มีผลวิจัยพบว่า “นักเรียนไทยในโรงเรียนชนบทมีผลการเรียนรู้ช้ากว่านักเรียนในเขตเมืองถึง 2 ปีการศึกษา” สาเหตุสำคัญเพราะขาดแคลนอุปกรณ์ สื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ขณะที่ความรู้ในโลกปัจจุบัน เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เทคโนโลยี กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ที่สำคัญ และจากผลสำรวจนักเรียน 2,444,512 คนใน 29 จังหวัด พบว่ามีนักเรียน 271,792 คน หรือ 11.12% เข้าไม่ถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในแต่ละปี ทำให้สูญเสียโอกาสในการเรียนรู้
เราจะแก้ปัญหานี้ให้จบลงได้อย่างไร กองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา เครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร และ ALTV ไทยพีบีเอส จัดกิจกรรม “ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน” ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ณ โรงเรียนบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยมีคุณครูจากโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลและเครือข่ายกว่า 200 คนเข้าร่วม
ในงานมีการเปิดพื้นที่เสวนาเพื่อเคลื่อนขบวนความร่วมมือ “All For Education – Education For All : การกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล” ระดมข้อเสนอจากทุกฝ่ายเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว โดยเชื่อว่า การบริจาคสิ่งของในธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าที่รอไม่ได้ การปฏิรูปงบประมาณและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาคือทางออกที่ยั่งยืน
กองทุนเพื่อความภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย ดร.อารี อิ่มสมบัติ นักวิชาการอาวุโส สำนักพัฒนาครูและสถานศึกษา เปิดข้อมูลสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำปีการศึกษา 2566 ในมิติด้านความยากจนภาพรวมประเทศไทย (ครัวเรือนมีรายได้รวมเฉลี่ย ไม่ถึง 3,000 บาท/เดือน) พบว่ามีเด็กยากจนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อ.1-ม.3) 1,222,998 คน (14.51%) จากนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย 8,430733 คน หรือเทียบได้ว่า เด็ก 10 คน จะเป็นเด็กยากจนคนครึ่ง
จังหวัดที่มีเด็กยากจนมากที่สุดในประเทศ คือ อุบลราชธานี 76,947 คน น้อยที่สุดคือ สมุทรสงคราม 133 คน ส่วนเชียงราย โรงเรียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ดอยสูง ทุรกันดารห่างไกล ติดอันดับ 20 มีนักเรียนยากจน 25,314 คน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมด 106,204 คน อยู่อันดับ 3 ของภาคเหนือรองจากจังหวัดเชียงใหม่และตาก
เจาะลึกข้อมูลจังหวัดเชียงรายในระดับอำเภอ พบว่า 5 อันดับที่มีจำนวนนักเรียนยากจนสูงที่สุด คือ อ.แม่สรวย อ.แม่ฟ้าหลวง อ.เมืองเชียงราย อ.เวียงแก่น และ อ.แม่จัน โดยถ้ามองสัดส่วนความหนาแน่นของนักเรียนยากจน อ.เวียงแก่น จะมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 41.65% อ.แม่สรวย 40.00% และ อ.แม่ฟ้าหลวง 32.31% นึกภาพตามจะทำให้เห็นสถานการณ์ชัดเจนที่สุด คือโรงเรียนบ้านสันก้างปลา ต.เจดีย์หลวง อ.แม่สรวย มีจำนวนนักเรียนยากจน 21 คนจากเด็กทั้งโรงเรียน 22 คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงถึงเกือบ 100% ขณะที่เมื่อลึกลงในระดับตำบลใน อ.แม่ฟ้าหลวง พบว่า ต.เทอดไทย มีนักเรียนยากจนมากที่สุด โดยจากจำนวนนักเรียนทั้งตำบล 5,491 คนในโรงเรียน 11 แห่ง มีนักเรียนยากจนอยู่ถึง 1,665 คน คิดเป็น 32.57% โดยโรงเรียนสามัคคีพัฒนาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สุดเขตชายแดนของประเทศ มีนักเรียนยากจนมากที่สุด 440 คน จาก 859 คน คิดเป็นสัดส่วนถึง 70%
“ข้อมูลที่นำเสนอนี้บอกเราได้โดยไม่ต้องคาดเดา ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ด้อยโอกาสขาดแคลนในด้านใดบ้าง ซึ่งข้อเท็จจริงคือเด็กกลุ่มนี้เกือบทุกคนไม่ได้กินอาหารเช้าก่อนมาโรงเรียน ขาดแคลนสิ่งของเครื่องใช้และเสื้อผ้าชุดนักเรียน จนถึงมีโอกาสน้อยมากในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ในโลกปัจจุบัน”
“ถ้าเราเชื่อตรงกันว่า การศึกษาจะช่วยนำพาคนคนหนึ่งให้ไปสู่การพัฒนาเคลื่อนย้ายไปยังจุดที่ดีขึ้น โอกาสไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้น จะยิ่งทำให้เห็นสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนขึ้น”
โรงเรียน ม.ปลาย อาชีวะ และมหาวิทยาลัยกระจุกในเมือง ยิ่งส่งผลให้เด็กยากจนเข้าถึงการศึกษาได้ยากขึ้น
ดร.อารี ระบุว่า ที่ อ.แม่สรวย ซึ่งมีนักเรียนยากจนมากที่สุด มีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเพียง 2 แห่ง ส่วนที่ อ.แม่ฟ้าหลวง ซึ่งมีจำนวนนักเรียนยากจนรองลงมา มีโรงเรียนที่สอนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 แห่ง หรือหากมองไปยังสถาบันการศึกษาสายอาชีพ ซึ่งรองรับความเชื่อที่ว่าหากต้องการให้ผู้เรียนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้เร็วและจะช่วยพาครอบครัวให้พ้นความยากจนได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา ก็พบว่าทั้งจังหวัดเชียงรายมีสถาบันอาชีวศึกษาเพียง 8 แห่ง ซึ่งกระจุกตัวอยู่ใน อ.เมือง ถึง 5 แห่ง อยู่ที่ อ.เวียงป่าเป้า อ.เวียงเชียงรุ้ง และ อ.เทิง อำเภอละ 1 แห่ง ขณะที่ถ้ามองถึงการศึกษาในระดับสูงกว่าขั้นพื้นฐาน (ม.6/ปวช.) บนความคาดหวังว่า การศึกษาจะช่วยสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพเพื่อมาช่วยพัฒนาท้องถิ่น เมื่อหันไปมองดูจำนวนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงราย ก็พบว่ามีอยู่เพียง 8 แห่ง ซึ่ง 6 ใน 8 แห่งตั้งอยู่ที่ อ.เมือง ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ที่ อ.พาน และ อ.แม่จัน ข้อมูลนี้กำลังบอกว่า สถาบันการศึกษาหลังการศึกษาภาคบังคับในจังหวัดเชียงราย มีจำนวนที่สวนทางกับความต้องการของผู้เรียน รวมถึงไม่สอดรับกับข้อจำกัดด้านอุปสรรคความห่างไกลและการเดินทางในพื้นที่ จึงแน่ใจได้ว่าทุกปีจะมีนักเรียนที่หลุดจากระบบไปตรงรอยต่อการศึกษาเป็นจำนวนมาก
ดร.อารี กล่าวว่า ด้านคุณภาพสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่จังหวัดเชียงราย ยังมีโรงเรียนถึง 8 แห่งที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนจำนวนครูต่อห้องเรียน จากภาพรวมของโรงเรียนสังกัด สพฐ. ที่ทั้งประเทศที่มีจำนวนครูคิดเป็น 1.40 คน ต่อ 1 ห้องเรียน แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลเฉพาะ ต.เทอดไทย จ.เชียงราย จะเห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำกับค่าเฉลี่ยมีระยะที่กว้างมาก โดยมีครูคิดเป็น 0.98 คน ต่อ 1 ห้องเรียน หรือมีครูน้อยกว่า 1 คนต่อห้องเรียน 1 ห้อง ยิ่งเมื่อดูข้อมูลรายโรงเรียน ที่โรงเรียนบ้านปางมะหันมีครูและบุคลากรรวมกันเพียง 4 คน ต่อการดูแลห้องเรียน 8 ห้อง หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 0.50 เท่านั้น หรือเมื่อดูจาก 7 อันดับแรกของโรงเรียนที่ขาดแคลนครูมากที่สุดใน ต.เทอดไทย จะเห็นว่าไม่มีโรงเรียนใดเลยที่มีอัตราครูต่อ 1 ห้องเรียนเกินกว่า 0.75 จึงเท่ากับว่าครูจำนวนมากในพื้นที่ ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลมากกว่า 1 ห้องเรียนในทุกปีการศึกษาตลอดมา
อีกประเด็นหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จากการสำรวจเด็กเยาวชนในช่วงวัย 3-18 ปี พบว่าจังหวัดเชียงรายมีเด็กเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบฐานข้อมูลการศึกษาใดเลยจำนวน 24,081 คน มากเป็นอันดับ 9 จากทั้งประเทศ โดยเมื่อเจาะลึกข้อมูลระดับอำเภอ พบว่าที่ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง มีจำนวนเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษามากที่สุดที่ 1,055 คน จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด 6,099 คน
ดร.อารี ระบุว่า ตัวเลขนี้ได้สะท้อนถึงภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งความเหลื่อมล้ำเริ่มต้นจากความห่างไกล ทุรกันดาร และความยากจน ถือเป็นชนวนสำคัญที่นำไปสู่การเข้าไม่ถึงโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ รวมถึงโอกาสการศึกษาต่อในระดับสูงที่จะช่วยพัฒนาตนเองให้มีรายได้พ้นจากเส้นความยากจน และด้วยการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงนำมาสู่จุดเริ่มต้นการทำงานของ กสศ. มูลนิธิกระจกเงา และเครือข่ายชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงในถิ่นทุรกันดาร ในการกระจายทรัพยากรการศึกษาเพื่อโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล โดยปักหมุดจัดกิจกรรม ‘ธนาคารโอกาสและถนนครูเดิน’ ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ ที่ ต.เทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เพื่อมุ่งระดมความร่วมมือทั้งภายในพื้นที่และจากภายนอก มุ่งสู่การปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกลร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้มีความยั่งยืนต่อไป