แม้ตัวเลขการเยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจนของโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรังจะยังต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่ นางสาวลัดดาวรรณ เดชประสิทธิ์ นักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรัง แลกเปลี่ยนในวงสนทนา “ถอดบทเรียนท้องถิ่นต้นแบบในการขับเคลื่อนภารกิจสนับสนุนการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่” ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจเพื่อการสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อมั่นว่าตัวเลขนี้จะดีขึ้นในอนาคต เพราะได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการค่อย ๆ สร้างความเข้าใจให้กับโรงเรียนในพื้นที่ไปอย่างต่อเนื่อง
ผอ.ลัดดาวรรณ เล่าว่า การขับเคลื่อนงานกับครูในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรัง คือการส่งเสริมเรื่องความสำคัญในการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อเก็บข้อมูลการคัดกรองนักเรียนยากจน ร่วมกับ กสศ. ซึ่งได้เริ่มขับเคลื่อนด้วยรูปแบบเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่
“เราขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยการพยายามให้ทั้งครูและจังหวัด ต่างต้องเรียนรู้เรื่องนี้ไปพร้อม ๆ กัน ว่าจะทำอย่างไรในการกำหนดวิธีในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เมื่อได้องค์ความรู้จากการพูดคุยกัน ก็นำความรู้นั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานในพื้นที่ และให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำงานในพื้นที่จากโรงเรียนต่าง ๆ ในสังกัดของเรา
ผอ.ลัดดาวรรณ เชื่อว่าการสื่อสารถึงกัน อาจใช้เวลานานในบางเรื่อง แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นเสมือนการกำกับติดตามการทำงาน และติดตามความก้าวหน้า แม้การเดินทางลงพื้นที่เยี่ยมบ้านนักเรียนเพื่อเก็บข้อมูล จะยังมีตัวเลขที่ยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการวางรากฐานการทำงาน สำหรับพัฒนาและขยายผลไปสู่การคัดกรองที่เข้มแข็งจนเต็มพื้นที่ในอนาคตต
“สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรัง ได้เน้นย้ำว่าการเก็บข้อมูลโรงเรียนในสังกัดของเรา จะต้องสื่อสารและรายงานข้อมูลตามข้อเท็จจริงที่พบเจอจากในพื้นที่ เพื่อมาแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มสำหรับนำไปออกแบบความช่วยเหลือให้ตรงกับปัญหาที่เด็กเผชิญอยู่ แม้ในส่วนของเงินอุดหนุนจะไม่ใช่จำนวนเงินที่มากสำหรับบางคน แต่ข้อมูลของเด็กที่ได้รับเงินในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์มหาศาลสำหรับการนำไปสร้างโอกาสด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่เกิดประโยชน์กับตัวเด็กให้มากที่สุด และท้องถิ่นสามารถนำข้อมูลไปช่วยให้เด็กมีโอกาสได้อย่างดีขึ้นและเท่าเทียมขึ้น”
ผอ.ลัดดาวรรณ มั่นใจว่าการสร้างรากฐานการทำงานให้เข้มแข็ง คือเริ่มต้นจากระบบสื่อสารที่ทำให้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงจากพื้นที่อย่างครบถ้วน เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลสำหรับออกแบบระบบการส่งต่อความช่วยเหลือนักเรียน ให้มีโอกาสเรียนต่อได้สูงขึ้นหรือพัฒนาตัวเองตามศักยภาพ ออกแบบระบบการแจ้งเตือนและติดตามตลอดจนจบการศึกษาภาคบังคับ ป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา และออกแบบแนวทางในการบูรณาการความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ได้มาจะเป็นองค์ความรู้ที่สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดตรัง สามารถนำไปถ่ายทอดยังจังหวัดอื่น ๆ ที่อยากได้โมเดลในการทำงานและวิธีในการปฏิบัติได้อีกด้วย