเสียงพากย์ได้ เรื่องสนุก ดนตรีประกอบดี บรรยากาศและตัวละครมีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเราอยู่ในกลุ่มนั้นแล้ว ส่วนถ้าจะยกมาตรฐานให้สูงขึ้นไป คิดว่าพวกเราต้องพยายามให้มากขึ้นอีก แล้วต้องมีความรู้เรื่องการพากย์และการใช้เครื่องมือที่จริงจังกว่านี้”
แม็คแจงรายได้จากช่อง เลยไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้และทรัพยากรที่ต้องการ ซึ่งเขาเลือกพูดถึงภาคทฤษฎี หรือ ‘องค์ความรู้’ โดยไม่เอ่ยถึงต้นทุนที่เป็นตัวเงินอย่างที่เราคิด จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะยิงคำถามสำคัญว่า แม็คกับเต้คิดว่าด้วยประสบการณ์ที่มีอยู่ ทั้งสองคนมองเรื่อง ‘การเรียนรู้ที่มีทางเลือก’ เพื่อจะพาชีวิตและความสนใจให้ไปไกลกว่านี้กันอย่างไร
“ผมอยากได้ความรู้ที่จะช่วยเปิดเส้นทางใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับดิจิทัลอาร์ต (ศิลปะดิจิทัล) เพราะถึงจะมีประสบการณ์ แต่ทำไปถึงจุดหนึ่ง ยังไงเราก็สู้คนที่เรียนรู้มาโดยตรงไม่ได้ครับ” แม็คบอก ซึ่งความหมายจริง ๆ ก็คือ เขายังอยากเรียนต่อ
“…ผมว่าถ้ามีหลักสูตรที่สามารถแปลงความรู้และประสบการณ์เป็นวุฒิการศึกษาได้จริงก็น่าสนใจครับ เพราะนั่นหมายถึงผมเองก็อาจจะมีโอกาสเรียนในมหาวิทยาลัยได้ด้วย”
“ถ้าเลือกได้อยากเรียนต่อครับ ผมเองยังศึกษาเรื่องการพากย์เสียง การทำคลิป อยากพัฒนาตัวเองขึ้นอีก แล้วก็อยากรู้ภาษาญี่ปุ่นด้วยครับ คิดว่าอาจลองหาทางเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตดู คิดว่าน่าจะช่วยพัฒนางานได้เยอะเลย”
ส่วนเต้บอกว่าสนใจงานพากย์เสียงและการเป็นยูทูปเบอร์ และต้องการเรียนรู้ทักษะในระดับสูง อยากมีผู้แนะนำเทคนิคขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงอยากมีช่องทางเข้าถึงไอเดียใหม่ ๆ ที่ทำให้ ‘มองเห็นอะไร ๆ ได้กว้างขึ้น’ ซึ่งจะช่วยให้เขาเสียเวลากับการลองผิดน้อยลง
“ผมอยากเรียนเกี่ยวกับการพากย์ เพื่อให้เห็นว่ามืออาชีพเขาทำกันอย่างไร คือผมอยากทำเป็นอาชีพจริง ๆ” เต้เว้นวรรค ก่อนย้อนไปพูดถึงการเรียนในระบบว่า “…ผมว่าข้อดีอย่างหนึ่งของการไปเรียน คือเราจะได้เจอคน เจอครู เจอสังคมที่ช่วยเปิดช่องทางได้มากกว่าด้วย เพราะทำอยู่ตรงนี้เราก็มีกันแค่สองคนครับ วัน ๆ ไม่เจอใครเลย”
ถึงความสนใจของแม็คกับเต้จะแตกต่างกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันในพื้นที่ แต่เมื่อให้ระบุ ‘ปัญหาอุปสรรค’ ของเยาวชนบ้านตาเพชร สองคนมีมุมมองไปในทางเดียวกันว่า ‘ทุน’ คือปัจจัยที่หนึ่ง กับสองคือเรื่องของ ‘โอกาส’ ด้วยยังมีเยาวชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบชั้น ม.3 เพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ และอีกส่วนหนึ่งที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปเพราะ ‘ไม่มีภาพตัวอย่าง’ ว่าการศึกษาจะพาไปในทิศทางไหน จนไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเรียน แม็คและเต้จึงพยายามย้ำบ่อยครั้งถึง ‘การแนะแนวทาง’ ทั้งเรื่องการศึกษาและการประกอบอาชีพ ว่าสำคัญกับเยาวชนในชุมชนเล็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกลจากโอกาสเพียงใด
เพราะสำหรับทั้งสองคน ที่พยายามมาถึงขนาดนี้ได้ ก็เนื่องจาก ‘มังงะ’ ที่พวกเขาทั้งหลงใหลและผูกพันนั้น มีสิ่งเหล่านี้อยู่เต็มเปี่ยม
“มีมังงะหลายเรื่องเลยครับ ที่สอดแทรกความรู้เชิงลึกของศาสตร์แขนงต่าง ๆ เอาไว้ ทั้งสังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ การเมือง วิทยาศาสตร์ กฎหมาย การทำอาหาร และอีกมากมาย หลายเรื่องก็สร้างขึ้นมาจากแง่มุมที่อยู่ใกล้ตัวเรา อย่างเรื่องเพื่อน ครอบครัว ความสัมพันธ์ หรือเรื่องเป้าหมายและความฝันในชีวิต สำหรับผม เหมือนเรื่องราวเหล่านี้มันสอนเรา เปลี่ยนแปลงเรา และให้ความหวังกับเรา”
เมื่อได้พูดถึงสิ่งที่รัก สายตาของเต้เป็นประกาย มองไกลออกไปยังท้องทุ่งเบื้องหน้า ที่มีแต่ภูเขาและต้นไม้ปรากฏ
ทุกคนจะถูกสร้างให้เป็นคนของโลกนี้
เราถามเต้กับแม็คว่าเวลามากกว่าหนึ่งปีที่กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชร พวกเขาได้ซึมซับวิถีเกษตรกรเข้าไปมากน้อยแค่ไหน
แม็คหัวเราะอีกครั้ง แล้วตอบเลี่ยง ๆ ว่า “มาที่นี่ก็ดีครับ ได้รู้จักเพื่อนเพิ่มขึ้น ได้มาฟังประสบการณ์จากพี่นาย ได้ลองทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนด้วย แต่ยังไงผมก็คิดว่าตัวเองเจอเส้นทางที่อยากจะไปแล้วครับ”
และเป็นพี่นายที่กล่าวสรุปว่า “เราแค่สร้างพื้นที่ขึ้นมา เพื่อให้เด็กมีที่มารวมกัน มารู้จักกัน มาช่วยแบ่งปันและผลักดันกันเบื้องต้นแค่ขอให้มาลองเรียนรู้ แต่เราไม่รู้หรอกว่าใครมาแล้วจะไปทางไหน เพราะการออกแบบการศึกษาที่มีทางเลือกและตอบโจทย์ชีวิต มันคือการสร้างพื้นที่เรียนรู้ ให้เด็กมาใช้เวลาด้วยกัน แล้วเราจะพยายามส่งต่อเขาให้ไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
“สำหรับเรื่องของแม็คกับเต้ พี่อยากเปรียบว่า มันเหมือนเราปลูกต้นไม้ขึ้นมาเพื่อหวังผลอย่างหนึ่ง แต่ท้ายสุดแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมากลับกลายเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะดีกว่าสิ่งที่เรานึกไว้ก็เป็นได้ พี่เชื่อว่าเรื่องราวแบบนี้เป็นไปได้เสมอ กับตัวเราหวังแค่ว่าการมาที่นี่ เขาจะได้เรียนรู้บางสิ่งเพื่อนำไปใช้ในวันข้างหน้า และสามารถคิดต่อไปได้อีก
“…คือถ้าเราส่งเขาไปได้ วันหนึ่งเขาอาจไปได้ไกลกว่าและประสบความสำเร็จได้ในสิ่งที่เราไม่ได้สอนเขาด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราจะดีใจที่สุด เพราะหมายถึงเด็ก ๆ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พวกเขาดีได้และเก่งได้ แม้ต้นทุนจะน้อยนิดถ้าเทียบกับเด็กคนอื่น ๆ สำคัญคือถ้าเราพบแล้วเห็นแล้วว่ามีแนวทางใดที่สำเร็จหรือพัฒนาได้ แล้วเอามาออกแบบให้ดี มีมืออื่น ๆ มาช่วยสนับสนุน พี่ว่ามันจะเป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตสำหรับเด็กเยาวชนในทุกพื้นที่ได้เช่นกัน”
จากต้นเรื่อง เราเปิดด้วยเสียงของจอมมารซึ่งพากย์โดยเต้ ก่อนบอกลา จึงอยากใช้เสียงของพี่นายมาปิดท้ายบทสนทนานี้ให้สมบูรณ์ ด้วยเนื้อหาใจความที่คิดว่าไม่ต่างกันเท่าไหร่
เพราะไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวที่มารวมตัวกันเพื่อสอบเข้าสถาบันฝึกอบรมจอมมารเดดร็อคก็ดี
หรือจะเยาวชนบ้านตาเพชรที่เข้ามาเรียนรู้ ณ กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่บ้านตาเพชรก็ตาม
…ในเมื่อเข้ามาที่นี่แล้ว ทุกคนจะถูกสร้างให้เป็น ‘คนของโลกนี้’
…ในโรงเรียนแห่งนี้ ทุกคนต้องต่อสู้ เรียนรู้ และเสาะหาเส้นทางชีวิต
…แล้วเมื่อผ่านการศึกษาจากที่นี่
…ทุกคนจะมีทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อใช้เลี้ยงดูตนเองต่อไป
เหมือนเช่นคนทุกคนในสังคม