81% ของคนวัยแรงงานเริ่มกลับมามีงานทำ
83% ของเด็กวัยเรียนได้กลับไปเรียนในห้องเรียนตามปกติ
ตัวเลขที่ระบุในรายงานฉบับย่อว่าด้วยผลสำรวจ High Frequency ครั้งที่ 1 ในช่วงเดือน สิงหาคม – กันยายน 2556 โดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ผ่านกลุ่มตัวอย่างประชากรวัยแรงงานทั้งในเมืองและชนบท 2,583 ราย สะท้อนถึงการฟื้นตัวจากวิกฤตโควิด-19 ที่บ่งบอกว่าสถานการณ์โดยทั่วไปในประเทศไทย ‘กำลังเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น’
อย่างไรก็ตาม ค่าตัวเลขสถิติเหล่านี้ กลับมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในทุกกลุ่มประชากร ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญว่า ประเทศไทยกำลังเดินไปบนเส้นทางของการฟื้นฟูประเทศ โดยยัง ‘มีคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังหรือไม่’
โดยจาก รายงานผลกระทบของโควิด-19 ต่อสถานการณ์การเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) กับการฟื้นฟูคุณภาพการศึกษา (Learning Recovery) ของ กสศ. ที่มีการเปิดเผยต่อสังคมมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา ผ่านการวิจัยและการทำงานร่วมภาคีเครือข่ายในการจัดทำข้อมูลสำคัญ ที่แสดงค่าเฉลี่ยความพร้อมในการกลับมาเรียน หลังการปิดสถานศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างยาวนาน ส่งผลให้เกิดภาวะเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยอย่างชัดเจน รวมถึงข้อสังเกตด้านการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ ที่มีระดับความพร้อมด้านคณิตศาสตร์และภาษาต่ำกว่าเด็กทั่วไป นอกจากนี้ยังมีเรื่องภาวะถดถอยทางร่างกาย เช่นปัญหาเรื่องการทรงตัว จับดินสอไม่ถูกวิธี ไม่มั่นใจกับการเดินขึ้น-ลงบันได ไปจนถึงความถดถอยของพัฒนาการด้านทักษะสังคม ซึ่งทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จด้านการเรียนของเด็กในอนาคต
ทั้งนี้หากสถานการณ์ในภาพรวมของระบบการศึกษายังเป็นเช่นนี้ต่อไป ประเทศไทยจะมีกราฟการฟื้นตัวที่เป็นลักษณะ K-Shaped ซึ่งหมายถึงช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกับครัวเรือนที่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจมากกว่า จะยิ่งถ่างกว้างออกไปมากขึ้น แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือเด็ก ๆ จากครัวเรือนรายได้น้อยเหล่านี้ จะมีอัตราฟื้นตัวจากภาวะถดถอยที่เชื่องช้า หรือในอีกทางหนึ่ง ประเทศไทยจะมีเด็กเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงโอกาสในการฟื้นฟู กลายเป็นกลุ่มประชากรรุ่นที่สูญหาย หรือ ‘Lost Generation’ ซึ่งจะหลุดไปจากระบบการศึกษาอย่างถาวร
การฟื้นตัวที่เป็นไปอย่างไม่สมดุล
องค์กรยูนิเซฟ จึงทำรายงานการสำรวจขึ้นมา ที่มุ่งเป้าไปที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมต่อสวัสดิภาพครัวเรือน และทิศทางการฟื้นตัวของประชากรกลุ่มต่าง ๆ ในมิติการจ้างงาน รายได้ ความมั่นคงทางอาหาร การปรับตัว การศึกษา และสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
การจ้างงาน – 81% ของกลุ่มสำรวจบอกว่าพวกเขามีงานทำในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2565 โดยภาพรวมแล้วมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจของธนาคารโลกเมื่อปี 2564 และบ่งชี้ว่าสถานการณ์แรงงานเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่เมื่อเจาะลึกลงไป ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการจ้างงานในสัดส่วนต่ำที่สุดที่ 73% นอกจากนี้ถ้าแยกตามกลุ่มครัวเรือน พบว่าการจ้างงานในกลุ่มครัวเรือนผู้มีการศึกษาน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ 70% และในกลุ่มครัวเรือนยากจนที่สุด มีสัดส่วนการจ้างงานที่ 68%
ในสัดส่วนของคนที่กลับไปทำงานอีกครั้ง กลุ่มครัวเรือนที่มีเด็กมีความยากลำบากมากกว่าเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่ไม่มีเด็ก ในสัดส่วน 68% ต่อ 84%
กลุ่มผู้อยู่ในพื้นที่เขตเมือง-เทศบาล สามารถหางานใหม่หลังจากตกงานได้ในสัดส่วนสูงกว่ากลุ่มผู้อยู่พื้นที่รอบนอก-ชนบท ที่ 83% ต่อ 77%
กลุ่มผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ภาคกลาง และภาคเหนือ ประสบความสำเร็จในการได้รับการจ้างงานใหม่สูงกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ที่ 84% 92% และ 89% ขณะที่กลุ่มผู้อาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีสัดส่วนการหางานใหม่ได้ต่ำที่สุด ที่ 63% และ 77%
กลุ่มคนจากภาคการผลิตและก่อสร้างสามารถกลับไปทำงานใหม่ได้ถึง 98% ขณะที่ภาคเกษตรกรรมฟื้นตัวได้ในสัดส่วนต่ำที่สุด เพียง 80%
ข้อสังเกตหนึ่งจากรายงานการจ้างงานระบุว่า กลุ่มตัวอย่างจากครอบครัวยากจนเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุด โดยมีถึง 36% ในกลุ่มนี้ที่ยังไม่สามารถเริ่มต้นกับงานใหม่ได้ ซึ่งหากเปรียบกับครัวเรือนที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่า มีเพียง 10% ที่ยังไม่ได้กลับไปทำงานอีกครั้ง
วิกฤตการดูแล
ภาระการดูแลผู้พึ่งพิงนับว่าเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการจ้างงาน โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 24% ของกลุ่มสำรวจ ที่ต้องดูแลเด็กหรือผู้เจ็บป่วยในครอบครัว ทั้งนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีครัวเรือนที่มีผู้ที่ไม่สามารถทำงานสร้างรายได้เพราะต้องดูแลสมาชิกคนอื่นในครอบครัวถึง 40% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลเด็กกว่า 70%
นอกจากนี้ ข้อมูลยังชี้ว่ากลุ่มครัวเรือนยากจนที่ไม่สามารถทำงานสร้างรายได้เนื่องจากต้องดูแลเด็ก มีสัดส่วนที่น่าวิตกอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุผลด้านข้อจำกัดทางทุนทรัพย์ การยังชีพ การเข้าถึงบริการด้านดูแลเด็ก อันเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
รายได้
แม้ภาพรวมของประเทศไทย จะเป็นไปในทางที่ดีขึ้นดังที่กล่าวไปแล้ว อย่างไรก็ตาม 60% ของกลุ่มสำรวจระบุว่ารายได้ครัวเรือนลดลงเมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนการสำรวจ มีเพียง 35% ที่มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม และเป็นอีกครั้งที่ 70% ของกลุ่มสำรวจที่มีรายได้ลดลง มาจากครัวเรือนที่ยากจนที่สุด
เงินเฟ้อ
ต่อข้อสอบถามถึงราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา(ก่อนการสำรวจ) มีครัวเรือนถึง 99% ที่ระบุว่ารับรู้ถึงราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดย 90% ของกลุ่มสำรวจกล่าวว่าการขยับราคาขึ้นของสินค้า เป็นความเสี่ยงต่อระบบการเงินของครอบครัว
ทั้งนี้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับราคาสินค้า มีความแตกต่างกันในกลุ่มสำรวจ โดยผลสำรวจชี้ว่าในประชาชนกลุ่มที่ยากจนที่สุด ประเด็น ‘เงินเฟ้อ’ หรือราคาสินค้าที่สูงขึ้น เป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งกลับกันสำหรับกลุ่มสำรวจที่มีฐานะเศรษฐกิจดีกว่า ระบุว่ากังวลเรื่องการติดเชื้อไวรัสโคโรนามากที่สุด
กลยุทธิ์-การรับมือ
ข้อมูลจากรายงานเสนอว่า ‘หนี้สินครัวเรือน’ เป็นประเด็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีเด็ก โดยกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนของผู้ชำระหนี้สินช้ากว่ากำหนด การกู้ยืมเงิน และการจำนอง/จำนำทรัพย์สิน หรืออสังหาริมทรัพย์ ในสัดส่วนที่สูงที่สุด
ความมั่นคงทางอาหาร
กว่า 20% ของกลุ่มสำรวจเผยว่าไม่สามารถบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงอาหารที่ชื่นชอบได้ ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มสำรวจจากครัวเรือนยากจนถึง 40%
มีถึง 4% ที่บอกว่าสมาชิกในครอบครัวต้องออกไปประกอบภารกิจนอกบ้าน (ไปทำงาน/ไปโรงเรียน) โดยไม่ได้กินอาหารตลอดทั้งวัน ซึ่ง 12% ในกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มาจากครอบครัวยากจนที่สุด
ความช่วยเหลือทางสังคม
60% ของกลุ่มสำรวจบอกว่าพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม 13% ของกลุ่มสำรวจระบุว่าพวกเขาประสบปัญหาในการรับความช่วยเหลือทางสังคม โดยประเด็นปัญหาสำคัญได้แก่ 1)ปัญหาอินเทอร์เน็ต/ไฟฟ้า 2)ปัญหาการยืนยันตัวตน 3)ปัญหาความยุ่งยากซับซ้อนในการใช้งานแอปพลิเคชั่น โดยกลุ่มครัวเรือนที่มีเด็ก ประสบปัญหามากกว่าครัวเรือนที่ไม่มีเด็กอยู่ที่ 22% ต่อ 5%
การศึกษาและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย
ในภาพรวม เด็กจากครอบครัวของกลุ่มสำรวจ 42% ได้กลับไปเรียนตามปกติเมื่อโรงเรียนเปิดอีกครั้ง ขณะที่ข้อมูลเผยว่า 90% ของเด็กที่ไม่ได้กลับไปเรียนตามปกติอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมาจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
79% แสดงความคิดเห็นว่าการเรียนการสอนออนไลน์มีประสิทธิภาพน้อย และกลุ่มสำรวจจากครอบครัวยากจนถึง 25% ระบุว่าการเรียนการสอนออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพต่อเด็กเลย
ผลสำรวจพบว่าการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด (24%) รองลงมาคือปัญหาที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีภารกิจมากจนไม่สามารถสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์ของเด็ก (20%) รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่ไม่มีทักษะเพียงพอสนับสนุนการเรียนการสอนทางไกล (12%) นอกจากนี้การที่ครูผู้สอนไม่มีความพร้อมที่จะทำการสอนในรูปแบบออนไลน์ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการกล่าวถึง
ส่วนการเข้าเรียนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ผลสำรวจพบว่าแม้อัตราการเข้าเรียนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหากเปรียบกับช่วงเวลาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญคือเด็กจากครัวเรือนฐานะดีมีอัตราลงทะเบียนเรียนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับเด็กจากครัวเรือนกลุ่มอื่น
สุขภาพและการฉีดวัคซีน
โดยภาพรวมแล้วครัวเรือนกลุ่มต่าง ๆ สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ดีในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มสำรวจ 98% ระบุว่าสมาชิกวัยผู้ใหญ่ในครัวเรือนได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้วอย่างน้อยสองเข็ม อย่างไรก็ตาม 4% ของครัวเรือนกลุ่มยากจนที่สุดบอกว่า พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้เลยเมื่อถึงคราวจำเป็
นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาสุขภาพจิต โดยกลุ่มสำรวจจากกลุ่มยากจน 14% บอกว่าพวกเขาวิตกกังวลมาก ‘ทุกวัน’ ขณะที่มีกลุ่มสำรวจจากครัวเรือนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าเพียง 4% ที่บอกว่าวิตกกังวลทุกวัน ส่วนข้อคำถามที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลของเด็กในครัวเรือน มีกลุ่มสำรวจวัยผู้ใหญ่ถึง 23% ที่บอกว่าพวกเขา ‘ไม่ทราบ’ เลยว่าเด็กมีความวิตกกังวลหรือไม่ ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา
การฟื้นฟูภาวะเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) และฟื้นฟูคุณภาพการศึกษา (Learning Recovery)
ยูนิเซฟ กสศ. กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับภาคีจัดตั้งโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย โดยนำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อค้นหาเครื่องมือนวัตกรรม และแนวทางต้นแบบในการช่วยเหลือดูแลนักเรียนในช่วงการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และดำเนินการต่อเนื่องจนเห็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง ซึ่งหลังจากนี้ ทางคณะทำงานจะถอดบทเรียนเป็น ‘โมเดลต้นแบบ’ ในการทำงานกับพื้นที่อื่น ๆ และขยายผลสู่ระดับนานาชาติ
ส่วนการฟื้นตัวของเด็กเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. ได้มุ่งช่วยเหลือสนับสนุนนักเรียนทั้งในและนอกระบบ จากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่สุด 15% ของประเทศ ทั้งในรูปแบบทุนการศึกษา จนถึงแนวทางให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ที่ครอบคลุมทั้งเรื่องสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร สวัสดิภาพความปลอดภัย ปัญหาครอบครัว รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่นค่าเดินทางเป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเยาวชนสามารถกลับมามีความพร้อมในการเรียนรู้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีควบคู่กันไป ภายใต้เป้าหมายของการสร้างความเสมอภาคให้กับประชากรทุกกลุ่มในประเทศ
สำหรับผลรายงาน High Frequency ฉบับนี้ เป็นเพียงฉบับแรก โดยยูนิเซฟจะทำการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมเป็นครั้งที่สอง และติดตามความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา 5 เดือน ก่อนถอดบทเรียนสรุปเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ และนำเสนอต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายของประเทศไทยใน 1-2 ปีหลังจากนี้