ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นแรกจบจากรั้วมหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว เปิดเทอมนี้พวกเขาจะได้กลับไปเป็นครูอาสาที่โรงเรียนปลายทาง เตรียมบรรจุเป็นครูอย่างเต็มตัวในเดือนตุลาคมที่จะถึง
ชีวิตนักศึกษาครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์ ช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ทั้งในรั้วมหาวิทยาลัยและตอนไปฝึกสอนที่โรงเรียนก็เต็มไปด้วยความท้าทาย ถ้าเปรียบกับถนนสักเส้น ไม่ใช่ทางเรียบลื่นแน่นอน ขรุขระเป็นระยะด้วยซ้ำ
ความเหนื่อย ท้อใจ อาจเกิดขึ้นบ้าง แต่ระหว่างทางก็ยังมีเรื่องราวดีๆ มาสลับบรรยกาศอยู่ไม่น้อยให้ใจครูฟู
หนึ่งในนั้น คือ ความสดใส จริงใจ ไร้เดียงสา กระตือรือร้น ฯลฯ ของเด็กๆ ที่โรงเรียนปลายทาง ซึ่งส่งพลังใจให้ว่าที่ครูของพวกเขาผ่านอุปสรรคต่างๆ มาได้
ช่วงเวลาที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นได้อยู่กับเหล่าลูกศิษย์ มีโมเมนต์ไหนบ้างที่พวกเขาประทับใจ ได้รับพลังงานดีๆ จากแสงวิบวับในดวงตาของเด็กๆ ที่ทำให้พวกเขามีกำลังใจเป็นครูนักพัฒนาชุมชน ซีรีส์ Welcome Teacher สวัสดีครูรัก(ษ์)ถิ่น ชวนอ่านไปพร้อมๆ กัน
ครูอาจจะไม่ได้เป็นคนสอนเขา แต่คือความสบายใจที่เด็กๆ ได้อยู่ด้วย
ครูที่เด็กๆ ไว้ใจ และถูกมองเป็นพื้นที่ปลอดภัย
“สองอาทิตย์แรกหนูร้องไห้ทุกวัน วันละครั้ง ส่วนหนึ่งก็เพราะคิดถึงบ้าน อีกส่วนคือความลำบากของที่นี่ ติดต่อเพื่อนแต่ละครั้ง ต้องรอสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ไม่แน่นอน ไฟฟ้าก็ไม่พอใช้ บางทีหายไปสามวัน เพื่อนและครอบครัวติดต่อไม่ได้”
นุช–ปรียานุช ปกรณ์ชุติวงศ์ ครูรัก(ษ์)ถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี เล่าประสบการณ์ช่วงสังเกตการณ์สอนที่โรงเรียนปลายทางให้ฟังว่า ด้วยความที่ โรงเรียนบ้านทุ่งเสือโทน ตั้งอยู่กลางอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกหรือเทคโนโลยีต่างๆ จึงเป็นเรื่องยาก และทำให้การฝึกสอนที่นี่เป็นเรื่องท้าทายสำหรับนุช
บางครั้งความท้อก็ทำให้นุชมีความเศร้าเกิดขึ้นบ้าง “แกจะมานั่งร้องไห้แบบนี้ตลอด 6 ปีเลยหรอ” เป็นคำถามที่นุชคุยกับตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในช่วงเวลานั้น จนได้คำตอบกลับมาว่า “เราสนุกไปกับมันดีกว่า มันไม่มีความสุขที่ต้องมานั่งร้องไห้แล้วคิดว่าเมื่อไหร่จะหมดเวลา”
เพราะในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็ยังมีเรื่องราวดีๆ ที่ทำให้นุชมีรอยยิ้มบนใบหน้าได้อยู่บ้าง หนึ่งในนั้น คือ ความรู้สึกดีๆ จากเด็กที่มองนุชเป็นเรือจ้างและพ่อแม่คนที่สอง
“เคยมีน้องอนุบาลสามคนหนึ่งที่เป็นออทิสติกต์เทียม ตอนแรกเขาไม่กล้าสบตา ไม่พูด หรือถ้าพูดก็จะพูดเป็นภาษาการ์ตูน แต่พอหนูอยู่กับเขาได้สักพัก หนูไม่ดุเขา ใจดีกับเขา เขาก็กล้าที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเรามากขึ้น เริ่มพูดเป็นคำ
“หรือเด็กบางคนเขาก็เรียกเราว่าแม่หรือพี่ แม้ว่าหนูอาจจะไม่ได้เป็นคนสอนเขา แต่มันคือความสบายใจที่เขาได้อยู่กับเรา”
นุชต้องบรรจุเป็นครูที่นี่อีกอย่างน้อย 6 ปีตามเงื่อนไขของทุน แน่นอนว่าอุปสรรคต่างๆ ก็ยังคงมีอยู่ แต่นุชก็ทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มว่า การได้เป็นครูของเด็กๆ ในโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านของตัวเอง เป็นประสบการณ์ที่มีความหมายและมีคุณค่ามากๆ สำหรับนุช
“หลังจากนี้ไม่ต้องเตรียมใจแล้วค่ะ เพราะตอนนี้หนูเริ่มปรับตัวกับที่นี่ได้แล้ว”
รักแท้จากเด็กๆ ชาติพันธุ์ที่ทำให้รู้ว่าถึงท้อ แต่การเป็นครูมันดีจังเลยนะ!
“มันมีช่วงที่ผมก็ท้อบ้าง การเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นมันหนักขนาดนี้เลยหรอ จนตั้งฟังพี่อ้อยพี่ฉอดเป็นไลฟ์โค้ชในการทำงาน เขาบอกว่าเราล้มได้ ก็ต้องลุกได้”
ปัญหาที่ ทัช–วรรณกร บวรวัชรเดชา ครูรัก(ษ์)ถิ่นจากมหาวิทยาลัยราชภัฎกาญจนบุรี กำลังเผชิญหน้าอาจไม่ใช่เรื่องความรัก แต่เป็นความท้อที่เกิดจากการทำงานหนักในบางช่วง เพราะการเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นไม่ใช่แค่เรียนวิธีการเป็นครูอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจหลักการเป็นนักพัฒนาชุมชนด้วย
ทัชเล่าว่า ช่วงเวลาที่ต้องการกำลังใจจากพี่อ้อยพี่ฉอด คือ ช่วงการฝึกสอนที่ โรงเรียนบ้านจันเดย์ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะตอนเช้าทัช คือ พ่อแม่ที่ต้องรีบตื่นมาเตรียมขนมให้เด็กๆ ที่โรงเรียน ตอนกลางวันต้องสลับหน้าที่ไปมาระหว่างครูปฐมวัยและประถมศึกษา พอพระอาทิตย์ตกดินก็ต้องประชุมกับคณะครู รวมถึงเตรียมแผนการสอนสำหรับวันถัดไป ซึ่งยังไม่นับรวมชิ้นงานจากทางมหาวิทยาลัยโดยระหว่างทางของการฝึกสอน ทัชมีครูพี่เลี้ยง และผู้อำนวยการเป็นผู้ให้คำปรึกษาหลักๆ
“ตอนทำแผนการสอน ผอ.ก็สอนว่าต้องปรับยังไงแผนยังไง ผมกับครูพี่เลี้ยงก็ไปอบรมต่างๆ ร่วมกัน แล้วเอาแนวคิดมาปรับใช้เป็นแผนการสอนให้เข้ากับบทเรียน”
แม้ทัชจะใช้ชีวิตในโรงเรียนแทบจะ 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน เพราะต้องสวมหมวกการเป็นครูตั้งแต่เช้าจรดค่ำ และหลับนอนที่บ้านพักครูในโรงเรียน แต่ที่นี่ก็ยังเต็มไปด้วยเด็กๆ ไร้เดียงสา ที่ให้ความรู้สึกดีๆ อย่างจริงใจ ทำให้ทัชมีกำลังใจจะลุกขึ้นมาสวมหมวกครูอีกครั้งในทุกๆ วัน
“มีเด็กเดินมาพูดว่า ‘ครูทัชขา หล่อมากเลยค่ะ’ เราก็บอกว่าครูรู้แล้ว บางทีเขาก็เข้ามากอด ให้มินิฮาร์ทเราแล้วบอกว่าทอนหนูด้วยนะคะ เราก็ให้กลับไป เรารู้สึกได้ว่าเขารักเรา”
นอกจากความใจดีและรักเด็กของทัช ที่ทำให้เหล่าลูกศิษย์ตัวน้อยๆ รู้สึกผูกพันธ์ คือ การที่ทัชเป็นครูลูกครึ่งมอญ-พม่า ที่มาจากชุมชนเดียวกันกับเด็กๆ ทำให้สามารถพวกเขาสามารถสื่อสารภาษาเดียวกันได้ด้วย
“บางทีเด็กมองหน้าเราแล้วก็ร้องไห้ เขามีอะไรอยากพูดกับเราแต่เขาพูดไม่ออก เราก็ให้กำลังใจเขาโดยการคุยกับเขาเป็นภาษาพม่าเลย ‘ไม่ต้องเขินไม่ต้องอายนะ ผิดหรือถูกพูดออกมาเลย ไม่เป็นไร เดี๋ยวคุณครูช่วยแก้ให้’ เขาก็เช็ดน้ำตาแล้วค่อยๆ พูดกับเรา
“มันทำให้เรามองเด็กเล็กเปลี่ยนไป บางคนก็มีดื้อเหมือนเดิม ความซนก็เป็นพัฒนาการของเขา บางทีพูดไม่ฟังก็ขู่บ้าง บางคนน่ารักก็เตือนครั้งเดียวแล้วเข้าใจเลย บางคนเป็นเด็กพิเศษเราก็เข้าใจเขา และคอยสังเกตพฤติกรรม”
จากเด็กไม่ยอมฟัง สู่เด็กที่อยากเรียนกับครูคนนี้คนเดียว
“โรงเรียนกับชุมชนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน ไม่สามารถตัดขาดจากกันได้ งานที่ครูรัก(ษ์)ถิ่นได้รับมอบหมาย ครูได้พัฒนาชุมชนไปพร้อมๆ กับพัฒนาโรงเรียน ซึ่งผมวางแผนที่จะทำหน้าที่ทั้งสองอย่างให้ดีที่สุด”
ท่ามกลางเส้นทางการเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น การเปลี่ยนโฟกัสจากความกลัวและกังวลว่าตัวเองจะทำไม่ได้มาเป็นความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างทางเป็นวิธีหนึ่งที่ มู–ศิริพงษ์ ไถนาเพรียว ใช้ในฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มาได้ โดยเฉพาะในช่วงการฝึกสอนที่ โรงเรียนอ่าวกะพ้อ บนเกาะยาวใหญ่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดสำหรับมู
“สัปดาห์แรกที่ฝึกสอน ผมจัดการเด็กไม่ค่อยได้ เด็กไม่ยอมฟังเรา ทำให้เรานึกถึงครูคนหนึ่งที่เราได้เรียนกับเขาตั้งแต่ป.1-6 เรามาคิดว่าทำไมเราถึงชอบที่จะเรียนกับเขา เด็กคนอื่นๆ ก็ชอบครูคนนี้ ขนาดเสาร์-อาทิตย์ยังไปอยู่บ้านครู มานั่งคิดว่าครูเขามีวิธียังไง แล้วก็หาข้อมูลอื่นไปด้วย สัปดาห์ที่ 2 เราลองเอาใหม่ เข้าหาเด็กมากขึ้น พยายามหากิจกรรมในห้องเรียนเพิ่ม ทำยังไงให้เด็กเข้าถึงเรา ให้เด็กที่เงียบที่สุดไม่ยอมพูดอะไร กล้าที่จะพูด”
หลังจากนั้นปัญหาในห้องเรียนก็ค่อยๆ คลี่คลาย ความสัมพันธ์ระหว่างมูและเด็กๆ ในห้องเรียนดีขึ้นจนมูกลายเป็นขวัญใจของเด็กๆ และกลับกันเด็กๆ ก็กลายเป็นกำลังใจที่ดีของมูในการเป็นครูต่อไป
“มีครูที่เป็นพ่อแม่ของเด็กในห้องเดินมาพูดกับผมว่า เด็กเขาอยากเรียนกับผมคนเดียว ไม่อยากเรียนกับครูคนอื่น ช่วงเดือนสุดท้ายที่ผมไปฝึกสอน พอผมขับมอเตอร์ไซค์เข้ารั้วโรงเรียน คือเด็กเข้ามาล้อมเลย ทั้งซ้าย ขวา หน้า หลัง ไม่รู้จะขับไปทางไหน
“ทำให้รู้ว่านี่แหละ การแก้ไขปัญหาในชั้นเรียน คือเราต้องไม่ยึดตัวเราเป็นหลัก แต่เราต้องยึดจากตัวเด็กให้มากที่สุด”
สวัสดี รอบนี้ครูก็จะกลับมาอยู่นานๆ และอยู่กับพวกเธอตลอดไป
“ช่วงฝึกสอนปี 4 เราได้สอนเด็ก ป.2 ปัญหาที่เจอ คือ การควบคุมชั้นเรียน เราควบคุมชั้นเรียนไม่ค่อยได้ เด็กไม่ค่อยฟังเรา คิดว่าเราอาจจะดุไม่พอ (หัวเราะ) บุคลิกภาพเราอาจมีส่วนด้วย”
แม้ว่าทุกคนในชุมชน รวมถึงเด็กๆ ส่วนใหญ่ที่โรงเรียนจะคุ้นเคยกับ มัส–ณัฐวุฒิ งานแข็ง เป็นอย่างดี แต่บุคลิกที่นิ่งๆ เงียบๆ ของมัส ทำให้การเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่นเป็นเรื่องที่ท้าทาย ไม่ว่าจะบทบาทครูที่ต้องการความจดจ่อจากนักเรียน และบทบาทนักพัฒนาชุมชนที่จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากคนในพื้นที่
“สัปดาห์แรกที่ฝึกสอน ผมจัดการเด็กไม่ค่อยได้ เด็กไม่ยอมฟังเรา ทำให้เรานึกถึงครูคนหนึ่งที่เราได้เรียนกับเขาตั้งแต่ป.1-6 เรามาคิดว่าทำไมเราถึงชอบที่จะเรียนกับเขา เด็กคนอื่นๆ ก็ชอบครูคนนี้ ขนาดเสาร์-อาทิตย์ยังไปอยู่บ้านครู มานั่งคิดว่าครูเขามีวิธียังไง แล้วก็หาข้อมูลอื่นไปด้วย สัปดาห์ที่ 2 เราลองเอาใหม่ เข้าหาเด็กมากขึ้น พยายามหากิจกรรมในห้องเรียนเพิ่ม ทำยังไงให้เด็กเข้าถึงเรา ให้เด็กที่เงียบที่สุดไม่ยอมพูดอะไร กล้าที่จะพูด”
ปรึกษาครูพี่เลี้ยงเป็นสิ่งที่มัสทำไปพร้อมๆ กับถามความคิดเห็นเด็กๆ ในห้องเรียน เพื่อให้รู้ว่ามีส่วนไหนที่เขาต้องพัฒนา แล้วการสอนของเขาเป็นอย่างไร ทำให้มัสรู้ปัญหาและแก้ได้ เป็นที่มาว่าทำไมเด็กๆ โรงเรียนอ่าวมะม่วงถึงรอคอยวันที่ครูมัสกลับมาอีกครั้ง
“ถ้าเราต้องการพัฒนาชุมชนอะไรสักอย่าง ผมทำคนเดียวก็อาจจะเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าขอความร่วมมือจากทั้งโรงเรียนและชุมชนได้ มันก็สามารถเกิดขึ้นจริงได้”
มัสเป็นคนในชุมชนเดียวกันกับ โรงเรียนอ่าวมะม่วง ที่ตั้งอยู่บนเกาะยาวใหญ่ ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ความเป็นเกาะที่อยู่อย่างเอกเทศ และจะเดินทางไปที่ไหนก็เป็นเรื่องยาก ทำให้โรงเรียนที่นี่ประสบปัญหาครูย้ายบ่อย จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูและเด็กเลือนหายไป
การได้ครูรัก(ษ์)ถิ่นอย่างมัสกลับมาสอนที่โรงเรียนอ่าวมะม่วง นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาครูขาดแคลน คือการได้ครูที่คุ้นเคยกับชุมชน และชุมชนก็ไว้ใจเขาทั้งในและนอกโรงเรียน
“ตอนอยู่โรงเรียนไม่คิดว่าเด็กๆ จะเข้าหาเยอะมาก เขาสบายใจที่จะพูดคุยกับเรา เหมือนเป็นครูที่เป็นเพื่อนพวกเขาได้ด้วย
“มันทำให้ผมมีกำลังใจที่จะสอนให้เขาห่างไกลจากสิ่งไม่ดีต่างๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ผมไม่อยากให้ลูกศิษย์ของตัวเองมีจุดจบที่ไม่ดี อยากให้เขาเติบโตมีอาชีพทำงานที่มั่นคงได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติดเหล่านั้น” มัสตอบด้วยรอยยิ้ม
แม้ว่าตลอดการเรียน 4 ปี จะมีทั้งช่วงที่มัสต้องห่างจากโรงเรียนอ่าวมะม่วง เพื่อกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภฎยะลา แต่เด็กๆ ที่โรงเรียนก็ยังเป็นคนที่มัสคิดถึงอยู่เสมอ และพร้อมจะกลับที่ห้องเรียนเพื่อพูดว่า
“สวัสดีครับ รอบนี้ครูก็จะกลับมาอยู่นานๆ แล้วนะครับ ไม่ได้อยู่แค่สามสัปดาห์ หรือเทอมเดียว แต่จะอยู่กับพวกเธอไปตลอด”