‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ในประเทศไทย เป็นพื้นที่ที่ยังต้องการความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งในด้านการจัดการงบประมาณและทรัพยากร จำนวนครู การจัดการเรียนการสอน ไปจนถึงสถานะความเป็นอยู่ของผู้ปกครองแต่ละครัวเรือน
โรงเรียนขนาดเล็กเป็นพื้นที่ที่สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดจากการจัดสรรงบประมาณแบบเหมาจ่ายรายหัว อันส่งผลให้โรงเรียนขนาดใหญ่ได้รับงบประมาณจำนวนมากกว่าตามสัดส่วนของนักเรียน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อยกว่าตามจำนวนนักเรียนที่ลดหลั่นลงมา เช่นเดียวกับอุปกรณ์การเรียนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็น้อยลงไปด้วย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้เดินทางลงพื้นที่ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอจากโรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โดย นายจิรวิทย์ มาสิกะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง เล่าว่า โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูที่เป็นข้าราชการ 4 คน และพนักงานราชการ 1 คน เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงประถมศึกษา ในปีนี้มีนักเรียนทั้งหมดเพียง 48 คน และด้วยข้อจำกัดของจำนวนนักเรียน ทำให้ได้รับผลกระทบหลายด้านจากการสรรงบประมาณแบบรายหัว
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง เล่าอีกว่า นอกเหนือจากข้อจำกัดด้านอุปกรณ์การเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกภายในโรงเรียนแล้ว การจัดสรรงบประมาณตามจำนวนเด็กได้ส่งผลกระทบต่อการจัดการอาหารกลางวันให้กับเด็กอย่างชัดเจน โดยหากคิดตามรายหัวของนักเรียน 48 คน กับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในอัตรา 21 บาทต่อคนต่อวัน รวมเป็น 1,008 บาท ซึ่งทางโรงเรียนต้องพยายามใช้งบประมาณก้อนนี้ในการจัดสรรอาหารกลางวันให้ทั่วถึงและต้องมีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนสำหรับเด็กทั้ง 48 คน
“ด้วยงบประมาณที่จำกัด โรงเรียนจึงสามารถดูแลได้แค่อาหารกลางวัน ไม่สามารถจัดสรรอาหารเช้าให้กับนักเรียนได้ หากเด็กคนไหนไม่ได้กินอาหารเช้ามา ก็จะช่วยเหลือด้วยการเตรียมผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลไว้ดูแล ส่วนอาหารกลางวัน หากเหลือก็จะจัดสรรเป็นอาหารเย็นให้กับเด็กบางคนที่บ้านขาดแคลน” นายจิรวิทย์ กล่าว
ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามช่วยเหลือเด็กทุกคนตามความจำเป็นอย่างสุดกำลังความสามารถ และวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่มจากการเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคนให้ครบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพื่อติดตามสภาพความเป็นอยู่ของเด็กแต่ละคน และทำให้ทราบว่า เด็กส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน หลายคนอาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งมีข้อจำกัดในการดูแลเด็กหลายด้าน
การเยี่ยมบ้านเด็กทุกคน ทำให้โรงเรียนทราบว่า นอกเหนือจากการดูแลเด็กเป็นรายคน ด้วยการขอเงินช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ แล้ว
ยังจำเป็นที่จะต้องพยายามช่วยเหลือครอบครัวของเด็ก เพื่อให้มีกำลังใจในการดูแลลูกหลาน ที่ผ่านมาโรงเรียนพยายามประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จนได้รับความช่วยเหลือด้านสิ่งของเครื่องใช้ อาหารการกิน หรือกระทั่งขอความช่วยเหลือจากทางวัด โดยพระครูใบฎีกาสุรพล มหาปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดหนองวัลย์เปรียง ได้ช่วยเหลือทั้งเรื่องทุนการศึกษาให้กับเด็ก และแจกอาหารแห้งให้กับครอบครัวที่ยากจน
“การเยี่ยมบ้านยังทำให้โรงเรียนทราบอีกว่า ครอบครัวที่ยากจนส่วนใหญ่ แม้จะยากจนถึงขั้นอดมื้อกินมื้อ ก็ยังอยากให้ลูกหลานไปโรงเรียน อยากให้ลูกหลานเรียนหนังสือ เพราะตระหนักดีว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ชีวิตมีทางเลือก มีโอกาสด้านอาชีพการงานมากขึ้น ไม่ต้องเป็นแรงงานไร้ฝีมือหรือเป็นลูกจ้างรายวัน” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง กล่าว
โรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง พยายามใช้ศักยภาพและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การเดินทางมารับฟังปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่จริดูแลช่วยเหลือเด็กในพื้นที่บริการให้มีพื้นฐานการเรียนที่ดีขึ้น อ่านออกเขียนได้ และเตรียมพร้อมไปสู่การเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้น หากโรงเรียนถูกยุบจะส่งผลให้เด็กจำนวนหนึ่งซึ่งมีสถานะยากจน ต้องเดินทางไปเรียนในพื้นที่ที่ไกลมากขึ้น และเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษายิ่งขึ้น
“เราพยายามดูแลเด็กทุกคนให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะพวกเขาคือทรัพยากรสำคัญที่ช่วยให้โรงเรียนอยู่ได้ แต่ก็มีข้อน่ากังวลหลายด้าน เช่น ผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ย้ายเข้ามาหางานรับจ้างในพื้นที่ หรือย้ายเข้ามาเป็นคนงานในไร่อ้อย สวนแตงโม เป็นแรงงานในโรงงานต่าง ๆ หากไม่มีการจ้างงานหรือหมดฤดูเก็บเกี่ยว บางครอบครัวก็อาจต้องย้ายไปทำงานที่อื่น นอกจากนี้แต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ในพื้นที่น้อยมาก จากการสำรวจพบว่า ปีนี้มีเด็กเกิดใหม่แค่ 2 คน ในอนาคตหากเด็กมาเรียนน้อยและโรงเรียนถูกยุบ เด็กที่เหลือก็จะเดือดร้อน เพราะต้องเดินทางไกลไปเรียนที่อื่น และคงไม่สามารถแบกค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางได้ สุดท้ายอาจจะตัดสินใจเลิกเรียนในที่สุด” นายจิรวิทย์สะท้อนถึงปัญหาที่ประสบอยู่
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า ง ทำให้ทราบว่า โรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้กำลังเผชิญปัญหาที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกับอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะเรื่องประชากรที่เกิดใหม่น้อยลง ส่งผลให้ประชากรวัยเรียนลดลงตามไปด้วย
“โรงเรียนขนาดเล็กพยายามที่จะต่อสู้กับข้อจำกัดของทรัพยากร ภายใต้สูตรการจัดสรรงบประมาณแบบรายหัวที่ไม่สอดคล้องกับขนาดของโรงเรียน ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนของโรงเรียนขนาดเล็ก จึงจำเป็นจะต้องมีสูตรที่เหมาะสมและเสมอภาคกว่าที่เป็นอยู่ โดยอาจต้องมีการแก้ไขระเบียบราชการที่ใช้วิธีจัดสรรงบประมาณภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันหมดทั้งประเทศ เพราะหากพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นตามสภาพความจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีบริบทและเงื่อนไขแตกต่างกัน ทุกฝ่ายต้องทบทวนเรื่องการแก้ไขเชิงระบบ การจัดสรรงบประมาณจำเป็นต้องคำนึงถึงเงื่อนไขต่าง ๆ มากกว่าจำนวนรายหัวของเด็ก รวมถึงการสนับสนุนของภาคส่วนอื่น ๆ จำเป็นต้องขยับเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น”
“โรงเรียนบ้านหนองวัลย์เปรียง นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการดิ้นรนแก้ไขปัญหาด้วยการระดมสรรพกำลังจากภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งรัฐ เอกชน และวัด เข้ามาช่วยเหลือดูแล เติมเต็มส่วนที่ขาด และเป็นตัวอย่างของโรงเรียนที่มีผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ประกอบการ ที่ไม่ได้พึ่งพาเพียงงบประมาณจากทางราชการ แต่พยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยให้โรงเรียนอยู่ได้ และเป็นที่พึ่งของคนกลุ่มเล็ก ๆ ในชุมชน” ผู้จัดการ กสศ. กล่าว