“เด็ก ๆ ตื่นเต้นกันมากว่างานฝีมือจากชนเผ่าเล็ก ๆ ที่เห็นชินตาอยู่ทุกวัน ซึ่งเขาคิดว่าไม่น่าจะดึงดูดความสนใจจากใครได้ แต่วันนี้กลับทำออเดอร์ได้คราวละ 400-500 ชิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เพียงทำให้พวกเขาดีใจหรือมีกำลังใจ แต่มันได้จุดประกายให้เขาหันกลับมามองถึงการต่อยอดชีวิตผ่านการเรียนรู้ มองเห็นเส้นทางอนาคตที่นอกเหนือไปจากการกลับไปทำงานในไร่นา หรือออกไปเป็นแรงงานในเมืองใหญ่”
‘ครูแป๋ม’ วิจิตรา ภูติโส ครูชั้นมัธยมต้น โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน ที่ตำบลตับเต่า อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายใน ของเด็กนักเรียนมัธยมต้น 57 คน หลังเข้าร่วมโครงการ Equity Partnership’ School Network อันเป็นกิจกรรมฝึกทักษะอาชีพพัฒนานวัตกรรม โดย กสศ. ที่ชวนเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติ มาร่วมงานกับ ‘นักเรียนทุนเสมอภาค’ เพื่อสานสร้างมิตรภาพระหว่างโรงเรียน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาศักยภาพไปด้วยกัน จนเกิดการสร้างสรรค์งานคราฟต์ที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งยังเป็นการต่อยอดสู่การจุดประกายการสร้างอาชีพในชุมชน ซึ่งจะเป็นฐานของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอนาคต
พบว่า ‘วิถีชีวิต’ คือ ‘มูลค่า’
ครูแป๋ม ในฐานะตัวแทนครูผู้ดูแลน้อง ๆ เล่าว่า โรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน เป็นโรงเรียนขยายโอกาสในพื้นที่ห่างไกล อยู่ลึกเข้าไปในพื้นที่ดอยสูง ห่างจาก อ.เมือง จ.เชียงราย มากกว่าร้อยกิโลเมตร นักเรียนทั้งโรงเรียนเป็นลูกหลานชนเผ่าม้ง 100% ที่ผ่านมาหลังจบชั้น ม.3 เด็ก ๆ เกินกว่าครึ่งหนึ่งจึงไม่มีโอกาสเรียนต่อ ส่วนใหญ่ออกไปช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำนา หรืออีกส่วนหนึ่งก็มุ่งหน้าเข้าเมืองไปหางานรับจ้างรายวันทำเลี้ยงชีวิต
อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัวเด็ก ๆ มาตลอด คือศิลปวัฒนธรรม เครื่องแต่งกายที่สวยงาม และวิถีการดำรงชีวิตที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งครูแป๋มได้เห็นมาตลอดสิบปีของการเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้
“ทุกเทศกาล ชนเผ่าม้งจะมีการทำชุด ทำเครื่องใช้ใหม่ ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งเหล่านี้เด็ก ๆ เขาไม่ได้คิดว่าเป็นคุณค่าความหมายที่พิเศษ เมื่อเราพาเขาร่วมโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Equity Partnership’s School Network จุดเปลี่ยนสำคัญเลยคือการได้รับรู้มุมมองความคิดจาก ‘คนข้างนอก’ ที่มองเข้ามา ซึ่งมันคือสายตาของความหลงใหลชื่นชมในคุณค่า ของผลงาน ของวิถีชีวิต ตรงนั้นเองคือจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์ ‘ปลอกหมอนอิง’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาและชีวิตประจำวันที่พิเศษของพวกเขา”
ประสบการณ์ความรู้จาก ‘คู่คิด’ ที่พาไปสู่ทุกความ ‘เป็นไปได้’
จากต้นทุนที่มีอยู่ เมื่อน้อง ๆ โรงเรียนบ้านรักแผ่นดินได้เป็น ‘Partnership’ ร่วมแลกเปลี่ยนกับพี่ ๆ ชั้น ม.4-ม.5 โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ภาคอินเตอร์ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มเรื่องเทคโนโลยี การออกแบบผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การใส่เรื่องเล่าเรื่องราวในท้องถิ่นที่มีคุณค่าลงบนชิ้นงาน รวมถึงการสร้างแบรนด์ที่ยกระดับมาตรฐานสินค้า บรรจุภัณฑ์ พร้อมเปิดตลาดผู้ซื้อให้กว้างออกไปบนโลกออนไลน์
เมื่อนั้นงานฝีมือธรรมดา ๆ ที่เด็ก ๆ เคยเห็น ก็ได้รับความสนใจตอบกลับมาอย่างล้นหลามจนผลิตกันแทบไม่ทัน
“ยอมรับว่าเราเองเคยคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นไปได้เลย คือแม้เห็นแล้วว่าในท้องถิ่นมีทุนวัฒนธรรมอยู่ แต่อย่างหนึ่งต้องยอมรับคือเราอยู่กันตรงนี้มันเหมือนถูกครอบไว้ด้วยสภาพแวดล้อมจำกัด การคิดการออกแบบส่วนใหญ่จึงวนเวียนกับอะไรเดิม ๆ ไม่เคยรู้กันเลยว่าคนข้างนอกมองเราอย่างไร ผลิตภัณฑ์เราได้รับความสนใจแค่ไหน หรือต้องทำอย่างไรให้ผลงานเป็นที่สนใจของคนในวงกว้างยิ่งขึ้น
“จนพี่ ๆ จากโรงเรียนสาธิต ฯ มาช่วยชี้ให้เด็ก ๆ เห็นว่า งานชิ้นหนึ่ง ๆ ควรใส่คุณค่าเข้าไปอย่างไร ออกแบบอย่างไรให้ตลาดได้รับรู้ความเป็นมา ได้เห็นว่ากว่าที่จะผลิตออกมาเป็นผลงานหนึ่งชิ้นมีการเดินทางผ่านอะไรมาบ้าง แล้วที่สำคัญคือการสร้างมาตรฐานชิ้นงานและการทำตลาด ที่ช่วยให้ผลิตภัณฑ์ฝ่าฟันไปจนถึงมือของคนที่เขามองเห็นคุณค่า ซึ่งช่วยให้ผลงานของเด็ก ๆ ทำราคาได้มากขึ้น”
ความสำเร็จระดับเหรียญทอง
หลังผ่านช่วงเวลาระดมศักยภาพ ผ่านการดูแลของพี่ ๆ โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ภาคอินเตอร์ จนได้ผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยเรื่องราวอัตลักษณ์ และตรงตามมาตรฐานที่วางไว้ ก็ถึงเวลาที่เด็ก ๆ จะได้นำ ‘ปลอกหมอนอิงวิถีชีวิต’ ออกไปอวดโฉมในระดับภาค กับการประกวดโครงงานอาชีพภาคเหนือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งท้ายที่สุด น้อง ๆ ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองกลับมา และเตรียมตัวจะเดินทางไปสู่เวทีที่ใหญ่กว่า ในงานแข่งขันศิลปหัตถกรรมระดับชาติ ครั้งที่ 70 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้
“การที่เราสร้างผลิตภัณฑ์จนสามารถเชื่อมโยงไปสู่รายได้ให้กับเด็ก ๆ และไปได้รางวัลชนะเลิศ รวมถึงได้เป็นตัวแทนเขต เป็นเรื่องน่าดีใจมาก ๆ แต่สิ่งที่ครูทุกคนภาคภูมิใจที่สุด คือการได้เห็นเด็ก ๆ ได้ไปนำเสนองานต่อหน้าคณะกรรมการอย่างมั่นใจ คือตลอดเวลาที่ผ่านมา เด็กทั้ง 57 คนเขาแสดงให้เห็นว่ามีความตั้งใจ และทำได้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน ส่วนการไปสู่ระดับประกวด เรามีตัวแทนของน้อง ๆ สามคนที่เขาพร้อมรอบด้าน เข้าใจงานทุกขั้นตอน นำเสนองานได้ แล้วพอชนะกลับมา เด็ก ๆ เขาดีใจด้วยกันทุกคน เพราะทีแรกไม่ได้คิดเลยว่างานจะไปสู้กับโรงเรียนอื่น ๆ ได้ แต่เพราะความตั้งใจ ประสบการณ์การลงมือทำด้วยตัวเองจริง ๆ มันทำให้เขาตอบคำถามได้ทั้งหมด ทั้งที่เมื่อก่อนเด็กโรงเรียนเราพูดไม่เก่งเลย ไม่เคยต้องออกไปเจอคนเยอะ ๆ ด้วยซ้ำ แล้วเขาจะไม่ค่อยมั่นใจในตัวเอง ทั้งด้วยการพูดภาษาถิ่นเป็นภาษาที่หนึ่ง แต่เกือบสองปีกับการได้อยู่ในความดูแลของพี่ ๆ สาธิต ฯ ได้เปลี่ยนแปลงให้เขากล้าพูด กล้านำเสนอ แล้วพี่ ๆ ก็ยังให้กำลังใจน้องเสมอว่าพวกเขาทำได้”
จุดประกายให้มองไปยังอนาคต กับการสร้าง ‘เครือข่ายอาชีพในชุมชน’
ครูแป๋มกล่าวว่า ‘มูลค่า’ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เด็ก ๆ และทางโรงเรียนบ้านรักแผ่นดินได้รับจากโครงการพัฒนาความยั่งยืนของนวัตกรรมเครือข่ายสถานศึกษาเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา Equity Partnership’s School Network ครั้งนี้ คือการเปิดกว้างด้านการประกอบอาชีพ โดยที่เด็ก ๆ ไม่ต้องถูกตีกรอบจำกัดไว้กับแค่งานในสวนในไร่ หรือออกไปแสวงโชคที่ต่างถิ่นอีกแล้ว เพราะวันนี้เขาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้จากต้นทุนที่มีอยู่
“เราได้เห็นเด็กมีกระบวนการคิด เริ่มมองเห็นอนาคตตัวเอง จากเมื่อก่อนเรียนจบแล้วเขามีเส้นทางแค่กลับไปอยู่บ้าน หรือไปหางานรับจ้างทำในชุมชนที่ใหญ่กว่า แต่โครงการนี้มันพลิกความคิดเด็ก ตั้งแต่วันที่ผลงานจากชนเผ่าเล็ก ๆ สามารถเปิดตลาดให้กว้างออกไปได้ การที่คนให้ค่ากับสิ่งที่เขาทำ มันกลายเป็นความภูมิใจ เป็นคุณค่า เป็นความชัดเจนว่างานฝีมือธรรมดา ๆ ของชนเผ่าเล็ก ๆ ที่เขาเคยคิด มันได้เติมคุณค่าในใจของเขา จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ความฝันความหวังใหม่ ๆ เกิดขึ้น
“วันนี้มีเด็กหลายคนที่บอกว่าตั้งใจจะมุ่งทางนี้ จะหาทางต่อยอดไปให้ได้เมื่อเรียนจบ มีการคุยกันว่าจะรวมกลุ่มทำกันอยู่ที่ชุมชนบ้านเกิดโดยไม่มีใครต้องไปดิ้นรนหางานทำที่ไหนอีก แล้วไม่ใช่แค่เอาสิ่งที่มีอยู่ไปทำซ้ำ ๆ แต่เขามองไปไกลถึงการออกแบบ การเย็บ การผลิต ด้วยวิธีด้วยไอเดียใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ยิ่งกว่าเดิม รวมถึงพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ต่อไปด้วย นี่คือเส้นทางที่เปิดขึ้นแล้ว”
นอกจากนี้ครูแป๋มยังมองว่าความร่วมมือระหว่างโรงเรียนที่เกิดขึ้น นับว่าเป็นการช่วยร่นระยะห่างระหว่างโรงเรียนที่ห่างไกลกับโรงเรียนในเมืองให้กระเถิบเข้ามาใกล้กันยิ่งขึ้น ทั้งจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถ่ายเทความเข้าอกเข้าใจระหว่างกัน รวมถึงมิตรภาพของเด็ก ๆ ที่บ่มเพาะและจะยืนยาวต่อไปแม้หลังโครงการสิ้นสุดลงแล้ว
ประสบการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นนี้ นับว่าเป็นหนทางหนึ่งของการกระจายความเสมอภาคทางการศึกษาไปสู่โรงเรียนและน้อง ๆ ในถิ่นทุรกันดาร ที่ต่างก็ต้องการโอกาสพัฒนาศักยภาพตนเอง เพื่อค้นพบหนทางในการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต ด้วยฐานทุนที่มีในท้องถิ่นชุมชนของตน
ในส่วนการเติมเต็มของโรงเรียน ตัวแทนครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านรักแผ่นดิน กล่าวว่า วันนี้โรงเรียนได้สนับสนุนให้มีกิจกรรม ‘พี่สอนน้อง’ ขยายองค์ความรู้ไปยังเด็กชั้นอื่น ๆ ส่งต่อกันจากคนที่เรียนกำลังจะจบไปถึงตัวแทนรุ่นใหม่ ๆ ที่กำลังก้าวขึ้นมา นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายขยายไปยังชุมชน และผู้ปกครองที่มีความสามารถ ให้เข้ามามีบทบาท เป็นการเชื่อมโยงผลผลิตจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน ให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้เล็ก ๆ ที่จะต่อยอดแผนการไปได้ในระยะยาว