อุดรธานี นับเป็น 1 ใน 4 เมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท ทั้งยังเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถือเป็นหมุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวและการเชื่อมโยงระหว่างประเทศของชาวลาว ชาวจีน รวมไปถึงชาวเวียดนาม ที่ได้เดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยว ลงทุน และเข้ามาเพื่อการศึกษา
ด้วยความสำคัญของการขยายตัวของเมืองอุดรธานีในแง่ทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง เทศบาลนครอุดรธานี ภายใต้การบริหารงานของ ‘ดร.หรั่ง’ ธนดร พุทธรักษ์ นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี จึงเล็งเห็นความสำคัญของการขยายตัวของเมืองเช่นนี้
เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์อนาคตของเมืองอุดรธานีที่มีทรัพยากรและทุนทางวัฒนธรรมแบบพหุวัฒนธรรมที่เด่นชัด ‘โครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบ (Model) เมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา’ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นอันเป็นความร่วมมือกับเครือข่ายภาคีต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัดอุดรธานี เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มหาวิทยาลัยพะเยา อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) อุดรธานี พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ภาคีเครือข่ายและชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อลดความเหลื่อมลํ้าทางการศึกษา เอื้อให้เด็กและเยาวชนที่มีรายได้น้อย หรือเป็นกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางการศึกษา รวมถึงประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสม โดยส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และพัฒนานิเวศการเรียนรู้ของเมือง (city learning ecology) ที่นำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต บนแหล่งการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม (multicultural society) ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
นอกเหนือไปจากการพัฒนาด้านการเรียนรู้แล้ว ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ของชาวเมืองอุดรธานีให้กับทุกช่วงวัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของคนวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ (city administrator) รวมถึงการพัฒนากลไกหรือคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่มีตัวแทนจากหลายภาคส่วนในพื้นที่เข้ามาทำงานร่วมกัน ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถเป็นพื้นที่ตัวแบบที่ขยายผลต่อไปได้ในระดับสากล
อุดรธานี: เมืองแห่งพหุวัฒนธรรม 131 ปี
อุดรธานี ไม่เพียงเป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง หรือเป็นเมืองที่มีความพร้อมทางด้านการศึกษาเท่านั้น อุดรธานียังมีความน่าสนใจในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติมาเป็นเวลาช้านาน และผ่านพลวัตการพัฒนาเมืองอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 131 ปี นับตั้งแต่ พลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงย้ายกองทหารมาปักหลักประจำการบริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง เมื่อปี พ.ศ. 2436 จนกลายเป็นเมืองหัวเมืองสำคัญที่เรารู้จักจวบจนปัจจุบัน
ที่ผ่านมาเมืองอุดรธานียังผ่านห้วงประวัติศาสตร์สงครามเย็นในฐานะเมืองฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ทำให้เศรษฐกิจของเมืองเฟื่องฟูเป็นอย่างมาก แต่หลังสหรัฐถอนฐานทัพออกไป เมืองอุดรธานีก็ค่อยๆ ซบเซา แต่ก็สามารถรักษาระดับทางเศรษฐกิจของเมืองให้ทรงตัวมายาวนาน ในช่วงของการพัฒนาเมือง ผู้คนหลากเชื้อชาติและศาสนาได้เข้ามามีร่วมกันสร้างบ้านแปงเมือง ไม่ว่าจะเป็นชาวไทพวน ชาวภูไท ชาวลาว ชาวจีน ชาวมุสลิม และอีกส่วนหนึ่งคือชาวเวียดนาม หรือญวน ที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นจนสามารถรวมตัวกันเป็นชุมชน ‘เวียดนามทาวน์’ (Vietnam Town) แห่งแรกของโลก ซึ่งในอดีต โฮจิมินห์ (Hồ Chí Minh) ก็เคยเดินทางมาพำนักที่อุดรธานีในช่วงสงครามกอบกู้เอกราชเวียดนามจากฝรั่งเศส
ขณะที่ชาวจีนได้เดินทางเข้ามาลงหลักปักฐานในเมืองอุดรธานี พร้อมกับการมาถึงของเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนในช่วงปี 2484 จนกลายมาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ส่งผลสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของเมืองอุดรธานี ดังเห็นได้จาก ‘ศาลเจ้าปู่-ย่า’ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวอุดรเชื้อสายจีน ซึ่งปัจจุบันทางมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า ได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประวัติความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองอุดรธานี
เช่นเดียวกับชาวมุสลิม ถือเป็นอีกกลุ่มชนที่อพยพเข้ามาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นชาวมุสลิมเชื้อสายมลายู และชาวมุสลิมเชื้อสายปาทานจากประเทศปากีสถาน โดยตั้งรกรากอยู่ที่บริเวณบ้านคุ้มแขก ถนนศรีชมชื่น ใจกลางเมืองอุดรธานี และเป็นที่ตั้งของ ‘มัสยิดกุวะติลอิสลาม’ หรือมัสยิดกลางจังหวัดอุดรธานี ศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องมุสลิมที่อยู่ร่วมในสังคมเมืองอุดรธานีอย่างสันติ มีวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแบบ ‘มุสลิมอีสาน’
แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของเมืองอุดรธานีคือคนไทยอีสาน แต่เรายังได้เห็นกลุ่มก้อนของผู้มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่พวกเขากลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองอุดรธานีไปแล้วเรียบร้อย สิ่งเหล่านี้คือ ‘ต้นทุนทางสังคม’ ที่สำคัญ ทำให้ ดร.หรั่ง นายกเทศมนตรีนครอุดรธานี เห็นความสำคัญของรากฐานทางวัฒนธรรมที่สั่งสมมาตลอด 131 ปี ซึ่งทรงคุณค่าต่อการเรียนรู้และสามารถต่อยอดทางเศรษฐกิจ บนแนวคิดเมือง ‘พหุวัฒนธรรม’ ได้
ดร.หรั่ง มองว่า อัตลักษณ์ของเมืองอุดรธานีคือวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งทางเทศบาลพยายามบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะแบบมีส่วนร่วม มีการจัดระเบียบพื้นที่ใช้สอยร่วมกันให้เกิดประโยชน์กับคนที่อยู่อาศัยและทำมาหากินในย่านนั้นๆ จนเกิดเป็นเวียดนามทาวน์ ทำถนนคนเดินเชื่อมโยงหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งชุมชนไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม
“ผมเชื่อว่าการท่องเที่ยวรูปแบบนี้จะช่วยให้คนในพื้นที่กลับมาค้าขายกันได้มากขึ้น เศรษฐกิจจะคึกคัก แทนที่จะกระจุกอยู่ในห้างอย่างเดียว อันนี้ก็คือการลดความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง
“ส่วนเด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ในการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน และยังขยายไปถึงประชาชนทุกภาคส่วน โดยเทศบาลทำหน้าที่เปิดแพลตฟอร์มพื้นที่ให้คนมาเรียนรู้ร่วมกัน แต่ไม่ใช่ว่าเทศบาลจะทำเองหมด ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน เปิดโอกาสให้มีสภาพลเมือง เพราะผมคนเดียวเปลี่ยนเมืองไม่ได้ พวกเราทุกคนต้องมาช่วยกันเปลี่ยน”
อุดรธานีสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ลดความเหลื่อมลํ้า
จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมของเมืองอุดรธานีที่มีพลวัตสูงต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ ดร.หรั่ง ตั้งคำถามถึงทิศทางในอนาคตว่า การพัฒนาบนแนวทางแบบไหนจึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และส่งผลดีต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน
“ที่ผ่านมา เราหลงใหลได้ปลื้มกับการพัฒนาเมืองใหญ่ที่ผิดทางมาโดยตลอด แต่พอพลวัตของเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับพลวัตที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ฉะนั้นสิ่งที่จำเป็นคือการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันว่าทิศทางการพัฒนาเมืองควรจะเป็นอย่างไร” ดร.หรั่ง กล่าว
คำกล่าวข้างต้นนี้สะท้อนการพัฒนาในมิติเดียวของภาครัฐในอดีต โดยไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมักถูกผลักออกจากสมการการสร้างเมือง ดังนั้นเทศบาลนครอุดรธานีจึงกลับมามองที่รากฐานทางสังคม นั่นก็คือ ‘ประชาชน’ จะต้องถูกดึงเข้ามาในสมการวงกลม 3 เส้าคือ ภาครัฐ
(ส่วนกลาง/ท้องถิ่น) ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยเทศบาลนครอุดรธานีจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมประสานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ผลักดันการสร้างการเรียนรู้ในทุกมิติ เปิดแพลตฟอร์มที่จะทำให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างเมืองและเศรษฐกิจของเมืองให้เติบโตไปอย่างยั่งยืน
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อหนุนเสริมการทำงานของท้องถิ่นร่วมกับกลไกจากภาคส่วนต่างๆ อย่างเข้มแข็ง ระดมต้นทุนและทรัพยากรในพื้นที่มาช่วยกัน ‘พัฒนาคน พัฒนาเมือง’ ปลุกปั้นให้อุดรธานีก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 4 ที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน
ปลายทางของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ พุ่งเป้าไปที่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้พลเมืองมีความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่รวดเร็ว รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้จึงเป็นความท้าทายที่เทศบาลนครอุดรธานีพยายามไปให้ถึง
รถรางสาย ‘พหุวัฒนธรรม’ ช็อป ชิม เที่ยว แหล่งเรียนรู้เมืองอุดรฯ
เมืองอุดรธานีเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีความแตกต่างหลากหลายเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่เมืองอุดรธานีจะเดินไปสู่เป้าหมายเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เสมอภาค ลดความเหลื่อมลํ้า ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการเชื่อมต่อชุมชนต่างๆ เข้าด้วยกันเพื่อการสร้างการเรียนรู้บนแหล่งเรียนรู้ต่างๆ โดยเทศบาลนครอุดรธานีพร้อมด้วยภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ศูนย์ออกเเบบสร้างสรรค์ผ้าเเละสิ่งทอของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ห้องสมุดประชาชน และท้องฟ้าจำลองเทศบาลนครอุดรธานี ชุมชนดงวัด มัสยิดกุวะติลอิสลาม เวียดนามทาวน์ ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่าอุดรธานี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยอาศัยเครื่องมือหนึ่งที่จะเชื่อมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน นั่นคือ ‘รถรางสายวัฒนธรรม’
อัมพิกา บริพรรณ หัวหน้างานห้องสมุด เทศบาลนครอุดรธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา กล่าวว่า เมืองอุดรธานีมีแหล่งเรียนรู้ที่น่าสนใจเป็นจำนวนมาก กระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ของเมือง เพียงแต่ขาดการเชื่อมโยงที่เป็นระบบชัดเจน รวมทั้งการออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์เสริมเข้าไปในแหล่งเรียนรู้เหล่านั้น โดยนายกเทศมนตรีได้มีแนวคิดในการเชื่อมแหล่งการเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรม เพื่อให้คนทั้งในและนอกพื้นที่ได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งอุดรธานีเป็นเมืองเปิดที่มีคนต่างถิ่นจำนวนมากหลั่งไหล เข้ามาทำการค้า การลงทุนทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในแถบภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนี้
“ถ้าทุกคนเปิดใจกว้าง ได้ศึกษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่างกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันก็จะเกิดความเข้าใจกันมากขึ้น สิ่งนี้จะทำให้สังคมเข้มแข็ง เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน และชุมชนต่างๆ ในเมืองก็จะมีชีวิตชีวาเพิ่มขึ้น”
จากนั้นเทศบาลได้เปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วม เริ่มต้นจาก ‘สภาเด็กและเยาวชน’ เข้ามาช่วยกันออกแบบเส้นทางรถรางตามหลักการมีส่วนร่วม เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เพราะการจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ต้องอาศัยความเข้มแข็งขององค์กรความร่วมมือทุกฝ่าย
“ในอนาคตเด็กเหล่านี้ก็คือผู้ที่จะพัฒนาท้องถิ่นเรา ฉะนั้น เราต้องให้เขาได้เรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ ก็เลยชวนกลุ่มเยาวชนมาร่วมกันปักหมุดในแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเขตเทศบาล และให้พวกเขาได้ตัดสินใจเองว่าพื้นที่ตรงไหนบ้างที่เหมาะสมแก่การเป็นแหล่งเรียนรู้”
“สภาเด็กและเยาวชนอุดรธานีเกิดจากการรวมกลุ่มของนักเรียนทุกโรงเรียนในเขตเทศบาล เราได้เข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ผ่านรถรางสายวัฒนธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายของเทศบาลที่ต้องการยกระดับการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกทางหนึ่ง
“เส้นทางรถราง 3 เส้นทางที่เราร่วมกันออกแบบ พยายามให้ครอบคลุมทั่วถึงทั้งเมือง ผ่านชุมชนที่หลากหลาย ทั้งชุมชนเวียดนาม ชุมชนชาวจีน ชุมชนมุสลิม โดยสภาเด็กฯ ได้ประชุมระดมความเห็นหลายครั้ง ก่อนจะส่งแผนไปยังเทศบาลต่อไป”
อรุณวิชญ์ สิทธิทัศนาภัสร์
ประธานคณะกรรมการบริหาร สภาเด็กและเยาวชน เทศบาลนครอุดรธานี
การเข้ามามีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน ทำให้เกิดเส้นทางรถรางสายวัฒนธรรมที่เชื่อมต่อแหล่งการเรียนรู้ภายในตัวเมืองอุดรธานี โดยหมุดหมายแรกของการท่องเที่ยวสายวัฒนธรรมนี้จะเริ่มต้นจาก ‘พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี’ ตั้งอยู่บนอาคารราชินูทิศ ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ทรงโคโลเนียลอายุ 99 ปี ซึ่งเคยเป็นอาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนสตรีราชินูทิศมาก่อน โดยพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีนี้ ได้จัดแสดงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงยุคการสร้างบ้านแปงเมืองของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ประวัติศาสตร์สามัญชนของคนอุดรธานี ที่มาจากกลุ่มคนหลากหลายชาติพันธุ์และศาสนา รวมไปถึงศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุดรธานี นอกจากนี้รูปแบบการเรียนรู้แต่ละจุดภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ใช้ได้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเข้ามาผสมผสาน กระตุ้นความสนใจอยากรู้ของเด็กๆ ค้นหาข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างสนุกตื่นตาตื่นใจอีกด้วย
นิชนันท์ กลางวิชัย หัวหน้างานภัณฑารักษ์แห่งพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ระบุว่า “พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีจะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมร้อยเรื่องราวให้คนจากชุมชนหนึ่งได้รู้จักกับคนอีกชุมชนหนึ่ง เราจะเป็นผู้เล่าเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ อย่างคำถามที่ว่า ทำไมมาอุดรฯ ต้องกินแหนมเนือง เป็นต้น”
ไม่เพียงการทำหน้าที่ในบทบาทเชิงรับเท่านั้น แต่เทศบาลยังทำหน้าที่เชิงรุกไปพร้อมกัน นั่นคือการออกไปทำงานร่วมกับชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน เช่น โครงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น พาเด็กๆ ไปสัมผัสพื้นที่จริง ชุมชนจริง พร้อมเก็บข้อมูล จดบันทึก ตั้งคำถาม เพื่อให้พวกเขารู้จักรากเหง้าของตนเอง ก่อนการเรียนรู้ในแต่ละส่วนจะถูกประกอบสร้างขึ้นมาเป็นชุมชนใหญ่นั่นคือเมืองอุดรธานีนี้เอง
ภายหลังจากการเดินสำรวจประวัติศาสตร์เมืองอุดรธานีที่ทำให้ได้เห็นภาพรวมความเป็นมาของผู้คน ชุมชน และเมืองแล้ว รถรางจะเริ่มเคลื่อนออกจากหน้าอาคารราชินูทิศ ผ่านบริเวณใจกลางเมืองคือ ‘ทุ่งศรีเมือง’ ซึ่งในอดีตนั้นเป็นพื้นที่สำหรับใช้ประกอบพิธีสำคัญของเมือง ต่อมาได้กลายมาเป็นพื้นที่สาธารณะในการจัดกิจกรรมต่างๆ ก่อนตรงไปยังถนนศรีชมชื่น อันเป็นที่ตั้งของชุมชนคุ้มแขก ชุมชนชาวมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองอุดรธานี
‘มัสยิดกุวะติล’ เป็นจุดศูนย์รวมของพี่น้องชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในจังหวัดอุดรธานีและภาคอีสาน พร้อมทั้งมีโรงเรียนสอนศาสนาให้กับเด็กและเยาวชนชาวมุสลิมอีกด้วย โดยมี ประสิทธิ์ สิทธิภาณุนันท์ เป็นกรรมการและครูสอนเยาวชนประจำมัสยิด ในช่วงวันหยุดครอบครัวชาวมุสลิมก็จะพาเด็กๆ มาเรียนรู้เกี่ยวกับภาษา วัฒนธรรม และศาสนา ณ โรงเรียนแห่งนี้ เรียนฟรี แม้ว่าบางสัปดาห์เด็กๆ อาจจะมากันน้อยคน แต่โรงเรียนก็ยังเปิดสอนอยู่ ทำแบบนี้ต่อเนื่องเรื่อยมา ส่วนพื้นที่โดยรอบนั้นยังประกอบด้วยร้านอาหารมุสลิมที่ได้มีการประยุกต์ความเป็นท้องถิ่นอีสานเข้าไป เช่น ส้มตำฮาลาล ลาบเนื้อ ก็มีไว้ให้บริการเช่นกัน เอกลักษณ์จุดนี้เองจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาลิ้มลองบน ‘ถนนสายฮาลาล’ ประกอบกับเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน
กอมาริยะห์ นาซิม หรือ เดือนเพ็ญ ภูพวก ผู้ช่วยอิหม่ามประจำมัสยิดกลางอุดรธานี ระบุว่า ทางชุมชนคุ้มแขกและมัสยิดกลางอุดรธานี ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ภายใต้การเชื้อเชิญของเทศบาลนครอุดรธานีที่เห็นว่าชุมชนมุสลิมนั้นมีอัตลักษณ์ที่น่าสนใจ มีอาหารการกินอันเป็นเอกลักษณ์ทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มรสนึกถึงว่า เมืองอุดรธานีนั้นก็มีชุมชนชาวมุสลิมด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น มัสยิดกุวะติลยังได้รับการสนับสนุนจากเทศบาลในการบูรณะปรับปรุง เพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ที่จะเปิดให้คนนอกได้เข้าชม เพื่อสร้างความตระหนักถึงความแตกต่างทางศาสนาในสังคมพหุวัฒนธรรม อยู่ร่วมกับชุมชนอื่นๆ ในสังคมเมืองอุดรฯ ได้อย่างสันติ ลบภาพจำว่าชาวมุสลิมนั้นเป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงยาก
“ทางชุมชนเองมีความยินดีที่จะเข้าร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการนี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีโครงการนำร่อง เช่น การจัดทัศนศึกษาจากโรงเรียนต่างๆ ในเมืองอุดรธานี สำหรับการศึกษาแลกเปลี่ยนความแตกต่างทางวัฒนธรรม การปฏิบัติศาสนกิจ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับจากเด็กๆ เป็นอย่างดี”
ถัดไปเพียง 200 เมตร จากบริเวณหน้ามัสยิดกลางอุดรธานี เราสามารถเดินเท้าไปยังอีกชุมชนหนึ่งนั่นคือ ‘เวียดนามทาวน์’ ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของโลกที่ได้รับการสนับสนุนในการจัดตั้งจากรัฐบาลเวียดนาม ในฐานะสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม โดยตั้งอยู่บนถนนศรีสุข ซอย 2 มีซุ้มประตูเวียดนามตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้าชุมชนที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์แบบเวียดนาม พร้อมกับ ‘ตลาดเวียดนามทาวน์’ ซึ่งทางเทศบาลนครอุดรธานีได้ร่วมกับชุมชนชาวเวียดนามเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ได้ลิ้มลองอาหารเวียดนามแบบดั้งเดิม หาทานยาก สูตรอาหารเหล่านี้ตกทอดมายังรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็น บุ๋นจ๋า (bún chả) หรือขนมจีนหมูย่าง สูตรที่สืบทอดจากเมืองห่าติ๋ญ (Hà Tĩnh) หรือจะเป็น โย่ย (dồi) หรือไส้กรอกเลือดแบบเวียดนาม ก็มีให้ลิ้มลองเช่นกัน
หลังจากเดินชิมอาหารเวียดนามตั้งแต่ต้นถนนไปยังปลายถนน ชุมชนเวียดนามยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจได้ร่วมทำกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม บริเวณสำนักงานชาวเวียดนาม จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวมตัวของคนในชุมชน ลุงโด๋ว หรือ อาจารย์สุบิน ดังนิ ชาวชุมชนเวียดนามอาวุโส เชื้อเชิญนักท่องเที่ยวให้เข้าไปชมสำนักงานชาวเวียดนามที่มีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้แต่งตัวแบบชาวเวียดนาม สำหรับการเดินถ่ายรูปในชุมชนได้ ทั้งยังแจ้งให้ทราบว่า ทางชุมชนก็ยังมีการเปิดสอนภาษาเวียดนามสำหรับผู้สนใจด้วย ที่จะสามารถสร้างทักษะการเรียนรู้ภาษาเวียดนาม นำไปต่อยอดสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจได้
“คุณรู้หรือไม่ว่า เมืองอุดรธานีไม่ได้มีแค่คนลาวเท่านั้นที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว แต่คนเวียดนามจำนวนมากก็นิยมเข้ามาท่องเที่ยว จับจ่ายซื้อสินค้าชั้นดีที่อุดรธานีเยอะมาก ส่งลูกหลานเข้ามาเรียน เด็กชาวเวียดนามหลายคนพูดภาษาไทย เขียนภาษาไทยได้คล่อง แต่คนไทยกลับพูดภาษาเวียดนามไม่ได้ คุยกันไม่รู้เรื่อง หลักสูตรภาษาเวียดนามของเวียดนามทาวน์เมืองอุดรธานี จะสามารถสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้กับใครหลายๆ คนได้”
‘ลุงโด๋ว’ สุบิน ดังนิ
ชาวชุมชนเวียดนามอาวุโส
ด้าน เรืองยุทธ เลือง นายกสมาคมชาวเวียดนามจังหวัดอุดรธานี ชี้ให้เห็นว่า การมีส่วนร่วมในโครงการ learning city ของสมาคมชาวเวียดนาม เกิดขึ้นพร้อมๆ กับแนวคิดที่จะทำ ‘เวียดนามทาวน์’ เพราะในแถบภูมิภาคอาเซียนนี้ไม่เคยมีเวียดนามทาวน์มาก่อน จึงเอาแนวคิดนี้ไปเสนอต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี ผู้ว่าราชการจังหวัด และท่านทูตจากกระทรวงการต่างประเทศ หลังจากนั้นจึงเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้เวียดนามทาวน์อุดรธานีเป็นที่แรกของโลก
“ในอดีตเมื่อ 131 ปีที่แล้ว ชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่อุดรธานีได้ร่วมสร้างบ้านแปงเมืองกันมากับคนท้องถิ่น และอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบ ไม่มีปัญหาขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติมาจนทุกวันนี้ เราจึงอยากส่งเสริมให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงอาหารการกินต่างๆ และเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปได้มาร่วมเรียนรู้ด้วย”
ทุกวันนี้เวียดนามทาวน์ถือเป็นจุดเช็กอินของอุดรธานีไปแล้ว และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มีน้องๆ นักเรียนนักศึกษาแวะเวียนเข้ามาเรียนรู้อยู่ตลอด นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสมาคมชาวเวียดนามอุดรธานีมีแผนพัฒนาปรับปรุงพื้นที่และจัดกิจกรรมเพิ่มเติมทุก 3-5 ปี ซึ่งคนในชุมชนใกล้เคียงก็ได้รับประโยชน์ไปด้วย
เมื่อได้เดินชิมอาหารเวียดนาม พร้อมการเรียนรู้วัฒนธรรมแบบชาวไทยเชื้อสายเวียดนามแล้ว รถรางสายวัฒนธรรมล้อหมุนไปยังจุดหมายต่อไปนั่นคือ ‘ศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ’ (FTCDC) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตัวอาคารนั้นมีความทันสมัย มีอัตลักษณ์ด้วยลวดลายของ ‘ผ้าหมี่ขิด’ ซึ่งเป็นผ้าทอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุดรธานี ที่ได้รวบรวมผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดอุดรธานีมาไว้ในที่เดียว พร้อมทั้งการจัดแสดงภูมิปัญญาดั้งเดิมในการทอผ้าของชาวอุดรธานีและภาคอีสาน ทั้งยังสนับสนุนการออกแบบและยกระดับผ้าทอท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล ที่เน้นการออกแบบสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอท้องถิ่น สร้างอาชีพให้กับผู้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ศูนย์ออกแบบ FTCDC ยังได้ประสานความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์อุดรธานี และเทศบาลนครอุดรธานี ในการพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น รวมทั้งเป็นหน่วยที่จะช่วยพัฒนาทักษะอาชีพ สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้กับเมืองอุดรธานีต่อไป
หลังจากนั้นรถรางได้เคลื่อนต่อไปยัง ‘ห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี’ ซึ่งอยู่ในความดูแลของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (ศสกร.) อำเภอเมืองอุดรธานี ห้องสมุดแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางอำเภอเมือง ผู้คนสามารถเดินทางมาใช้บริการได้สะดวก จึงเหมาะที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ ช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนทั่วไปทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อรองรับความสนใจของคนแต่ละกลุ่มได้ ซึ่งห้องสมุดประชาชน เฉลิมราชกุมารี ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ร่วมกับ กสศ. และเทศบาลนครอุดรธานี เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับ ศสกร. อำเภอเมืองอุดธานี ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนากิจกรรม
การเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบโจทย์คนในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนงานนี้
“ชุมชนกับการเรียนรู้ โดยหลักการก็คือ ศสกร. อำเภอ (กศน. เดิม) เราทำงานส่งเสริมการเรียนรู้กับพื้นที่ชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับผู้ด้อยโอกาส เพื่อพัฒนาคนให้มีความรู้ ทั้งระดับประถม ม.ต้น ม.ปลาย สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ การสร้างเครือข่าย สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทุกระดับ เพราะทุกฝ่ายมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นต้องดึงเอาทรัพยากรจากทุกหน่วยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยมีประชาชนเป็นเป้าหมายหลัก”
ว่าที่ร้อยตรีศุภักษร พรหมมูล
ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ (ศสกร.) อำเภอเมืองอุดรธานี
เส้นทางรถรางสายวัฒนธรรมของเมืองอุดรธานียังไม่จบเพียงเท่านั้น จากตัวเมืองชั้นใน เชื่อมเส้นทางขยายต่อมายังแหล่งเรียนรู้รอบนอกเมือง รถรางยังมุ่งตรงผ่าน ‘ถนนทหาร’ ซึ่งเป็นถนนสายสำคัญที่ครั้งหนึ่งนั้นเคยเฟื่องฟูถึงขีดสุดในสมัยสงครามเวียดนาม ระหว่างปี พ.ศ. 2508-2518 เพราะเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ทำให้พื้นที่โดยรอบฐานทัพแห่งนี้ ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยธุรกิจคลับบาร์ ร้านอาหาร การบริการต่างๆ และตำนาน ‘เมียเช่า’ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สามัญชนคนอุดรฯ ที่สังคมนั้นรับรู้กัน โดยฐานทัพสหรัฐอเมริกาเหล่านี้ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของค่ายประจักษ์ศิลปาคมและกองบิน 23 รวมไปถึงสนามบินนานาชาติอุดรธานีด้วย
ด้านหลังกำแพงของค่ายประจักษ์ศิลปาคมและสนามบินอุดรธานี เป็นที่ตั้งของสถานที่ที่ชาวเมืองอุดรธานีเล่าลือกับว่า ‘ลี้ลับ’ ที่สุด ภายใต้แมกไม้ใหญ่เขียวชอุ่ม เสมือนผืนป่าในเมืองใหญ่ และ ‘ชุมชนดงวัด’ คือจุดหมายปลายทางสำคัญของรถรางสายวัฒนธรรมนี้
ชุมชนดงวัด เป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองอุดรธานี โดยมีวัดโยธานิมิตรเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน มีพระพุทธรูป ‘หลวงพ่อพระงาม’ ตั้งเด่นเป็นสง่าเคียงคู่เจดีย์โบราณที่กรมศิลปากรขุดค้นพบ พร้อมทั้ง ‘ถนนติดแอร์’ จากต้นไม้ใหญ่อายุนับร้อยปีที่ปกคลุมให้ความร่มรื่น เย็นฉ่ำ เหมือนอยู่ในห้องแอร์ มีกลุ่มแม่บ้านชุมชนดงวัดที่ทอผ้าพื้นเมืองกันเอง นอกจากนี้ ชื่อเสียงของถนนติดแอร์ยังมาพร้อมกับเรื่องราวลี้ลับที่ชาวเมืองอุดรธานีต้องขนลุก เพราะโดยรอบกำแพงวัดโยธานิมิตร ล้วนเต็มไปด้วยช่องบรรจุอัฐิของทหารที่เสียชีวิตในสงครามต่างๆ จนกลายมาเป็นตำนาน ‘โค้งยิ้ม’ ที่มีคนพบเจอเรื่องราวรูปภาพผู้เสียชีวิตบนกำแพงวัดยิ้มให้
พูนเกียรติ พุทธรักษ์ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครอุดรธานี ระบุว่า เดิมชุมชนแห่งนี้เคยเป็นที่รกร้าง ใครๆ ก็มองว่าน่ากลัว มีเรื่องเล่าเขย่าขวัญมากมาย แต่ปัจจุบันคนในชุมชนลุกขึ้นมาอยากจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ให้คนเข้ามาไหว้พระได้ จะเห็นว่าต้นไม้พื้นที่สีเขียวบริเวณนี้ชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกตั้งแต่โบราณ มีการจัดเวรยามดูแลสถานที่ เวลามีกิจกรรมต่างๆ ชาวชุมชนก็จะมาใช้สถานที่นี้ร่วมกัน การทำให้ ‘ถนน’ผูกโยงกับวิถีชีวิตคนในชุมชน เป็นพื้นที่สาธารณะที่มีการจัดสรรใช้ประโยชน์อื่นๆ ร่วมด้วยได้อย่างลงตัว
ชุมชนดงวัดยังมีแหล่งเรียนรู้มากมาย พอถึงเทศกาลสงกรานต์ก็จะมีรำบวงสรวง นอกเหนือจากวัดแล้ว ยังมีกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผ้าทอ กลุ่มทำไอติมกะทิ ฯลฯ ที่นี่จึงมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็งอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งผู้นำและสมาชิกกลุ่มอาชีพเหล่านี้ ยินดีที่จะถ่ายทอดความรู้ทักษะงานฝีมือต่างๆ ให้กับเยาวชนและคนที่สนใจ
“เวลาเทศบาลคิดโครงการอะไรขึ้นมา สิ่งนั้นจะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากประชาชน เพราะถ้าชุมชนไม่เอาด้วย อิเวนต์นั้นก็จบ หมดงบประมาณไปเปล่าๆ แต่โครงการนี้ (learning city) เป็นโครงการที่มีชีวิต พอเทศบาลเข้ามากระตุ้น ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ตามธรรมชาติวิถีของชุมชน โดยมีชาวบ้านเป็นคนขับเคลื่อน”
หลังจากชุมชนดงวัดได้รับการปักหมุดว่าที่นี่เป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ของเมืองอุดรธานี ชาวบ้านจึงช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน แบ่งหน้าที่กันว่าใครจะเป็นฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยว ใครจะเป็นเล่าประวัติศาสตร์ชุมชน และหากชุมชนต้องการความช่วยเหลือจากเทศบาล เช่น ขอกล้องวงจรปิดเพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เทศบาลก็พร้อมสนับสนุนให้ เพราะตรงตามความต้องการของชุมชนเอง
“ผมมองว่าฐานทุนสำคัญคือความเข้มแข็งของชุมชน ส่วนเขาจะเดินหน้าต่อไปได้แค่ไหนนั้นเราต้องไม่ไปยัดเยียด ต้องให้เขาทำด้วยตัวเอง ซึ่งจะเกิดความยั่งยืนกว่า แต่ถ้าเราเอาโครงการไปยัดใส่มือเขาโดยที่เขาไม่เต็มใจ ไม่นานมันก็ล้มเลิกไป”
รถรางสายวัฒนธรรมได้ออกเดินทางต่อ ลอดอุโมงค์ต้นไม้บนถนนติดแอร์ เลี้ยวรถกลับไปยัง ‘ถนนโพธิ์ศรี’ ถนนสายเศรษฐกิจใจกลางเมืองอุดรธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านรวงต่างๆ ของคนไทยเชื้อสายจีนในเมืองอุดรธานี ก่อนที่จะเดินทางถึง ‘ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน จังหวัดอุดรธานี มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่แหล่งเรียนรู้ของเมืองที่มีชื่อเสียง และเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมไทย-จีนแห่งใหญ่ของประเทศไทย
ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน จังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่า เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น พิพิธภัณฑ์ เวิร์กช็อปเพื่อการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เป็นต้น โดยพิพิธภัณฑ์นั้นได้เล่าเรื่องราวการอพยพโยกย้ายของคนไทยเชื้อสายจีน ที่มาลงหลักปักฐานในเมืองอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเศรษฐกิจของเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน วัฒนธรรมประเพณีและเทศกาลสำคัญๆของชาวไทยเชื้อสายจีน รวมถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตและหลักคุณธรรมของขงจื๊อ อีกทั้งยังมีการเปิดโอกาสให้เด็กๆ หรือผู้ที่มีความสนใจเข้าไปเรียนรู้การชงชาแบบจีนดั้งเดิมอีกด้วย
ชาญชัย เต็งสุจริตกุล เลขาธิการมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี และกรรมการผู้จัดการ บริษัท บียอนด์คาเฟ่ จำกัด ระบุว่า มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มที่เทศบาลนครอุดรธานีได้จัดตั้งโครงการ เพราะทุกฝ่ายเห็นด้วยกับเป้าหมายในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และสร้างแหล่งเรียนรู้เพิ่มขึ้นในเมืองอุดรธานี ซึ่งทางมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่าเอง ก็มีแหล่งเรียนรู้ในศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน ที่เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมา เรียนรู้วิธีการชงชา เป็นต้น
นอกจากนี้ ชาญชัยเสริมว่า ทางมูลนิธิยังเปิดโอกาสสำหรับเยาวชนที่ด้อยโอกาส ต้องการทุนการศึกษาและอุปกรณ์ต่างๆ โดยผลักดันให้เด็กจำนวนมากที่ด้อยโอกาสได้กลับไปเรียนหนังสือ และในฐานะของกรรมการผู้จัดการบริษัท บียอนด์คาเฟ่ จำกัด ยังสนับสนุนงบประมาณด้านการศึกษาในการจัดซื้อหนังสือให้กับห้องสมุดประชาชน รวมไปถึงเปิดพื้นที่ในการฝึกงาน ซึ่งเป็นโปรเจกต์ร่วมกับทางวิทยาลัยอาชีวะและสารพัดช่าง เสริมสร้างทักษะอาชีพให้กับเยาวชนเข้ามาฝึกงาน สร้างรายได้ เปิดเวทีให้พวกเขาได้แสดงฝีมือ เพื่ออนาคตที่ดีของพวกเขาด้วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมสามารถเข้าไปร่วมพัฒนาเมืองได้
“วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานีได้ลงนาม MOU ร่วมกับสถานประกอบการอีกหลายแห่งในจังหวัดอุดรธานี ทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนต่างๆ เพื่อส่งต่อนักศึกษาฝึกงาน และมุ่งหวังที่จะให้นักศึกษาที่เรียนจบแล้วมีงานทำ
“นอกจากนี้ วิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี ร่วมมือกับ กสศ. ส่งเสริมให้เยาวชนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีโอกาสเรียนต่อในสายอาชีวะ ผ่านโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 5 นอกจากการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว ยังพัฒนาทักษะอาชีพให้กับนักศึกษากลุ่มนี้ให้มีโอกาสในการมีงานทำเพิ่มขึ้นหลังจบการศึกษาแล้ว เป็นงานหนึ่งที่จะนำมาเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ของเทศบาลนครอุดรธานีได้ เนื่องจากมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ‘การพัฒนาคน การส่งเสริมการเรียนรู้ อาชีพ และรายได้’
“ในการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ ทางวิทยาลัยสารพัดช่างสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้โดยให้การสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพ ทั้งกลุ่มผู้ที่อยู่ในวัยเรียน และประชาชนทั่วไป ถือเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่จะไปเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ของเมืองอุดรธานี”
ไพฑูรย์ ธนพงศ์ภากรณ์
ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างอุดรธานี
วริฎฐา แก้วเกตุ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาการเรียนรู้เชิงพื้นที่ กสศ. มองว่า การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือระบบนิเวศการเรียนรู้ของพื้นที่นั้นๆ ได้ใช้แนวคิดปวงชนเพื่อการศึกษา (All for Education) ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม หันหน้าเข้าหากัน เรียนรู้ในการทำงานร่วมกัน ใช้จุดแข็งของแต่ละองค์กรมาลงแรงผสานกำลังกัน ช่วยหนุนเคลื่อนงานให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งก็คือการกระจายความเป็นเจ้าของร่วม และเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่แท้จริง ปัจจัยแห่งความสำเร็จส่วนหนึ่งเห็นได้จากการมีกลไกขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ หรือกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายที่สร้างประโยชน์ถึงตัวเด็ก เยาวชน หรือกลุ่มคนช่วงวัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาสก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ที่เปิดกว้างนี้ได้เช่นกัน
โครงการพัฒนาพื้นที่ตัวแบบเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของเทศบาลนครอุดรธานียังอยู่ในระหว่างก่อรูปก่อร่างขึ้น ซึ่งทาง กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ทำงานสนับสนุนทางด้านวิชาการให้กับเทศบาลนครอุดรธานี สร้างคนทำงานเรื่องนี้ที่เป็นคนในพื้นที่เอง หรือที่เรียกว่า ‘นักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้’ (City Administrator: CA) เจ้าหน้าที่ของเทศบาล อุทยานการเรียนรู้ (TK Park) และพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ได้รับการพัฒนาทักษะเป็นนักจัดการเมืองแห่งการเรียนรู้ จึงสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และเชื่อมโยงการทำงานได้ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย หรือเรียกทั้งหมดนี้ว่าเป็น การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) นั่นเอง
“ในยุคดิจิทัลบริบทของเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกทั้งข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ในโลกเกิดขึ้นตลอดเวลา ปัญหาของคนและปัญหาของเมืองย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาที่ไม่หยุดนิ่ง ดังนั้นผู้คนในเมืองจึงต้องเรียนรู้เพื่อที่จะปรับตัวให้อยู่อย่างเท่าทันโลกด้วยเช่นกัน การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ในชีวิต โดยเฉพาะเด็ก เยาวชนที่เป็นอนาคตของเมือง หลักใหญ่ใจความของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้นั้นจึงมีความเป็นพลวัต และจะต้องวางอยู่บนความกระตือรือร้นของทุกภาคส่วนด้วย โดยเฉพาะภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานเชิงรุก มีความคิดริเริ่มในการเข้าไปมีบทบาทในการดำเนินนโยบายอันเป็นประโยชน์ต่อเมือง ลงพื้นที่ชุมชน สร้างความเข้าใจ สนับสนุนให้ชุมชนกล้าคิดกล้าทำอย่างสร้างสรรค์ โดยมีเทศบาลนครอุดรธานีเป็นตัวกลางประสานและเปิดแพลตฟอร์มให้ภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น สภาพลเมือง สภาเด็กและเยาวชน เข้ามามีบทบาทนำในการออกแบบเมืองที่ตัวเองต้องการ เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชุมชนและบุคคลทุกช่วงวัย”
สอดคล้องกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ผณินทรา ธีรานนท์ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ได้ให้ข้อสรุปจากการทำโครงการนี้ว่า เมืองแห่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้โดยการเชื่อมแต่ละภาคส่วนให้มองเห็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน มีการจัดทำแผนพัฒนาเมืองให้สอดคล้องกัน รวมถึงค้นหาจุดเด่นต่างๆ เพื่อเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนโดยไม่ทิ้งอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ของเมือง
“เงื่อนไขหนึ่งของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกว่าด้วยเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก คือ นายกเทศมนตรี หรือผู้นำท้องถิ่นจะต้องเข้มแข็ง มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาคน ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกเพศวัย เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ที่สำคัญต้องมีการระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนมาช่วยกันขับเคลื่อนให้ยั่งยืนต่อไปในระยะยาว”
ดร.ผณินทรา ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก คือ ทำให้ได้เรียนรู้กลยุทธ์การพัฒนาเมืองจากทั่วโลก เรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาคนกับการแก้ปัญหาเมือง โดยสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมืองต่างๆ ทั่วโลกได้ นอกจากนี้จะมีการประกวด Learning City Award ระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสให้เมืองเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ท้ายที่สุด เมื่อเมืองแห่งการเรียนรู้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ย่อมมีผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำตามไปด้วย อันเป็นผลจากการเปิดโอกาสให้คนทุกคนมีส่วนร่วมและสะท้อนความต้องการของตนเองได้อย่างแท้จริง