ด้วยการมองเห็นไม่ค่อยชัดเจนนัก เลยเรียนรู้ได้ช้า ไม่ทันเพื่อน บวกกับสังคมแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ผู้สอน และมักถูกเพื่อนในชั้นเรียนมองข้ามเสมอ ๆ เมื่อมาเจอกับสถานการณ์โควิด ทุกอย่างจึงแย่ลง ทั้งความเครียด เรียนไม่เข้าใจ เกรดตก จนในที่สุดก็ถูกรีไทร์ออกจากมหาวิทยาลัยที่เรียนอยู่ในตอนนั้น
หากไม่ได้รับโอกาสอีกครั้ง เส้นทางการศึกษาของ ‘เต้ย’ วรพงษ์ ไชยกันธ์ อาจจบลงแค่นี้ แต่ท่ามกลางความมืดมิดของถนนสายอนาคต เขาได้รับการแนะนำให้สมัครเข้ารับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ของ กสศ. เพื่อศึกษาต่อในระดับ ปวส. สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล ที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ และปัจจุบันหลังจบการศึกษา เขาได้ทำงานที่ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงใหม่ ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ธุรการ รับผิดชอบงานด้านประชาสัมพันธ์สื่อสารองค์กรผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล รวมไปถึงงานออกแบบป้ายกิจกรรมต่าง ๆ
ย้อนกลับไปช่วงที่เต้ยประสบปัญหาด้านการเรียน บางคนอาจมองว่าถ้าถูกรีไทร์ก็แค่หาที่เรียนใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ได้ แต่เนื่องจากสถานะทางการเงินของครอบครัวทำให้เขาไม่อยากเป็นภาระในการส่งเสีย ทั้งค่าสมัครสอบ ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่อาจจะจบลงด้วยการถูกรีไทร์แบบเดิม เพราะปัญหาเรื่องการมองเห็นยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียน
“ผมเป็นเด็กที่มีปัญหาสายตาครับ เวลานั่งเรียนผมแทบจะมองกระดานไม่เห็นเลย ต้องขยับโต๊ะไปนั่งติดกับกระดานเพื่อให้เห็นสิ่งที่ครูเขียน แล้วเมื่อก่อนครูเขาใช้ชอล์ก เวลาเขียนแล้วลบ ฝุ่นก็เข้าจมูกจนเป็นภูมิแพ้ เป็นปัญหาแบบนั้นมานานครับ จนจบ ม.6 ผมก็ไปต่อมหาวิทยาลัย ช่วงนั้นเป็นปีที่โควิดมาพอดี ปกติก็เรียนตามเพื่อนไม่ทันอยู่แล้ว ยิ่งอยู่ในมหาวิทยาลัย 1 เซคเขาเรียนกัน 200-300 คน ยิ่งนั่งไกลกว่าเดิม โทรศัพท์ซูมก็ยังลำบากเลย ก็เลยหนักเลย ตามเพื่อนไม่ทัน โดนรีไทร์
“พอโดนรีไทร์ ตอนนั้นเรียนได้ปี 2 เทอม 2 แล้วครับ ออกมาก็ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน ก็เลยทำงานขายของออนไลน์ไปก่อน จนมาเจอทุนนี้ครับ ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ที่วิทยาลัยสารพัดช่าง เขาก็แนะนำว่ามาเรียนที่นี่ไหม มีเพื่อนๆ ที่มีความบกพร่องเหมือนกัน เดี๋ยวอาจารย์ เพื่อน ๆ ทุกคนจะช่วยกัน”

เริ่มต้นใหม่ในสังคมการเรียนรู้ที่โอบอุ้มผู้มีความต้องการพิเศษ
เมื่อได้เริ่มต้นใหม่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน อาจารย์ใส่ใจนักศึกษา มองเห็นจุดเด่นจุดด้อยของเด็กแต่ละคนและคอยเติมเต็มในส่วนนั้นๆ ทำให้ข้อจำกัดที่เคยมีของเต้ยแทบจะไม่ได้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป เขาสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มศักยภาพและมีความสุขกับการเรียนในสถานศึกษาแห่งใหม่
“ก่อนที่เราจะรีไทร์จากที่เดิม ผมมักจะเป็นตัวแตกต่างในสังคม มีอยู่ครั้งหนึ่งเป็นวิชาภาษาอังกฤษ อาจารย์เอาโจทย์ขึ้นจอ แล้วให้เราเขียนในสมุด ตอนนั้นผมนั่งไกลด้วย เพื่อนทุกคนก็ทำเสร็จกันหมดแล้ว ผมมองไม่ค่อยเห็นผมก็ค่อยๆ เขียน ออกจากห้องคนสุดท้ายตลอด ทุกคลาสเลย เพื่อนกลับบ้านกันหมด อาจารย์ต้องนั่งรอผมเขียน ก็เป็นปัญหาใหญ่เลยที่ไม่มีใครช่วยเหลือ”
เต้ยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในห้องเรียนที่เคยเป็นปัญหา และสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากได้มาเรียนอีกครั้งที่วิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ “ทุกอย่างก็ดีขึ้นครับ ได้เจออาจารย์ที่เข้าใจเด็ก เข้าใจว่าเด็กคนนี้มีปัญหาทางด้านสายตา ค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป จุดไหนที่เรายังไม่เข้าใจก็จะเน้นให้เลย จนเราเข้าใจ”
เต้ยเล่าว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงที่เขาได้รับนั้น ทำให้เขาได้เรียนฟรีจริง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว อีกทั้งยังสนับสนุนค่าใช้จ่ายรายเดือน เดือนละ 7,500 บาท โดยจะสอนการบริหารเงิน การทำรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน รวมถึงคอยดูแลทั้งสุขภาพกายและใจด้วย

โอกาสทางการศึกษาเปลี่ยนความเลือนรางเป็นเส้นทางสู่อนาคต
แม้ในวัยเด็กความฝันของเต้ยคือการเป็นช่างภาพ แต่ด้วยเงื่อนไขที่มีอยู่ทำให้เขาต้องเดินในอีกเส้นทาง ที่แม้จะไม่ได้ฝันแต่ก็ยังตอบโจทย์ชีวิตเพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่ค่อนข้างมั่นคง ยังได้ใช้ทักษะความรู้หลากหลาย ทั้งด้านการออกแบบ การประชาสัมพันธ์ รวมไปถึงยังมีโอกาสได้ถ่ายภาพเก็บภาพบรรยากาศงานต่าง ๆ ซึ่งทำให้เขาได้กลับมาทำในสิ่งที่ชอบ เป็นการเติมไฟในการทำงานไปในตัว
ถึงอย่างนั้นเต้ยยังมองต่อไปในอนาคตว่าเขาอยากเรียนต่อในระดับปริญญาตรี เพราะวุฒิการศึกษาสามารถต่อยอดในสายอาชีพได้มากกว่า นั่นหมายถึงฐานเงินเดือนที่สูงขึ้นด้วย
“การสอบบรรจุเป็นข้าราชการต้องใช้วุฒิปริญญาตรี ผมเพิ่งไปสอบ กพ. มา เพิ่งผ่านภาค ก. ซึ่งหลาย ๆ สำนักงานเขาต้องการวุฒิขั้นต่ำอย่างน้อยก็ต้องเป็นปริญญาตรี แต่ผมวุฒิ ปวส. ก็มีคนรับนะครับ แต่ว่าเงินเดือนมันน้อยกว่า ก็เลยอยากจะต่อปริญญาตรี เพราะว่าอนาคตมันไปได้ไกลกว่า”

เมื่อถามความเห็นในมุมของเด็กที่เกือบจะต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ทว่าได้รับโอกาสให้กลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้อีกครั้ง เขาบอกว่าเหมือนเป็นการต่อชีวิตต่อความหวังไม่เฉพาะตัวเขาเองแต่รวมถึงครอบครัวด้วย
“ตอนโดนรีไทร์ ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหนเลยครับ ไปต่อไปถูกเลย จะต่อมหาวิทยาลัยก็เดี๋ยวจะลูปเดิม ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ไม่รู้จะได้เรียนไหม ไม่รู้ว่าจะได้ทำงานหรือเปล่า จะเป็นภาระของครอบครัวหรือเปล่า พอเจอทุนนี้ก็ดีขึ้น เรียนจบก็มีวุฒิการศึกษาเป็นใบเบิกทางในการทำงาน การศึกษาจึงสำคัญมากครับ
“ก็ต้องขอบคุณทุกคนมาก ๆ เลยครับที่เปิดโอกาสให้เด็กพิการอย่างผมได้มีโอกาสเรียน พอเรียนจบได้มีโอกาสมาทำงาน มีเครือข่ายสนับสนุน มีสังคมที่ดี ตั้งแต่ที่ไปกับกสศ. มาทั่วประเทศเลย ได้ไปเจอเด็กพิการทางการได้ยิน หรือพูดไม่ได้ ผมก็ได้เจอเพื่อน ๆ กลุ่มนี้ด้วย”
ซึ่งเขาฝากความห่วงใยไปถึงเด็ก ๆ ที่อาจมีความบกพร่องทางด้านร่างกาย ว่าอย่าเพิ่งหมดหวังในการเรียนรู้ ถ้ามีโอกาสขอให้เรียนให้ได้สูงที่สุด แต่ถ้ามองไม่เห็นโอกาส ลองเข้ามาค้นหาทุนการศึกษาในเว็บไซต์ของ กสศ. หรือองค์กรอื่น ๆ ที่พร้อมให้การสนับสนุน
“ใครที่มีปัญหาเหมือนผม หรืออาจจะพิการในด้านอื่น ลองเปิดโอกาสให้ตัวเอง อย่าเพิ่งคิดว่าสภาพอย่างเราคงเรียนไม่ได้หรอก ลองเปิดโอกาสดูครับ ถ้าเข้ามาอยู่ในสังคมทุนแล้ว ทุกคนพร้อมช่วยเหลือเราจริง ๆ ทุกคนเขาเข้าใจ มันยังมีกลุ่มคนที่เข้าใจเราอยู่นะ”
ในฐานะนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนมีความต้องการพิเศษ เต้ยกล่าวถึงความภาคภูมิใจและขอใช้โอกาสนี้ส่งต่อกำลังใจไปถึงทุกคนที่กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเอง
“ทุกคนมีความสามารถอยู่ในตัวเอง อย่างเช่นผมเมื่อก่อน ผมเรียนไม่ได้เรื่องเลย สอบตกหลายวิชา แต่พอมาเรียน มาเจอในเส้นทางที่เราชอบ เจอเส้นทางที่เราถนัดแล้วเราอาจจะเป็นคนที่เก่งในสายทางนั้นเลยก็ได้ ต้องลองค้นหาตัวเอง ลองเรียน ลองพยายามดูก่อน แล้ววันนึงผลที่เราพยายามมันจะสำเร็จเอง
“ทุกการกระทำมีผลตอบแทนอยู่แล้ว ให้โอกาสตัวเองก่อน แล้วก็ไม่ปล่อยโอกาสให้หลุดมือ เพราะโอกาสมันไม่ได้มีมาง่าย ๆ ต้องใช้ให้คุ้ม”