เรื่องเล่าต่อเนื่องจาก ‘เวทีสานพลังเครือข่ายเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการดูแลเด็กและเยาวชนจังหวัดลำปาง’ ที่ กสศ. ร่วมกับคณะทำงานด้านการศึกษาหลายภาคส่วน เพื่อถ่ายเทประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ แบ่งปันทรัพยากร พร้อมร้อยรวมเครือข่ายวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบด้วยหวังให้เกิดการจัดการเรียนรู้สำหรับทุกคน สร้างพื้นที่ชุมชนการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองได้ตลอดทุกช่วงชีวิต ก้าวไปสู่การยกระดับเป็น ‘จังหวัดจัดการตนเอง’
การสร้างพื้นที่การศึกษารูปแบบใหม่ หมายถึงทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้จากทุกที่ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนหรือในห้องเรียน โดยใช้ ‘ชุมชนเป็นฐาน’ ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา เรามีผู้พิการ 10% และผู้สูงอายุอีก 26% การสำรวจความต้องการพบว่า 80% ของประชากรกลุ่มนี้อยากมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้มาช่วยครอบครัวโดยไม่ต้องการเป็นภาระพึ่งพิง
“ต้นทุนที่มีในชุมชนคือเรื่องอาหาร เราจึงนำมาออกแบบโจทย์ทำงาน ให้ทุกบ้านปลูกผักสวนครัว จัดระบบการผลิตและแบ่งปันให้เป็น ‘ธนาคารอาหาร’ ที่เพียงพอสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ออกแบบตามหลัก Universal Design Food ให้มีอาหารที่ปลอดภัย มีคุณค่า เหมาะสมกับคนแต่ละช่วงวัย จากนั้นไปต่อที่ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม จัดการอบรมให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรปลอดสารเคมี ผ่านการลงมือปฏิบัติทุกกระบวนการ แล้วเมื่อกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน ก็เกิดการขยายเครือข่ายส่งต่อความรู้ ต่อยอดสู่การแปรรูปวัตถุดิบ ในเวลาราวสองปี ลำปางหลวงจึงมีกลุ่มเกษตรอินทรีย์หลายกลุ่ม ที่ทั้งผลิตอาหาร พัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยกันดึงผู้สูงอายุและผู้พิการเข้ามาร่วมเครือข่ายเพิ่มขึ้น เป็นการดูแลกันในพื้นที่ที่ยั่งยืน”
“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจความแตกต่างในการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนที่มีต้นทุนต่างกัน เป็นการเรียนรู้ที่ค่อยเป็นค่อยไป เรียนซ้ำได้ เลือกเวลาเรียนตามความพร้อมได้ แล้วเราสามารถคัดเลือกคนที่เรียนรู้ได้เร็วกว่าไวกว่า มาพัฒนาให้เป็นวิทยากรชุมชนช่วยส่งต่อความรู้ นอกจากนั้นต้องรวมองค์ความรู้มากำหนดให้เป็นศาสตร์ประจำท้องถิ่น เป็นหลักสูตรที่ใครก็ตามสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ โดยคนในชุมชนสอนกันเอง ออกแบบวิธีการเรียนรู้และดูแลกันเองได้
“จนวันนี้ ตำบลลำปางหลวงเรามีกลุ่มแปรรูปผลผลิต มีกลุ่มเพาะเห็ด มีกลุ่มปลูกผักที่กระจายในพื้นที่ พร้อมแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกัน เป้าหมายต่อไปคือเราต้องการให้ตำบลของเราเป็นพื้นที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ใครจะเรียนจากที่ไหนก็ได้ ทั้งในพื้นที่จริงหรือผ่านออนไลน์ มีเครดิตให้ต่อยอด และมีการประเมินมูลค่าทางสังคมให้กลุ่มเป้าหมายเห็นด้วยว่า สิ่งที่ทำสามารถพาไปถึงการพัฒนาคุณค่าชุมชนสังคมอย่างไร”
สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์ ผอ.กองสาธารณสุข เทศบาลตำบลลำปางหลวง อ.เกาะคา จ.ลำปาง
เครือข่ายมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต กับ ‘พื้นที่ของเด็กไม่ถนัดด้านวิชาการ’
“โรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ มีเด็กที่ขาดความพร้อมในหลายด้าน ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงหลุดจากระบบและการพัฒนาทักษะ การร่วมเครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง TSQP ทำให้เรามีระบบช่วยเหลือเรื่องการพัฒนาศักยภาพตามกลุ่มอาชีพ มีการดูแลความปลอดภัยใกล้ชิด แล้ววันหนึ่งเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นโมเดลที่สร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนได้เต็มพื้นที่ ด้วยพลังบวกและทัศนคติแบบ Growth Mindset ของครูและเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนหลุดพ้นจากปัญหา เพราะเราไม่อยากให้เด็กคนไหนต้องพลาดไปในช่วงรอยต่อการศึกษาแต่ละระดับ อยากให้ทุกคนไปต่อได้”
ว่าที่ร้อยตรีวรัญญู เรือนคำ ครูโรงเรียนทุ่งกว๋าววิทยาคม จ.ลำปาง
“หลักสูตรที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ห้องเรียนของเราไม่มีนักเรียนกลุ่มอ่อนหรือกลุ่มแข็งอีกแล้ว แต่ทุกคนมีบทบาทของตัวเองเท่า ๆ กัน”
“อย่างบางคนเคยขาดเรียนบ่อยเพราะไม่ถนัดวิชาการ อ่านเขียนคำนวณไม่คล่อง พอเปลี่ยนมาเรียนแบบ Active Learning เด็กได้ทำในสิ่งที่ถนัด ทำให้เขาพบตัวเอง เจอทางที่จะพัฒนาศักยภาพภายใน สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นแกนนำทำกิจกรรม ถ่ายทอดความชำนาญให้เพื่อนได้ แล้วเขาเริ่มรู้จักที่จะวางแผนอนาคต วาดเส้นทางการศึกษาและอาชีพ จนเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ได้ด้วย”
วรุฒ หล้าบือ ครูโรงเรียนอนุบาลวังเหนือ จ.ลำปาง
“เรามีโมเดลพัฒนากลุ่มนักเรียนและแรงงานที่ขาดโอกาส โดยเปิดฝึกอบรมทักษะอาชีพตามกลุ่มความสนใจ กลุ่มอาชีพหลัก ๆ คือช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศตามบ้าน ช่างเชื่อม ช่างยนต์ ข้อดีของสถาบันเราคือใช้เวลาอบรมแค่ 2-6 เดือน กลุ่มเป้าหมายก็พร้อมทำงานทันที และไม่ใช่แค่ให้มีทักษะ แต่เป้าหมายคือส่งต่อไปถึงการประกอบอาชีพ สำหรับเยาวชนคนไหนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายแรงงานกำหนด ก็จับมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยรับรอง ผู้ที่ผ่านการอบรมจึงมั่นใจได้ว่าจะมีงานทำทุกคน”
บุญเรือง สุนทรสลิษฏ์กุล ผอ.กลุ่มงานประเมินและรับรองความรู้ความสามารถ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ลำปาง
“เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานเยอะแยะมากมายในทุกปี ผมจะขอความเมตตาว่าแบ่งงบมาพัฒนาการศึกษาพัฒนาอาชีพก่อนดีไหม หยุดสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ ๆ สักพัก แล้วเอางบประมาณมาลงที่ต้นทางของปัญหา คือการศึกษาของผู้คนกันเถิด
“ทุกวันนี้ผมเห็นสถานศึกษาในที่ห่างไกลหลายแห่งปิดลง อาคารเรียนถูกทิ้งร้างกลายเป็นที่มั่วสุมของเยาวชน ผมคิดว่าปัญหาต่าง ๆ มันเกี่ยวพันกันหมด คือไม่ใช่แค่การศึกษา แต่เป็นเรื่องของสังคมโดยรวม ดังนั้นทุกภาคส่วน ทุกคนที่อยู่ในชุมชนต้องช่วยกันดูแล ช่วยกันมองว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ควรแก้ไขอย่างไร จะทำอย่างไรให้พื้นที่ชุมชนเปลี่ยนเป็นเวทีกิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้ประโยชน์ที่สุด
ดังนั้นการกระจายอำนาจหรือความร่วมมือของคนในพื้นที่จึงสำคัญมาก เพราะการจะทำงานแก้ปัญหาให้ตรงจุด เราต้องทำความเข้าใจให้ได้ก่อนว่าพื้นที่แต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะอย่างไร”
ดร.ชูชาติ คำมา นายอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง
“สมัชชาการศึกษานครลำปางตอบโจทย์ให้เห็นว่า การสร้างระบบที่เอื้อต่อการเติบโตงอกงามของเยาวชนบนเงื่อนไขความรุนแรงของสภาพปัญหา เป็นเรื่องที่ท้าทายและเร่งด่วนมาก ๆ ถ้าภาคีเครือข่ายความร่วมมือไม่ผนึกกำลังกันให้เร็วพอ ไม่เข้าใจสภาพที่เป็น ไม่ลงพื้นที่ ไม่ชวนกันคุยเพื่อช่วยกันออกแบบระบบ เราจะไม่มีทางตามทันปัญหาที่เผชิญอยู่
“นี่คือการให้ความหมายของพื้นที่การศึกษาแบบใหม่ ว่าพื้นที่เล็ก ๆ ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ด้วยตัวเอง ด้วยชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีผู้เรียนที่เปลี่ยนเป็นครู มีนิเวศการเรียนรู้ที่สามารถผลิตครูคนสุดท้ายที่เยี่ยมยอด คือพัฒนาผู้เรียนไปถึงการเป็นครูที่สอนตัวเองได้ หมายถึงใครก็ตามที่ได้รับการสนับสนุนผลักดันให้พร้อมเรียนรู้ เขาจะเรียนจากทุกสิ่งรอบตัวได้”
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ
“ในสังคมที่อยู่ร่วมกัน ถ้าทำงานแบบต่างคนต่างทำ เราไม่มีทางแก้ปัญหาได้เต็มที่ กลุ่มคนที่ต้องมีคนเข้าใจ เอาใจใส่ เราต้องช่วยกันส่งต่อโอกาสเพื่อให้เขาสามารถลุกขึ้นยืนหยัดได้
“สิ่งที่ค้นพบจากการทำงานโดยร้อยรวมเครือข่ายพื้นที่คือ ถ้าระบบราชการคุยกัน สร้างสมัชชาเครือข่าย ทุกคนจะรับรู้ไปด้วยกันว่าจะส่งต่อหรือใช้ทรัพยากรอย่างไร หลักการของการทำงานด้วยเครือข่ายสมัชชาเป็นอย่างนี้ ขอขอบคุณทุกท่านที่มารวมกัน มาทำงานเพื่อประกอบสิ่งที่ดูเล็กน้อยให้เป็นการสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการบริหาร กสศ. และประธานอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนและประชากรวัยแรงงานนอกระบบ