“รางวัลของเราคือการได้เห็นลูกศิษย์มีพัฒนาการสมวัย เรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ” ครูสกาย วุฒิชัย แก้วสุข
ครูรัก(ษ์)ถิ่นรุ่นที่ 1 โรงเรียนขุนขวากพิทยา อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย

“รางวัลของเราคือการได้เห็นลูกศิษย์มีพัฒนาการสมวัย เรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ” ครูสกาย วุฒิชัย แก้วสุข

“สำหรับที่นี่ โรงเรียนแทบจะเป็นทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเด็กคนหนึ่ง ตอนเช้าเด็กจะทยอยมาโรงเรียนตั้งแต่หกโมงครึ่ง เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องทำงาน จึงเอาลูกหลานมาส่งไว้ตั้งแต่ฟ้าเพิ่งสว่าง แล้วจะกลับมารับอีกทีก็ตอนเย็น เราที่เป็นครูจึงต้องพยายามทำให้เวลาที่เด็กอยู่กับเราคุ้มค่าที่สุด”‘ครูสกาย’ วุฒิชัย แก้วสุข ซึ่งเพิ่งบรรจุเป็นครูอนุบาลที่โรงเรียนขุนขวากพิทยา ต.ท่าข้าม อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 อธิบายลักษณะโดดเด่นของพื้นที่ เมื่อถูกถามถึงโจทย์ของ ‘ครูรัก(ษ์)ถิ่น’ ผู้ได้รับการเตรียมพร้อมปฏิบัติงานในพื้นที่เฉพาะ โดยการหยิบยกเอาเรื่อง ‘เวลา’ มาเกริ่นนำ

นั่นเพราะคุณครูคนใหม่ของเราเชื่อว่า ‘หน้าที่ครู’ ของเขาที่กินเวลายาวนานต่อหนึ่งวัน คือ ‘คุณค่า’ จึงจำเป็นต้องใช้อย่าง ‘คุ้มค่า’ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

วุฒิชัย แก้วสุข

“ในหลักสูตรครูรัก(ษ์)ถิ่นที่มุ่งผลิตครูเพื่อกลับไปสอนในภูมิลำเนาของแต่ละคนโดยตรง เราถูกบ่มเพาะให้จำเป็นต้องรู้ว่าพื้นที่ของเรามีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเจอจุดด้อยแล้ว เราจะไม่มองปัญหาโดยให้น้ำหนักไปที่ความขาดพร่องทั้งหมด แต่ต้องหาให้เจอว่าในความแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ เราควรมีแนวทางพัฒนาเฉพาะที่สอดรับกับบริบทพื้นที่อย่างไร”

ครูสกายเล่าถึงโรงเรียนขุนขวากพิทยา ว่าตั้งอยู่ตรงพื้นที่ราบเชิงดอย เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลางของเด็กจากหลายหมู่บ้าน ในปี 2567 มีเด็กทั้งโรงเรียนราว 400 คน ส่วนตัวครูสกายมีหน้าที่ดูแลชั้นอนุบาล 2-3 ที่ปีนี้มี 70 คน

คุณครูเล่าว่า “อุปสรรคที่โรงเรียนเจอบ่อย ๆ จะเป็นเรื่องขาดแคลนบุคลากร อย่างปีนี้บรรจุปุ๊บเราได้เจอเลย ที่จากเทอมแรกมีเด็กอนุบาลสี่ห้อง แต่มาเทอมสองต้องลดเหลือสามห้องเนื่องจากเพิ่งมีครูย้ายออก” อย่างไรก็ตาม ครูสกายยืนยันว่าปัญหาไม่ได้มีไว้ให้ท้อ แต่กลับเป็นโจทย์งานที่ครูและโรงเรียนต้องช่วยกันทำให้ดีขึ้น

“เราเข้าใจว่าการย้ายเป็นเรื่องที่ยังไงก็ต้องเจอ เพราะครูที่บรรจุจะมาจากต่างพื้นที่ พอถึงเวลาก็เป็นธรรมดาที่เขาอยากย้ายกลับบ้าน ซึ่งคิดว่าถ้าในอนาคตมีการผลิตครูในโมเดลครูรัก(ษ์)ถิ่นได้มากขึ้น ปัญหาก็จะคลี่คลายไปได้มาก อย่างผมเกิดที่นี่ เรียนที่นี่ แม้จะมีช่วงเวลาออกไปศึกษาต่อข้างนอก แต่เรียนจบแล้วก็ตั้งใจว่าจะกลับมา แล้วไม่ได้คิดว่าจะย้ายไปไหน ข้อดีตรงนี้ทำให้เมื่อกลับมาเป็นครูแล้ว เราสามารถมองแผนการทำงานระยะยาวสามปีห้าปีหรือสิบปีได้เลย”

ครูสกายวกมาที่เรื่อง ‘เวลา’ ที่หยอดไว้ตอนต้น ว่าในเมื่อลูกศิษย์ต้องอยู่ที่โรงเรียนมากกว่าที่บ้าน ครูจึงเป็นคนสำคัญ ที่จะช่วยปรับพฤติกรรมและปูพื้นพัฒนาการต่าง ๆ ใน ‘ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของการเติบโต’       

“สิ่งหนึ่งที่ครูรุ่นใหม่ต้องเจอเหมือน ๆ กันคือ เดี๋ยวนี้เด็กเล็กจะติดหน้าจอมาก พอมาเข้าชั้นอนุบาลเราเห็นเลยว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าวัย …เพราะพื้นฐานของเด็กเล็ก พัฒนาการเขาจะก้าวหน้าได้มันต้องเกิดจากการได้ใช้ร่างกาย ได้ออกแรง จนถึงเรียนรู้ทักษะสื่อสารเข้าสังคมผ่านการเล่นกับเด็กอื่น ๆ ทีนี้พอตรงนี้ขาดหายไปไม่ได้ขัดเกลา พัฒนาการหลายด้านจึงช้า ซึ่งถ้าปล่อยไว้จนเริ่มโตจะยิ่งแก้ไขยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ได้เลย โดยถ้าสังเกตเด็กใกล้ชิด เราจะสามารถช่วยปูพื้นฐานให้เขาได้ตั้งแต่ต้น แต่อย่างไรก็ตามการปรับพฤติกรรมก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นผลได้ในสามวันห้าวัน ดังนั้นถึงบอกว่าการได้อยู่กับเด็กห้าวันต่อสัปดาห์ตั้งแต่เช้าจดเย็นตลอดเทอม คือปัจจัยที่เราจะเอามาใช้ออกแบบการดูแลเด็ก”

ครูสกายยกตัวอย่างลูกศิษย์บางคน ที่ถึงวัยสี่ขวบแล้วยังไม่ยอมพูดเพราะไม่รู้วิธีสื่อสารที่ถูกต้อง หรือบางคนยังมีพฤติกรรมเหมือนเด็กเล็กที่จะพูดคนเดียวโดยเลียนเสียงจากการ์ตูน ว่าในเคสลักษณะนี้ จำเป็นต้องเข้าหาเด็กบ่อย ๆ เพื่อชวนคุย แล้วพอเริ่มคุ้นเคยจึงค่อยลองมอบภารกิจให้ทำ ซึ่งวิธีนี้จะค่อย ๆ ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของน้อง ๆ ได้ดีขึ้น  

         “เด็กที่ไม่ยอมสื่อสาร เราต้องพยายามคุยด้วยบ่อย ๆ หาจังหวะตอนเขาเล่นเพลิน ๆ แล้วชวนคุยเรื่องที่เขาสนใจ แล้วพอคุยกันบ่อยแล้ว ก็ลองให้เขาทำอะไรสักอย่าง เช่นช่วยเรียกเพื่อนมาให้ครู หรือเป็นสื่อกลางนำคำพูดครูไปบอกเพื่อน ด้วยวิธีนี้ ถ้าทำบ่อย ๆ สักพักเด็กจะสื่อสารกับครูและเพื่อนได้ดีขึ้น

“…คือเราต้องใช้ความเผลอ เด็กถึงจะยอมสื่อสาร หน้าที่ครูคือต้องพยายามฉวยจังหวะนั้นให้ได้ ซึ่งจากเทอมแรกที่ผ่านมา เราแน่ใจว่าวิธีนี้ได้ผล เพราะเราเห็นเลยว่าพัฒนาการเด็กเพิ่มขึ้นทีละนิด อย่างคนที่ไม่เคยพูดก็เริ่มเรียกชื่อครูเรียกชื่อเพื่อน แล้วแสดงออกได้ว่าต้องการอะไร” 

“เริ่มต้นดี ทำต่อเนื่อง ผลลัพธ์เปลี่ยนแน่นอน”

เมื่อเผยแล้วว่าแผนอนาคตคือจะอยู่โยงที่โรงเรียนแห่งนี้ไปยาว ๆ เราจึงถามถึงเป้าหมายส่วนตัวของครูสกายว่า ในฐานะครูรัก(ษ์)ถิ่น มีสิ่งใดที่อยากทำให้สำเร็จในอีกหลายปีต่อจากนี้ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าสิ่งที่อยากเห็นที่สุดคือ การที่ผู้ปกครองและโรงเรียนมีทัศนคติที่ตรงกัน เกี่ยวกับแนวทางการดูแลเด็กอนุบาล ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กจากข้างใน หรือคือหลักสูตรที่เน้นให้ ‘เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้’  

“ทุกความเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป สำคัญคือเราต้องยึดมั่นในสิ่งที่จะทำ แล้วทำต่อเนื่อง ทำให้เห็นผล ค่อย ๆ ย้ำความสำคัญ เราต้องเชื่อมั่นว่าถ้าตั้งใจพัฒนาเด็กจริง ๆ เราเปลี่ยนได้ โดยทัศนคติที่ว่า ‘ชั้นอนุบาลคือจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ทุกอย่าง’ จะต้องขยายออกไปถึงคนทุกคนที่อยู่รอบตัวเด็ก เพราะถ้ายังมีคนคิดว่าวัยอนุบาลก็แค่กินนอนผ่านวันหนึ่ง ๆ ไป เราจะพลาดการเสริมพัฒนาการในเวลาที่เหมาะสม ดังนั้นอย่างแรกจึงเป็นเรื่องคุณค่าของการใช้เวลาร่วมกับเด็ก สองคือแนวทางการจัดการเรียนรู้ ที่ต้องให้ความสำคัญกับเด็กเป็นรายคน เพื่อเสริมพัฒนาการต่อยอดจากต้นทุนที่มีอยู่เดิม จากนั้นทำทั้งหมดอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง แล้วสุดท้ายเชื่อว่าผลลัพธ์จะเปลี่ยนแน่นอนในระยะยาว”

เราถามครูสกายว่า อะไรคือเหตุผลที่ ‘เชื่อ’ ในอาชีพครู และแน่ใจว่าจะเป็นครูของเด็กไปอีกนานแสนนานอย่างไม่รู้ว่าหน้าที่จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ครูสกายบอกว่า

“ตั้งแต่ชั้นมัธยมจนเป็นนักศึกษา เรารู้สึกตลอดว่าอยากทำอาชีพนี้ จนวันที่มาเป็นครูฝึกสอน ได้เจอเด็ก ๆ ก็ยิ่งแน่ใจว่าเราเดินมาในทางที่ถูก เลยคิดว่าตัวของเด็ก ๆ คือพลังที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เราเชื่อมั่นในวิชาชีพครู เพราะสำหรับเราแล้ว การเห็นลูกศิษย์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และได้เรียนต่อชั้นสูงขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ สิ่งนี้คือผลตอบแทนหรือรางวัลที่อยากได้ที่สุดแล้ว”