จากสภาพปัญหาที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนประสบอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความห่างไกล ทุรกันดาร คุณภาพการศึกษา ไปจนถึงปัญหาขาดแคลนครูและงบประมาณ นำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และมหาวิทยาลัยราชภัฏ ภายใต้ ‘โครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเพื่อส่งเสริมคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนท้องถิ่นทุรกันดาร’
จากความร่วมมือของโครงการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้พยายามพัฒนาศักยภาพครู 4 ด้าน ได้แก่ 1) ความรู้ในศาสตร์เชิงเนื้อหา ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ 2) ทักษะการเรียนการสอน เทคนิควิธีการสอน 3) การเสริมสร้างคุณลักษณะความเป็นครูที่ดี จิตวิญญาณความเป็นครู และ 4) กิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับชุมชน
กล่าวได้ว่า ตลอดช่วงเวลาในการดำเนินโครงการนี้ สามารถสร้างเครื่องมือที่ช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจากปัญหาความยากจนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ที่พึ่งของเด็กชายขอบ
ก่อนจะเกิดโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ดร.จักรพรรดิ วะทา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เล่าสภาพภูมิหลังของปัญหาว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนมีประวัติยาวนาน และเกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) เพื่อปฏิบัติภารกิจตรวจตรารักษาชายแดน โดยจากการจัดหมู่ลาดตระเวนไปตามพื้นที่ต่างๆ ทำให้มีโอกาสได้พบเห็นประชาชนในพื้นที่ห่างไกล มีฐานะยากจน ลำบากแร้นแค้น ขาดยารักษาโรค ขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เด็กในวัยเรียนไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดสามารถเข้าไปจัดตั้งโรงเรียนได้ โดยเฉพาะบริเวณ ตะเข็บชายแดน
จากปัญหาที่พบว่าเด็กจำนวนมากในพื้นที่ยังขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ภาครัฐตระหนักถึงการสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน บช.ตชด. จึงเห็นว่าควรจะมีแนวทางช่วยเหลือให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับการศึกษา ได้รับการพัฒนาชีวิตให้เข้มแข็งมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาบ้านเมืองให้มีความมั่นคงตามไปด้วย
“แม้ปัจจุบันการคมนาคมจะสะดวกขึ้น แต่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในบางพื้นที่ก็ยังมีอุปสรรคในการเดินทางโดยเฉพาะช่วงหน้าฝน หากไม่มีโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เด็ก ๆ ในหลายพื้นที่ก็จะขาดโอกาสทางการศึกษา”
ทุกวันนี้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 222 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในด้านการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและเป็นสื่อกลางในการสร้างความคุ้นเคยระหว่างผู้ปกครองกับตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่พื้นที่ โดยนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับการสนับสนุนให้ศึกษาต่อหรือฝึกอาชีพตามความสามารถ
“โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในหลายพื้นที่ยังต้องการการพัฒนา เนื่องจากประสบปัญหาหลายด้าน อาทิ บุคลากรส่วนใหญ่ไม่ได้สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีและขาดวุฒิทางด้านการศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่ก็มีฐานะยากจน ขาดโอกาส และส่วนหนึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง ม้ง ลาหู่ อาข่า ลั๊วะ ลีซอ ฯลฯ ซึ่งไม่รู้ภาษาไทย จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจัดการเรียนการสอน”
เรื่องเล่าความสำเร็จในการพัฒนาครูโรงเรียน ตชด.
สุทธิ สายสุนีย์ โค้ชในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตรัง สตูล และพัทลุง กล่าวถึงความท้าทายอันเป็นลักษณะพิเศษของโครงการนี้ 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ เกิดการร่วมมือกันของภาคีเครือข่ายจำนวนมากที่เข้ามามีส่วนร่วม เป็นการระดมสรรพกำลังจากฝ่ายต่าง ๆ โดยมีหน่วยงานหลักคือ กสศ. และ ตชด. นอกจากนี้บริบทของโรงเรียน ตชด. ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่แตกต่าง ทุรกันดารห่างไกล ฉะนั้นต้องออกแบบงานที่เกี่ยวข้องกับภาคี ทั้งสถาบันอุดมศึกษาในภูมิภาคที่เป็นผู้ช่วยเชิงวิชาการ มีโค้ชพื้นที่เป็นพี่เลี้ยง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญเกษียณอายุ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษานิเทศก์ นายตำรวจนิเทศ และมีโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียงกันร่วมพัฒนาควบคู่ไปกับโรงเรียน ตชด.
“จะเห็นว่าการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่หลากหลาย ทำให้เราต้องมี ‘ข้อเกี่ยว’ ที่สามารถหลอมรวมองค์กรที่ต่างมีลักษณะเฉพาะ ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นความท้าทายอย่างยิ่ง”
ประเด็นที่สอง ระยะเวลาในการดำเนินงานที่ค่อนข้างยาวนานต่างจากโครงการอื่น เพื่อแสดงถึงความตั้งใจจริงในการเรียนรู้เชิงพื้นที่และบริบท และศึกษาจุดเหมือนจุดต่าง ด้วยเหตุนี้ระยะเวลา 3 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมกับการทำความเข้าใจและลองผิดลองถูก เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ทุกฝ่ายตั้งไว้ร่วมกัน คือสร้างการเรียนรู้ ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน และไปให้ถึงผลลัพธ์ คือโรงเรียน ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ซึ่งการจะทำให้ได้อย่างนั้นต้องอาศัยคานงัดและมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ
“โรงเรียน ตชด. มีฐานทุนที่สำคัญยิ่งและเป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง อย่างแรกคือ แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร 8 ประการ ประการที่สอง เรามีโครงการพระราชดำริ 8 โครงการพื้นฐาน และอีกหนึ่งตัวช่วยที่โครงการฯ นำมาผนวกเป็นกลไกหนุนเสริม คือ ‘8Q’ หรือ มาตรการเสริมสร้างคุณภาพโรงเรียน”
สุทธิอธิบายโดยเริ่มจาก Q1 คือการทำงานร่วมกับกลุ่มเป้าหมายทุกฝ่าย ทั้งโรงเรียน ชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อกำหนดเป้าหมายร่วมกัน Q2 คือครูใหญ่ ต้องเป็นผู้นำทางวิชาการที่สามารถนำเป้าหมายไปสู่การออกแบบและการทำงานร่วมกับครู Q3 คือเรื่องสุขภาวะที่ดี เพื่อหนุนเสริมการทำงานด้านอื่น ๆ Q4 คือ Q-info ที่ช่วยในการจัดวางระบบ พัฒนาแพลตฟอร์ม ช่วยให้ครูทำงานน้อยลง เป็นฐานข้อมูลช่วยรองรับการทำแผนพัฒนางาน ติดตามเด็ก สื่อสารกับผู้ปกครอง และประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ เป็นต้น
ถัดมาคือ Q5 เป็นมาตรการยกระดับมาตรฐานของครู หลักสูตร การออกแบบและการจัดการเรียนรู้ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในบริบทของโรงเรียน ตชด. รวมถึงยกระดับการเรียนจาก learning เป็น doing และปรับ mindset ให้กับครูในการพัฒนาเรื่องอื่น ๆ ต่อไป
สำหรับ Q6 คือ ‘classroom’ จากเดิมที่ครูสอนแค่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม เปลี่ยนเป็นการลดบทบาทชี้นำของครู ให้ครูเปลี่ยนตัวเองเป็นโค้ชที่สามารถปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เด็กได้ลงมือทำ
“เด็ก ๆ จะดีใจและมีชีวิตชีวามากที่ได้ออกนอกโรงเรียน ได้ไปในสถานที่ต่าง ๆ ในชุมชน”
ส่วน Q7 คือ ‘PLC’ (Professional Learning Community หรือชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) ที่โรงเรียนและเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมด้วยช่วยกันจนเป็นวิถีองค์กร ทุกสัปดาห์ครู ตชด. ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อออกแบบงานร่วมกันในสัปดาห์ถัดไป และสุดท้าย Q8 คือ ‘network’ โดยสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าเกษตร ประมง สหกรณ์ รพ.สต. ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดเป็นหน่วยงานที่มีอยู่ในพื้นที่
“มาตรการเหล่านี้จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงและหลอมรวมระบบ ให้การทำงานของโรงเรียนและครูเดินไปอย่างมีเป้าหมาย และเชื่อมต่อกับแผนงานในพื้นที่ ตามปรัชญาของครู ตชด. คือสร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิ์ผลความมั่นคง ซึ่งไม่ใช่แค่ความมั่นคงของประเทศ แต่คือความมั่นคงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเด็ก ครอบครัว และชุมชน”
เส้นทางการพัฒนาของโรงเรียน ตชด.
- 2563 – ‘รู้จักตนเอง’ หมายถึง เข้าใจความเหมือนความต่างกับโรงเรียนคู่พัฒนา ครูเข้าใจบทบาทตนเองว่าไม่ใช่ครูที่มาสายตรง และมีฐานทุนของโรงเรียนที่แตกต่างจากโรงเรียนอื่น ๆ รวมถึงหาครูแกนนำในการปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน
- 2564 – ‘สร้างอัตลักษณ์จากฐานทุน’ โดยบูรณาการการสอนทั้งในชั้นเรียน และระหว่างชั้นเรียน เปลี่ยนการเรียนรู้จากเดิมที่ให้ครูแกนนำ เปลี่ยนเป็นทำทั้งโรงเรียน
- 2565 – ‘นวัตกรรมทำเอง’ ครู ตชด. สามารถพัฒนานวัตกรรมการสอนร่วมกับโค้ชและกับสถาบันอุดมศึกษา โดยเชื่อมโยงสาระและตัวชี้วัดมาพัฒนาหลักสูตรที่เป็นสาระเพิ่มเติมตามบริบทของโรงเรียนเอง ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียน ตชด. 68 แห่ง สามารถจัดทำหลักสูตรของตนเองและเริ่มนำมาใช้แล้ว
- 2566 – ‘ต่อยอด-พัฒนา’ ถึงวันที่โรงเรียนและครูปรับตัวเองได้ ชุมชนสังคมเข้ามามีส่วนร่วมชัดเจน มีครูพ่อแม่มาร่วมพัฒนา ร่วมสอน ถ่ายทอดภูมิปัญญาในชุมชน ถึงวันนั้นทั้งโรงเรียนและชุมชนจะกลายกลืนกันเป็นเนื้อเดียว เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่สำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่คนทุกคนในชุมชนจะสามารถเข้าถึงพื้นที่และโอกาสในการพัฒนาตนเองได้
“การทำงานตรงนี้เป็นรูปแบบของการวิจัยที่เราค่อย ๆ เก็บเกี่ยวข้อมูลในแต่ละปี ทำให้เรามีต้นทุนที่นำมาใช้พัฒนา ยกระดับ ปรับเปลี่ยน ขยับไปพร้อมกัน ทั้งโรงเรียน ชุมชน และภาคีเครือข่าย” สุทธิ กล่าว
บทบาทการทำงานของทีมพัฒนาระดับพื้นที่
สุทธิ กล่าวว่า ภาพประทับใจของความสำเร็จจากการทำงาน 3 ปี คือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ครูใหญ่ ครู และนักเรียน อีกส่วนหนึ่งคือผู้ปกครองและเครือข่ายชุมชน ซึ่งเหล่านี้เป็นเป้าหมายสำคัญที่โครงการฯ ตั้งใจไปให้ถึง
“ภาพแรก เรามีโรงเรียนที่เด็กอยากไปเรียน และได้เห็นพื้นที่ชีวิตของทุกคนที่ผูกโยงกับการเรียนรู้ของเด็ก เป็นห้องแล็บที่มีชีวิต ด้วยพื้นที่การเรียนรู้ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โรงเรียน ตชด. กำลังเปลี่ยนตัวเองเป็นโรงเรียน ‘สอนคน’ ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ เด็กได้ลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองตั้งแต่เช้าจรดเย็น ได้ลงแปลงเกษตร เลี้ยงไก่ ให้อาหารปลา ทำงานสหกรณ์ ห้องปฐมพยาบาล ทุกพื้นที่คือของจริง เด็กได้กินอาหารกลางวันที่เป็นผลผลิตที่ตัวเองมีส่วนร่วม เป็นน้ำพักน้ำแรงของเขาเอง ตั้งแต่พรวนดิน เพาะพันธุ์ผัก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ไข่ก็มาจากไก่ที่เขาให้อาหาร ดูแลทำความสะอาดโรงเรือน ผลไม้ก็ดูแลรดน้ำกันเอง ฉะนั้นภาพนี้คือคุณค่า เป็นโรงเรียนที่มีชีวิต แล้วเราเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าไปสู่หลักสูตรในกลุ่มสาระต่าง ๆ ได้”
ลึกลงไปกว่านั้นคือ การส่งเสริมอัตลักษณ์และสมรรถนะของเด็กที่เป็นรูปธรรม เกิดความรับผิดชอบ การตรงต่อเวลา การเป็นผู้นำ-ผู้ตาม ทักษะการทำงาน ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งทางโครงการฯ ได้ถอดบทเรียนไว้แล้วเพื่อวางแผนการจัดการเรียนรู้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส และรายปี
“เป็นเรื่องน่าภูมิใจที่วันนี้เราได้เห็นเด็กโรงเรียน ตชด. สนุกกับการค้นคว้าความรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต ว่าทำยังไงให้ผักโตเร็ว ปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ต้องทำยังไง หรือการแปรรูปอาหาร การแพ็กกิง เด็ก ๆ อัปเดตความรู้เหล่านี้อยู่ตลอดเวลา โดยมีพ่อแม่และครูมาช่วยกันทำ ช่วยกันสอน ทั้งหมดนี้คือความสวยงามที่เกิดขึ้น ส่วนครูเองเราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าดีใจ มีการทำแผนการสอน นำไปใช้ สังเกต มีบันทึกหลังสอน แล้วข้อมูลของครูแต่ละท่านจะนำมาวิเคราะห์ทุกสัปดาห์ มีครูใหญ่เป็นผู้นำประชุม เพื่อเอาสิ่งที่ได้ไปแก้ไขหาทางออก หนุนเสริม เติมประสิทธิภาพ นี่คือความเข้มแข็งที่เกิดขึ้นกับโรงเรียน ตชด. และชุมชน”
ไม่เพียงเท่านั้น บทเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ยังสะท้อนกลับไปยัง กสศ. ที่จะนำไปต่อยอดสร้างความยั่งยืนกับกลุ่มโรงเรียน ตชด. อื่น ๆ รวมถึงสามารถนำไปขยายผล ปรับเปลี่ยนหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาในอนาคต เพื่อให้มีหลักสูตรที่ยืดหยุ่น ปรับได้ตามข้อจำกัด ไม่ยึดติดอยู่บนหลักการใดเพียงหลักการเดียว
“เรามีรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง ปฏิบัติจริง ถอดบทเรียนจากเด็กมาสู่การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาหลักสูตรได้จริง ๆ เราสอนภาษาไทยในแปลงเกษตร สอนคณิตศาสตร์ในบ่อเลี้ยงปลา ดังนั้น ผมเชื่อว่านับจากนี้โรงเรียน ตชด. จะก้าวสู่การเป็นโรงเรียนฐานสมรรถนะได้อย่างแน่นอน”
ผลลัพธ์การพัฒนาโรงเรียน ตชด. และการขยายผล
ทางด้าน พันตำรวจตรีอภิเจตน์ ปานแก้ว นายตำรวจนิเทศ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 (กก.ตชด.43) กล่าวถึงแผนแม่บทของโรงเรียน ตชด. ซึ่งดำเนินการใน 2 ส่วน คือแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ฉบับที่ 5 และหลักสูตรแกนกลางจากกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อมีโครงการฯ เข้ามาสนับสนุน ทำให้ช่วยบูรณาการให้ครูจัดการเรียนการสอนได้เป็นระบบขึ้น ทำงานได้คราวเดียวกันและสัมฤทธิ์ทั้งสองแผน รวมถึงช่วยลดภาระครูได้มากขึ้น
“ปีแรกเรานำต้นทุนที่มีอยู่มาพัฒนาแต่ละโรงเรียน สร้างหลักสูตร กิจกรรม ปีที่ 2 เรายกระดับให้ชัดเจนขึ้น ปีที่ 3 เริ่มมีการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา สิ่งสำคัญที่ได้รับจากโครงการฯ คือการพัฒนาระบบสารสนเทศที่เรียกว่า Q-info ซึ่งตลอด 60 กว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียน ตชด. ไม่เคยมีระบบนี้มาก่อน พอใช้แล้วก็ช่วยอำนวยความสะดวกและลดภาระได้จริง สามารถประมวลผลอย่างมีประสิทธิภาพ
“อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องกล่าวถึง คือระบบสุขภาวะที่นำมาใช้ ซึ่งอันที่จริงทุกโรงเรียนมีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยจัดเก็บเป็นระบบ พอโครงการฯ จัดระบบให้ โรงเรียนก็พัฒนาไปได้ในแนวทางที่ถูกต้องและตรงทิศตรงทางมากขึ้น
“วันนี้เรามี 9 โรงเรียนแกนนำแล้ว ในโอกาสข้างหน้าต้องขยายออกไปอีก ตอนนี้เราจัดทีมคณะทำงานจากโรงเรียนแกนนำ เพื่อขยายไปอีก 6 โรงเรียนในสังกัด กก.ตชด.13 และอีก 12 โรงเรียนในสังกัด กก.ตชด.44 ซึ่งเชื่อว่าเราจะทำได้สำเร็จครับ”
หน้าที่ของครู ตชด. และข้อจํากัดในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียน
ในฐานะผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ดาบตำรวจหญิงสุดาวรรณ สันตะโร ครูโรงเรียน ตชด. เล่าว่า โดยปกติแล้วครูในโรงเรียน ตชด. ต้องทำงานหลายหน้าที่ เป็นทั้งครูสอน เป็นนักโภชนาการที่ดูแลด้านอาหารการกินของเด็ก และเป็นทั้งหมอที่ดูแลด้านสุขภาพ ความเจ็บป่วย
“เด็กในโรงเรียนเราเป็นเด็กที่ขาดโอกาสด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะโอกาสในการเรียนรู้ การจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงฐานทุนของโรงเรียน พิจารณาถึงจุดอ่อนจุดแข็งของโรงเรียนคืออะไร อยากให้โรงเรียนเป็นแบบไหนก็ช่วยกันออกแบบขึ้นมา และนำข้อด้อยที่มีอยู่มาสร้างเป็นโอกาสในการเรียนรู้ ออกแบบแนวทางการสอน ทดลองใช้ ก่อนนำไปใช้จริงในห้องเรียน เรียนรู้ด้วยการนิเทศติดตามผล เพื่อดูว่ามีจุดอ่อนอะไร แล้วนำไปปรับปรุงพัฒนาดำเนินกิจกรรมรอบต่อไป”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณฑนา พิพัฒน์เพ็ญ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพครูโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า โครงการฯ ได้พยายามออกแบบหลักสูตรสำหรับพัฒนาสมรรถนะของครู ตชด. โดยทำงานร่วมกับโค้ชในพื้นที่ นายตำรวจนิเทศ และภาคีเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา ภายใต้กรอบคิดว่า ทำอย่างไรจะให้ครู ตชด. มีความรู้เชิงปฏิบัติที่มีความหมาย สามารถต่อเติมด้วยองค์ความรู้ด้วยการพัฒนาคุณวุฒิ และออกแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้คุณครูมีทักษะเชิงปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเป็น ‘โมดูล’ หรือหน่วยการเรียน เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีการสร้างบทเรียนเป็นหน่วยเนื้อหาหรือกลุ่มประสบการณ์การเรียนรู้เชิงปฏิบัติสำหรับโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล สร้างวิทยาการการเรียนรู้ตลอดชีวิต บูรณาการการสอนในโรงเรียนที่มีครูไม่ครบชั้น โดยพัฒนาให้โรงเรียน ตชด. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สามารถให้บริการแก่สังคมและชุมชนได้ ออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ ‘ถุงยังชีพทางการศึกษา’ คือ เรียนวันนี้ ใช้ประโยชน์วันนี้ หรือเรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรและความรู้ที่พร้อมใช้งาน