‘ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง’ ร้านไก่ KFC เปิดห้องเรียนยืดหยุ่น เติมความฝัน สร้างโอกาส ขยาย School Zone แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

‘ทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง’ ร้านไก่ KFC เปิดห้องเรียนยืดหยุ่น เติมความฝัน สร้างโอกาส ขยาย School Zone แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

จากงานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาที่ กสศ. ร่วมกับเครือข่าย 67 องค์กร มีเด็กนอกระบบการศึกษาที่ให้ข้อมูล 35,003 คน พบว่า 50% ของเด็กกลุ่มนี้ มีความต้องการได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพและสนับสนุนการประกอบอาชีพ มากกว่าการเข้าเรียนในระบบการศึกษา ข้อเท็จจริงนี้แสดงถึงแรงจูงใจภายในของเด็ก ที่เห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพมากกว่ามุ่งเป้าหมายการศึกษาในระบบ

ดังนั้นการจัดการศึกษาที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้มีรายได้จากการประกอบอาชีพตามเป้าหมายของตัวเอง และได้รับวุฒิการศึกษาไปด้วย คือ รูปแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิต เพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ 

การจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ ภาคเอกชนมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอย่างมาก ในการเชื่อมโลกการทำงานและโลกของการศึกษาไปด้วยกัน จึงเป็นที่มาที่ กสศ. ระดมความร่วมมือภาคธุรกิจเอกชนที่มีความสนใจพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิตเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ เพื่อให้พวกเขากลับเข้าศึกษาต่อจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานและได้รับการพัฒนาทักษะอาชีพตามความถนัดและพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถพึ่งพาตนเองได้ 

กสศ. ยังเชื่อมโยงภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคนโยบาย ที่มีความเชี่ยวชาญในการเทียบโอนประสบการณ์เป็นคุณวุฒิ ร่วมพัฒนาหลักสูตรนี้ด้วย จึงเป็นที่มาของ ‘หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ ของ KFC หนึ่งในองค์กรภาคเอกชนที่ร่วมพัฒนากับ กสศ. และมูลนิธิปัญญากัลป์ที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัย ซึ่งหลังจากพัฒนาเสร็จสมบูรณ์ และได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ จึงได้นำไปทดลองใช้กับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมที่ครั้งหนึ่งในชีวิตอาจเคยก้าวพลาด จนต้องได้รับโทษทัณฑ์หรือหลุดออกจากเส้นทางการศึกษาไป 

หลักสูตรนี้จะช่วยสร้างสิทธิและโอกาสการศึกษาสำหรับเด็กทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้เด็กเหล่านั้นหวนกลับเข้าสู่เส้นทางชีวิตใหม่และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี เป็นประตูบานสำคัญที่จะนำพาให้พวกเขาก้าวข้ามอุปสรรค ไปสู่การพัฒนาทักษะ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพึ่งพาตนเองได้ในท้ายที่สุด

วันนี้ กสศ. ชวนพูดคุยกับ แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager KFC Thailand และ ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ สองหัวเรือหลักที่ร่วมสร้างโอกาสทางการศึกษา ด้วยการสรรค์สร้าง ‘หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ ที่เด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมจะได้เรียนรู้ผ่านโครงการ ‘KFC Bucket Search’ สร้างการศึกษาที่ยืดหยุ่น เพื่อดึงเอาศักยภาพของเด็กๆ ออกมาอย่างเต็มที่ ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกศักยภาพไม่ควรถูกทอดทิ้ง ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมว่า ภาคธุรกิจหรือใครก็ตามที่มีไอเดียอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาก็สามารถทำได้ 

ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจปัญหาการศึกษาของเด็กไทย

แจนเน็ต: สำหรับ KFC ต้องเท้าความถึงจุดเริ่มต้นของผู้พันแซนเดอร์ก่อนว่า ผู้พันแซนเดอร์ก็เป็นเด็ก Dropout คำว่าโอกาสและความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เขาต้องการทำไก่ทอดที่อร่อย คุณภาพดี ในราคาที่ทุกคนเข้าถึงได้ ความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นจุดเริ่มต้นของ KFC จึงอยู่ที่การปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมให้กับทุกคน

จนมาถึงวันนี้เราได้เห็นว่าเรื่องการศึกษาเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ยังขาดความเท่าเทียมอยู่ ทั้งที่การศึกษาเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ เราพบว่าปัญหาเรื่องการศึกษาในช่วงโควิด-19 คือช่วงที่หนักที่สุด เด็กหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เพราะต้องออกมาทำงาน ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราสนใจปัญหาเรื่องการศึกษา

ศุภชัย: ช่วงปี 2563 เป็นปีที่ กสศ. ให้ความสำคัญเรื่องการทำงานกับเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งทางมูลนิธิปัญญากัลป์ก็ได้รับการเชิญชวนให้มาช่วยกันคิดหาแนวทางช่วยเหลือหรือให้โอกาสเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาได้ยังไงบ้าง 

ในโปรเจกต์ที่ผมดูแลมีเด็กทั้งหมด 900 คน ในภาคอีสาน ในจำนวนนี้มีเด็ก 300 คน อยู่ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 9 จังหวัด ในการดูแลของกรมพินิจฯ ซึ่งเราพบว่าเด็กหลายคนออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ ม.ต้น เราจึงคิดว่าน่าจะมีวิธีช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์การเรียน’ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้องๆ ที่หลุดออกจากระบบ ซึ่งตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เปิดโอกาสให้ชุมชนหรือองค์กรภาคเอกชนสามารถที่จะจัดการศึกษาให้กับเด็กได้

ในปีแรกเราได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้จริงและมีเด็กจบได้จริง โดยมีศูนย์การเรียน CYF (Children and Youth Development Foundation) ที่นครพนมเป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาให้เด็กและเยาวชน หลังจากนั้น กสศ. ก็มีโครงการยกระดับการทำงานร่วมกับกรมพินิจฯ โดยมองว่าทำยังไงให้เด็กประคับประคองชีวิตตัวเองให้รอดได้จริงๆ และอยู่ในจุดที่เขายืนอยู่ได้โดยไม่กระทำผิดซ้ำ

เมื่อเรามาเสริมแรงกับ KFC เราก็ยิ่งเห็นว่ามีอาชีพหลากหลายให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง โดยเราจัดเป็นโครงการ KFC Bucket Search ให้เด็กได้เห็นคนในอาชีพนั้นตัวเป็นๆ มายืนขายของให้ดู เห็นบาร์เทนเดอร์มาเขย่าให้ดูจริงๆ เห็นช่างตัดผมเท่ๆ เห็นพี่ๆ KFC มาเล่าประสบการณ์ก้าวพลาดของเขาเหมือนกัน เด็กเขาก็ได้แรงบันดาลใจในการที่จะไปต่อ อันนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้เราเห็นว่าความสำคัญของการศึกษาไม่ใช่แค่วุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่ทำยังไงให้ขยับไปสู่การสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับพวกเขาด้วย

สองหัวเรือหลักที่ร่วมสร้างโครงการ ‘KFC Bucket Search’

บทบาทของมูลนิธิปัญญากัลป์ ในฐานะภาคีเครือข่ายของ กสศ. เข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างไรบ้าง

ศุภชัย: มูลนิธิปัญญากัลป์เองก็ทำหลายส่วน เราไม่ได้จัดศูนย์การเรียนอย่างเดียว แต่เราประสานศูนย์การเรียนเครือข่ายในแต่ละพื้นที่ให้มาร่วมจัดการศึกษาแก่เด็กในกระบวนการยุติธรรมด้วย ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อย่างดีจากสมาคมเครือข่ายศูนย์การเรียนโดยองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชน อีกส่วนหนึ่งก็เชื่อมประสานภาคีทั้งภาคเอกชนกับภาครัฐในการจัดทำหลักสูตรรองรับ เพื่อให้สังคมเกิดภาพใหม่ในการมองเด็กเหล่านี้

นอกจากนี้เรายังขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เช่น การเปลี่ยนระบบของกรมพินิจฯ โดยการพัฒนาตัวแบบการทำงานเชิงระบบที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 และร่วมผลักดันจนเกิดชั่วโมงที่เรียกว่า learning time คือปรับขยายเวลาในการขึ้นหอนอน ให้เด็กได้มีเวลาเรียนรู้ในสิ่งที่เขาสนใจ จากเดิมต้องขึ้นหอนอนตั้งแต่ 5 โมงเย็น ก็เปลี่ยนเป็น 2 ทุ่ม

ในฐานะหน่วยจัดการเรียนรู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กเยาวชนมากที่สุด มูลนิธิปัญญากัลป์พบสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำและปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบในมิติใดบ้าง

ศุภชัย: อันนี้เห็นชัดมากโดยเฉพาะกับเด็กในกระบวนการยุติธรรม คือมันไม่ได้เป็นความก้าวพลาดที่เราจะโทษเขาคนเดียว เพราะเบื้องหลังของการเข้ามาอยู่สถานพินิจฯ มาจากสภาพปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ปัญหาครอบครัวแตกแยก หย่าร้าง สภาพครอบครัวไม่มั่นคง หรือปัญหาความยากจนที่ผลักให้เขาต้องมาอยู่ในเส้นทางนี้ หรือบางคนอาจเป็นเด็กที่มีฐานะ แต่ภูมิคุ้มกันในตัวเองต่ำ ทักษะการใช้ชีวิตต่ำ ก็ไม่สามารถที่จะเผชิญหน้ากับเรื่องบางเรื่องได้ เราเห็นตรงนี้ชัดมาก

ถ้าสะท้อนให้เห็นเป็นกรณีศึกษา เราเห็นเด็กคนหนึ่งเป็นเด็กที่เรียนดีมาก อยู่ ม.5 ใกล้จะจบแล้วด้วย แล้วก็ถูกเพื่อนในโรงเรียนบูลลี่ว่าแม่ทำอาชีพเป็นพีอาร์ร้านเหล้า ร้านคาราโอเกะ ซึ่งแม่เขาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเลี้ยงเขากับน้องสองคน เขาก็เลยพยายามหาวิธีการในการได้มาซึ่งเงินเพื่อให้แม่หยุดทำอาชีพนี้ด้วยการไปขนยาเสพติด

ตอนที่เขาทำครั้งแรกและครั้งที่ 2 เขาไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติด พอครั้งที่ 3 เขารู้และเขาอยากได้เงินมากขึ้น เพราะแม่ก็ยังไม่หยุดทำงาน ท้ายที่สุดเขาก็โดนจับด้วยคดีมียาเสพติดในครอบครองเพื่อจำหน่าย 6 ล้านเม็ด แต่ด้วยพฤติกรรมที่เขาเป็นเด็กตั้งใจดี มีความประพฤติดี ตอนนี้น้องกลับออกมาแล้วและผ่านโปรแกรมที่เราทำกับ กสศ. สำเร็จการศึกษาเป็นที่เรียบร้อย 

จากการทำงานเราค่อนข้างเห็นความซับซ้อนของปัญหาเยอะมาก กฎหมายหรือความยุติธรรมพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ยากมาก เพราะทุกคนที่ทำผิดก็ต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด แต่ในขณะเดียวกันภาพความเหลื่อมล้ำที่เราเห็นคือ ภาพก่อนที่เขาจะเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม เราเห็นภาพที่มีปัญหาซ้อนทับในชีวิตของเด็กคนหนึ่งที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามันไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เพราะพวกเราเองก็คือผลพวงของความผิดเหล่านั้นในชีวิตเด็กด้วย

จะเห็นว่าที่ผ่านมามูลนิธิปัญญากัลป์มีส่วนร่วมกับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามากมาย อยากทราบว่าทางมูลนิธิมีกลุ่มเป้าหมายอะไรที่ต้องการมุ่งเน้นเป็นพิเศษเพิ่มเติม

ศุภชัย: ตอนนี้นอกจากเด็กในกระบวนการยุติธรรม เราสนใจเด็กที่อยู่ในกลุ่มด้อยโอกาส เช่น พ่อแม่วัยใส กลุ่มเด็กที่ใช้ยาเสพติด แล้วก็มีกลุ่มเด็กจิตเวช คือเป็นวัฏจักรวนเวียนกัน เด็กใช้ยาเสพติดเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม แล้วเด็กใช้ยาก็ออกไปเป็นเด็กจิตเวช ยิ่งเด็กที่อยู่ในกลุ่มจิตเวชนี่มีข้อกังวลและข้อท้าทายเยอะมากว่าเราจะออกแบบการศึกษายังไงให้เขาสามารถเรียนรู้และฟื้นฟูตัวตนได้ 

สำคัญที่สุดคือต้องทำให้เขามี self esteem (เห็นคุณค่าในตนเอง) สูงขึ้นให้ได้ อย่างน้อยก็จะทำให้เขามีความยับยั้งชั่งใจ สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ เพียงแต่ว่าเขาจะต้องใช้ยารักษาในการควบคุมระดับของฮอร์โมนหรือพฤติกรรมบางอย่าง

ตอนนี้เราก็พยายามหาแนวทางเรื่องกระบวนการวินิจฉัยพฤติกรรมเบื้องต้น กับกระบวนการสังคมบำบัด ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายและเป็นสิ่งที่อยากทำในอนาคต

ก่อนหน้านี้ได้เกริ่นถึงโครงการ KFC Bucket Search อยากให้ช่วยขยายความให้ฟังว่าโครงการนี้มีแนวคิดอย่างไร และอะไรคือเป้าหมายของ KFC 

แจนเน็ต: เราต้องการที่จะผลักดันให้สังคมเห็นว่า จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพ ขอแค่ให้โอกาสอย่างเท่าเทียม

KFC Bucket Search คือการค้นหาเด็กที่ไม่มีใครมองเห็น ก็คือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เราตั้งใจที่จะไปตามหาเด็กๆ เหล่านี้ เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถและมีศักยภาพ เราจึงอยากให้เขากลับคืนสู่สังคม ซึ่งเราใช้คำว่ากลับคืนสู่สังคมไม่ใช่สู่ระบบ เพราะจริงๆ แล้วระบบอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคน ทุกคนมีความชอบและมีความถนัดที่แตกต่างกัน และเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน

เพราะฉะนั้นโครงการ KFC Bucket Search จึงเป็นการตามเด็กกลับเข้ามาสู่สังคมโดยให้เด็กเป็นตัวตั้งต้น เราจะดูว่าพื้นฐานชีวิตของเด็กเป็นอย่างไร มีความชอบหรือความถนัดอะไร แล้วจัดทำเป็นหลักสูตรให้เขาเลือก เหมือนมี 2 ทางเดินว่าเขาอยากจะเรียนไปด้วยหรือทำงานไปด้วยไหม เพราะปัญหาของเด็กส่วนใหญ่คือความยากจน เป็นปัญหาอันดับหนึ่งที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะเรียนหนังสือในระบบได้ 

ส่วนทางเดินอีกทางก็คือเรื่องการฝึกทักษะวิชาชีพ หรือการเป็นสเปเชียลลิสต์ต่างๆ อย่างที่เราเห็นว่าเด็กบางคนอาจมีความถนัดอย่างหนึ่ง เช่น เขาอยากเป็นช่างทำผม ซึ่งเป็นวิชาชีพที่เขาสามารถใช้เลี้ยงดูตัวเองได้ แต่การเรียนในระบบปกติอาจจะไม่เหมาะกับเขา เพราะฉะนั้นปลายทางของเราคือ ต้องการช่วยให้เด็กสามารถพึ่งพาตนเองได้ เราจึงพยายามสร้างทางเลือกต่างๆ ที่ยืดหยุ่น ไม่ใช่ว่าให้เด็กต้องกลับไปสู่โรงเรียนเท่านั้น เพราะนั่นไม่ใช่คำตอบที่ตายตัว 

สิ่งที่เรากำลังทำตอนนี้คือ เราตั้งใจสร้างหลักสูตรการเรียนร่วมกับศูนย์การเรียนปัญญากัลป์ โดยใช้ร้าน KFC เป็นโรงเรียน เพื่อให้เด็กเข้ามาทำงานกับเราได้และสามารถที่จะเรียนจบไปพร้อมๆ กันได้ เราเรียกว่าหลักสูตร ‘entrepreneurship’ หรือ ‘ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ และเราอยากให้คนเห็นว่าหลักสูตรการเรียนควรจะปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน วิชาภาษาอังกฤษที่จำเป็นต้องใช้ โดยเรียนรู้ผ่านการทำงานจากประสบการณ์จริง 

แจนเน็ต รุ้งสิทธิกุล Senior Marketing Manager KFC Thailand

อยากให้ช่วยยกตัวอย่างหลักสูตรหรือสาระวิชาของ KFC ที่สะท้อนถึงความยืดหยุ่นต่อการเรียนรู้ของเด็กว่าเป็นอย่างไร

แจนเน็ต: หลักสูตรเราชื่อว่า ‘ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ’ ในรายวิชาจะมีชื่อวิชาที่เราพัฒนาขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เช่น วิชาจักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ ซึ่งไม่ต้องไปนั่งเรียนหรือท่อง แต่เน้นการใช้ให้เป็น เพราะสำคัญที่สุดคือการใช้งาน จึงต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ 

หลักสูตรนี้ตอบโจทย์กับเด็กที่อยากจะเปิดธุรกิจของตัวเอง การที่เข้ามาทำงานกับ KFC จะช่วยให้เห็นตั้งแต่ต้นกระบวนการเลยว่า การบริหารงานในร้านอาหารต้องทำยังไง รู้จักวิธีการทำ sales forecast (การพยากรณ์ยอดขาย) หรือวิธีการจัดการมาตรฐานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ เราเห็นว่าเด็กๆ อยากทำร้านอาหาร อยากไปเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว เราตั้งใจให้เขามีองค์ความรู้ตรงนี้ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้กับเขา ก็เลยเป็นที่มาของหลักสูตรที่ยืดหยุ่น


ทำความรู้จักห้องเรียน KFC ระดับชั้น ม.ปลาย

หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ
• เรียนรู้จากการปฏิบัติงานแล้วเทียบโอนเป็นหน่วยกิตวิชา
• ระยะเวลา 12 เดือน แบ่งเป็นการปฏิบัติงานหน้าร้าน 7 หน่วยการเรียนรู้ และงานภายในออฟฟิศ 7 หน่วยการเรียนรู้
• ทุกๆ 3 เดือน จะหมุนเวียนการเรียนรู้ในแต่ละส่วน ได้แก่ หน้าร้าน กลางร้าน และหลังร้าน
• มีแผนการเรียนย่อยตามสาระการเรียนรู้ของรายวิชาพื้นฐาน

หน่วยการเรียนรู้แบบบูรณาการ
• หน้าร้าน
– การบริการและสุขาภิบาลอาหาร
– ด้วยใจรักนักบริการ
– ตัวตึงวงการอาหาร
– ปรมาจารย์ด้านการครัว
– ยอดนักขาย
– จักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ
– นักการเงินตัวยง
• ออฟฟิศ
– การสื่อสารและการตลาดนอกรอบ
– ภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้า
– โลกสวยด้วยมือเรา ‘สร้างสรรค์สังคม’ ‘นักเปลี่ยนแปลงโลก’
– วิชาครีเอทีฟเพื่อโลก
– เข้าสู่โลกทำงานแบบดิจิทัล
– การบริหารและสื่อสารองค์กรฉบับผู้พันแซนเดอร์ส
– การจัดแผนงานลับสุดยอด


ศุภชัย: เด็กที่ได้ทุนจาก KFC หลายคนไปเป็นผู้ประกอบการ มีเคสหนึ่งเขานำเงินไปเช่าร้านเปิดร้านขายน้ำปั่นหน้าโรงเรียน แล้วก็ให้แม่มาเฝ้าร้าน ส่วนตัวเขาเองไปทำงานก่อสร้างเพื่อนำเงินมาจุนเจือด้วย ซึ่งทางคุณแจนเน็ตก็มีไอเดียขึ้นมาว่าเราควรมีวิชาที่จะเติมเรื่องการจัดการเงินไหม เพื่อให้เด็กๆ ได้โฟกัสกับการเติบโตและเดินตามความฝันได้อย่างเต็มที่ 

ที่ผ่านมาเรามักจะได้รับบทเรียนระหว่างทางเสมอ คือไม่ใช่แค่เด็กจะได้เรียนรู้ แต่คนทำงานเองก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ยังมีช่องว่างหรือมีจุดอ่อนตรงไหนที่เราจะเติมให้เด็กมีความสมบูรณ์มากขึ้นได้

หลักสูตรที่เราสร้างขึ้นจะมีความยืดหยุ่น สลายรายวิชา ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการหน่วยการเรียนรู้ เป็นการลดเวลาเรียน โดยที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ในหลายวิชาพร้อมๆ กัน 

ในหลักสูตรนี้มีแผนการจัดการศึกษาทั้งหมด 14 หน่วยบูรณาการ เป็นเหมือนห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ไหนก็สามารถเรียนได้ ทั้งการเรียนออนไลน์ เรียนทางไกล หรือมีการมอบหมายใบงานให้เด็กๆ กลับไปทำ 

พอเอาหลักสูตรนี้ไปให้เขตพื้นที่การศึกษาดู เขาว้าวมาก และทางเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ก็ร่วมทีมพัฒนาและให้ข้อเสนออย่างเต็มที่ ตั้งแต่วันที่เราเริ่มต้นจะทำเรื่องนี้ ผอ.เขต ก็อยากเห็นการศึกษาแบบนี้ในโรงเรียน เราก็ไปพัฒนาหลักสูตรและแผนการจัดการศึกษา แล้วส่งไปที่เขตอีกรอบ จากนั้นก็ขยายรายละเอียดเพิ่มเติม เป็นเหมือนสารตั้งต้นที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้จัดการศึกษาให้กับเด็กได้ ส่วนเรื่องการวัดประเมินผล เราจะเชิญผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ มาช่วยเราในการทำให้หลักสูตรนี้สมบูรณ์ที่สุด

KFC มีความเชื่อมั่นเรื่องการสนับสนุนทุนทำงานเรื่องการศึกษากับ กสศ. อย่างไรบ้าง

แจนเน็ต: เพราะ กสศ. เป็นองค์กรที่ผลักดันเรื่องนี้อย่างชัดเจนและต่อเนื่อง และเราก็เห็นว่าไม่ได้เป็นแค่นโยบาย แต่มี action เกิดขึ้นจริง เราเห็นการทำงานลงพื้นที่จริงๆ และการทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่ายต่างๆ อย่างเช่นมูลนิธิปัญญากัลป์ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่มาผนึกกำลังกันแก้ปัญหา 

อย่างกรณีเด็กที่หลุดออกจากระบบ ถ้าไม่มีระบบฐานข้อมูลในการติดตามค้นหาเด็กของ กสศ. การช่วยเหลือเด็กก็คงทำได้ยากมาก เราจึงเชื่อมั่นว่าถ้าเราเป็นอีกแรงหนึ่งในการสนับสนุนก็น่าจะทำให้ผลลัพธ์ไปถึงเด็กจริงๆ 

อีกอย่างที่สำคัญคือ กสศ. ใช้เด็กเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าจะแก้ปัญหาอะไรก็ตาม ตรงนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจสนับสนุนทุนทำงานเรื่องการศึกษากับ กสศ.

ภาคเอกชนอย่าง KFC มีอะไรเป็นต้นทุนสำคัญในการทำงานกับเยาวชน

แจนเน็ต: จริงๆ แล้วการให้ทุนอาจเป็นแค่พาร์ตหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญคือคำว่า ‘โอกาส’ ที่จะทำให้เด็กสามารถมีทางเลือกในชีวิตที่มากขึ้นได้ อย่างหลักสูตรที่เราสร้างขึ้นมาก็เป็นการเปิดทางเลือกที่หลากหลาย เพราะฉะนั้นสำหรับภาคเอกชนอย่างเรา ต้นทุนสำคัญที่เรามีคือการหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็ก แม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีเบื้องหลังชีวิตที่แตกต่างกัน แต่บทบาทของภาคเอกชนที่เราทำได้คือควรจะให้โอกาสกับเด็กๆ เหล่านี้อย่างเท่าเทียมกันด้วย

ช่วงแรกที่ KFC ทำงานร่วมกับ กสศ. จะเป็นการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา เริ่มต้นจากการจัดกิจกรรมเวิร์กช็อป กิจกรรมแนะแนวเพื่อค้นหาตัวเองและเสริมสร้างความมั่นใจ ให้เด็กได้มีทักษะใหม่ๆ หรือเปิดมุมมองที่กว้างขึ้น หลังจากนั้นพอได้มาทำงานร่วมกับมูลนิธิปัญญากัลป์ในเชิงลึกมากขึ้น จึงเกิดไอเดียกันว่า ในเมื่อ KFC ก็มีหลักสูตรที่ต้องเทรนให้กับพนักงานอยู่แล้ว และเป็นหลักสูตรที่สามารถนำมาใช้จริงในการทำธุรกิจ ก็น่าจะนำมาปรับใช้กับเด็กได้ด้วย อันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่เรามี 

ขณะเดียวกัน มูลนิธิปัญญากัลป์เองก็มีศูนย์การเรียน สามารถร่วมสร้างหลักสูตรเทียบโอนประสบการณ์เป็นหน่วยกิตได้ ก็เลยกลายเป็นความร่วมมือที่ใหญ่ขึ้นมา ณ วันนี้

ศุภชัย: ในการทำงาน เมื่อมีเพื่อนมาร่วมวงมากขึ้น ก็ทำให้เราเห็นโอกาสมากขึ้นและสนุกกับมันมากขึ้น ประกอบกับทุนเดิมที่ KFC มีอยู่ เราก็รู้สึกว่าทุกอย่างคือการเรียนรู้ได้หมดเลย ซึ่งเราทำงานเหมือนเป็นองค์กรเดียวกันไปแล้วตอนนี้

อีกอย่างคือ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จริงๆ แล้วมีจุดแข็งเยอะมากที่จะทำให้เด็กเข้าถึงโอกาสทางการเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่นและอิสระ ถ้าครูหรือผู้จัดการศึกษามีความกล้าพอที่จะพลิกแพลงและใช้ให้เป็นประโยชน์ 

มีคนเคยถามผมว่ากฎหมายการศึกษาไทยมีจุดอ่อนตรงไหน คือเราแทบหาจุดอ่อนไม่เห็นเลย เพียงแต่ว่าคนที่นำมาใช้ คนที่นำมาประยุกต์ อาจจะตีความในอีกแบบหนึ่ง คือมองกฎหมายเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่จริงๆ กฎหมายก็มีความยืดหยุ่นอยู่ 

ช่วยเล่าไทม์ไลน์การสร้างห้องเรียนพิเศษที่ทำร่วมกันให้ฟังหน่อยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ศุภชัย: เราเริ่มเปิดรับสมัครเด็กแล้ว ซึ่งเด็กๆ ที่รับเข้ามาในหลักสูตรนี้ก็คือเด็กที่ออกจากสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ตอนนี้รอน้องสัมภาษณ์กับทางแฟรนไชส์ของ KFC ที่น้องๆ อยากไปทำ 

ส่วนห้องเรียนพิเศษที่ว่านี้เป็นห้องเรียน ม.ปลาย จากปกติจะมีสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ หรือสายศิลป์ต่างๆ แต่ของเราจะเรียกว่าเป็นห้องเรียนอาชีพและผู้ประกอบการ เด็กจะเรียน 1 ปี ที่ KFC โดยเน้นในเรื่องหน่วยกิตหรือตัวชี้วัดในหน่วยการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะต้องเก็บให้ครบตามหลักสูตรแกนกลาง เราจะออกแบบสมุดบันทึกไว้เล่มหนึ่ง เพื่อทำเป็นแฟ้มสะสมหลักฐานเชิงประจักษ์ในการเรียนรู้ของเด็กว่าเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง และนำไปเทียบเป็นเกรดในแต่ละเทอม พวกเขาจะเรียนจบอย่างมีคุณภาพ วัดทักษะจากการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตจริง

แจนเน็ต: การทำงานในร้าน KFC เราจะให้เรียนรู้ด้วยกัน 3 ส่วน จะมีตั้งแต่หน้าร้าน กลางร้าน หลังร้าน ซึ่งเรามีหลักสูตรการเรียนรู้และสอนงานลักษณะนี้เหมือนกับเป็นโรงเรียน KFC อยู่แล้ว มีการสอนทฤษฎี ปฎิบัติและวัดผล ดังนั้นจึงไม่ยากที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรนี้และเทียบโอนเป็นหน่วยการเรียนรู้ได้

การเทียบโอนประสบการณ์การเรียนรู้สามารถทำได้อย่างไร

ศุภชัย: จะเป็นการเอาประสบการณ์การทำงานของเด็กมาเทียบเป็นรายวิชา เช่น เด็กต้องสื่อสารกับชาวต่างชาติที่มาสั่งอาหาร ก็จะเอาไปเทียบโอนเป็นรายวิชา English for Business หรือชื่อวิชาว่า ‘จักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ’

แจนเน็ต: หรืออย่างในรายวิชาที่เราตั้งชื่อไว้ว่า ‘ปรมาจารย์ด้านการครัว’ ก็สามารถไปเทียบโอนเป็นวิชาสุขศึกษา วิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรแกนกลางได้ 

ในมุมมองของภาคเอกชน มีความคาดหวังอย่างไรต่อเรื่องการศึกษาและการลงทุนในทุนมนุษย์

แจนเน็ต: หัวใจหลักที่เราตั้งใจทำเรื่องนี้ก็คือเรื่องการพัฒนาคน เราอยากเห็นภาพเด็กๆ เหล่านี้สามารถพึ่งพาตนเองได้ อันนี้เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ และเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงได้มีการจัดเวิร์กช็อป หรือ training ต่างๆ เพราะบทสรุปของเราต้องการให้เขาสามารถดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระครอบครัวหรือสังคม อันนี้คือภาพความหวังที่อยากจะเห็นที่สุด

โครงการ KFC Bucket Search มีโอกาสที่จะต่อยอดไปสู่การออกแบบหลักสูตรเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่นๆ อย่างไรบ้าง

แจนเน็ต: KFC Bucket Search อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ เป็นการทดลองทำกับเด็กเยาวชนจากกระบวนการยุติธรรม เพราะเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีเยอะมาก ซึ่งเราอยากจะช่วยให้ได้มากขึ้นและอยากจะเข้าใจเด็กให้ได้มากที่สุด 

สิ่งต่อไปที่เราคิดคือ เราไม่อยากทำงานคนเดียว ในอนาคตเราอยากให้หลักสูตรของเราสามารถใช้ได้กับแบรนด์อื่นๆ อาจจะชวนเพื่อนๆ พาร์ตเนอร์ หรือคนที่อยู่ในองค์กรของเรามาช่วยกันทำให้มันใหญ่มากยิ่งขึ้น เพราะหลักสูตรของ KFC อาจจะมีแค่เรื่องของ entrepreneur ถ้ามี supplier ที่เขาถนัดเรื่องอื่นก็อยากที่จะชวนมาช่วยกันสร้างโอกาส

อันนี้ก็เป็นภาพรวมในระยะยาวที่ต้องการขยายความช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาให้ครอบคลุมมากขึ้น และต้องการที่จะมีเพื่อนภาคีเครือข่ายในอนาคตที่จะมาร่วมกันค้นหาหาเด็กและให้โอกาสเด็กไปด้วยกัน

มีข้อค้นพบอะไรบ้างจากการทำโครงการ KFC Bucket Search

แจนเน็ต: อย่างแรกเลยคือเรื่องของความชอบและความถนัดของเด็ก ปกติเด็กในกระบวนการยุติธรรมเขาจะได้เรียนวิชาที่มีอยู่ที่ศูนย์ เราก็เลยพยายามค้นหาอาชีพอื่นๆ ให้เด็กได้เห็นอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น

สิ่งที่เราค้นหาก็อย่างเช่น วิชาที่เกี่ยวกับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นพื้นฐานของทุกอย่างในการทำงานด้วยซ้ำ เราก็เลยมีบทเรียนจากอาชีพใหม่ๆ เข้ามาเสริมให้น้อง กลายเป็นว่าเราเห็นชัดเลยว่าเด็กสนใจอาชีพที่หลากหลายมาก มีเด็กบอกว่าอยากเป็นช่างทำผม ช่างตัดผม อยากขอเงินทุนไปทำธุรกิจของตัวเอง อยากทำร้านเครื่องดื่ม ร้านอาหาร อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นได้จากการที่เราสำรวจอาชีพใหม่ๆ และไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน 

ทางมูลนิธิปัญญากัลป์มองว่าอะไรคือโจทย์สำคัญของการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหลากหลาย

ศุภชัย: การศึกษาที่ยืดหยุ่นจะต้องคำนึงถึงความต้องการของเด็ก ฉะนั้นโจทย์ของการจัดการศึกษาจึงไม่ได้อยู่ที่ผู้จัด แต่อยู่ที่เด็ก อย่างโครงการ KFC Bucket Search ไม่ได้มองแค่เด็กที่หลุดออกจากระบบ แต่เรากำลังชวนให้เด็กค้นหาชีวิตตัวเองอีกครั้งว่าตัวเองต้องการอะไร สิ่งที่เขาเคยเห็นอาจเป็นทางเลือกที่น้อยนิดในมุมที่แคบ แต่พอเขาเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ เขาเห็นโลกอีกใบที่กว้างกว่าเดิม เขาสามารถค้นหาหรือผจญภัยในโลกนี้ได้ เราก็เลยมองว่าจุดนั้นจะเป็นทั้งการเรียนรู้ของเด็กและการเรียนรู้ของคนทำงานด้วย

มีการกำหนดคุณภาพและมาตรฐานอย่างไรบ้างในการจัดการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น

ศุภชัย: มันเหมือนกับการเรียนมหาวิทยาลัย เรามีหลักสูตรในมือที่ประยุกต์มาจากหลักสูตรแกนกลาง เพียงแต่เราทำให้วิชาและกิจกรรมการเรียนรู้มีความน่าสนใจมากขึ้น การวัดผลมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เด็กๆ ก็มาช็อปปิงและสร้างตารางเรียนของตัวเอง

ไอเดียไม่ต่างจากการจัดการศึกษาผู้ใหญ่ การทำแบบนี้เด็กๆ ก็จะได้รับโอกาสในการเลือกนั้นด้วย เขาควรได้ตัดสินใจเองว่าเขาอยากเรียนอะไร อะไรคือความต้องการของเขา ฉะนั้นแล้วหน้าที่สำคัญของเราคือ การสร้างทางเลือกที่หลากหลาย ท้ายที่สุดก็เชื่อมโยงสิ่งที่เขาเรียนรู้กับมาตรฐานที่ได้มีการกำหนดไว้ เราก็พยายามเชื่อมโยงไปสู่จุดนั้นให้ได้

สำหรับเด็กกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับแรงสนับสนุนหรือส่งเสริมในด้านใดอีกบ้าง

ศุภชัย: จริงๆ พอมองย้อนไปเด็กกลุ่มนี้ก็ได้รับการสนับสนุนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ควรกระจายโอกาสไปสู่เพื่อนๆ หรือเด็กกลุ่มอื่นที่ยังไม่ได้รับโอกาสด้วย

มีครั้งหนึ่งที่เราทำเวิร์กช็อปให้เด็กลองออกแบบดูว่าจะทำยังไงให้คนข้างนอกไม่ต้องเข้ามาอยู่ข้างในเหมือนกับเรา เด็กๆ บอกว่าเรื่องครอบครัวสำคัญ อยากจะทำค่ายครอบครัว เราก็เลยพาเขาออกไปทำค่ายข้างนอก

เด็กไปทำค่ายกับครอบครัวในชุมชนที่ลูกเขามีความเสี่ยง คือเราให้ผู้นำชุมชนเลือกเด็กจากครอบครัวที่ลูกมีพฤติกรรมเสี่ยง อยู่ในช่วงวัยรุ่น เด็กออกแบบค่ายได้ดีมาก เรามองว่าเขาเก่งกว่าการเป็นนักเรียนแล้วนะ เขาเป็นครูได้เลย และเขากระจายโอกาสให้กับคนอื่นๆ ได้ ดังนั้นเราจึงมองว่าควรทำให้เด็กในกระบวนการยุติธรรมได้มีโอกาสที่เขาจะได้ส่งต่อโอกาสให้กับเพื่อนๆ ไม่ใช่เพียงแค่เขาได้รับโอกาสเพียงคนเดียว

แจนเน็ต: จริงๆ แล้วเด็กในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นเด็กกลุ่มเดียวที่เราจะช่วย ในความตั้งใจจริงเราอยากจะช่วยเด็กทุกคนที่ขาดโอกาสตรงนี้ไป เพียงแต่ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มแรกที่เราสามารถเข้าถึงได้ก่อน ซึ่งพอเราทำงานกับเด็กกลุ่มนี้ เราเห็นเลยว่าเขามีศักยภาพจริงๆ แต่การที่เขาต้องเข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมอาจเพราะมีปัญหาหลายอย่างทับซ้อนกัน แต่เนื้อแท้เขามีความสามารถ มีความฝัน มีความถนัด และมีความตั้งใจอยู่แล้ว

คิดว่าการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรเอกชนและภาคส่วนต่างๆ จะช่วยทลายวิกฤตปัญหาการศึกษาไปได้หรือไม่

ศุภชัย: ผมมองว่ามันเกี่ยวกับหลายส่วนมากเลย ทั้งเรื่องของความเชื่อ ภาวะทางเศรษฐกิจ หรือกระทั่งโครงสร้างอำนาจที่มันมีอยู่จึงทำให้ทำอะไรได้ยาก แต่เราจะทำยังไงให้คนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่สามารถเข้าถึงได้ 

พอเราไปมองเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย การไปทลายกรอบความคิดเดิมของคนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจมันยากมากเลย ฉะนั้นเราอาจจะต้องเริ่มจากคนตัวเล็กตัวน้อย ทำให้เขาแข็งแรง สามารถยืนอยู่ได้ด้วยความมั่นใจว่า พวกเราที่ทำงานอยู่ตรงนี้คือเพื่อน เราจะไม่ทิ้ง เราจะช่วยเหลือ เข้าไปกระตุ้นและพยายามหาจุดเชื่อมโยง

อาจจะเป็น กสศ. ที่เป็นนักเชื่อมโยงโอกาสให้กับคนตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ เชื่อมโยงเอาทรัพยากรที่รัฐมี แต่เขาเข้าไม่ถึง เชื่อมโยงเอาอำนาจที่รัฐมี แต่เขาไม่เคยได้สัมผัส หรืออะไรก็ตามแต่ ให้เขาได้สัมผัสและเข้าถึงได้

แจนเน็ต: ในเรื่องของวิกฤตทางการศึกษา สิ่งที่ภาคเอกชนอย่างเราสามารถทำได้คือสร้างโอกาส สร้างความตระหนัก ทำให้ประชาชนทั่วไปรับรู้เรื่องนี้ด้วย และพอทุกคนรับรู้ก็จะช่วยกันผลักดันไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นความตั้งใจเราคือให้โอกาสเด็ก แล้วก็สร้างแรงกระเพื่อมในเรื่องนี้ให้กับทุกคนได้เข้าใจถึงปัญหานี้

อีกอย่างสิ่งที่เราทำในโครงการ KFC Bucket Search เราต้องการให้คนเห็นศักยภาพของเด็กเหล่านี้ ไม่ได้อยากจะดรามาว่าเด็กน่าสงสาร มันไม่ใช่ เราไม่ได้ใช้ความน่าสงสารเข้ามาช่วยเด็ก แต่เราอยากให้เห็นว่าเด็กๆ มีแวว แต่ด้วยอะไรก็ตามแต่ในชีวิตเขามันทำให้เขาขาดโอกาสตรงนี้ ดังนั้น เด็กเหล่านี้ควรได้โอกาสจากพวกเรา ทุกคนควรจะให้โอกาสเขาไปพร้อมๆ กัน