แรงสนับสนุนสำคัญ ที่มีส่วนช่วยทำให้นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษหรือผู้พิการได้มีอาชีพและมีรายได้ เพื่อดูแลตัวเองได้อย่างภาคภูมิใจ นอกจากการเปิดใจ ให้โอกาส ของผู้คนในสังคมแล้ว ภาคธุรกิจเอกชนที่เกี่ยวข้องยังเป็นกลไกสำคัญ ที่ช่วยบ่มเพาะศักยภาพและเพิ่มโอกาสให้นักศึกษาทุนกลุ่มผู้มีความต้องการพิเศษได้ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานหลังสำเร็จการศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กสศ. โดยโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์จุฬาฯ (ทีมหนุนเสริม)ได้ร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ อย่าง Café Amazon for Chance บริษัทสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มปตท. บริษัทสยามมิชลิน จำกัด(แหลมฉบัง) และบริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด ในการพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตการทำงาน โดยมีแนวปฏิบัติรองรับ ด้วยความหวังและความเชื่อมั่นในศักยภาพของน้องๆ ได้มีโอกาสทำงานในบริษัทที่มั่นคง เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และมีมาตรฐานระดับประเทศต่อไป
นักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ มีข้อจำกัดของร่างกายที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกคนคิดไม่ต่างกันคืออยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ด้วยการใช้ทักษะอาชีพที่เรียนมาพัฒนาตัวเองและหารายได้เพื่อช่วยเหลือครอบครัวต่อไป
ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำหนดว่า ในการจ้างพนักงาน 100 คน ต้องมีผู้พิการ 1 คน (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม)
แต่เราพบว่ามีองค์กรหลายแห่งที่ไม่ได้รับคนพิการเข้าทำงานเพียงเพราะกฎหมายกำหนด แต่เปิดกว้างและมุ่งมั่นที่จะให้โอกาสกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเหล่านี้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมผ่านการทำงานในวิชาชีพ ขณะที่ภาครัฐเองก็มีกลไกหลายอย่างที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการด้วย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ร่วมผลักดัน และเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุนผู้มีความต้องการพิเศษ ได้ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานหลังจบการศึกษา เพื่อทุกคนจะมีโอกาสพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและเป็นที่พึ่งของครอบครัวได้อย่างแท้จริง
“จริงๆ แล้ว คนพิการมีศักยภาพไม่ได้แตกต่างจากคนปกติ แต่บางครั้งสิ่งที่เขาพิการ ทำให้เขามีข้อจำกัดในบางเรื่อง เราก็ต้องพัฒนาแล้วดึงศักยภาพของเขามาให้ดีที่สุด ก็จะค้นพบว่าคนพิการแต่ละคนก็สามารถที่จะเป็นคนต้นแบบได้”
CRG คือ กลุ่มธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล ซึ่งบริหารจัดการร้านอาหารแบรนด์ดังอย่าง KFC มิสเตอร์โดนัท และอีกหลายแบรนด์ที่คุ้นหูกันดี CRG จ้างงานคนพิการมากว่า 9 ปี ในสัดส่วนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด ปัจจุบันจึงมีคนพิการทำงานที่นี่กว่า 100 คน ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางการได้ยิน แต่ก็มีด้านอื่น เช่น ด้านการเคลื่อนไหว ด้านสายตา โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อย่างใกล้ชิด จัด job fair รวมถึงร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้เข้าถึงคนพิการได้มากที่สุด และ CRG ยังมีความร่วมมือกับ กสศ. โดยมีผู้แทนร่วมให้ความเห็นในการพัฒนาหลักสูตรสำหรับจัดการเรียนการสอนกับสถานศึกษาที่ร่วมโครงการ และล่าสุดยังช่วยให้คำแนะนำ และร่วมกิจกรรม job fair ในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษรุ่นที่ 3 ด้วย
“คนพิเศษหลายคนก็มีทักษะ มีความพิเศษที่แตกต่างกันไป บางคนพิเศษด้วยการทำกราฟิกดีไซน์ที่สวยมากๆ หาตัวจับได้ยาก เวลาว่างก็ยังเป็นนักฟุตบอล ทาง CRG ก็สนับสนุน เขาก็ไปแข่งฟุตบอลของเขา อันนี้ก็มี หรือบางคนก็พิเศษด้านดูแลลูกค้า เป็น customer service ที่ดีหน้าร้าน น้องบางคนขี้อาย ไม่สามารถที่จะดูแลลูกค้าได้ แต่น้องกลุ่มนี้เขามีความแข็งแรง ก็สามารถที่จะช่วยการปรุงอาหารอยู่หลังร้านได้ มีฝีมือ สามารถที่จะดูแล back office ของร้านได้”
“เราสามารถสอนได้ในหลาย ๆ สกิล ทางบริษัทเองก็มีครูฝึก แค่ขอให้มีมายด์เซตที่พร้อมที่จะเรียนรู้ แล้วก็มีความตั้งใจ ถ้าดูแล้วสามารถที่จะทำงานได้ เจาะทำ job matching ได้ ผมว่าการรับเข้าทำงานก็ไม่ใช่เรื่องยาก”
คำถามสำคัญถัดมาคือ เมื่อรับเข้าทำงานแล้ว ทางบริษัทดูแลอย่างไรเพื่อให้คนที่แตกต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สำหรับกรณีคนพิการทางการได้ยิน CRG ส่งเสริมให้มีการปรับตัวทั้งสองฝ่าย
“เราเสริม 2 ส่วน คนปกติก็ต้องเรียนภาษามือพื้นฐาน เพื่อให้สื่อสารกับเพื่อนคนพิการได้ ให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมบางอย่างของคนพิการ การใช้ภาษามือ การใช้สีหน้าท่าทาง แววตา ในการสื่อสาร ที่อาจจะแตกต่างจากคนปกติ ส่วนคนพิการเอง เราก็มีการอบรมหลายส่วน กิจกรรมต่างๆ อย่างการสอนว่ายน้ำ มีการพัฒนาตามสายอาชีพของเขา”
“นอกจากนี้ ทาง CRG มีน้อง ๆ คนพิเศษกระจายอยู่ในแบรนด์ต่าง ๆ ที่ทางบริษัทถืออยู่ เช่น อาจจะอยู่แบรนด์ละ 2 คน หรือคนละแบรนด์ที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกัน ซึ่งน้อง ๆ จะได้ทำงานกับคนทั่วไป ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละฝ่ายและการอยู่ร่วมกัน การดูแลลูกค้า และอยู่ร่วมกับคนในสังคม ขณะที่มีคนพิเศษคนอื่นที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าเดียวกัน แบรนด์เดียวกัน ที่ปรึกษากันได้”
“การที่จะทำให้เขาอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เขาต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แล้วสังคมต้องมองเขาว่าเขาเป็นส่วนสำคัญของสังคมด้วยเหมือนกัน เพราะสิ่งที่เราอยากเห็นคือน้อง ๆ อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า”
กฤตย บุญไทย ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การศึกษาและแรงงานสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Central Restaurant Group Co.Ltd (CRG)
“เราดูแลพนักงานเรื่องความปลอดภัยที่ทำงาน ดูแลเรื่องความหลากหลาย ส่วนที่เราจะนำน้อง ๆ เข้าไปทำงานกับเรา เราเชื่อว่าความหลากหลายจะทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”
คุณอนุพงษ์ สุวรรณชาตรี หัวหน้าฝ่ายผลิต บริษัท สยามมิชลิน จำกัด สาขาแหลมฉบัง ขยายความถึงแนวทางการรับผู้พิการเข้าทำงาน และการสนับสนุนนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้น กลุ่มผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษในการฝึกประสบการณ์และการทำงานหลังเรียนจบ ปวส. ว่าปัจจุบัน สยามมิชลิน มีพนักงาน 8,000 คนกระจายใน 5 โรงงานผลิตในประเทศไทย ได้แก่ ชลบุรี ระยอง สงขลา สระบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ทางบริษัทเพิ่งรับน้อง ๆ กลุ่มความต้องการพิเศษกลุ่มแรกเข้าไปร่วมทำงาน และมีแผนระยะยาวในการส่งเสริมความหลากหลาย และมีแผนจะรับคนพิการเข้ามาทำงานในหน่วยงานทั้งหมด 60-70 คน ตั้งแต่ตอนนี้จนถึง พ.ศ. 2572
“น้องกลุ่มแรกที่มาทำงานกับเรา มีทั้งน้อง ๆ ที่พิการทางการได้ยิน นั่งวีลแชร์ ใส่ขาเทียม”
“ตอนนี้มีอยู่กับเรา 16 คนแล้ว และเราจะทยอยรับ เพราะเราต้องมีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อให้มั่นใจว่าโรงงานปลอดภัย เหมาะสมกับน้อง ๆ ที่มาทำงานกับเรา จากที่มีน้อง ๆ เข้าไปทำงานในฝ่ายผลิต 11 คนแล้ว”
Café Amazon for Chance บริษัทสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บริษัทในกลุ่ม ปตท. เน้นการพัฒนาชุมชน และสร้างอาชีพให้แก่ผู้ที่ขาดโอกาส ทั้งผู้สูงอายุ และคนพิการ ทั้งทางการได้ยิน ออทิสติก
ปัจจุบัน ใน Café Amazon for Chance 283 สาขา หลายสิบสาขามีคนพิการทำงานเป็นบาริสต้าอยู่หลายสิบคน โดยหน้าที่ตั้งแต่การรับออเดอร์ ชงเครื่องดื่ม เสิร์ฟ ไปจนถึงทำ content ที่เป็นคลิปวิดีโอเผยแพร่บนโลกออนไลน์
“ความคาดหวังสูงสุดของเราก็คือให้น้องเขาสามารถทำงานเป็นบาริสต้าที่เหมือนกับคนปกติทั่วไป แล้วเราก็มีการประเมินผลกลุ่มน้องๆ ให้เหมือนคนปกติทั่วไป แล้วถ้าวันหนึ่งเขาเก็บเงินเพียงพอ ก็อาจจะมาเป็นเจ้าของแบรนด์ Café Amazon for Chance ของตัวเอง หรือว่าถ้าเขาจะไปทำร้านกาแฟของเขาเอง เขาก็มีความพร้อมจากการที่เขาเรียนรู้ระบบการทำงานของเรา ซึ่งเราก็จะมีการสอนตั้งแต่การเป็นบาริสต้า รับออเดอร์ อัปคลิปร้าน”
เพื่อรองรับความแตกต่างของน้อง ๆ กลุ่มความต้องการพิเศษ ทาง Café Amazon for Chance ได้จัดเครื่องมือและระบบสนับสนุนที่เหมาะสมกับความต้องการของน้อง ๆ แต่ละกลุ่ม ตั้งแต่สร้างภาษามือพิเศษ สำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ให้สามารถสื่อสารกับผู้ปฏิบัติงานปกติได้ และมีแผ่นป้ายชื่อเมนูเครื่องดื่มในภาษามือเพื่อให้ลูกค้าสั่งเครื่องดื่มได้ ส่วนน้องที่พิการทางด้านสติปัญญาก็มีการทำระบบเช็กอารมณ์ของน้องด้วย และการทำแบบนี้ก็เป็นโอกาสให้น้อง ๆ ได้อยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้มากขึ้น
“จะมีพนักงานปกติประมาณเกือบ ๆ ครึ่งหนึ่ง แล้วก็มีน้องผู้ด้อยโอกาสประมาณอีกครึ่งหนึ่ง ทำงานร่วมกันครับผม ก็จะเป็นการสร้าง community ระหว่างกลุ่มทั้งสองกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน” คุณภูรีกล่าว “และของเราเป็นระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ก็คือจะให้รุ่นพี่ที่เขาเป็นผู้พิการ ช่วยดูแลรุ่นน้อง เพราะว่าตรงนั้น cluster ที่จะส่งน้องไป ตรงนั้นมีประมาณ 3 สาขา ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เราก็จะให้กลุ่มพี่ๆ ค่อยๆ สอนน้อง”
ภูรี สมิทธิเนตย์ หัวหน้าโครงการ Café Amazon for Chance บริษัทสานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด