ท่ามกลางความท้าทายของชีวิตที่ต้องเผชิญ ทั้งความยากจนและอุปสรรคมากมาย โอชิ-ลลิตา แซ่เฮ่อ เด็กสาวชาติพันธุ์ม้ง ไม่เคยหมดหวังในเส้นทางการศึกษา เธอมุ่งมั่นในการเรียนและพยายามสานฝันการเป็นพยาบาลของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของครอบครัวให้ดีขึ้น
แต่ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว เมื่อเรียนมาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกายแห่งความหวังก็เริ่มริบหรี่ เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนต่ออาจทำให้เธอไม่ได้ไปต่อ กระทั่งเธอได้รับคำแนะนำให้ขอรับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งทุนนี้ไม่เพียงแต่ช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัว แต่ยังเป็นแรงผลักดันให้โอชิก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ
วันนี้โอชิได้ก้าวถึงบันไดขั้นแรกแห่งความฝันในตำแหน่ง ‘ผู้ช่วยพยาบาล’ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งนอกจากจะทำให้เธอสามารถดูแลตัวเองและครอบครัวได้ ยังได้ใช้ความรู้และทักษะที่เรียนมาในการดูแลผู้ป่วย ที่สำคัญเธอยังตั้งใจจะแบ่งปันโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนอื่น ๆ ที่มีความฝันและความมุ่งมั่นเช่นเดียวกัน
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0214_อชิa-ลลิตา-แซ่เฮ่อ-03.jpg)
จากความฝันอันเลือนราง สู่เส้นทางผู้ช่วยพยาบาล
โอชิ เกิดและเติบโตในอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ชีวิตในวัยเด็กของโอชิอยู่กับการทำไร่ทำนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัว ด้วยความที่พ่อแม่ของเธอมีลูกถึง 8 คน (โอชิเป็นลูกคนสุดท้อง) ทำให้ทั้งคู่ต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูก ๆ แต่นั่นก็ไม่เพียงพอให้โอชิได้เรียนหนังสือในตัวเมืองเหมือนเพื่อนคนอื่น ๆ เพราะภาระค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนเป็นสิ่งที่เกินกำลัง
โอชิบอกว่าเธอได้ค่าขนมเพียงวันละ 2 บาท แต่ก็สามารถใช้จ่ายได้เพียงพอในแต่ละวัน กระทั่งตอนขึ้นชั้น ม.6 ความกังวลใจก็เริ่มมากขึ้น เพราะด้วยฐานะทางการเงินของครอบครัว การก้าวสู้เส้นทางอาชีพพยาบาลที่ฝันไว้ดูจะเป็นไปไม่ได้
“ความฝันแต่แรกของหนูเลยคืออยากเรียนพยาบาลค่ะ แต่พอเราศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและค่าเทอมแล้ว มันก็ค่อนข้างสูงเกินกําลังของพ่อแม่ แล้วตอนที่จะเรียนต่อมหาวิทยาลัยคุณพ่อก็ต้องโทษอยู่ด้วย ทำให้คุณแม่คนเดียวไม่สามารถที่จะส่งเราได้ เราก็เลยพยายามหาทุนการศึกษาดู”
โอชิเล่าถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการศึกษาด้วยความกังวลใจว่า ครั้งหนึ่งก็เคยคิดว่าตนเองอาจจะไม่ได้เรียนต่อ ทำให้ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เครียดมากและว้าวุ่นใจอย่างหนัก พยายามคิดหาทางออกเพื่อหาทางเรียนต่อให้ได้
และแม้ว่าคนรอบข้างหลายคนจะแนะนำให้เธอลองกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่โอชิก็ยังไม่แน่ใจว่าในอนาคตตนเองจะสามารถจัดการภาระการเงินหลังเรียนจบได้หรือไม่ นอกจากนี้ เธอยังมีความกังวลว่าชีวิตในวันข้างหน้าจะมีหนี้สิน เพราะเคยเห็นตัวอย่างจากคนในหมู่บ้านที่เรียนจบสูง ๆ แต่กลับต้องเผชิญกับวิกฤตการเงินจากการกู้ยืมเพื่อการศึกษา
จนกระทั่งในตอนที่เธอกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.6 เทอม 2 ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องตัดสินใจเรียนต่อ มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาประชาสัมพันธ์ข้อมูลโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงของ กสศ. โดยให้ข้อมูลว่าคุณสมบัติของผู้ที่สมัครรับทุนจะต้องเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปวช.3 หรือเทียบเท่า เป็นผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ด้อยโอกาส และได้เกรดเฉลี่ยตลอด 5 ภาคการศึกษา ไม่ต่ำกว่า 3.00 ซึ่งเธอมีคุณสมบัติครบถ้วน จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
“ที่จริงก่อนหน้านี้หนูสมัครเรียนที่อื่นไว้เหมือนกัน แต่ก็เป็นกังวลอยู่ตลอดว่าถึงได้เรียนที่ที่สมัครไป ถ้าเรียน ๆ ไปแล้วไม่มีเงินที่จะส่งตัวเองเรียนจะทำยังไง ถ้าเป็นแบบนั้นก็อาจจะไม่ได้เรียนจริง ๆ คงตัดใจกับการเรียนต่อแล้วออกไปทํางานเลย ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าอาจจะไปทํางานเก็บเงินให้ได้ทุนสักก้อนก่อน แล้วค่อยมาเริ่มต้นใหม่กับการเรียนในอนาคต แต่กลายเป็นว่าพอมีคนมาแนะนําทุนนี้ก็ทำให้เราหมดกังวลเรื่องเงินกับทุนในการเรียนไปเลยค่ะ”
สุดท้ายโอชิก็ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล ที่ใช้ระยะเวลาเรียนต่อ 1 ปี ก็สำเร็จการศึกษา ประกอบอาชีพได้ มีรายได้ที่มากกว่ารองรับ โดยโอชิได้เข้าศึกษาที่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งทุนการศึกษานี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้โอชิได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองในสายงานที่เธอใฝ่ฝันอีกด้วย
“พออาจารย์แนะนำทุนนี้มาก็รู้สึกขอบคุณมาก ๆ คือเรารู้สึกว่าเหมือนเป็นพรของพระเจ้าเลยค่ะ ที่ทุนนี้มาช่วงเวลาที่เรากำลังต้องการและมองหาอยู่พอดี”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0214_อชิa-ลลิตา-แซ่เฮ่อ-01.jpg)
ชีวิตในเส้นทางที่เลือก เริ่มต้นจากคำว่า ‘โอกาส’
ตั้งแต่โอชิได้รับทุนนี้มา ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากจะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเล่าเรียนแล้ว เธอยังได้รับเงินสมทบเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนอีกเดือนละ 7,500 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้นอกจากจะเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ยังสามารถส่งกลับไปช่วยเหลือครอบครัว และแบ่งไว้สำหรับการออมได้อีกด้วย
“คือจากเด็กธรรมดาที่มีเงินแค่หลักสิบหรือหลักร้อย ตอนนี้เรามีเงินหลักพัน เอาไว้กินไว้ใช้ในแต่ละเดือน มีเงินเก็บในอนาคต สามารถซื้อของที่ตัวเองอยากได้ และแบ่งปันช่วยเหลือครอบครัวได้ค่ะ ซึ่งเป้าหมายชีวิตของหนูตอนนี้คือพยายามทํางานเก็บเงินไปสร้างบ้านให้พ่อกับแม่ แล้วก็หาเงิน เก็บเงินพาตัวเองไปเที่ยวในที่ ๆ อยากไป ได้สร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตัวเองค่ะ”
ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ วันนี้โอชิในวัย 21 ปี ได้เป็นผู้ช่วยพยาบาลอย่างที่ตั้งใจ และเธอก็ภูมิใจที่ได้ใช้ความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมาดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงคนในครอบครัว
“ตอนเรียนยอมรับว่ายากค่ะ แต่ตัวหนูเองก็พยายามอ่านหนังสือเยอะ ๆ คือตอนเรียนมันก็เหนื่อยแหละ แต่เราไม่เคยท้อและมีความมุ่งมั่นมาก ๆ อาจจะเพราะสายอาชีพนี้เป็นความฝันของตัวเองอยู่แล้ว และด้วยความที่คุณแม่ป่วยบ่อย เป็นโรคเยอะด้วย หนูก็เลยรู้สึกอยากเรียนด้านนี้เพื่อที่จะได้นำความรู้มาดูแลคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต ซึ่งพอได้มาทํางานนี้แล้ว เวลาเห็นหน้าคนไข้ก็นึกถึงพ่อแม่ตลอดค่ะ เมื่อเราได้รับโอกาสมาแล้วก็จะตั้งใจทำงานและทำออกมาให้ดีที่สุดค่ะ”
![](https://www.eef.or.th/wp-content/uploads/2025/02/0214_อชิa-ลลิตา-แซ่เฮ่อ-02.jpg)
เปลี่ยนโอกาสที่ได้รับ เป็นโอกาสในการให้
ความภูมิใจที่ได้ทำตามความฝันและเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้น ทำให้โอชิไม่เพียงเห็นความสำคัญของโอกาส แต่อยากจะใช้ศักยภาพของตัวเองแบ่งปันโอกาสและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กคนอื่น ๆ ที่อาจกำลังรู้สึกหมดหวังในเส้นทางการศึกษา
“ส่วนตัวหนูภูมิใจมากค่ะที่ได้ทุนนี้ ได้มาเรียนมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน แล้วยิ่งได้มาเรียนในด้านที่ตัวเองชอบ พอกลับหมู่บ้านไป เราก็เหมือนเป็นหน้าเป็นตาของครอบครัว เพราะด้วยความที่หนูมาเรียนไกลบ้านแล้วนาน ๆ ทีถึงจะได้กลับ เขาก็จะถามกันว่า ไปเรียนที่ไหน แล้วเรียนอะไรทําอะไร พอเราตอบว่าเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้และตอนนี้เป็นผู้ช่วยพยาบาลทํางานอยู่โรงพยาบาล เขาก็จะบอกว่า ดีจัง มีงานเป็นของตัวเองแล้ว
“หนูก็เลยภูมิใจกับตัวเองมาก ๆ ที่มีเงินเดือนและรายได้เป็นของตัวเอง รวมถึงพ่อกับแม่ก็ทํางานน้อยลง ไม่ต้องทำงานหนักมากเท่าแต่ก่อน แล้วก็รู้สึกภูมิใจในตัวหนูมาก ๆ ด้วย ถ้าเป็นไปได้หนูก็อยากจะบอกเด็ก ๆ และน้อง ๆ ทุกคนว่าให้ตั้งใจเรียนมากๆ ตั้งใจเรียนแล้วก็ทําความฝันของตัวเองให้เป็นจริงให้ได้”
ซึ่งนอกเหนือจากความภาคภูมิใจในตัวเองแล้ว เธอยังตระหนักดีว่าโอกาสที่เธอได้รับนั้นมีค่ามากเพียงใด เธอจึงอยากส่งต่อโอกาสนี้ให้กับเด็กคนอื่น ๆ ที่มีความฝันเช่นเดียวกับเธอ
“หนูก็อยากส่งต่อโอกาสนี้ค่ะ ความที่หนูเคยอยู่ในชนบทมาก่อน เวลาที่หนูไปเห็นเด็กน้อย ก็เหมือนเห็นตัวเองตอนเด็ กๆ ที่พอจะกินขนมก็ต้องแบ่งกันกิน ต้องแย่งกัน ซึ่งพอเห็นแล้วหนูก็อยากให้น้อง ๆ เขามีโอกาสแบบนี้บ้าง อยากส่งต่อโอกาสให้เด็กน้อยได้มีที่เรียนดี ๆ มีเงินใช้เป็นของตัวเอง ได้เปิดโลก เปิดโอกาสตัวเองมากขึ้น จะได้พาตัวเองและครอบครัวมีชีวิตที่ดีขึ้น
“สุดท้ายอยากจะขอบคุณทาง กสศ. และผู้เกี่ยวข้องที่ช่วยมอบทุน มอบโอกาสให้กับคนที่ยากจนและคนที่ขาดโอกาสค่ะ ขอบคุณทุนนี้จริง ๆ ที่ทําให้คุณพ่อคุณแม่หนูไม่ต้องลําบาก แล้วก็ทําให้ตัวหนูเองไม่ต้องลําบาก ขอบคุณที่ทําให้เรามีชีวิตที่มีความสุขมากขึ้นค่ะ”
เรื่องราวของโอชิเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่ย้ำกับสังคมอีกครั้งว่า ‘โอกาสทางการศึกษา’ สามารถพาเด็ก ๆ ที่มีข้อจำกัดหรือความยากลำบาก ให้ก้าวข้ามอุปสรรคและเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองและครอบครัวได้