Free from school with Freeform school: ครูข้างถนนจิตอาสากับต้นกล้าเยาวชนผู้ไม่ยอมหยุดฝัน
สองตัวแปรสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้แบบ ‘นอกกรอบ’ แห่งชุมชนคลองเตย

Free from school with Freeform school: ครูข้างถนนจิตอาสากับต้นกล้าเยาวชนผู้ไม่ยอมหยุดฝัน

โรงเรียนคือประตูสู่โอกาส
โรงเรียนคือแหล่งเรียนรู้พื้นฐาน
โรงเรียนคือบ่ออนุบาลอนาคตของชาติ

แต่ในบางครั้ง สำหรับเด็กกลุ่มชายขอบที่ขาดแคลนปัจจัยด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ-สังคม สุขภาพกายใจ ไปจนถึงพัฒนาการสติปัญญา ‘โรงเรียน’ ก็อาจเป็นได้ทั้งป่ารกชัฏเต็มไปด้วยภัยคุกคามจากรอบด้าน เป็นทั้งเรือนจำที่คุมขังพวกเขาไม่ให้มีอิสระทางความคิด หรือในบางครั้งก็เป็นประตูบานหนักอึ้งที่พวกเขาไม่มีแรงกำลังพอจะเปิด

แม้ในแง่ของระยะทาง โรงเรียนที่อยู่ใกล้กับชุมชนคลองเตยที่สุดอาจไม่ได้อยู่ไกลเกินผู้คนในชุมชนจะเดินถึงเลย แต่ลำพังแค่ความยากจนข้นแค้นซึ่งถูกซ้ำเติมโดยสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองมาหลายปี ก็เพียงพอแล้วที่จะกางแผ่ช่องว่างทางโอกาสออกไปไกล จนความฝันเรื่องสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานของเยาวชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนั้นนับวันยิ่งดูไกลเกินเอื้อม

สถานการณ์ที่คลองเตยเคยเป็นเช่นนั้น จนกระทั่งการมาถึงของโครงการอาสา ‘คลองเตยดีจัง’ และนวัตกรรม ‘Freeform School’ อีกหนึ่งเครือข่ายนวัตกรรมการศึกษาทางเลือกของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เปี่ยมประสบการณ์เรื่องการศึกษายืดหยุ่น พาเด็กๆ กลับมาเรียน

นนท์-นนทวัฒน์ โตมา คือตัวแทนเยาวชนคนหนึ่งจากชุมชนแห่งนี้ หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะแรปเปอร์รุ่นเยาว์ที่ปรากฏตัวในสารคดี School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน (2020) แต่นอกจากจะเป็นภาพแทนคนตัวเล็กๆ จากชุมชนสร้างสรรค์ที่ขับเคลื่อนประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ อันยึดโยงกับสังคมการเมืองอย่างเหนียวแน่นอย่างในภาพยนตร์แล้ว อีกด้านหนึ่ง เขายังเป็นเด็กในระบบที่หลุดออกมานอกระบบครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะพยายามกลับเข้าไปกี่ครั้งก็ตาม

กรอบเกณฑ์และข้อจำกัดมากมายที่เหวี่ยงเด็กด้อยโอกาสออกนอกวงโคจร

จากเด็กที่ผ่านช่วงอนุบาล ประถม และมัธยมต้นในสายสามัญ ความต้องการเร่งด่วน ณ ขณะนั้นคือทักษะที่ต้องใช้หาเงินได้ทันที ก็ทำให้นนท์ตัดสินใจขยับปรับเปลี่ยนมาลองสายอาชีพบ้าง ทว่าตารางงานก็ค่อยๆ เริ่มบีบเข้ามาซ้อนทับกับตารางเรียนมากขึ้นทีละน้อย สุดท้ายก็จำต้องเลือกปากท้องก่อน เพราะเป็นปัญหาที่ปัจจุบันทันด่วนมากกว่าความกังวลเรื่องความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในอนาคตซึ่งยังมาไม่ถึง

สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกดีกว่าเพราะคิดว่าถึงอย่างไรตัวเองก็ไม่เหมาะกับระบบการศึกษาอยู่แล้ว พอไม่ได้เรียนในโรงเรียนมันก็มีเวลามากขึ้น ไปศึกษาหาความรู้เรื่องอื่นๆ ที่เราสนใจ

แต่นนท์ก็ยังไม่ได้ตัดจากการเรียนหนังสือ ไม่นานเขาก็กลับเข้าไปเรียนอีกครั้ง คราวนี้เป็นวิทยาลัยสายอาชีพเหมือนเคย แต่ลองเลือกเป็นสถาบันที่ตารางเวลายืดหยุ่นขึ้น แล้วเดินหน้าด้วยแผนการสุดทรหดอย่างการทำงานกะเช้าควบคู่ไปกับการเข้าเรียนช่วงบ่าย และพอถึงจุดหนึ่ง นนท์ก็ต้องพบกับทางตันอีกครั้ง เพราะต่อให้จะสามารถเข้าเรียนได้ทุกคาบด้วยตารางที่ไม่เข้มงวดเท่าเดิม แต่เขาก็ไม่เหลือเวลาว่างหรือกำลังมากพอจะทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อผลการเรียนอยู่ดี

นนท์จึงหลุดกลับออกมาอีกครั้งอย่างช่วยไม่ได้ เขาเฝ้ามองหาสถาบันที่ตอบโจทย์เงื่อนไขของตัวเองอยู่พักใหญ่ ต้องเป็นที่ที่จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานหาเงินไปด้วยเท่านั้น จะมีสถาบันใดกันที่สามารถมอบ ‘ใบเบิกทาง’ ที่เขาต้องการให้เขาได้โดยที่เขาไม่ต้องสละรายได้แหล่งเดียวไป

แล้วนนท์ก็ได้มารู้จักกับ Freeform School และโครงการคลองเตยดีจัง

จากนักศึกษาพยาบาล สู่ครูอาสา จนกลายมาเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคม

อ๋อมแอ๋ม-ศิริพร พรมวงศ์ หรือ ‘ครูแอ๋ม’ หัวหน้าโครงการคลองเตยดีจัง มีโอกาสได้เห็นปัญหาจากระดับรากฐานมาตั้งแต่สมัยเรียนพยาบาล เธอคลุกคลีกับกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคมมาโดยตลอด พอเรียนจบแล้วใช้เวลาอีก 8 ปีหลังจากนั้นทำงานเป็นครูอาสาข้างถนน

ครูแอ๋มเริ่มต้นแค่จากการนำเครื่องดนตรีไปบริจาค มาสู่การอาสาสอนดนตรีด้วยตัวเอง จากนั้นก็เริ่มคิดการใหญ่ขึ้น เริ่มขอทุนทำโครงการเป็นชิ้นเป็นอัน เริ่มชักชวนคนเข้ามาช่วยทำ จนเครือข่ายที่เธอสร้างได้กลายมาเป็น ตัวเชื่อม ให้คนและองค์กรจากภายนอกที่มีความรู้หรือทุนทรัพย์ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ

เราเป็นองค์กรเล็กๆ ทำในสิ่งที่เราทำได้ ไม่ได้หวังเปลี่ยนแปลงอะไรที่ใหญ่เกินตัว เกินกำลัง เราไม่ได้มีทุนมาก ไม่ได้รับงบจากรัฐ ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นหน้าที่รัฐ เราก็ทดลองทำตามโมเดลของเรา
คลองเตยดีจังเป็นองค์กรคนรุ่นใหม่ ไม่มีหัวหน้า เป็นองค์กรแนวราบ ไม่เหมือนระบบบริหารแบบบนลงล่าง เวลาตัดสินใจทำได้เลย ใช้ความเห็นที่ประชุม ทุกคนเท่าเทียมกัน เราไม่ได้มีวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า เราเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง

‘ครูแอ๋ม’ ศิริพร พรมวงศ์

Freeform School ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนคลองเตยเองก็เป็นนวัตกรรมหนึ่งที่เริ่มมาจากกระบวนการตั้งคำถามว่า ‘พื้นที่นั้นๆ มีปัญหาอะไร? เด็กๆ ประสบปัญหาอะไร?’ เมื่อตอบคำถามได้แล้ว นวัตกรรมที่นำไปใช้สำหรับแก้ปัญหาจึงก่อร่างขึ้น

ครูแอ๋มตระหนักดีว่าโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในคลองเตยอาจจะไม่สามารถนำเอาไปใช้ได้ทุกที่ แต่อย่างน้อยนี่ก็คือโมเดลหนึ่งที่เกิดจากการทดลองทำ หากนำไปปรับใช้แล้วส่วนไหนไม่ตอบโจทย์ก็ตัดออก ส่วนไหนตอบโจทย์ก็เก็บไว้พัฒนาต่อ สำหรับเยาวชนในคลองเตยที่ยากจนเหล่านี้ โจทย์ที่สำคัญประการหนึ่งคือการออกแบบระบบการศึกษาให้พวกเขาสามารถเรียนจบได้โดยไม่จำเป็นต้องสูญเสียรายได้ หรือลดทอนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่

ห้องเรียนนอกกรอบสำหรับเด็กนอกระบบ

เมื่อช่วงไม่นานมานี้ ผมอยากกลับไปเรียน แต่ไม่ได้อยากเรียนในระบบเดิม อยากเรียนที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งที่คลองเตยมันมี Freeform School อยู่” นนท์เล่า “จริงๆ ตอนแรกผมก็แทบจะไม่ได้มีความรู้คร่าวๆ เกี่ยวกับการเรียนนอกระบบเลย แต่พอได้เรียนแล้วก็รู้สึกแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับภาคการเรียนปกติ

การเรียนแบบปกติไม่ตอบโจทย์ ผมมีงานต้องทำ ไม่สามารถเอาเวลาประมาณ 7-8 ชั่วโมงมาเป็นนักเรียน มานั่งเรียนได้ พอได้มาเรียน Freeform School มันก็เลยทำให้เราได้มีเวลาไปหาเส้นทางของตัวเองได้ เราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเราเอง เราสามารถจัดการตารางเวลาแล้วแต่การดีไซน์ชีวิตได้

นนท์เพิ่งสมัครเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายกับโครงการเมื่อไม่นานมานี้ และอย่างที่เขาเล่าถึงไว้ข้างต้น เนื่องจากคลองเตยเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำเรื้อรังมานาน หากต้องการผลักดันเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้อย่างยั่งยืน ห้องเรียนนี้จะต้องทลายระบบระเบียบและหลักสูตรเดิมๆ ที่จำกัดอิสระและเต็มไปด้วยเงื่อนไข ให้กลายมาเป็นหลักสูตรที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้นที่มาพร้อมกับกลไกระบบดูแลรายบุคคล เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของเด็กแต่ละคนที่มีปัญหาแตกต่างกันไป

ภูมิหลังเด็กที่ออกนอกระบบ นอกจากปัญหาความยากจน ยังมีเรื่องความแข็งแกร่งภายในจิตใจของเด็ก อย่างพวกเราตอนนี้ก็ทำ Case Management คือดูแลเด็กเป็นรายเคส พร้อมดูแลครอบครัวด้วย แต่ต้องทำงานเชิงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ เพราะถ้าทำปริมาณเยอะๆ จะทำคุณภาพได้ไม่ลึก” ครูแอ๋มอธิบาย 

หลักสูตรที่ตอบโจทย์ จึงถือเป็นภารกิจหลักที่ Freeform School จะต้องพิชิตให้จงได้ เนื่องจากอย่างที่ครูแอ๋มได้กล่าวไปแล้วว่า เพนพอยต์ (Pain Point) สำคัญประการหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้คือเรื่องของแรงใจในการเรียนอันมีที่มาจากแรงบันดาลใจอีกที แต่หากการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กในด้านใดเลยไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขด้านทุนทรัพย์ ความชอบ สายอาชีพตามเป้าหมาย ตารางเวลาชีวิต ฯลฯ เด็กก็ไม่สามารถที่จะเรียนได้อย่างสบายใจ

พี่รู้มั้ยว่าเกือบทุกครอบครัวในชุมชนที่ผมโตมา พ่อแม่เขาต้องทำงานจนไม่มีเวลาอยู่กับลูก ไม่มีเวลาสั่งสอนลูกเลย แล้วเด็กที่มาจากสภาพแวดล้อมแบบนี้ ชีวิตเขาไม่ได้มีภาระแค่ไปโรงเรียนอย่างเดียว แต่ต้องทำงานหาเงินด้วย 

“ฉะนั้นนอกจากบทเรียนหรือการบ้าน ทุกวันเขายังกังวลด้วยว่าหลังเลิกเรียนกลับบ้านจะกินอะไร จะได้เจอหน้าพ่อแม่เมื่อไหร่ หรือทุกสามสี่เดือนก็ต้องกังวลว่าจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอม ต้องไปกู้จากไหนมาซื้อเสื้อผ้าเครื่องแบบ ภาระพวกนี้ทำให้เขาหลุดออกมา หรือถึงเรียนอยู่ก็แทบมองไม่เห็นเป้าหมายปลายทาง แล้วก็หมดไฟลงเรื่อยๆ

นนท์กล่าวสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นอยู่จริงๆ ของเด็กและวัยรุ่นในชุมชนบ้านเกิดของเขา

ระบุชัดถึงปัญหา เห็นคุณค่าการทำงาน เทียบโอนประสบการณ์ชีวิตได้ และให้อิสระผู้เรียน

ในการที่จะปลดเปลื้องเยาวชนผู้เรียนจากเงื่อนไขชีวิตต่างๆ ทางโครงการ Freeform School จะไม่ละเลยขั้นตอนการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงปัญหาและสอบถามความเห็นเด็ดขาด โดยเมื่อสามารถหารือปัญหาและทางแก้ออกมาได้แล้ว เด็กๆ จะต้องได้รับอิสระให้สามารถเลือกทางที่ตนเองต้องการจริงๆ 

นั่นไม่ได้หมายความว่าการเรียนจะเป็นไปโดยไม่มีระบบระเบียบใดๆ กำกับเลย แต่หมายความว่าระบบที่ใช้จะต้อง ให้คุณค่ากับทรัพยากรที่เด็กๆ กลุ่มนี้มักมีอยู่ในมืออยู่แล้ว นั่นคือประสบการณ์การทำงานจริง

หรือหากต้องการส่งเสริมให้เด็กได้ฝึกทักษะใดก็ตาม การมอบหมายชิ้นงานที่มีค่าแรงตอบแทนด้วยกลไก Learn and Earn ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น มอบหมายให้เด็กทำสัมภาษณ์ หรือออกแบบโปสเตอร์จากโปรแกรม Canva แล้วจ่ายค่าตอบแทนชิ้นงานที่ได้จากการฝึกฝนเหล่านี้

อย่างในกรณีของนนท์ เป้ายหมายเริ่มต้นของเขา นอกจากจะเป็นวุฒิการศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตของเขามากที่สุดคือความรู้และทักษะทางดนตรี

ที่ Free Form School เขามีสอนวิชาชีพเฉพาะทางเช่นบาริสต้า หรืออย่างเรื่องทักษะและทฤษฎีดนตรีเชิงลึก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมสนใจ แล้วที่ผมชอบมากคือเราสามารถยื่นเสนอโครงงาน เพื่อจะให้งบมาทำได้ด้วย อย่างผมทำโครงงานเกี่ยวกับดนตรี ก็ได้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ และได้ทุนสนับสนุนนเพิ่มเติมจากตรงนี้” นนท์เล่า โดยไม่ลืมกล่าวทิ้งท้ายเพื่อย้ำเตือนในหัวใจสำคัญของโครงการนี้
การศึกษาที่ยืดหยุ่นและมีทางเลือกเป็น ‘สิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ’ ยิ่งถ้ารูปแบบการเรียนรู้นั้นมุ่งความสำคัญไปที่ตัวเด็ก มันก็จะยิ่งช่วยลดความสูญเปล่าเรื่องเวลา กลายเป็น ‘เส้นทางตรง’ ที่พาเด็กแต่ละคนไปในทางที่เขาสนใจและถนัด


ที่มา :

การศึกษานอกกรอบที่ตอบโจทย์ชีวิต เสียงสะท้อนจากเด็กนอกระบบ ‘นนท์’ – นนทวัฒน์ โตมา
School Town King แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน
ชวนฟังเสียงเด็ก ๆ “การศึกษายืดหยุ่นและมีทางเลือก ตอบโจทย์กับเด็กทุกคน ไม่ใช่แค่คนที่หลุดออกจากระบบ”
School Town King โลกที่บังคับให้เด็กฝันเป็นคนธรรมดา
ศิริพร พรมวงศ์ | ครู…ผู้สร้างเด็กให้เห็นคุณค่าตัวเอง สู่การสร้างสังคมคนดี
เดินหน้าออกแบบนโยบาย “หลักประกันโอกาสทางการศึกษา” กับครูอ๋อมแอ๋ม
คนต้นคิด”คลองเตยดีจัง”: ครูแอ๋ม-ศิริพร สร้างทางเลือกใหม่ให้เด็กคลองเตย
เพราะการศึกษาจะช่วยให้ทุกคนมีสิทธิและความสามารถในการจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้
นวัตกรรม “Free From School” ปิดช่องโหว่ปัญหาจากตลาดการเรียนรู้ไปสู่ตลาดแรงงาน