การดูแลเด็กให้ครบทุกมิติ ต้องทำงานแบบจับมือข้ามกระทรวง ดูแลคุณภาพชีวิตพ่อแม่เท่ากับดูแลคุณภาพการเลี้ยงดูเด็ก
วรางค์ เวชประเสริฐ : ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) จังหวัดนครปฐม

การดูแลเด็กให้ครบทุกมิติ ต้องทำงานแบบจับมือข้ามกระทรวง ดูแลคุณภาพชีวิตพ่อแม่เท่ากับดูแลคุณภาพการเลี้ยงดูเด็ก

“พ่อแม่ของเด็กที่มาเรียนในโรงเรียนของเราส่วนใหญ่ มีอาชีพรับจ้างและมีรายได้น้อย โรงเรียนจึงต้องหามาตรการที่ช่วยดูแลเด็กให้มากกว่ามิติการดูแลในโรงเรียน และพยายามช่วยดูแลแบ่งเบาภาระผู้ปกครองให้ได้มากที่สุด”

ในงาน “Schools That matter ชุมชนร่วมขับเคลื่อน โรงเรียนพัฒนาตนเอง โรงเรียนที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ กสศ. และภาคีร่วมกันจัดขึ้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา วรางค์ เวชประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเชิงเลน (นครใจราษฎร์) จังหวัดนครปฐม ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดในการบริหารจัดการโรงเรียน โดยชี้ให้เห็นความสำคัญของมิติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก ๆ 

“โรงเรียนของเราดูแลเด็กทั้งเรื่องอาหารเช้าและอาหารกลางวัน อนุโลมเรื่องเครื่องแต่งกาย อนุญาตให้เด็กใส่ชุดเก่าได้ สนับสนุนอุปกรณ์การเรียนทุกอย่าง โดยพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ต้องไปซื้อเพิ่ม เพราะเราเข้าใจถึงความยากลำบากของหลาย ๆ ครอบครัว แต่การช่วยเหลือมีการตั้งข้อแม้โดยพูดคุยกับพ่อแม่ว่า สิ่งที่โรงเรียนช่วยเหลือนั้นมีข้อแลกเปลี่ยน คือ ต้องแลกกับการอุ้มลูกนั่งบนตัก อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังบ้าง”

การดูแลเด็กจึงไม่ใช่เรื่องความรับผิดชอบเพียงแค่ของโรงเรียน ผู้ปกครอง หรือกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น แต่ต้องทำงานแบบจับมือข้ามกระทรวง เพราะการดูแลเด็กหนึ่งคนนั้น เชื่อมโยงไปถึงหน่วยงานอื่น ๆ อย่างกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทยซึ่งดูแลในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกันดูแลเด็กให้ครบทุกมิติ ซึ่งหากสาธารณสุขดูแลด้านสุขภาพ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ดูแลด้านความเป็นอยู่แล้ว คิดว่าในฐานะที่ดูแลเด็กในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย มองว่าการดูแลเด็กอาจจะต้องครอบคลุมไปถึงกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงานอีกด้วย ที่ต้องเข้ามาดูแลสวัสดิการและความเป็นอยู่ของพ่อแม่ ที่กำลังทำงานในโรงงานต่าง ๆ

“การทำงานดูแลเด็กในภาพกว้างให้ครบทุกมิติ เป็นสิ่งที่ไม่ควรถูกมองข้าม หรือมองแบบขาดการเชื่อมโยง เช่นต้องคำนึงว่า พ่อแม่เด็กซึ่งทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรม ที่ต้องการค่าจ้างมากขึ้นด้วยการทำงานล่วงเวลา คือกลุ่มพ่อแม่ที่มีเวลาเลี้ยงดูลูกน้อยลงตามไปด้วย การมองข้ามเรื่องนี้และไม่ช่วยกันหามาตรการทางออก สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็จะส่งผลไปถึงคุณภาพการเลี้ยงดูเด็กที่กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของสังคมของชาติในอนาคตได้”