การศึกษาที่ยืดหยุ่นบนวิถีเด็กเลี้ยงวัว
#1 โรงเรียน 3 รูปแบบ

การศึกษาที่ยืดหยุ่นบนวิถีเด็กเลี้ยงวัว #1 โรงเรียน 3 รูปแบบ

นับจากนี้ นิยามของคำว่า ‘ห้องเรียน’ อาจต้องเปลี่ยนไป เพราะห้องเรียนไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกรอบสี่เหลี่ยมที่มีชอล์กและกระดานดำเป็นองค์ประกอบหลัก แต่คอกวัว ผืนนา และไร่ข้าวโพด ก็สามารถเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ขึ้นอยู่เวลาเคารพธงชาติ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น

เครื่องแบบนักเรียนอาจไม่ใช่เชิ้ตขาวกับกางเกงสีกากี แต่เป็นเสื้อยืด ทับด้วยเสื้อวอร์ม กางเกงขายาว รองเท้าแตะ ที่พร้อมลุยงานในไร่นา นี่คือยูนิฟอร์มของ ‘พ๊อต’ ณัฐกร วงค์ยะลา เด็กหนุ่มวัย 16 ปี นักเรียนคนแรกของประเทศไทยที่เรียนจบชั้น ม.3 ด้วยการเก็บหน่วยกิตจากการเลี้ยงวัวและการทำงานในไร่ข้าวโพด เทียบโอนผ่านประสบการณ์การประกอบอาชีพ ภายใต้โครงการ ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ’

‘พ๊อต’ ณัฐกร วงค์ยะลา

“น้องพ๊อตเพิ่งจะจบการศึกษาชั้น ม.3 เป็นคนแรกของประเทศ และเป็นตัวอย่างในการทดลองเรียนตามโครงการนี้ ซึ่งในอนาคตถ้าโครงการสำเร็จด้วยดี ที่นี่จะเป็นโมเดลของประเทศ” วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาราช 7 จังหวัดราชบุรี กล่าวขึ้นด้วยความภาคภูมิใจ

วงษ์สัน คูหามณีโชติ ผอ.โรงเรียนมหาราช 7

โรงเรียนมหาราช 7 ตั้งอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างห่างไกลจากตัวเมือง ในตำบลแก้มอ้น อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี ปัจจุบันมีนักเรียน 370 คน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา จนถึงมัธยมศึกษาตอนต้น 

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเด็กๆ ในพื้นที่ละแวกนี้เลือกที่จะหันหลังให้กับกระดานดำและการเรียนในระบบ 

ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันอย่างเรื่องการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจทำให้ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กในครอบครัวตามนิยาม ‘ยากจนพิเศษ’ คงมีทางเลือกไม่มากนัก จำต้องหยุดเรียนกลางคันแล้วหันไปทำงานรับจ้างเพื่อแบ่งเบาภาระครอบครัว 

การตั้งเป้าแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างโครงการ ‘Thailand Zero Dropout’ ที่รัฐบาลมุ่งหมายว่าเด็กทุกคนต้องได้เรียน อาจไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนต้องกลับเข้ามานั่งเรียนในห้องเรียนเท่านั้น แต่ต้องมีทางเลือกที่สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่างๆ ตามบริบทของแต่ละคน แต่ละชุมชน การศึกษาที่ยืดและหยุ่นหลากหลายจึงเป็นคำตอบหนึ่งที่จะช่วยแก้โจทย์ปัญหานี้ได้

โครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยคว้ามือเด็กที่กำลังจะหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือกระทั่งหลุดออกไปแล้วให้กลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษาอีกครั้ง เพื่อให้อย่างน้อยเด็กเหล่านั้นจะได้เรียนจบการศึกษาภาคบังคับ โดยมีการจัดการเรียนทั้งในระบบปกติ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ที่สองรูปแบบหลังออกแบบอย่างยืดหยุ่นทั้งอายุ เวลาเรียน และการประเมินผล เพื่อให้ตอบโจทย์ชีวิตและเงื่อนไขของเด็กแต่ละคน

“อย่างน้อยๆ พ๊อตก็เป็นตัวอย่างให้คนอื่นเห็นว่าเขาเรียนจบได้ จากการศึกษาที่ยืดหยุ่นแบบนี้” 

ณ วันนี้ โรงเรียนมหาราช 7 พร้อมกับภาคีเครือข่าย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแต่ละภาคส่วนได้ร่วมกันประชุมจัดทำคู่มือของโครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบของจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เปิดโอกาสให้ทุกโรงเรียนสามารถจัดการศึกษาอย่างยืดหยุ่นได้

“ทุกคนต้องมีหน้าที่ในการผลักดันให้ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบสามารถดำเนินต่อไปได้ เพื่อขยายโอกาส ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไป” กันทิมา ตีกะพี้ รอง ผอ. กล่าวในฐานะผู้ได้รับมอบหมายในการดำเนินการจัดทำคู่มือภายใต้โครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ เพื่อขยายผลไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ต่อไป

กันทิมา ตีกะพี้ รองผอ.โรงเรียนมหาราช 7

การศึกษาที่มีมากกว่าเส้นทางเดียว

ภายในห้องที่ถูกเรียกขานว่า ‘ห้องเรียนสร้างโอกาส’ ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับเด็กในโครงการ 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ได้เข้ามาใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และรับใบงาน แม้นักเรียนจะสามารถเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้ตามอัธยาศัย 

แต่อย่างน้อยแต่ละสัปดาห์จะต้องมาพบปะครูผู้สอนหากมีข้อติดขัดในบทเรียนเรื่องใด 

การเรียน 3 รูปแบบของโรงเรียนมหาราช 7 คือการทำทั้ง 3 อย่างไปพร้อมๆ กัน ยืดหยุ่นเวลาและการประเมินผลให้กับเด็ก โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและความต้องการของเด็กแต่ละคน เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงจุดที่สุดและตอบโจทย์ทั้งผู้เรียนและผู้สอน

โรงเรียนต้นแบบแห่งนี้จึงได้หยิบยกเอาส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะอาชีพและภาระงานที่เด็กแต่ละคนต้องรับผิดชอบจากงานรับจ้าง มาออกแบบเป็นบทเรียนหลักหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เชื่อมโยงกับแต่ละวิชามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ การงานพื้นฐานอาชีพ และอื่นๆ

“เราใช้วิธีผสมผสาน ทั้งการเรียนในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย คือดูว่าเด็กทำอาชีพอะไรอยู่ แล้วเราเอามาประยุกต์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาที่เขาต้องเรียน ก็เลยกลายเป็นที่มาของการเรียน 3 รูปแบบของเรา คือทำพร้อมกันทั้งหมด” จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง หรือ ‘ครูพีท’ เล่าถึงวิธีคิดในการออกแบบหลักสูตร

‘ครูพีท’ จรรยวรรธน์ ผิวเกลี้ยง

หมวกใบที่ครูพีทสวมอยู่คือแรงกระตุ้นว่า เธอต้องทำหน้าที่นี้อย่างดีที่สุด การไปเยี่ยมบ้าน เกลี้ยกล่อมผู้ปกครอง กระทั่งตามง้อ ตามตื๊อ ให้เด็กกลับไปเรียนต่อ รวมถึงเทียวรับเทียวส่งเด็กไปโรงเรียน กลายเป็นหน้าที่หนึ่งที่เธอไม่ลังเลใจที่จะทำ โดยมีเป้าหมายคือการพาเด็กให้หันกลับเข้าสู่เส้นทางการศึกษา และให้พวกเขามองเห็นความสำคัญของการศึกษาที่จะทำให้เขามีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น

เด็กหลายคนที่เคยหลุดออกไปจากระบบการศึกษา ได้รับการติดตามให้กลับมาร่ำเรียนต่อ โดยมีคุณครูที่เขาคุ้นเคยคอยติดตามเอาใส่ใจจนสามารถเรียนจบการศึกษาภาคบังคับได้

ขณะที่ครูพีทและ ผอ.วงษ์สัน ผลัดกันให้ข้อมูล เด็กผู้ชายร่างผอมบางเดินเข้ามาด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม และมานั่งร่วมวงสนทนาอยู่ห่างๆ 

“อ้าว มาพอดี” ผอ.วงษ์สัน ทักขึ้น จึงเดาได้ไม่ยากว่าเด็กคนนี้เองคือนักเรียนคนแรกของประเทศที่เรียนจบด้วยหลักสูตรพิเศษนี้

“อย่างพ๊อตนี่ก็ไปตามหลายรอบมาก พอไปตามทีไรก็บอกว่าครับๆๆ จนครั้งสุดท้ายบอกเขาว่า ถ้ามาเรียนแล้วจะได้พันห้า” ครูพีทเย้าขึ้น และหันไปหัวเราะกับเจ้าตัว

“โห…นี่ครูพีทเพิ่งบอกความลับนะเนี่ย มีอัดฉีดด้วย” ผอ.วงษ์สัน เอ่ยด้วยน้ำเสียงแกมหยอก ก่อนที่ทั้งคู่จะอธิบายให้เข้าใจว่า พ๊อตเป็นหนึ่งในนักเรียนที่ได้รับ ‘ทุนเสมอภาค’ จาก กสศ. ที่มีการคัดเลือกและมอบทุนให้กับนักเรียนยากจนพิเศษ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษา จึงเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้พ๊อตเลือกที่จะหันกลับมาเรียนต่อจนจบ

ก่อนหน้านี้พ๊อตมีภาระทางบ้านที่ต้องออกมาทำงานหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตัวเอง พ่อ และย่า ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนตามเวลาปกติได้ เพราะหากเข้าเรียนจะขาดรายได้อย่างน้อยวันละ 300 บาท จากการรับจ้างเลี้ยงวัวและทำงานในไร่ข้าวโพด สิ่งเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ที่ทำให้คณะครูโรงเรียนมหาราช 7 ต้องหันมาช่วยกันออกแบบวิธีการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่

“พอเราเห็นว่าเขามีอาชีพรับจ้างแบบนี้ ครูผู้สอนก็เลยลองคิดกันดูว่า จะมีวิธีใดบ้างที่สามารถเทียบโอนไปเป็นตัวชี้วัดในแต่ละรายวิชาได้บ้าง แล้วเราก็ไปคุยกับเด็กว่ามีเนื้อหาส่วนไหนบ้างที่เขาต้องมาเรียนเสริมแบบออนไลน์ เพื่อที่เขาจะได้จบการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน” ครูพีทเล่า

การเรียนของพ๊อตจึงเป็นการเรียนตามอัธยาศัยและนอกระบบ โดยใช้ชุดการเรียนออนไลน์ควบคู่กันไป ซึ่งบางเนื้อหาที่ต้องเรียนเสริมก็จะต้องมาเรียนในห้องเรียนสร้างโอกาสนี้ โดยมีข้อตกลงเรื่องเวลาเรียนที่ยืดหยุ่น

“วิธีการเรียนที่ยืดหยุ่นแบบนี้สามารถเป็นแนวทางให้กับเด็กคนอื่นๆ ที่มีเงื่อนไขชีวิตในลักษณะเดียวกันได้ ถ้าเด็กคนไหนที่มีแนวโน้มว่าจะหลุดออกจากการศึกษากลางคัน เราก็ต้องออกแบบวิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสม อาจจะต้องเพิ่มเติมในส่วนที่ขาดหาย หรือหาวิธีบูรณาการสาระวิชากับประสบการณ์อาชีพที่เขาทำอยู่ เพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัด อันนี้คือสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อๆ ไป” ครูพีทตอบหลังจากถูกถามเรื่องภาระงานที่เพิ่มขึ้นของครู

ระหว่างที่เครื่องปรับอากาศกำลังทำงานแข่งกับความร้อนระอุภายนอกอย่างขันแข็ง เรานั่งพูดคุยกันต่ออีกเล็กน้อยก่อนที่ขอติดตามไปเยี่ยมชมออฟฟิศกลางไร่ของพ๊อต

โรงเรียนชีวิตของเด็กเลี้ยงวัว

หลังเลี้ยวรถออกจากรั้วโรงเรียนเพียงไม่ไกลนัก เราตรงเข้าไปตามถนนเส้นเล็กๆ สองข้างทางขนาบข้างไปด้วยเรือกสวนไร่นา มุ่งหน้าไปยังคอกวัวอันเป็นสถานที่ทำงานหลักของพ๊อต 

มุมหนึ่งเป็นบ้านพักหลังเล็กๆ ที่เจ้าของคอกวัวสร้างไว้เป็นที่พักอาศัยให้กับพ๊อตและเพื่อนๆ ที่ต้องตื่นแต่เช้ามาทำงานด้วยกัน ใกล้ๆ กันมีคอกวัวขนาดย่อม รายล้อมด้วยกองฟางและอาหารสัตว์ที่ตระเตรียมไว้อย่างอุดมสมบูรณ์ วัวในคอกมีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งบราห์มัน ชาร์โรเลส์ วัวเนื้อ วัวนม ฉากหลังไกลสุดลูกหูลูกตาคือทิวเขาสูง นี่คือที่ทำงานของพ๊อตและผองเพื่อน

“ผมตื่นตั้งแต่ 6 โมงทุกวันครับ ตื่นมาก็ให้อาหารวัวก่อน จนถึง 8 โมงกว่าๆ ค่อยไปตัดข้าวโพดต่อ” 

พ๊อตเริ่มเล่ากิจวัตรประจำวันของตัวเอง แน่นอนว่าตารางงานเช่นนี้ย่อมทับซ้อนกับตารางเรียนในระบบปกติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่เมื่อการศึกษามีความยืดหยุ่น ทำให้พ๊อตสามารถจัดแบ่งเวลาสำหรับการทำงานและการเล่าเรียนได้ไม่ยาก

“บางวันก็เลี้ยงวัวถึง 9 โมง บางวันก็มีงานรับจ้างทั่วไปจนถึงเที่ยง ถึงเย็นก็มี พอตกกลางคืนเราก็ค่อยตามไปเรียนออนไลน์ทีหลังได้” พ๊อตช่วยขยายความให้ก่อนที่เล่าต่อ พร้อมกับเอื้อมมือไปยกกระสอบอาหารวัวใบใหญ่ที่วางกองเรียงรายหน้าคอกวัว เพื่อสาธิตการให้อาหารวัวไปด้วย

“จริงๆ ช่วงนี้ก็จะต้องเริ่มปลูกข้าวโพดด้วย แต่ยังไม่ได้จิ้ม หมายถึงเอาเมล็ดใส่ลงไปในหลุมน่ะครับ” พ๊อตอธิบายเพิ่มเติมหลังจากเห็นว่าคนฟังทำหน้างง

ในหนึ่งสัปดาห์พ๊อตต้องทำงานทุกวัน เริ่มตั้งแต่เลี้ยงวัว ตัดข้าวโพด โม่ข้าวโพด แล้วกลับมาเลี้ยงวัวอีกครั้งในช่วงใกล้หมดวัน หากวันไหนไม่ต้องโม่ข้าวโพด และเจ้าของวัวเลี้ยงเอง ก็จะได้หยุดงาน หรือบางวันอาจมีบ้างที่ต้องขอลาหยุดเพื่อกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อกับย่า

พ๊อตเริ่มทำอาชีพนี้ก่อนเพื่อนๆ พอเริ่มช่ำชองจากการใช้วิชาครูพักลักจำจึงค่อยชวนเพื่อนๆ ที่รู้จักมาทำด้วยกัน

ที่ทำงานของพ๊อตกลายเป็นห้องเรียนควบคู่กันไป นอกจากจะได้ทักษะอาชีพติดตัวแล้ว การเรียนในหลักสูตรพิเศษที่ออกแบบมาอย่างเข้าอกเข้าใจและตอบโจทย์กับเงื่อนไขชีวิตตัวเองจึงทำให้พ๊อตเรียนรู้บทเรียนตามหลักสูตรแกนกลางไปด้วย

การเลี้ยงวัวของพ๊อตสามารถเทียบโอนตัวชี้วัดกับหลากหลายรายวิชา เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ มีการวัดผลและเทียบโอนประสบการณ์จากการเลี้ยงวัว ด้วยการรายงานลักษณะการขยายพันธุ์วัว 

ในวิชาคณิตศาสตร์ พ๊อตได้รับใบงานให้เก็บข้อมูลน้ำหนักของข้าวโพดที่ตัดและโม่ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ทำ และนำเสนอพร้อมกับวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดในบทเรียนเรื่องสถิติ 

“บางทีเขาไม่รู้หรอกว่าคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันของเขามีอะไรบ้าง เขาไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เขาทำมันคือคณิตศาสตร์ ดังนั้นเราในฐานะครูต้องเป็นคนช่วยชี้ให้เขาเห็นว่า สิ่งที่หนูทำมันคือการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เด็กเขาถึงจะมองออก” รัตนาภรณ์ ทองดอนน้อย หรือ ‘ครูบี’ ครูประจำรายวิชาคณิตศาสตร์ อธิบายให้ฟัง

‘ครูบี’ รัตนาภรณ์ ทองดอนน้อย

“งานที่เขาทำอาจจะไม่ตอบสนองทุกตัวชี้วัดหรอกค่ะ อันไหนที่ไม่สามารถผ่านได้ก็ให้เขามาเรียนออนไลน์เพิ่มเติม แล้วก็จะมีการสอบปลายภาคเหมือนกัน ก็คือต้องวัดความรู้เหมือนกับหลักสูตรปกติ” 

ส่วนตัวชี้วัดเรื่องคุณธรรมตามหลักสูตรแกนกลาง คุณครูท่าทางใจดีคนนี้เล่าว่า ตั้งแต่เรื่องความเสียสละ ความตรงต่อเวลา เหล่านี้จะใช้การพูดคุยสอบถามกับนายจ้าง นอกเหนือจากเรื่องการเทียบโอนตัวชี้วัดต่างๆ และการเรียนออนไลน์ พ๊อตและเด็กคนอื่นๆ ที่เรียนในระบบนี้จะต้องสอบวัดผลทุกรายวิชา โดยไม่ลืมที่จะเน้นย้ำว่า “เมื่อเขาจบออกไป ต้องมีทั้งทักษะ ความรู้ และมีคุณภาพ” 

ข้อดีอีกประการหนึ่งสำหรับพ๊อตคือ การเรียนในหลักสูตรพิเศษนี้ช่วยให้พ๊อตไม่ต้องไปเรียนร่วมกับเด็กรุ่นน้อง ไม่ต้องเจอกับคำถามที่กระทบจิตใจ และไม่ต้องคอยหลบเลี่ยงสายตาคนอื่นที่อาจไม่เข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดในชีวิตของเขา

“พอเรียนแบบนี้แล้วผมไม่ต้องอายรุ่นน้องๆ และยังมีเวลาทำงานด้วย” 

วันนี้พ๊อตกลายเป็นนักเรียนตัวอย่างที่ทำให้การทำความเข้าใจในเงื่อนไขและข้อจำกัดในชีวิตเด็กคนหนึ่งที่เคยหลุดออกจากระบบเริ่มชัดเจนมากขึ้นว่า เด็กทุกคนควรมีโอกาสได้เรียน และพวกเขาสามารถเรียนจบได้ หากวิธีการเรียนนั้นสอดคล้องกับบริบทชีวิต ขอเพียงให้โอกาสทางการศึกษาที่ตอบโจทย์ชีวิตของเด็กทุกคน