“ถ้าได้วุฒิ ม.6 ผมเชื่อว่าจะมีทางไปต่อแน่นอน” : Mobile School ลงทะเบียนนักเรียนใหม่ เมื่อ ‘โรงเรียนอยู่ไหนก็ได้’ การตัดสินใจกลับมาเรียนก็เกิดขึ้นทันที

“ถ้าได้วุฒิ ม.6 ผมเชื่อว่าจะมีทางไปต่อแน่นอน” : Mobile School ลงทะเบียนนักเรียนใหม่ เมื่อ ‘โรงเรียนอยู่ไหนก็ได้’ การตัดสินใจกลับมาเรียนก็เกิดขึ้นทันที

“โรงเรียนที่เปิดกว้างให้เรียนจากที่ไหนก็ได้ แถมยังเอาเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่เราทำอยู่แล้วมาออกแบบเป็นหน่วยการเรียนรู้ได้ …ผมว่ามันเหมือนเราคลำมาเจอลูกบิดประตู ที่มันจะเปิดพาไปถึงที่ที่อยากจะไปได้แล้ว”

จากเรื่องราวของ ‘แม็ค’ ต้นตระกูล วงศ์ศามาลย์ วัย 18 ปี กับ ‘เต้’ ศุภวิชญ์ เครือแก้ว วัย 21 ปี สองเยาวชนบ้านตาเพชร ตำบลนานวน อำเภอสนม จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งปิดฉากการศึกษาในระบบที่ชั้น ม.3 ก่อนทั้งคู่จะชวนกันเดินสู่เส้นทาง YouTuber เปิดช่อง T.W มังงะ & โอตาคุ ทำคอนเทนต์พากย์เสียง มังงะ เผยแพร่บน YouTube จนเวลาไม่ถึงปีช่องของทั้งคู่ก็สามารถสร้างฐานผู้ติดตามได้กว่า 5 หมื่นคน ทำรายได้เฉลี่ยเดือนละ 6-7 พันบาท ทั้งยังเคยพาคอนเทนต์หนึ่งไปถึง 550,000 ยอดวิว

*ย้อนดูเรื่องราวของแม็คกับเต้ที่ : “คู่หูนักพากย์มังงะยอดวิวหลักแสน” ผลลัพธ์ที่ไปได้ไกลกว่าความคาดหวังจากการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน

ผ่านมาครึ่งปีจากวันนั้น เราเจอ เต้&แม็ค อีกครั้ง เมื่อทั้งคู่พากันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวที ‘แบ่งปันประสบการณ์การเติบโตและการเรียนรู้ยืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต’ ในงานเปิดโครงการ ‘Mobile School เข้าเรียนไม่ได้ ให้โรงเรียนไปหา’ ณ พื้นที่จัดงานชุมชนคลองเตย ซึ่งน้อง ๆ สองคนอัปเดตชีวิตว่ายังคงทำช่อง พัฒนาตัวเอง และใช้ชีวิตปกติเหมือนทุกวัน ส่วนที่มากขึ้นคือยอดผู้ติดตามช่องที่เพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่น ซึ่งเต้บอกว่า “ยังพอไปได้เรื่อย ๆ ครับ”

และการพบกันวันนี้ นอกจาก เต้&แม็ค จะมาจับไมค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อน ๆ บนเวที สองคนยังอมยิ้ม พร้อมชูบัตรนักเรียนให้ดู ว่าทั้งคู่เพิ่งสมัครเข้าเรียนกับ Mobile School หรือ ‘โรงเรียนมือถือ’ เป็นที่เรียบร้อย …ด้วยหวังเต็มเปี่ยมว่าทางสายใหม่นี้จะช่วยเปิดประตูไปสู่ ‘วุฒิการศึกษา’ อันเป็นสิ่งที่ทั้งคู่เฝ้ารอโอกาสมาเนิ่นนานได้เสียที

เราถามถึงสถานการณ์ก่อนหน้า ว่าอะไรคืออุปสรรคที่กั้นขวางทั้งสองคนไว้จากการศึกษา แม็คบอกว่า “ที่ไม่ได้เรียนต่อ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่ชุมชนที่เราอยู่ไม่มีเปิดสอนเกี่ยวกับสิ่งที่ผมสนใจเลย มันก็ย้อนไปที่เรื่องค่าใช้จ่าย ว่าถ้าจะเรียนจริง ๆ เราต้องออกจากบ้านไปเรียนที่อื่น ซึ่งต้องมีทุนทั้งค่าเดินทาง ค่ากินอยู่ ค่าเทอม ค่าอะไรต่าง ๆ อีกมาก” และแน่นอนว่าพอต้องใช้ทุนจำนวนมาก สิ่งที่เด็ก ๆ จะทำทันทีก็คือ ‘ตัดใจเสียจากการศึกษา’

ส่วนเต้ขยายความว่า ‘สภาพแวดล้อม’ คือปัจจัยสำคัญที่สุด ด้วยตรงที่ที่พวกเขาอยู่นั้นไม่มีอะไรส่งเสริมเลย ไม่ว่าสถานที่ ผู้คนในสายงาน หรือสังคมเพื่อน ๆ ที่สนใจอะไรเหมือนกัน

“พอไม่มีคนที่เป็นต้นแบบ หรือคนสนใจอะไรใกล้ ๆ กัน มันก็ยากครับที่จะมองเห็นว่าสิ่งที่เราทำมันจะไปไหนได้ แล้วเป็นธรรมดาสำหรับคนอายุเท่า ๆ พวกผมที่เวลาจะทำอะไรก็ตาม เพื่อนถือว่ามีส่วนสำคัญมาก อย่างบางคนไม่ได้สนใจสิ่งที่เพื่อนทำ แต่เพราะอยากมีเพื่อนก็เลยต้องยอมทำตามเขาไป สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริง ๆ ผมถึงคิดว่าโชคดีที่เจอแม็ค แต่ก็อย่างที่บอกครับ ว่ามีกันแค่สองคน ยังไงถึงจุดหนึ่งเราก็จะไปต่อไม่ได้ พวกเราถึงอยากเรียนสูงกว่านี้”

ที่เล่ามาคือการฉายภาพอนาคตซึ่งทั้งคู่ต่างคาดคะเน เราจึงให้ช่วยขยายความต่อว่า การติดอยู่ตรงวุฒิ ม.3 ขณะที่เวลาผ่านไปวัยก็เพิ่มขึ้นทุกวัน เรื่องนี้ส่งผลอะไรกับทั้งสองคนบ้าง

“ผมคิดว่าสำหรับตัวความรู้ เราพอขวนขวายหาจากอินเทอร์เน็ต หรือค่อย ๆ ฝึกทักษะจากการลงมือทำได้ แต่สุดท้ายถ้าเราไม่มีวุฒิการศึกษา หรือที่สำคัญกว่านั้นอีกคือพอไม่ได้เรียนในโรงเรียน เราจะไม่มีครู ไม่มีเพื่อน ไม่มีสถาบันหรือสังคมของคนทำงานแบบเดียวกันช่วยส่งเสริม มันก็ไปไหนยากครับ” แม็คเล่า

“คือแม้พยายามจนถึงจุดหนึ่ง แต่เมื่อมีวุฒิแค่ ม.3 สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเราเอาความรู้ความสามารถไปสมัครงานไม่ได้เลย คือไม่ต้องสายงานที่สนใจก็ได้ ลำพังงานทั่วไปยังไงส่วนใหญ่เขาก็รับวุฒิขั้นต่ำ ม.6 ทั้งนั้น”

ส่วนเต้บอกว่า “กับงานพากย์ ผมฝึกทุกวัน ทำคลิปทุกเดือน ยิ่งทำทักษะยิ่งมากขึ้น แต่มองให้ไกลกว่านั้นก็ลำบากครับ เหมือนขาดคนที่จะชี้ทางว่าเราควรเดินต่อไปทางไหน มันเลยมองไม่เห็นว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้ายังไง”

Mobile School (อาจคือ) …ประตูบานนั้น

ย้อนไปที่การพบกันครั้งก่อน เราเคยถาม เต้&แม็ค ว่าถ้าจะมี ‘อะไรสักอย่าง’ ที่ช่วยพาพวกเขาให้ไปได้ไกลขึ้น สองคนมองว่า ‘สิ่งนั้นคืออะไร’ แม็คบอกว่าเขาอยากให้มี ‘หลักสูตร’ ที่สามารถแปลงความรู้และประสบการณ์เป็นหน่วยกิต และมีวุฒิการศึกษารองรับ เพื่อให้ความหวังเล็ก ๆ ว่าจะเรียนต่อนั้นเป็นไปได้ ขณะที่เต้บอกว่าเขาอยากเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย โดยยังเชื่อว่าถ้ามีโอกาส เขาอาจมีวุฒิการศึกษาเพื่อเป็นบันไดให้ไปสู่งานพากย์เสียงเลี้ยงชีพจริง ๆ จัง ๆ ในสักวันหนึ่ง

…และเมื่อการพบกันครั้งนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจากครั้งก่อน เราจึงถามว่าในฐานะ ‘นักเรียนใหม่’ ของ ‘Mobile School’ ทั้งสองคนมองว่าถนนเส้นนี้จะพาแต่ละคนไปไหน หรือในวันหนึ่งไม่นานจากนี้ที่ทั้งคู่ฝ่าฟันจนได้วุฒิการศึกษาชั้น ม.6 แล้ว ชีวิตจะเปลี่ยนไปได้อย่างไรบ้าง

เช่นเคยที่แม็คชิงตอบก่อน ด้วยน้ำเสียงหนักแน่นและมั่นใจ ว่า “ผมยังยืนยันครับว่าอยากเรียน Digital Art เพราะนอกจากพากย์เสียง ผมชอบงานเบื้องหลังด้วย พวกงานตัดต่อ ทำกราฟฟิก …วันนี้พอได้สมัครเรียนแล้ว ผมเฝ้ารอเลยครับว่าถ้าได้วุฒิเมื่อไหร่ เชื่อว่าตัวเองจะมีทางไปต่อแน่ ๆ สำหรับผมมองว่าโรงเรียนที่เปิดกว้างให้เรียนจากที่ไหนก็ได้ แถมยังเอาเรื่องที่สนใจ หรือเรื่องที่เราทำอยู่แล้วมาออกแบบเป็นหน่วยการเรียนรู้ได้ มัน… ยังไงดี ผมว่ามันเหมือนเราคลำมาเจอลูกบิดประตู ที่มันจะเปิดพาไปถึงที่ที่อยากจะไปได้แล้ว” แม็คเว้นวรรค แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ถ้อยคำที่กักเก็บไว้ไหลออกมา 

“…ทั้งที่ก่อนหน้านี้ บางทีผมก็เลิกคิดไปแล้วครับ ว่าจะได้เรียน ได้วุฒิ หรือได้หวังว่าตัวเองจะอยู่กับสิ่งที่ชอบที่สนใจต่อไปได้”

ส่วนเต้บอกว่าถึงยังรู้จักโรงเรียนมือถือไม่มาก แต่เขาเชื่อว่าเมื่อมีโอกาสหยิบยื่นเข้ามา คิดคำนวณอย่างไร การยอมรับไว้แล้วเดินหน้าต่อไป ยังไงเสียก็จะเป็นสิ่งที่ดีทั้งหมด

“เท่าที่รู้คือที่โรงเรียนนี้จะทำให้ได้วุฒิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมอยากได้มากที่สุด ก็ตัดสินใจไม่ยากเลย เพราะถึงยังไงผมก็ยังอยากเรียนครับ อยากรู้ว่าตัวเองจะไปได้ถึงไหน ซึ่งผมวางแผนไว้แล้วว่าระหว่างเรียนโรงเรียนมือถือก็จะทำงานเก็บเงินไปด้วย จบแล้วจะได้ต่อมหาวิทยาลัย ส่วนช่อง YouTube กับแม็คก็จะยังทำต่อไปเรื่อย ๆ ครับ” 

และนี่คือเรื่องราวในอีกบทบาทหนึ่งของ ‘เต้&แม็ค’ เยาวชนบ้านตาเพชร จังหวัดสุรินทร์ สองน้องใหม่แห่ง ‘Mobile School’ ซึ่งกำลังจะเริ่มเข้าสู่บทเรียนตามความถนัดและความสนใจ บนการศึกษาที่ ‘ยืดหยุ่น’ ‘มีทางเลือก’ และ ‘ตอบโจทย์ชีวิต’

เพื่อให้เด็กเยาวชนไทยทุกคนอยู่บนเส้นทางการศึกษาได้ ทั้งบนความแตกต่างหลากหลาย และไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดของประเทศก็ตาม